แนะแนวสมัครเรียนต่อคอมพิวเตอร์และวิศวฯ ๑/๒

Kanit Ham Wong
Studying in US Graduate School
2 min readNov 9, 2013

ก่อนที่จะกลับไปเขียนเรื่องประสบการณ์จากการเรียนปริญญาโทที่สแตนฟอร์ดต่อ วันนี้ผมขอพักมาเขียนเรื่องที่คิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนในช่วงนี้ก่อน ก็คือเรื่องสมัครเรียนต่อ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะว่าช่วงนี้ก็ใกล้ถึงฤดูกาลสมัครเรียนต่อแล้วครับ ผมเองก็ค่อนข้างโชคดีที่ได้คำแนะนำดีๆจากพี่ๆ และมีความสำเร็จในการสมัครทั้งในระดับปริญญาโทและเอก ก็หวังว่าประสบการณ์ของผมและหลายๆบทความที่ผมได้อ่านมาจะมีประโยชน์ให้หลายๆ คนได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง และได้ลองเดินทางตามความเชื่อและความฝันทางการศึกษา อย่างที่ผมได้มีโอกาสลองบ้างครับ

ในบทความชุดนี้ ผมจะขอเน้นเรื่องการตัดสินจะเลือกเรียนต่อว่าเราจะค้นหาและเข้าใจทางเลือกของตัวเองได้อย่างไรบ้าง และนำไปสู่การเขียนเรียงความจุดประสงค์การเรียนที่ดีได้อย่างไร ก่อนจะกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับคำถามยอดนิยมอย่างการสอบภาษาอังกฤษในตอนท้ายนะครับ

ในการตัดสินใจเรียนต่อ คำถามที่สำคัญก็ได้แก่

  1. ควรเรียนต่อที่ไหน
  2. ไปเรียนต่อเมื่อใดดี
  3. ปริญญาโทหรือปริญญาเอก
  4. เรียนต่อสาขาใดดี
  5. ทำอย่างไรให้ได้ไปเรียน

1. เรียนต่อที่ไหนดี

ก่อนอื่นน่าจะต้องแยกแยะก่อนว่า จะเรียนต่อเมืองไทย หรือต่อต่างประเทศ ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเรียนที่เมืองไทย น่าจะมีข้อดีที่สามารถอยู่ใกล้ชิดครอบครัวและเพื่อนฝูง และมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะทำงานพร้อมกันไปด้วย ขณะที่การเรียนต่อที่เมืองนอก ที่แน่ๆ ก็น่าจะช่วยให้ได้ฝึกภาษา ได้หัดดูแลตนเอง และได้เห็นมุมมองที่แตกต่างของคนต่างวัฒนธรรมและเชื้อชาติ* และหากมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มีโอกาสจะได้รับความรู้ที่ทันสมัยมากกว่า

เมื่อคิดว่าอยากเรียนต่อเมืองนอก คำถามถัดมาก็คือ แล้วจะไปเรียนต่อที่ประเทศไหนดี ซึ่งคำถามนี้จะให้ตอบครอบคลุมสำหรับทุกคนก็คงจะค่อนข้างยาก เพราะมีน้อยคนที่จะมีประสบการณ์ในการเรียนในหลากหลายประเทศ และแต่ละประเทศก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป และแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายในการเรียนที่แตกต่างกัน ทางออกที่ดีที่สุดก็ควรจะพูดคุยกับรุ่นพี่และอาจารย์ที่มีประสบการณ์เพื่อรับฟังความเห็นที่หลากหลายนะครับ

สำหรับผมเองเลือกเรียนต่ออเมริกาเพราะว่ามีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างเด่นชัดที่สุด (ทุกวันนี้เทคโนโลยี Software และคอมพิวเตอร์ที่โด่งดังที่ต้นกำเนิดมาจากที่นี่เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ Silicon Valley ที่เป็นแหล่งกำเนิดของบริษัทไอทีเป็นจำนวนมาก, Seattle ซึ่งเป็นที่อยู่ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Amazon และ Technology Hub ใหม่อย่าง New York) รวมทั้งการศึกษาที่นี่เน้นทักษะการเรียนที่นำไปใช้ปฏิบัติ (Practical) ไม่ได้เน้นเพียงทฤษฏีเพียงอย่างเดียว และมหาวิทยาลัยค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเหตุผลหลายๆอย่างนี้แล้ว สำหรับผมเองคำตอบก็ค่อนข้างชัดเจนว่าการมาเรียนต่อที่อเมริกาน่าจะดีที่สุดสำหรับผม

