อยากทำ 3D เป็นจะต้องเริ่มต้นยังไง?

Sittiphong Khumwong
Gofive
Published in
3 min readAug 29, 2021

--

ผมทำงานด้าน 3D มานานพอสมควร ผมจะมาเล่าประสบการณ์ว่าการจะได้โมเดล 1 ชิ้นนั้น จะต้องรู้อะไรก่อน เริ่มฝึกจากตรงไหนก่อน กระบวนการทั้งหมดมีอะไรบ้างครับ ซึ่งงานประเภทนี้สามารถไปต่อยอดทำอะไรได้หลากหลายมากครับ เช่น การออกแบบสร้างสื่อ Presentation Packaging หรือตรงสายเลยก็พวก การ์ตูน แอนนิเมชั่น หนัง โฆษณา ไปจนถึงการทำ visual effect และมีคนมักถามว่าวาดรูปไม่เป็น สาขาที่จบมาไม่ตรง จะทำ 3D ได้ไหม ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เป็นอุปสรรคเลยที่จะทำ 3D ให้ลองกันสักตั้ง ขอให้มีความอยาก มีความชอบที่จะทำ สิ่งสำคัญขอให้มองภาพให้ออกว่าทำอย่างไรภาพจึงจะสวย การจะมองภาพให้ออก ก็ต้องศึกษาเรื่องรูปทรง อนาโตมี่ ของสิ่งๆนั้น เพราะฉะนั้นเพื่อนๆไม่ต้องกังวล คนที่วาดรูปไม่เก่งก็สามารถทำ 3D ได้ แต่ถ้าเพื่อนๆมีความรู้เรื่องวาดรูป ก็จะช่วยส่งเสริมให้เรามองภาพไม่ผิดเพี้ยน การให้แสงและเงา หรือมีความรู้ทางด้านถ่ายภาพ ก็จะช่วยส่งเสริม ด้านการจัดองค์ประกอบ มุมกล้องต่างๆ และองค์ประกอบศิลป์ครับ

การเลือก Software ที่ใช้ก็สำคัญ เพราะแต่ละ Software ก็จะมีความสามารถที่ต่างกันออกไป ดังนั้นลองค้นหาข้อมูลจากใน Internet และดูเครื่องมือว่ายุ่งยากไหม โดยการดู introduction หรือ Review คร่าวๆของโปรแกรมต่างๆนี้ สำหรับผมที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้น คือ Autodesk Maya ซึ่งตัวนี้เหมาะกับผู้เริ่มต้นจนไปถึงมืออาชีพเลยครับ

ต่อมา Workflow กระบวนการทำงานของงาน 3D เราควรรู้ไว้ทั้งหมดนะครับ ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำทั้งหมด ผมจะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

PRE - PRODUCTION > PRODUCTION > POST - PRODUCTION

เมื่อเรารู้กระบวนการทั้งหมดแล้ว ผมจะเน้นตรงการทำ 3D MODELING ที่กว่าจะได้ตัว 3D หนึ่งตัวจะต้องทำอะไรบ้าง คือ Model > UV > Texture > Riging > Lighting > Rendering

1.MODELING คือการเอาดีไซน์ที่ได้ออกแบบมาปั้นนะครับ ผมจะลองจิตนาการให้มาเป็นในรูปแบบ Polygon ก่อนครับ เริ่มต้นพิจารณารูปแบบของสิ่งที่จะขึ้นรูปทรงที่เหมาะสมที่สุด ในที่นี่เลือกที่จะสร้างรูปทรงจาก Sphere วัตถุวงกลม ตามลักษณะตัวโมเดลของเรา

และการฝึกทำโมเดล ถ้าเราจะเริ่มฝึกทำควรเริ่มจากทำง่ายๆ สร้างโจทย์ที่ค่อยๆพัฒนาไปทีละโจทย์ๆครับ เช่น รูปทรงพื้นฐาน วงกลม สี่เหลี่ยม ทรงสามมิติ ต่อมาก็เริ่มทำสิ่งของให้เหมือนจริง จะเป็นโทรศัพท์ ปากกา ยางลบ อะไรก็ได้ให้เราตั้งโจทย์ไว้ก่อน แล้วสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้มันจะเรียงกันเข้ามาเอง ตั้งแต่โมเดลจะทำยังไงให้ดีขึ้น ต้องเรียนรู้ Tool อะไรเพิ่มไหม มันจะเรียงเข้ามาเองตามโจทย์ที่เราสร้างมาเพื่อทำครับ เราจะรู้ว่าเราขาดอะไร เราจะได้เสริมตรงนั้นให้ถูกจุดครับ

2. UV Mapping คือ การห่อหุ้มวัตถุ 3D Model ด้วย รูปภาพ 2D เหมือนการที่เรามีของขวัญแล้วเราห่อของขวัญให้สวยงาม โดยวัตถุคือของขวัญ และ UV Map ก็คือกระดาษห่อของขวัญ การที่เรากำหนดการห่อหุ้ม เราเรียกว่าการทำ UV mapping ครับ ในตอนนี้เราจะมาดูเทคนิคต่างๆ ที่ใช้กันครับ ซึ่งขั้นตอนนี้

ในการเอารูปภาพ ไปห่อหุ้มวัตถุ 3D นั้น เราสามารถห่อหุ้มได้หลายแบบ ถ้านึกภาพการห่อของขวัญ เราอาจจะห่อเป็นกล่องสี่เหลี่ยมก็ได้ หรือพับเป็นรูปต่างๆ ก็ได้ ซึ่งโปรแกรม MAYA มันจะไม่รู้หรอกว่า เราจะห่อหุ้มแบบไหน

