“Make mistakes!” กล้าที่จะฝึกพูด การพูดผิดดีต่อสมองนะ

Araya C.
Globish Education
Published in
3 min readFeb 24, 2022
นักเรียนเราหลายคนบอกเราว่า “ไม่กล้าพูดอ่ะครู กลัวพูดผิด แล้วก็คิดอะไรไม่ออกเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นคำง่าย ๆ เรียนตั้งแต่ประถมเลยนะ” หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านความกลัวไปได้นะ :)

ทั้งที่เรียนภาษาอังกฤษมานาน ท่องศัพท์เรียนแกรมม่ามาตั้งเยอะ แต่ถึงเวลาจริง ๆ กลับพูดไม่ออกซะงั้น ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวพูดผิด ถึงใครบอกว่าไม่ต้องกลัว ยังไงก็ไม่กล้าพูดอยู่ดี ทั้งที่จริงการลองทำอะไรสักอย่างแล้วทำผิดเนี่ย ดีต่อสมองมากเลยนะ และสมองคนเราก็มีระบบรองรับเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดอยู่แล้วด้วย

เกิดอะไรขึ้นในสมองตอนเราพูดผิด

มาพูดถึงระบบการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดกันก่อน เราชอบเรียกมันว่าเป็น feature ของสมอง ทั้งที่จริงมันก็คือปฎิกริยาคลื่นไฟฟ้าในสมองนั่นแหละ

เวลาที่เรา Make mistakes ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม สมองส่วน anterior cingulate cortex (ACC) เกิดคลื่นไฟฟ้าอย่างนึงเรียกว่า error-related negativity หรือ ERN เป็นสัญญาณบอกว่าสมองจับข้อผิดพลาดเจอแล้วนะ หลังจากนั้นคลื่นสมองก็จะพุ่งขึ้นทิศตรงกันข้าม ช่วงพึ่งขึ้นเรียก error-related positivity หรือ Pe เป็นสัญญาณบอกว่าเจ้าของสมอง “รู้ตัว” แล้วนะว่าฉันทำผิดพลาด สรุปง่าย ๆ สมองเรารับรู้ข้อผิดพลาดแทบจะช่วงเวลาเดียวกับที่ข้อผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น ก่อนที่ตัวเจ้าของสมองจะรู้ตัวซะอีก

Figure: How Does the Brain Handle Errors? (2020)

ในกรณีการพูดภาษาอังกฤษผิด ERN อาจจะเกิดเมื่อได้ยินฟีดแบก (feedback) จากฝรั่งที่เราคุยด้วย เช่นจากประโยคที่เขาแก้ให้ สีหน้าท่าทางเขา หรือบางทีตัวเราเองนี่แหละที่ได้ยินคำพูดตัวเองแล้วนึกได้ว่า มันผิดแกรมม่านี่ หลังจากนั้น Pe ก็จะทำงาน

ระดับ ERN และ Pe แตกต่างตามบุคคล ระดับ ERN ค่อย ๆ มากขึ้นตามพัฒนาการทางสติปัญญาจากช่วงอายุเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ (Overbye, et al., 2019) เราเปลี่ยน ERN ไม่ได้ แต่งานวิจัยพบความเชื่อมโยงของทัศนคติบุคคลกับระดับ Pe ซึ่งถ้าระดับ Pe ยิ่งสูง โอกาสการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดยิ่งสูง ทำให้ความแม่นยำของคำตอบครั้งต่อมาถูกต้องมากขึ้น

มาดูตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ

นาย A มีทัศนคติเชิงบวกต่อข้อผิดพลาด เขามองว่ามันเหมือน ‘Wake up call’ กระซิบบอกเขาว่า นี่คือปัญหา นายต้องยอมรับมัน แล้วหาทางแก้ปัญหานี้ซะ หลังจากนั้นสมองนาย A ก็สั่งการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดต่อไป

นาย B มีทัศนคติเชิงลบต่อข้อผิดพลาด เขามองว่ามันเป็น ‘Threat’ เป็นภัยคุกคาม ทำให้เขารู้สึกแย่ เป็นอะไรที่เขาควบคุมไม่ได้ เขาแก้ไขไม่ได้ เขาบอกตัวเองว่าเขาเนี่ยมันโง่จริง ๆ ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะไม่รับรู้ ไม่คิดถึงข้อผิดพลาดนั้น พยายามลืม ๆ ไป ระบบกระบวนการเรียนรู้เลยไม่เกิด

ทั้งที่สมองของนาย A และ B มีฟีเจอร์จับข้อผิดพลาดเหมือนกันแท้ ๆ แต่คนหนึ่งเลือกที่จะปิดกั้นไม่ใช้ประโยชน์ ไม่ยอมออกกำลังกายสมองซะเลย น่าเสียดาย

