ไทยยังขาดอะไรในระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ #1 Interoperability
ผมได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสร้างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในระบบสาธารณะสุขได้ประมาณปีกว่า ๆ เนื่องจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เป็นหมอชักชวนเข้ามาให้ดูปัญหาในปัจจุบัน ก็ได้พบว่าระบบสาธาณะสุขในปัจจุบันนั้นมีปัญหาเยอะมาก จะแก้ปัญหา A ต้องแก้ B ก่อน จะแก้ B ไปติดที่ C ร้อยต่อกันไปเรื่อย ๆ ผมจะค่อย ๆ เล่าถึงรากฐานที่จำเป็นและยังขาดอยู่ในเรื่องที่ผมพอเข้าใจ ว่าเราขาดถึงจะไปถึงระบบสารสนเทศด้านสุขภาพระดับโลกอย่างที่เขามีกัน
ว่ากันว่าหมอไทยเก่งอันดับต้น ๆ ของโลก แล้วระบบเทคโนโลยีสาธารณะสุขไทยจะไประดับนั้นไม่ได้เลยหรือ?
Interoperability หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมต่อและเปลี่ยนกันได้ ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มักใช้ในกรณีที่มีระบบมากกว่า 1 ระบบที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
ให้นึกภาพอย่างนี้ครับ ระบบโรงพยาบาลทั้งหมดในไทย มีระบบ HIS หรือ Hospital Information System อยู่มากมายก่ายกอง ไม่ต่ำกว่า 10 แบบ ระบบที่ใช้งานกันเยอะที่สุดนั้นชื่อว่า HosXP ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ฟรีแต่ไม่ฟรี (งงละสิ ไว้จะมาเล่าให้ฟังในภายหลัง) นอกจาก HosXP นั้นเรายังมีซอฟต์แวร์ที่ซื้อจากต่างประเทศมากมาย แต่ที่พีคที่สุดคือมี HIS ที่เขียนขึ้นมาใช้กันเองไม่ต่ำกว่า 10 ตัว เพราะว่าซอฟต์แวร์ฟรีนั้นไม่ตรงตามความต้องการ ส่วนซอฟต์แวร์ตามความต้องการก็มีราคาแพง แล้วนึกภาพตามว่าเมื่อพวกเขาต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแบบอัตโนมัติให้ครบทั้ง 10 รูปแบบจะต้องทำยังไง ยกตัวอย่างเช่นการ Refer คนไข้จากโรงพยาบาลใด ๆ ไปหาโรงพยาบาลใด ๆ ที่ใช้ระบบ HIS คนละรูปแบบให้ครอบคลุมทุกรูปแบบ ให้ลองดูภาพนี้เป็นตัวอย่างครับ
ระบบที่แตกต่างกัน เมื่อจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดทำซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่งเพื่อเข้าไปอ่านข้อมูลจากอีกระบบหนึ่ง และซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่งเพื่อแปลงข้อมูลของระบบอื่นเข้าระบบตัวเอง ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่างสองระบบยังไม่เท่าไร แต่ลองมี 10 ระบบสิครับ
จากสูตร Maximum Edge = N(N-1)/2 แต่เราต้องเขียนทั้งขาไปและขากลับกลายเป็นว่าต้องมีการสร้างซอฟต์แวร์เสริมหรือ Plugin อีก 90 ตัวเพียงเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบ 10 รูปแบบ
วิธีแก้ปัญหานี้นั่นก็คือ Interoperability Standard นั่นเองครับ มันคืออะไร? มันคือมาตรฐานของการส่งข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน พูดง่าย ๆ ก็คือตกลงกันก่อนว่าเราจะเลือกคุยกันภาษาไหน ผ่านอะไร อ้างอิงจากอะไร เมื่อตกลงกันแล้ว และทุกคนเลือกใช้แบบเดียวกัน เราก็เพียงสร้างระบบ API ในการแสดงข้อมูลให้ตรงตามมาตรฐาน เพื่อให้โรงพยาบาลอื่นเข้ามาอ่านข้อมูลไปได้และสร้างอีกระบบในการอ่านข้อมูลของโรงพยาบาลอื่นแล้วเขียนเข้าระบบของตัวเอง กลายเป็นว่าทั้ง 10 ระบบต้องสร้างเพียงแค่คนละ 2 ซอฟต์แวร์ นั่นคือขาเขียนกับขาอ่าน เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ซึ่งตัว Standard นี้เองกำลังถูกผลักดันจากหลาย ๆ กลุ่มซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะเป็น FHIR (อ่านว่าไฟร์เออร์) ของ HL7 ซึ่งนิยมใช้ทั่วโลก โดยมีข้อดีคือ
- เป็น Web Standard (XML, JSON, HTTP, OAuth)
- เป็น RESTful
- เขียนเชื่อมต่อได้ง่าย และมีระบบเซิฟเวอร์แบบ Opensource ให้ใช้งานได้เลย (ชื่อ HAPI เขียนด้วย JAVA)
- ฟรี!