ดังนั้น ถ้าเราไม่บอกโปรแกรมว่าเราอยากห่อแบบไหน โปรแกรมก็จะเดาๆ ออกมาให้เรา ภาพที่ออกมาก็จะกลายเป็นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราจึงต้องมากำหนดรูปแบบในการห่อหุ้มให้โปแกรมรู้ เรียกว่าการทำ UV Mapping ครับ

3.Material และ Textures คือ การเพิ่มรายละเอียด ความคมชัด ความหน้าสนใจให้กับตัวละครด้วยการรวมกันของสี แสง ความโปร่งแสง และการทำ Paint เพิ่มเติมหรือเอารูปภาพจริงๆมาตกแต่งให้ดูกลมกลืนได้

4.Riging การใส่กระดูกใน Maya นั้นมีความสําคัญเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้ตัวละครสามารถนำไปทำให้เคลื่อนไหวในขั้นตอนต่อไปได้ ในการใส่กระดูกสามารถจําลองจากรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงตามธรรมชาติได้ หรือตามสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ เช่น กระดูก ตามข้อต่างๆ หรือ วัตถุต่างๆ เช่น รถยนต์ จักรยาน โดยการใส่ที่ล้อเพื่อกำหนดให้หมุนได้

5.Lighting การจัดแสง มีความสำคัญมาก สามารถให้ความรู้สึกของตัวละครเราได้ อย่างเช่น ทำไมเวลาที่เราสร้างฉากสื่อถึงความเหงาจึงใช้แสงสลัวๆ ฉากที่ต้องแสดงความสับสนจึงใช้แสงที่มืดคลึ้ม ฉากแสดงความรักจึงใช้แสงที่อบอุ่น ผมจึงไม่อยากให้มองแสงเป็นแค่ความสว่างภายในฉาก อยากให้มองเป็นข้อความที่ส่งไปยังผู้ชม และนี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่ามันสำคัญยังไงครับ

ผมขออธิบายเพิ่มเติมถึงที่มาของแสงนะครับ แสงจะมาจากแหล่งกำเนิดแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงเทียน แหล่งกำเนิดแสงก็คือเทียนไขนั่นเองครับ แสงนีออนก็มาจากหลอดไฟนีออน แสงแดดแหล่งกำเนิดก็มาจากพระอาทิตย์ ฉากของเราจะสว่างขึ้นมาเองไม่ได้ แสงทุกอย่างมีที่มาของมันนะครับ แต่จำเป็นไหมที่เราต้องใส่ที่มาของแสงเข้าไปในฉาก ไม่จำเป็นครับ ไม่มีข้อบังคับใดๆ เราอาจจะใช้แสงที่อยู่ภายนอกของฉาก ที่เรียกว่า Off-screen Light อาจจะเป็นเงาสะท้อนแสงตกกระทบวัตถุ เงาที่ทอดยาว สิ่งเหล่านี้เรามองเห็นในฉาก ล้วนมาจากผลของแหล่งกำเนิดแสงภายนอกทั้งสิ้น ดังนั้นผลที่ได้ก็คือความสมจริงนั่นเองครับ

6.RENDERING มาถึงการประมวลผลให้ออกมาเป็นรูปภาพตอนสุดท้ายของกระบวนการแล้วนะครับ หน้า low quality draft เมื่อกด Render จะเปลี่ยนแปลงเป็นภาพสุดท้ายที่มีแสงเงา มีรายละเอียดต่างๆ เราจะเรียกว่า Rendering ครับ การแสดงผลมีกระบวนการที่ซับซ้อนมาก และต้องใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่ดีพอสมควร บางครั้งคอมพิวเตอร์จะใช้เวลาตั้งแต่ 5 วินาทีถึง 1 วันในการแสดงผลภาพภาพเดียวครับ

เมื่อเรารู้แล้วว่าการจะได้ 3D Modeling 1 ชิ้นนั้นมีขั้นตอนยังไงบ้าง ขั้นต่อไปก็คือ เปิดโปรแกรมเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ หน้าที่ของหน้าต่าง Tool Box เป็นส่วนเรียกใช้หลักของการทำงานโดยตลอดเลยก็ว่าได้ครับ เพราะเราต้องเลือกวัตถุ ควบคุม ดังนั้น การจดจำคีย์ลัดคำสั่งเอาไว้จึงจำเป็นมากครับ

สุดท้ายแล้วนะครับ ผมอยากให้ทุกคนอดทนและมีความพยายามที่สร้างงาน 3D ให้ได้นะครับ อย่าทำให้แค่เสร็จ ทำมันด้วยแรงบันดาลใจและเชื่อมั่นว่าเราทำได้ บางครั้งเราจะพบปัญหาในระหว่างที่ทำ และเราไม่สามารถแก้มันได้แม้ว่าจะพยายามแล้วก็ตาม แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าทำได้ อย่าติดอยู่กับปัญหานานเกินไป ขอให้มองข้ามมันไปก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ไขปัญหาทีหลัง การแบ่งปัญหาเป็นส่วนๆ แล้วแก้ไขทีละส่วนถือเป็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพนะครับ เมื่อเรารู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ เราควรหยุดพักแล้วไปดูอะไรอย่างอื่นที่ชอบก่อน เพราะนี่คือวิธีที่จะสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี ผมใช้มันอยู่บ่อยๆครับ

เมื่อเพื่อนๆมีความคิดที่จะเริ่มเรียนรู้หรือสร้างสรรค์งาน 3D แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดีผมมีคำตอบให้แล้วนะครับ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ลงมือทำด้วยตัวเองครับ

--

--