3 ขั้นตอนกระตุ้นให้เด็ก ๆ กล้าพูดภาษาอังกฤษในห้องเรียน

Araya C.
Globish Education
Published in
4 min readApr 15, 2022

“เวลาโดนครูเรียกให้พูด รู้สึกเหมือนสปอร์ตไลท์ส่องเลย ตอนนั่งฟังเฉย ๆ น่ะพอเข้าใจ แต่พอต้องพูดเมื่อไหร่มันคิดไม่ออก เพื่อนก็จ้อง กลัวพูดผิด ลนไปหมด กลัวครูดุ กลัวโดนแก้ น่าอาย“

ตัวอย่างความคิดข้างบน คือ ความคิดของนักเรียนที่มี “Affective Filter” สูงมากจนเป็นอุปสรรคในการเรียนภาษา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับ “ความรู้” ของนักเรียนเลย แต่เวลาที่นักเรียนประหม่า บรรยากาศห้องเรียนไม่เอื้อต่างหากที่ทำให้การเค้นดึงความรู้ที่มีออกมาเป็นคำพูดนั้นยากมาก ๆ

ให้อธิบายง่าย ๆ Affective Filter คือตัวกรองคั่นกลาง ยิ่งนักเรียนวิตกกังวลมากเท่าไหร่ ฟิลเตอร์ก็ยิ่งหนา อินพุต (Input) ยิ่งผ่านเข้ามายาก ถึงนักเรียนจะได้ยินสิ่งที่ครูสอน เข้าประสาทการรับรู้ แต่ฟิลเตอร์กั้นอินพุตส่วนใหญ่ไม่ให้ถึงตัว “เรียนรู้” ได้ (Krashen, 1982)

Figure 1: Affective Filter Hypothesis Model จากหนังสือ Principles and Practice in Second Language Acquisition เขียนโดย Stephen D Krashen

ทฤษฎี Affective Filter Hypothesis แบบต้นฉบับ เจาะจงไปที่อินพุต (Input) การรับความรู้เข้าไปมากกว่า ส่วนการพูดการเขียนที่เป็นเอ้าท์พุต (Output หรือ Production) จะมีอีกตัวกั้นหนึ่งที่เรียกว่าการ Monitor อย่างไรก็ตาม เราก็เห็นด้วยกับการตีความ Affective Filter ให้ครอบคลุมการเรียนภาษาโดยรวมมากกว่า และในฐานะครู ลักษณะของนักเรียนที่มี Affective Filter สูงนั้นสังเกตได้ง่าย เราจำเป็นต้องช่วยลดฟิลเตอร์นี้เพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อ Affective Filter สูง นักเรียนจะรู้สึก Self-conscious มากกว่าปกติ ลักษณะที่แสดงออกคือ นักเรียนกังวล ประหม่า อาย ลังเลที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่อยากเป็นจุดสนใจ (Ely, 1986) เหมือนถูกผลักไปกลางเวทีพร้อมสปอร์ตไลท์ส่องโดยที่ไม่เต็มใจหรือไม่ทันตั้งตัว

อีกแง่หนึ่ง เราอาจจะบอกว่าเด็ก ๆ รู้สึก “ไม่ปลอดภัย” และไม่อยาก “เสี่ยง” ทำกิจกรรมที่เราสั่ง เช่น ไม่อยากเสี่ยงพูดหน้าห้อง ไม่อยากเสี่ยงตอบถ้าไม่รู้เฉลย ไม่อยากเสี่ยงเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้อับอายได้

ปัจจัยที่ส่งผลกับ Affective Filter มี 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านทัศนคติของตัวผู้เรียน และด้านสภาพแวดล้อม

ด้านทัศนคติ ครูอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งหมด 100% แต่สามารถตั้งเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มผู้เรียน หรือออกแบบบทเรียนได้ เช่น