- มี human-readable serialization format แนบมากับข้อมูล ทำให้สามารถอ่านมาแสดงผลได้ง่ายในกรณีมีผู้อ่านข้อมูลเป็นมนุษย์
- สามารถเพิ่ม Extension แบบ Custom ได้ตามต้องการ สามารถปรับใช้ได้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้ง่ายในกรณีที่มีมาตรฐานต่างกัน
นอกเหนือจาก FHIR นั้นยังมีทางด้านฝั่ง OpenEHR ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งกันตรง ๆ เสียทีเดียว จากที่ผมสอบถามคุณหมอ Rath ได้ข้อมูลว่า OpenEHR ที่นิยมในยุโรปนั้นคุยกันตรง ๆ ได้เลย ตัว OpenEHR นั้นนิยามตัวเองว่าเป็น Open industry specifications, models and software for e-health ซึ่งเท่าที่ผมเข้าใจ มันสามารถเอามาสร้าง HIS ได้ ถ้าตัวไหนสร้างบนรากฐานของ OpenEHR ก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้เลยนั่นเอง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีระบบไหนในไทยบ้างที่ใช้ตัวนี้ ซึ่งเป็นไปได้ถ้าซอฟต์แวร์นั้นซื้อจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรแล้วระบบที่เป็น OpenEHR ก็จะต้องรองรับ FHIR อยู่ดี เพื่อเอาไว้คุยกับระบบที่ไม่ใช่ openEHR (ทำ FHIR facade ไว้รับส่ว resource)
คือแม้แต่ฝั่งยุโรปเอง ก็ไม่มีประเทศไหนที่ comply กับ openEHR ได้ทั้งประเทศ ก็ต้องมี FHIR อยู่ดี (แต่จริง ๆ ก็ส่ง openEHR-compatible json ตรง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็เห็นคนไปทางส่ง FHIR resource มากกว่า น่าจะเพราะมันง่ายกว่าเยอะ) — หมอ Rath
โดยในปัจจุบันก็มีหลาย ๆ ทีมที่ช่วยกันผลักดันตัว FHIR นี่ให้เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 4 วง ใหญ่และอีกหลายวงย่อย (ขอบคุณข้อมูลจากหมอ Rath Panyowat อีกครั้งครับ)
1. วง GBDi (วงนี้) ของกระทรวง DE
2. วง HDC โดยศูนย์เทค ของกระทรวงสธ.
3. วงแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ วงนี้เหมือนแกนนำหลักจะเป็น TOT
4. วงแลกเปลี่ยนภายในของรพ.ในสังกัดกรมการแพทย์
นอกจากนี้แล้ว การที่มี Interoperability ยังช่วยให้มีความง่ายในการสร้างระบบเสริมเพิ่มจากระบบที่มีอยู่แล้ว ให้นึกภาพว่าถ้าทุกโรงพยาบาลใช้ข้อมูลหน้าตาเหมือนกันในการส่งข้อมูล การทำแอพพลิเคชันก็จะสามารถทำเพียงแค่ครั้งเดียวแต่เชื่อมต่อได้กับทุกโรงพยาบาล เป็น App Store ของวงการแพทย์ได้เลย
เมื่อเรามีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เมื่อทุกโรงพยาบาลสามารถคุยกันได้โดยเป็นภาษาเดียวกัน เราก็จะลดปัญหาการจ่ายยาซ้ำซ้อน แก้ความล่าช้าในการส่งข้อมูลผู้ป่วย การขอ Second Opinion ก็ทำได้ง่ายขึ้นไม่ต้องตรวจแล็บซ้ำซ้อน และอีกมากมาย ผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกไปอยู่ที่ประชาชนทุกคนนั่นเองครับ
เมธัส — HealthTAG Founder