คนเราเรียนรู้จาก Mistakes ได้จริงเหรอ

มีงานวิจัยสมัยใหม่รองรับว่า Make mistakes ช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากกว่าจริง ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น คนที่ได้ลองเดาคำตอบ ถึงจะเดาผิด แต่ก็เรียนรู้ข้อมูลได้ดีกว่าคนไม่ได้ลองเดาคำตอบเลย (Potts and Shanks, 2014) การให้ข้อสอบยาก ๆ กับนักเรียน แล้วให้ฟีดแบกทันทีเมื่อนักเรียนทำผิด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ซึ่งให้ผลดีกับการเรียนอย่างเห็นได้ชัด (Hays et al., 2012) นอกจากนี้ ความแม่นยำ (Post-error accuracy) หลังจากได้รับฟีดแบกของคนที่ Make mistakes สูงกว่าและส่งผลเชิงบวกกับ Performance ของผู้เรียนในอนาคตด้วย (Schroder et al., 2017)

ด้านการเรียนภาษา มีการศึกษาปัจจัยและผลของ Mistakes กับการเรียนภาษาที่สองมานานแล้ว ทั้งยังยอมรับว่า Mistakes เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ภาษาด้วยซ้ำ อย่างสมมติฐานคลาสสิก The Monitor Hypothesis ของ Stephen Krashen (นักภาษาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาที่ 2 และการรับรู้ภาษา ผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวางรากฐานการสอนภาษาที่ 2 ในปัจจุบัน) สตีเฟนอธิบายว่า Self correction หรือการพูดผิดและแก้ไขคำพูดด้วยเองด้วยการพูดใหม่อีกครั้ง เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ (language learning) ที่จะเกิดขึ้นในการเรียนรู้ภาษาอยู่แล้ว

ดังนั้น การ Make mistake ไม่ใช่เรื่องแปลก

เราไม่ควรรู้สึกแย่ที่พูดผิดด้วย

ถ้ายังกลัวอยู่ กลับมาฟังเสียงตัวเองดี ๆ

ถึงแม้สมองเราจะมีฟีเจอร์พร้อมรับ Error อยู่แล้ว แต่ความรู้สึก “กลัวการพูดภาษาอังกฤษ”เนี่ย จะจัดการมันอย่างไรดี ใช่ว่ามันจะปุบปับพูดออกได้ซะเมื่อไร

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมองส่วน ACC คือ นอกจากจะประมวลผลเรื่องการจับข้อผิดพลาดแล้ว ยังทำงานเกี่ยวกับ “อารมณ์” และ “พฤติกรรม” ของเราหลังจากรับรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองด้วย ดังนั้นฟีเจอร์ของสมองส่วนนี้ ไม่ใช่แค่จับผิด แต่ยังมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการเรียนรู้อีกด้วย

ความกลัวเกี่ยวพันกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่ส่งผลกับความรู้สึกผู้เรียนมากที่สุดคือ ความกลัวการถูกตัดสิน

กลัวว่าคนฟังจะตัดสินว่าเราโง่ กลัวถูกวิจารณ์ กลัวกลายเป็นตัวตลก

ถ้าอยากหลุดจากวังวนความกลัวนี้ จำเป็นต้องฝึกนะ… ฝึกให้ตัวเองมี Growth mindset

อาจฟังดูเชยสักหน่อยที่แตะประเด็นนี้ ทัศนคติแบบ Growth mindset ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนติดตามคอนเทนต์พัฒนาตัวเอง อินฟลูเอนเซอร์ ไลฟ์โค้ช ก็สอนอยู่ว่าคนเรามันต้องเชื่อว่าตัวเองพัฒนาได้ ต้องเชื่อในความพยายาม ต้องก้าวออกจาก Comfort zone

เราไม่อยากบอกให้ทุกคนฝืนตัวเองขนาดนั้น ใช่ว่าถ้าเชื่อแล้วเราจะพูดกับฝรั่งได้ไฟแล่บ ใจความสำคัญของบทความนี้คือ “ทัศนคติที่ดี” สำคัญมากกับการเรียนรู้ และจะเป็นตัวช่วยให้เราก้าวผ่านความกลัวไปได้ ขั้นแรกของเราคือการมอง Mistakes เป็นเรื่องธรรมดาให้ได้ เพื่อที่จะยกระดับ Pe ในสมองเราให้สูงขึ้น

ทัศคติเชิงบวกที่ส่งผลกับ Pe ในกรณีนาย A-B ที่เรายกตัวอย่างไปตอนแรกก็คือ Growth Mindset นี่แหละ

มีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับความสำคัญของการมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ยิ่งผู้เรียนมี Growth mindset มากเท่าไร คลื่น Pe ยิ่งพุ่งสูง คนนั้นจะรับรู้ข้อผิดพลาด เรียนรู้การแก้ไข และรับมือกับความรู้สึกได้ดีกว่าคนที่มี Fixed Mindset

อาจฟังดูทฤษฎีจ๋าไปหมด ทั้งที่จริงแล้วขั้นแรกง่ายมาก มาลองนึกถึงสิ่งที่เราบอกตัวเอง (Self talk) กันสิ ว่าถ้าเราพูดผิดแกรมม่า ออกเสียงผิด เรียงประโยคผิด เสียงที่เราได้ยินเป็นแนวไหน

  • I am stupid — ฉันเนี่ยโง่จริง ๆ คนอื่นต้องมองว่าฉันโง่แน่ ๆ
  • I make a stupid mistake — ฉันพูดพลาดไปหน่อย เลือกใช้ศัพท์ ใช้แกรมม่าผิดไปเท่านั้น

การพูดผิดไม่ได้มีผลต่อตัวตน (Identity) ของเรา เราไม่ได้กลายเป็นคนโง่เพราะเราพูดผิด เราแค่ตัดสินใจเลือกใช้คำศัพท์ เลือกออกเสียง หรือเลือกเรียงประโยคผิดไปจากที่ควรจะเป็นเท่านั้น ถ้าเสี้ยวนึงคุณเกิดได้ยินเสียง “โยน” ความผิดให้ตัวเอง คุณต้องดึงตัวเองออกมา คุณต้องโอบกอดตัวตนจากข้อกล่าวหาผิด ๆ ให้ได้ อย่าใจร้ายกับตัวเองเลย

ท่องไว้นะ คุณกำลังเรียนรู้ คุณไม่ได้ถูกตัดสินจากใคร… แล้วการพูดผิดจะเป็นเรื่องธรรมดา เป็นแค่ก้าวหนึ่งในการเรียนรู้เท่านั้น 😊

References

Baycrest Centre for Geriatric Care. (2018, June 11). Making mistakes while studying actually helps you learn better: When learning something new, there are instances where trial and error helps rather than hinders, according to recent findings by Baycrest researchers. ScienceDaily. Retrieved February 11, 2022 from www.sciencedaily.com/releases/2018/06/180611133437.htm

Bultena, S., Danielmeier, C., Bekkering, H., & Lemhöfer, K. (2017). Electrophysiological Correlates of Error Monitoring and Feedback Processing in Second Language Learning. Frontiers in human neuroscience, 11, 29. https://doi.org/10.3389/fnhum.2017.00029

Falla-Wood, Julia. (2017). Errors in Second/Foreign Language Learning and Their Interpretations. Education and Linguistics Research. 3. 1. https://doi.org/10.5296/elr.v3i1.10251

Guzmán-Muñoz, F. J. (2020). Effects of making errors in learning a foreign language. Journal of Cognitive Psychology, 32(2), 229–241. https://doi.org/10.1080/20445911.2020.1711766

Hays, Matthew & Kornell, Nate & Bjork, Robert. (2012). When and Why a Failed Test Potentiates the Effectiveness of Subsequent Study. Journal of experimental psychology. Learning, memory, and cognition. 39. 10. https://doi.org/10.1037/a0028468

Ng B. (2018). The Neuroscience of Growth Mindset and Intrinsic Motivation. Brain sciences, 8(2), 20. https://doi.org/10.3390/brainsci8020020

Overbye, Knut & Bøen, Rune & Huster, Rene & Tamnes, Christian. (2020). Learning From Mistakes: How Does the Brain Handle Errors?. Frontiers for Young Minds. 8. 80. https://doi.org/10.3389/frym.2020.00080

Overbye, K., Walhovd, K. B., Paus, T., Fjell, A. M., Huster, R. J., & Tamnes, C. K. (2019). Error processing in the adolescent brain: Age-related differences in electrophysiology, behavioral adaptation, and Brain Morphology. Developmental Cognitive Neuroscience, 38, 100665. https://doi.org/10.1016/j.dcn.2019.100665

Potts R, Shanks DR. (2014). The benefit of generating errors during learning. Journal of Experimental Psychology: General, 143(2), 644–667. https://doi.org/10.1037/a0033194

Schroder H.S., Fisher M.E., Lin Y., Lo S.L., Danovitch J.H., Moser J.S. Neural evidence for enhanced attention to mistakes among school-aged children with a growth mindset. Dev. Cogn. Neurosci. 2017;24:42–50. https://doi.org/10.1016/j.dcn.2017.01.004

--

--

Araya C.
Globish Education

Educator @ Globish Academia | reading books, hugging cats, teaching wonderful students