  • Age: อายุของผู้เรียน เป็นอันรู้กันอยู่แล้วว่าเด็กเล็กกล้าเล่นกล้าพูดมากกว่าเด็กโต อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะกังวลมากกว่าแล้ว ยังมีวัฒนธรรมร่วมของเอเชียใต้ที่เรียกว่า Saving Face หรือ การรักษาหน้า เข้ามาเอี่ยว เช่น นักเรียนอาจกลัวการ “เสียหน้า” เวลาแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน
  • Language Exposure: เด็กที่คุ้นเคยกับ Target Language จะรู้สึก Relax กว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ภาษานั้น ๆ อีกนัยนึง เด็กที่คุ้นเคยกับภาษานั้น ๆ จะสะสมตัวอย่างการใช้ภาษามากพอ ทำให้พวกเขากล้าพูดมากขึ้น

ในด้านสภาพแวดล้อม เราสามารถลด Affective Filter ได้โดยการจัดบรรยากาศห้องเรียนให้เป็น Mistake-friendly space เป็นพื้นที่ที่ให้เด็ก ๆ ได้กล้าฝึกพูดจริง ๆ สนับสนุนนักเรียนให้เป็น “Risk-taker” ยอมเสี่ยงพูดผิดเพื่อการเรียนรู้

ขั้นตอนต่อไปนี้จะเป็นเชิงปฎิบัติ ถ้าอยากเข้าใจคอนเซ็ปต์เพื่อที่จะเข้าใจเป้าหมายของแต่ละขั้นตอนได้ดีขึ้น เราแนะนำให้อ่านบทความ เทคนิคลด Learner’s Anxiety เพิ่มเติมนะ

เริ่มกันที่

ขั้นตอนที่ 1 นิยามบทบาทครูให้เป็น Guide ไม่ใช่ Judge

ครูต้องขีดเส้นชัดเจนว่า ครูมาในฐานะคนสอน คนถ่ายทอดเนื้อหา ไม่ใช่มานั่งจับผิด รอยยิ้มกว้าง ๆ และภาษากายสำคัญมาก เปลี่ยนจากการชี้นิ้วเป็นผายมือ สบตาตั้งใจฟังเด็ก ๆ นอกจากนี้จะเป็นเรื่อง…

  • Take a part: เล่นไปด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเรียนนั้น ๆ ครูจะต้องไม่วางตัวเป็นผู้คุมเกม ทว่าอาจจะมีส่วนร่วมไปกับนักเรียนด้วย หากกิจกรรมนั้นครูเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้ กฎกติกาก็ควรจะโอนอ่อนไปตามพฤติกรรมและความสามารถเด็ก ๆ บ้าง ไม่เข้มงวดเกินไป ให้เด็กรู้สึกว่า “ครูเข้าถึงได้”
  • Willing to look silly sometimes: ครูไม่จำเป็นต้องเคร่งครึม ลองแสดงมุมตลก ๆ เซ่อ ๆ ซ่า ๆบ้างก็ได้ อย่างแต่งตัวตามธีมแต่ละวัน ตกแต่งสไลด์แบบมีลูกเล่น เสริมอุปกรณ์อย่างไม้ชี้กระดานและที่คาดผมน่ารัก ๆ ก็ทำให้บรรยายกาศสดใสได้

คำถามถัดมาคือ แล้วถ้าครูพื้นฐานเป็นคนขี้อายไม่ชอบเล่นมุกจะทำยังไง อันที่จริง คีย์เวิร์ดหลักนั้นหมายถึงครูต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นสถานที่ “Mistake friendly” ต่างหาก เป็นพื้นที่ที่การพูดผิดไม่ใช่เรื่องแย่ ครูเองก็ขำ ๆ ไปกับมันได้ ดังนั้นครูไม่จำเป็นต้องยิงมุกตลอด แค่ให้นักเรียนเห็นมุมสบาย ๆ ของครูบ้างก็เพียงพอแล้ว เพราะเด็ก ๆ จะเป็นคนเสาะหาเรื่องน่ารัก ๆ ตลก ๆ เข้ามาในห้องเรียนเอง เด็ก ๆ เก่งเรื่องนี้อยู่แล้ว :)

  • No overcorrection: อย่าจับผิดไล่แก้ไปซะทุกประโยค ให้ Feedback เท่าที่จำเป็นก็พอ เรื่องมหัศจรรย์อีกอย่างของการเรียนภาษาคือเมื่อเด็ก ๆ ได้ Expose กับภาษาที่เรียนมากพอ เขาจะเริ่ม correct ตัวเองได้ ดังนั้นหน้าที่ของครูคือค่อย ๆ แก้ให้เขาทีละน้อย ตามที่เขาพอรับไหว