2. ไปเรียนต่อเมื่อไรดี ทำงานก่อนดีไหม

จากประสบการณ์ของผม การทำงานอาจจะทำให้เราเห็นภาพของอุตสาหกรรมในประเทศก่อนที่จะเรียนรู้ต่อ บางครั้งการทำงานช่วยให้เราคิดได้ว่าอยากเรียนต่อสาขาใดเป็นพิเศษ แต่สำหรับการเรียนต่อสายคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ประสบการณ์การทำงานไม่ได้จำเป็นสำหรับการสมัครติดมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่าใดนัก แน่นอนว่าการประสบการณ์ทำงานในบริษัทที่เป็นที่รู้จักระดับโลก หรือมีผลงานการทำงานที่โดดเด่นและเกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครเรียนโดยตรง (โดยเฉพาะงานเชิงวิจัย)
รุ่นพี่ของผมหลายคนที่ทำงานเป็นเวลานานก่อนเรียนต่อได้กล่าวว่าการตัดสินใจเรียนต่อทางด้านเทคนิค (Technical) หลังจากห่างโรงเรียนไปหลายปี อาจจะทำให้เรียนรู้ได้ยากขึ้นสำหรับบางคนเช่นเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันการทำงานก็ให้ประสบการณ์ที่อาจจะทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นและเลือกเรียนรู้สิ่งที่น่าจะสำคัญกับชีวิตตนเองในอนาคตได้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

3. ปริญญาโทหรือปริญญาเอก?

ปริญญาโทมีหลายแบบ

สำหรับประเทศอเมริกา การเรียนปริญญาโทในด้านวิศวกรรมฯ ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณสองปี มีส่วนน้อยที่ใช้เวลาหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง

ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) โครงการปริญญาโทส่วนใหญ่เป็นแบบ Professional Program ซึ่งเน้นการลงเรียนวิชาเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่หลายๆมหาวิทยาลัยปริญญาโทแบบต้องทำปริญญานิพนธ์ แยกอีกต่างหาก หรืออาจจะเป็นทางเลือกให้ทำวิทยานิพนธ์เป็นพิเศษ (Honor Thesis)

การเรียนแบบต้องทำวิจัยมักจะมีโอกาสดีกว่าในการได้รับทุนผู้ช่วยวิจัย (Research Assistantship) และช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครเรียนต่อปริญญาเอก ขณะที่ Professional Program อาจจะใช้เวลาในการสำเร็จการศึกษาน้อยกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการรีบออกไปทำงาน ไม่ต้องการเรียนต่อปริญญาเอกหลังจากสำเร็จการศึกษา

ขณะเดียวกัน แต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดโปรแกรมปริญญาโทที่แตกต่างกัน บางมหาวิทยาลัยเช่น Carnegie Mellon มักจะแบ่งโครงการปริญญาโทแยกกันตามสาขาย่อยของสาขาวิชา ซึ่งนักเรียนที่มีความสนใจในด้านจะต้องเลือกสมัครด้านที่ตนเองสนใจแต่แรก ในขณะที่โครงการปริญญาโทของ Stanford จะให้นักเรียนเลือกด้านที่ตนเองจะเน้นเรียนได้ในระหว่างที่เรียน

ปริญญาเอกเรียนฟรี ปริญญาโทก็อาจจะฟรีได้

ใช่ครับ ผมไม่ได้พูดเล่น ปริญญาเอกเรียนฟรี แถมยังได้เงินเดือนอีกด้วย ความจริงแล้วการเรียนปริญญาเอกถือเป็นการทำงานแบบหนึ่งแต่ได้ปริญญาแถมด้วย เพราะมหาวิทยาลัยที่เน้นวิจัย (Research University) สร้างชื่อเสียงจากการที่อาจารย์มีผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ การเรียนปริญญาเอกนักเรียนก็ใช้เวลาเป็น ผู้ช่วยอาจารย์ทำวิจัยนั่นเอง นอกจากนี้ระบบการเรียนที่อเมริกานั้นจะมีผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักเรียนปริญญาเอกนี่เองที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ ดังนั้นนักเรียนปริญญาเอกก็เป็นทั้งลูกศิษย์และลูกจ้างของอาจารย์ไปด้วยนั่นเองครับ งานทั้งสองแบบนี้มหาวิทยาลัยมักจะจ่ายค่าเล่าเรียน และจ่ายเงินเดือนแยกต่างหากเพื่อเป็นค่ากินอยู่สำหรับนักเรียน อาจารย์บางท่านได้เขียนคำแนะนำไว้ว่าเปรียบใบสมัครเรียนต่อปริญญาเอก เหมือนการสมัครงานเสียด้วยซ้ำ*

