ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม

Jutiphan Mongkolsuthree
Gofive
Published in
1 min readJun 7, 2021

--

ชื่อบทความรอบนี้อาจจะคุ้นๆนะครับ เพราะว่าเอามาจากหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ต้องกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ซึ่งผมเองก็เพิ่งอ่านจบไปหมาดๆ

เป็นเล่มที่อ่านง่ายมากๆ ผมอ่านจบแปปเดียวเลย จริงๆแล้วอาจจะด้วยที่ติดตามและศึกษามาโดยตลอด เนื้อหาส่วนใหญ่ก็พอทราบอยู่แล้ว ซึ่งพี่ต้องเองก็มาเรียบเรียงเล่าได้ดีครับ ก็ยังมีหลายส่วนที่ทำให้ได้ฉุดคิด ได้ทบทวนและได้ตกตะกอนพอสมควร

ส่วนเนื้อหาเป็นอย่างไร จะเป็นแนวด้านมุมมองทัศนคติด้านการทำงาน การบริหารองค์กร การเป็นผู้นำ ที่นำมาเล่าอย่างเรียบง่าย สั้นๆ กระชับได้ใจความ ผมได้หยิบเนื้อหาที่เคยได้แชร์กับทีมมาก่อนหน้านี้ มาแชร์อีกครั้งเพื่อย้ำเตือนถึงทิศทางของเรา เลยถือโอกาสนำมาแชร์ที่นี่ครับ

เลือกคนเกรดเอ

ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการ “คัดเลือก” คนเข้ามาทำงานมาก ผมพยายามคอยบอกทีมอยู่เสมอว่าให้ยอมเหนื่อย ยอมอดทน ที่คนไม่พอ ดีกว่า ทนทรมาน “แบกภาระ” กลุ้มกังวลใจเวลาได้คนมาแล้ว “ไม่โอเค” ที่ต้องเป็นแบบนั้นเพราะบางทีทีมเองก็อยากรับคนเพราะว่า เขาพอช่วยงานแบ่งเบาเราได้อยู่นะ แต่จริงๆแล้วนั้น ไม่ได้ช่วยได้จริงๆสักเท่าไรนัก และพอต้องหาคนใหม่ ก็จะกังวลว่าระหว่างนี้ใครจะมาทำงาน ตรงนี้เป็นกับดัก ทำให้ทุกคนเลือกที่จะ “ไม่เป็นไร” เพราะยังไงมีคนก็ดีกว่าไม่มี

ซึ่งเมื่อเข้าใจสถานการณ์หน้างานแล้ว ตรงนี้เลยเป็นสิ่งที่ต้องคอยเน้นย้ำกับทีม ว่าเราไม่ได้ต้องการแค่คนที่ทำงานได้ แต่ต้องการคนที่ทำงานได้ดีด้วย ที่สามารถช่วยเราได้อย่างแท้จริง เพราะหลายๆครั้งด้วยความที่เราเป็น “พี่” “หัวหน้า” มีอะไรที่น้องทำไม่ได้ เราจะลงไปอุ้มประคองช่วยเหลือเขาทั้งหมด ทำให้สุดท้ายแล้วเผลอๆ เขาเองอาจจะไม่ได้ช่วยเราได้ขนาดนั้นก็เป็นไปได้ ซึ่งผมจะบอกทีมว่าบางทีก็เหมือนการเลี้ยงลูก หากเราอยู่ช่วยเขาทุกอย่าง เขาเองอาจจะไม่ได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และยืนได้ด้วยตัวเองเท่าไรนัก

ทีมกีฬาไม่ใช่ครอบครัว

ตรงนี้จาก Netflix No Rules ซึ่งผมว่าสำคัญมาก สมาชิกทุกคนในทีมต้องฟิตซ้อมเพื่อเป้าหมายของทีม ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังของวัฒนธรรมการทำงานที่ทำให้บางคนรู้สึกว่า ทำเต็มที่ไปก็เท่านั้น เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของ “mediocrity” เพราะความเป็นมนุษย์เราก็จะชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ถ้ามองทีมเหมือนเป็น “ครอบครัว” ก็อาจเป็นแนว ดูแล ปกป้อง เข้าข้างพวกของตัวเอง จึงทำให้ก็อาจจะเกิดสังคมในที่ทำงานแนวเป็น พวกฉัน พวกเธอ ต่างคนต่างดูแลคนของตัวเองเป็น “ครอบครัว” แทนที่จะโฟกัสที่ตัวเนื้องาน

ขณะเดียวกันการกีฬา หัวหน้าทีมควรทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ดี แทนหัวหน้าครอบครัวที่เน้นปกป้องทีมงานของต้น มุมมอง บทบาท ก็จะทำให้การกระทำเปลี่ยนไป และสิ่งนี้เองก็จะช่วยให้ระบบ pay for performance เกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนกล้างัดศักยภาพของตนออกมา มันทำให้ทุกคนกับมาโฟกัสสิ่งที่ตัวเองทำ คุณค่าที่ตัวเองมอบให้ มาโฟกัสกับการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เล่นที่ดีขึ้น มองทีมอื่นๆ แล้วรู้สึกว่ามีแรงฮึดอยากจะทำให้ดีกว่านี้

คนไม่เอาไหน

ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่ชอบการแข่งกัน ไม่ชอบวิ่ง ไม่ชอบการเมือง ไม่ชอบสุงสิงกับคน ไม่ชอบคล้อยตามใคร ไม่ได้มีความทะเยอทะยานใดๆ ชอบเขียนโค้ด อยู่หน้าคอมก็มีความสุขแล้ว เป็นคนง่ายๆ ยังไงก็ได้ กินอะไรก็ได้ ไปไหนก็ได้ ไม่ได้มีอะไรไม่ชอบหรือชอบเป็นพิเศษใดๆ ยกเว้นคอมก็พอแล้ว ไม่รู้จะพัฒนาตนเองไปเพื่ออะไร ก็รู้สึกว่าที่เป็นอยู่ก็โอเคอยู่แล้ว เราก็เป็นของเราแบบนี้ นี่แหละตัวตนเรา แล้วทำไมต้องเปลี่ยน

ผมเองนี่แหละคือคนที่ไม่เอาไหน วันนี้อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านหนังสือหลายๆเล่ม ยิ่งศึกษาเรียนรู้ก็ยิ่งรู้สึกเสมอว่ามีอะไรเราก็คงยังไม่เอาไหนอยู่ ยังอยากทำให้ดีกว่านี้ แม้ว่าบางอย่างยังดูเหมือนห่างไกล

ต้องเริ่มต้นที่การ “คิดใหญ่” เพราะแม้คุณยังไปไม่ถึงดาวอังคาร แต่คุณก็ได้สร้างจรวดที่ลงจอดเองได้ เป็นที่เรียนร้อยแล้ว — อีลอน มัสก์ไม่ได้กล่าวไว้

มาร่วมเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน สมัครงานเข้ามาได้เลยนะครับ :) ไม่ว่าจะคุณจะอยู่ในสาย Tech หรือสาย Business วันนี้เราเปิดรับหลากหลายตำแหน่งมากครับ และแน่นอน เรา “คัดเลือก” คนจริงจังครับ หากคุณมาสาย Developer เตรียมพบกับแบบทดสอบจริงจังที่จะเทสคุณว่าอยู่จุดไหนในแง่มุมต่างๆของงาน Developer เลยก็ว่าได้ :P

--

--

Jutiphan Mongkolsuthree
Gofive
Editor for

CEO @ Gofive : Yep, I’m a programmer. Always learning and enjoy creating innovative products. Passionate about training and coaching to grow our people.