Feedback ส่งผลกระทบกับแรงจูงใจ (Motivation) ในการเรียน ถ้า Feedback ในด้านดีจะช่วยให้เด็กวิตกกังวลน้อยลงได้ เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นหลังจากได้ Feedback ดี ๆ มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้สึกกดดัน ดังนั้นครูต้องมี Feedback ให้นักเรียนเสมอ และถ้าเป็นไปได้ ควรเจาะจงด้วยว่านักเรียนทำได้ดีตรงไหน เช่น Excellent! You can pronounce this word very clearly. เป็นต้น (Di Loreto et al, 2014)

ส่วน Corrective Feedback หรือการแก้คำผิดที่แนะนำสำหรับนักเรียน Affective Filter (*สำหรับเด็กที่กลัวการทำให้รู้สึกอาย หรือกลัวการบอกว่าเขาพูดผิดตรง ๆ ต่อหน้า) ได้แก่ Recast และ Elicitation

  • Recast: เมื่อเด็กพูดผิด ให้ครูทวนคำเริ่มแล้วเว้นจังหวะให้เด็กคิดว่าตัวเองพูดอะไรผิดไปและจะแก้ไขยังไง เช่นนักเรียน: “I go to the market yesterday.”

ครู: “Yesterday? I….(ลากเสียง เว้นจังหวะ)”

นักเรียน: “I…went to the market yesterday.”

ครู: “Very good. So, you went to the market yesterday.”

  • Elicitation: หมายถึงการทวนประโยคใหม่โดยที่เน้นเสียงคำที่นักเรียนพูดผิดโดยไม่ต้องชี้ตรง ๆ ว่าเขาพูดผิดตรงไหน

นักเรียน: “I go to the market yesterday.”

ครู: “You went (เน้นเสียง) to the market yesterday?”

นักเรียน: “Yes, I went to the market yesterday.”

ข้อดีของ Recast และ Elicitation คือการไม่ชี้จุดผิดให้เด่นชัดเกินไป ให้เด็กสังเกตจากจังหวะการพูดของครูและแก้ไขซ้ำด้วยตัวเอง เหมาะกับเด็กที่ Affective Filter สูงเพราะเด็กแบบนี้มักกลัวการถูกชี้ตรง ๆ ว่าตัวเองพูดผิด อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขคำผิดขึ้นอยู่กับบุคลิกของนักเรียน นักเรียนอาจจะอยากได้ Feedback ไม่เหมือนกัน ครูต้องอาศัยการสังเกตและประสบการณ์พอควรเลย

*เราเคยเขียนเรื่องความสัมพันธ์ของการได้ Make mistakes กับการเรียนรู้ไว้ในมุมมองของผู้เรียนด้วย ไปอ่านได้นะ

ขั้นตอนที่ 2 จับกลุ่มนักเรียน ให้นักเรียนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นจุดสนใจหนึ่งเดียว

เมื่อเด็กไม่มั่นใจในตัวเอง เขาต้องพึ่งพาความมั่นใจจากครูและกลุ่มเพื่อน (Wang, 2020) นอกจากนี้ เด็ก ๆ จะกล้าถามมากขึ้นเมื่ออยู่เป็นกลุ่ม เด็ก ๆ มีแรงจูงใจมากขึ้น (Motivation) เรียนรู้วิธีการพูดจากเพื่อนที่เก่งกว่า เรียนรู้การโต้ตอบภายในกลุ่มกันเอง เรียนรู้จากทำงานเป็นทีม และช่วยให้บรรยากาศการเรียนดีขึ้นได้ (Meng, 2009)

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการจับกลุ่มให้นักเรียนเป็นขั้นตอนที่ท้าทายและต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร ถ้าครูจัดกลุ่มไม่ดีอาจเป็นการทำร้ายข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดได้เลย ครูต้องดูความเหมาะสมของกิจกรรมที่เลือกเป็นหลัก การจับกลุ่มนักเรียนมีหลายแบบ จับเป็นกลุ่มเล็ก จับเป็นคู่ จับเป็นกลุ่มใหญ่ จับตามระดับความสามารถให้อยู่ระดับเดียวกันหรือคละระดับเพื่อให้นักเรียนได้ช่วยเหลือกัน หรือจับตามความสนิท ให้เด็กอยู่กับเพื่อนที่สนิทกัน เป็นต้น