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องระวังก็คือ ไม่ควรเลือกเรียนต่อเอก เพียงแค่คิดว่าเมื่อได้ทุนไปเรียนแล้ว ก็ไม่ควรจะทิ้งโอกาส เพราะว่าจริงๆ แล้วการเรียนเอกฟรีเป็นเรื่องปกติ แต่ก็แลกมาด้วยค่าเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการทำงานเป็นเวลาหลายปีเช่นเดียวกัน

ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ หลายๆครั้ง จะมีความต้องการจ้างงานในรูปแบบผู้่ช่วยสอน และผู้ช่วยทำวิจัยมากเกินที่เด็กปริญญาเอกทั้งหมดจะรับงานไหว ทำให้เป็นโอกาสดีสำหรับนักเรียนปริญญาโท จะได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในตำแหน่งเหล่านี้ด้วย บางครั้งอาจจะได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง และบางครั้งอาจจะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย ข่าวดีสำหรับคนที่เรียนโทด้านคอมพิวเตอร์ในอเมริกาก็คือสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มักจะมีเงินทุนวิจัยมากกว่าสาขาอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความกระตือรือร้นที่จะหาตำแหน่งผู้ช่วยเหล่านี้นั่นเอง

นอกจากนี้ การสมัครทุนการศึกษาเช่น ทุน Fulbright ยังเป็นอีกทางเลือกด้วยครับ แต่การสมัครทุนต่างๆ ควรพิจารณาเงื่อนไขข้อผูกมัด เช่นต้องกลับไปใช้ทุน, Visa Status, 2-year Home Residency Requirement ซึ่งมักมากับ Visa J1 ฯลฯ

ปริญญาเอกไม่ได้เหมาะกับอาชีพทุกรูปแบบ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยเข้าใจในสังคมไทย คือด้วยความหวังดี ผู้ใหญ่หลายๆคน ด้วยความหวังดี ก็มักจะอยากให้ลูกหลานเรียนได้สำเร็จขั้นสูงสุด ซึ่งตามบ้านเรานั่นก็คือปริญญาเอก โดยหวังว่าการเรียนได้สำเร็จขั้นสูงสุดน่าจะทำให้ลูกหลานมีความสุขและความสำเร็จในชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่า คนที่เรียนแล้วชอบก็จบออกมามีความสุขและประสบความสำเร็จในระดับสูง แต่ก็มีบางคนที่จบมาแล้วก็รู้สึกว่า จริงๆแล้วการเรียนปริญญาเอกไม่ได้ตรงกับเป้าหมายของตนเอง และถ้ารู้ก่อนว่าการเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างไร อาจจะเลือกที่จะไม่เรียนดีกว่าเพราะว่าไม่ได้ตรงกับสิ่งที่สนใจจริงๆ แต่กลับต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ตนเองไม่ได้สนใจ ครั้นจะลาออกก็ต้องรับความกดดันของสังคม ความจริงแล้วที่อเมริกามีหลายๆคนที่ได้เริ่มเข้ามาเรียนปริญญาเอกแล้วค้นพบว่าการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่เส้นทางของตนเอง และรีบลาออกไปทำงานอื่นๆและก็ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นคำแนะนำที่ดีกว่า อาจจะเป็นการแนะนำให้ เข้าใจความแตกต่างระหว่างการเรียนปริญญาโท และ ปริญญาเอก และเข้าใจตนเองว่าต้องการอยากจะทำอะไรในอนาคต และรู้ว่ามีอะไรเป็นข้อดีข้อเสียในทางเลือกที่ตนต้องการตัดสินใจ ในหัวข้อนี้ผมจะกล่าวถึงประเด็นหลายๆอย่างที่หลายๆคนอาจจะไม่ได้นึกถึงเกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอกนะครับ

ปริญญาเอก = การทำงานวิจัย

ปริญญาเอกนั้นไม่ได้เน้นการเข้าห้องเรียน, จดบันทึกบทเรียน แล้วทำข้อสอบให้ได้เกรดเยอะๆ แต่เป็นการเน้นการทำวิจัยมากกว่า

ถ้าจะบอกว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น วิธีที่จะบอกความแตกต่างระหว่างการเรียนในแต่ละระดับได้อย่างเร็วที่สุดก็คงจะเป็นภาพชุดต่อไปนี้แหละครับ*

http://www.slideshare.net/paraskaushik/guide-to-a-ph-d

ถ้าจะให้เพิ่มเติมจากภาพนี้ คือการได้มาซึ่งปริญญาเอกคือต้องคิดค้นความรู้ใหม่ๆ ที่ขยับขอบความรู้ของสาขาวิชา (Push Limits of the Field) ซึ่งสำหรับด้านคอมพิวเตอร์และวิศวฯกรรม การคิดค้นอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้คนเราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีขึ้นอาจจะเป็นเรื่องท้าทายและคู่ควรกับการเรียนปริญญาเอกนะครับ