เอ๊ะ…แล้วการให้จับกลุ่มไม่เท่ากับว่า นักเรียนจะได้พูดน้อยลงเหรอ เด็กอาจจะให้เพื่อนที่พูดเก่งกว่าพูดอยู่คนเดียวก็ได้ จริง ๆ แล้วการกระจายหน้าที่ในกลุ่มขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ครูเลือก ดังนั้นการจับกลุ่มไม่มีผลกับการได้ฝึกพูดของนักเรียนมากขนาดนั้น หรือหากมี ก็คุ้มค่าพอ เพราะเป้าหมายหลักของเราคือให้นักเรียนรู้สึก Comfortable ก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจเป็นลำดับต่อมา

ขั้นตอนที่ 3 เสริมเนื้อหาด้วยกิจกรรมและกฎ 80:20

หมดยุคการนั่งเรียนนิ่ง ๆ และยกมือตอบคำถามแล้ว! ครูต้องฝึกลองใช้กฎ 80:20 ในห้องเรียนบ้าง คือใช้เวลาสอนเนื้อหาใหม่ 20% และเวลาที่เหลือ 80% สำหรับฝึกสิ่งที่เรียนมา

กิจกรรมสำหรับ 80% จะเป็นเกมหรือแบบฝึกหัดก็ได้ ตามความเหมาะสมของบทเรียนและลักษณะกลุ่ม เช่น จับคู่ลองเขียน Role-play มาให้ครูฟัง กระซิบประโยคภาษาอังกฤษส่งต่อจากต้นแถวไปปลายแถว (ครูจะเล่นด้วยก็ได้นะ) ฝึกบรรยายรูปภาพ เล่นทายคำศัพท์ ตอบคำถามจากเรื่องที่ฟัง เป็นต้น ไม่ว่าจะเลือกกิจกรรมอะไร กิจกรรมต้องกินเวลาส่วนใหญ่ของคลาส และมีส่วนที่ให้นักเรียนได้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

สุดท้ายแล้ว บทบาทครูในห้องเรียนอาจจะทำให้เด็ก ๆ สื่อสารภาษาอังกฤษคล่องแคล่วได้ยาก แต่ครูสามารถสร้างความมั่นใจ ลด Affective Filter ให้เด็ก ๆ ได้ด้วยการจัดบรรยากาศการเรียนและกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า นักเรียนจะกลัวการสื่อสารภาษาอังกฤษน้อยลงจนกล้าฝึกฝนใช้งานนอกห้องเรียนได้ในอนาคต

ขอให้คุณครูทุกคน สนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ นะ :D

Reference

Di Loreto, S., & McDonough, K. (2014). The relationship between instructor feedback and ESL student anxiety. TESL Canada Journal, 31(1), 20. https://doi.org/10.18806/tesl.v31i1.1165

Ely, C. M. (1986). An analysis of discomfort, risktaking, sociability, and motivation in the L2 classroom. Language Learning, 36(1), 1–25. https://doi.org/10.1111/j.1467-1770.1986.tb00366.x

Erdiana, N., Daud, B., Sari, D. F., & Dwitami, S. K. (2020). A study of anxiety experienced by EFL students in speaking performance. Studies in English Language and Education, 7(2), 334–346. https://doi.org/10.24815/siele.v7i2.16768

Figueroa, R. (2019, May 28). Is the Affective Filter Blocking Instruction? Ensemble Learning. Retrieved April 6, 2022, from https://ensemblelearning.org/is-the-affective-filter-blocking-instruction/

Krashen, S. D. (1982). Principles and practice in Second language acquisition. Pergamon Press.

Meng, F. (2009). Encourage learners in the large class to speak English in group work. English Language Teaching, 2(3). https://doi.org/10.5539/elt.v2n3p219

Wang, L. (2020). Application of affective filter hypothesis in junior English vocabulary teaching. Journal of Language Teaching and Research, 11(6), 983. https://doi.org/10.17507/jltr.1106.16

--

--

Araya C.
Globish Education

Educator @ Globish Academia | reading books, hugging cats, teaching wonderful students