ทั้งนี้การเรียนปริญญาเอกในสมัยใหม่ มีความเป็นสหศาสตร์มากขึ้น นักเรียนบางคนก็ทำงานวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชา เช่นถ้าเรียนทางด้าน Human-Computer Interaction อย่างที่ผมเรียนอยู่ ก็มักจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ การออกแบบและจิตวิทยา นอกเหนือจากด้านคอมพิวเตอร์

สิ่งหนึ่งที่ยากสำหรับการตัดสินใจเรียนต่อ คือส่วนใหญ่นักเรียนไทย (รวมถึงผมในอดีตด้วย) ไม่มีประสบการณ์การทำวิจัยในช่วงที่ระดับปริญญาตรี การตัดสินใจจะเลือกเรียนต่อปริญญาเอกซึ่งหมายถึงการทำวิจัยเป็นเวลาหลายปี อาจจะเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมาก นอกจากนี้ การทำวิจัยในแต่ละสาขายังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก (ดูหัวข้อ 4.) การสมัครเรียนปริญญาโทก่อน อาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าและเพิ่มโอกาสสมัครเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆได้มากกว่านะครับ

สมัครปริญญาเอกไม่ต้องมีโทมาก่อนก็ได้

เนื่องจากโปรแกรมโททางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มักเป็นแบบ Professional Program ซึ่งมีจุดประสงค์ค่อนข้างแตกต่างกับปริญญาเอก (ที่เน้นทำวิจัย) การสมัครจึงแยกกันโดยชัดเจน และหลายๆมหาวิทยาลัยมักจะให้นักเรียนปริญญาเอกได้ปริญญาโทระหว่างการเรียนปริญญาเอกไปด้วย* ด้วยเหตุนี้การทำปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกาจึงมักใช้เวลาอย่างน้อยห้าปีขึ้นไป

เนื่องจากโครงการปริญญาเอกมักจะให้นักเรียนได้รับปริญญาโทไปแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งคือสมัครเรียนปริญญาเอกแต่ให้ทางเลือกกับตนเองในการตัดสินใจว่าจะหยุดแค่ปริญญาโทหรือจะต่อจนจบ ขึ้นอยู่ความชอบของตนเอง ทั้งนี้วิธีนี้มีอาจจะมีข้อดีคือน่าจะเพิ่มโอกาสในการได้รับตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์

ทั้งนี้การสมัครเข้าปริญญาเอกก็มีอัตราการรับนักเรียนที่ต่ำกว่ามากด้วย บางมหาวิทยาลัยจะบังคับให้ผู้สมัครเลือกสมัครโครงการปริญญาเอกหรือโทเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่บางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ผู้สมัครสมัครได้ทั้งสองโครงการพร้อมกัน ผู้สมัครจึงควรอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของสาขาวิชาอย่างละเอียด

จบมาแล้วต้องเป็นอาจารย์?

ข่าวดีเล็กน้อยสำหรับคนที่เรียนคอมพิวเตอร์อย่างผมก็คือ จบปริญญาเอก มามีทางเลือกในการทำงานหลายอย่างไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ อาจารย์ และนักวิจัย หลายๆ คนก็เลือกทางเดินอื่น ที่ยังใช้ประสบการณ์จากความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอย่าง วิศวกร หรือผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะแตกต่างกับสาขาวิชาทางด้านสายสังคมซึ่งการเรียนปริญญาเอกจะเน้นสำหรับผู้วางแผนจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ

ฟังจากผู้มีประสบการณ์คนอื่น

ทั้งนี้ผู้สมัครควรจะอ่านและรับฟังหลายๆความเห็น เนื่องจากประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันนะครับ จริงๆ แล้วมีหลายคนได้เขียนคำแนะนำที่คล้ายๆ กับบทความนี้ไว้แล้วครับ ในที่นี้ผมขออนุญาตรวบรวมที่เคยอ่านมาให้ บางบทความที่

4. จะเรียนต่อสาขาอะไรดี

สำหรับการเรียนต่อ ทางเลือกหนึ่งแน่นอนว่าก็คือเรียนต่อทางด้านคอมพิวเตอร์ (ซึ่งบทความนี้ก็ได้กล่าวเน้นเป็นพิเศษ)

โดยภาพรวมแล้วสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แบ่งออกเป็นสาขาหลักๆคือ

  • Theory — เน้นทางด้าน Algorithm และทฤษฏีการคำนวณ
  • Systems — Database, Operating Systems, Programming Languages, Computer Architecture, Computer Network, ฯลฯ
  • Artificial Intelligence: Machine Learning, Informational Retrieval, Computer Vision, Robotics ฯลฯ
  • Applications: Human-Computer Interaction (HCI), Computer Graphics, ICT for Development

** การแบ่งสาขาย่อยนั้นแบ่งได้หลายแบบ อันนี้เป็นเพียงแบบหนึ่งเท่านั้นครับ

ซึ่งแต่ละคนนั้นมีความสนใจที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องยากที่บอกอย่างชัดเจนว่าจะเลือกได้อย่างไร โดยเฉพาะปริญญาเอก เนื่องจากการเรียนปริญญาในแต่ละสาขาย่อยในสาขา Computer การทำวิจัยในแต่ละสาขาย่อยของสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ค่อนข้างแตกต่างกันมาก ถ้าให้กล่าวโดยประมาณ งานวิจัยบางชนิด (โดยเฉพาะ Theory, Machine learning) จะมีลักษณะงานคล้ายคลึงกับนักคณิตศาสตร์เพราะเน้นการพิสูจน์ หลักการใหม่ๆ ในขณะที่ด้านอย่าง System และ Application จะเน้นการสร้างซอฟต์แวร์และเทคนิครูปแบบใหม่ ขณะที่งานบางส่วนในด้าน HCI จะต้องใช้ทักษะการออกแบบมากกว่า

สำหรับผมเอง เลือกสมัครเรียนปริญญาเพราะความสนใจทางด้าน HCI ซึ่งผสมผสานการออกแบบและหลักจิตวิทยาเข้ากับการสร้างสรรค์ Computer Software ถ้าไม่ใช่ด้าน HCI แล้ว สำหรับผมเองคงจะไม่เลือกเรียนต่อปริญญาเอก คำแนะนำหนึ่งที่ให้ได้ในการเลือกก็คือต้องขวนขวายด้วยตนเอง (จากอินเตอร์เน็ตและจากการคุยกับอาจารย์และรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์)

ข่าวดีเล็กน้อยคือ โครงการปริญญาโทและเอกสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัย อนุญาตให้นักเรียนเปลี่ยนสาขาย่อยภายในภาควิชาได้ง่าย เนื่องจากนักเรียนมักจะค้นพบความสนใจใหม่ๆ หลังจากเริ่มเรียนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ในใบสมัคร นักเรียนควรจะมีความชัดเจนในความสนใจของตนเอง ณ เวลาที่สมัครในระดับหนึ่ง

สำหรับสาขาวิชาที่ไม่มีเปิดสอนในประเทศไทย (หรือมีน้อย) เช่น Human Computer Interaction ผมแนะนำให้ลองเรียนจากเว็บเรียน Online เช่น Coursera หรือดูวีดีโอสัมมนาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น HCI Seminar ของ Stanford (ถ้ามีเวลาผมจะพยายามเขียนบทความแนะนำเกี่ยวกับ Human-Computer Interaction อีกทีครับ)

สำหรับคนที่สนใจทางด้านธุรกิจเทคโนโลยี ในฐานะศิษย์เก่า ผมขออนุญาตแนะนำว่า Management Science & Engineering ของ Stanford (หรือ Engineering Management สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ) เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ Stanford ซึ่งให้อิสระนักเรียนในการผสมผสานสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ยังมีสาขาใกล้เคียงที่มีรุ่นพี่และเพื่อนๆ เลือกไปเรียนต่ออย่างเช่น Operations Research (Management Science), Financial Engineering และสาขายอดนิยมอย่าง MBA ซึ่งผมไม่ขอกล่าวละเอียดในที่นี้

หวังว่าตอนนี้ผู้อ่านคงจะเห็นภาพทางเลือกในการเลือกเรียนต่อในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่งแล้ว ในตอนถัดไป ผมจะกล่าวถึงคำแนะนำต่างๆ สำหรับใบสมัครเรียนต่อนะครับ

ปล. ขอบคุณ @norasesv ต้า และ @Siangliulue ที่ช่วยอ่านบทร่างและให้คำแนะนำครับ

--

--

Kanit Ham Wong
Studying in US Graduate School

Visualization+Interaction for Machine Learning @Apple. Co-author of Vega-Lite, Voyager, and TensorFlow Graph Visualizer. Formerly @uwdata. Views are my own.