คุยกับนัท-ยุทธกฤต Child Care and Development Expert แห่ง UN ผู้ฝันถึงการศึกษาไทยที่เท่าเทียม

ชีวิตการทำงานกับผู้ลี้ภัย กับความหวังในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เลือนหายไป

Pan Langnamsank
Heartwork
3 min readOct 7, 2019

--

ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในองค์กรระดับนานาชาติอาจเป็นชีวิตที่หลายคนใฝ่ฝันถึง

แต่ตำแหน่งงานนี้ มีโจทย์ที่ต้องพบเจอในแต่ละวันที่อาจทำให้คุณกุมขมับไม่น้อย เมื่อคุณต้องใช้ชีวิตร่วมกับเด็กผู้ลี้ภัยหลากหลายสัญชาติในสถานกักกัน

นี่คงไม่ใช่งานที่สนุก เว้นเสียแต่คุณมีเหตุผลชัดเจนในการมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และมีภาพฝันของการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น แม้ใช้เวลายาวนานเท่าใดก็ตาม

เหมือนนัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กหรือที่เรียกว่า Child Care and Development Expert แห่งองค์กรสหประชาชาติ (UN) ทำงานในสถานกักกัน ดูแลการศึกษาและจัดกิจกรรมให้แก่เด็กผู้ลี้ภัยร่วมกับทีมนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์

นอกเหนือจากงานประจำในตำแหน่งที่เราไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยเท่าไหร่นัก นัทยังเคยเป็นคุณครูในโครงการ Teach for Thailand รุ่นแรก ทำงานอาสาในแวดวงการศึกษาหลากหลายแห่ง เช่น TEDxBangkok และ Saturday School ที่กำลังปลุกปั้นโปรเจคใหม่ “Education for the Deaf” เพื่อสร้างพื้นที่การศึกษาแก่คนทุกคนตลอดชีวิต

อะไรทำให้นัท-หนุ่มจากนครศรีธรรมราชผู้นี้ ทุ่มเทแรงกายใจไปกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ชีวิตการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้ลี้ภัยเป็นอย่างไร แล้วเขาอยากเห็นการศึกษาประเทศไทยเป็นแบบไหน

ขอชวนมาหาคำตอบและทางออกของการศึกษาไทยไปพร้อมกันกับนัท

บทสัมภาษณ์นี้ผ่านการคัดย่อและเรียบเรียงเพื่อความกระชับต่อเนื่อง

งานที่นัททำอยู่น่าจะเป็นงานที่หลายคนฝันถึง เล่าให้เราฟังหน่อยว่าทำไมไปทำงานประจำที่ UN ได้

ต้องเล่าย้อนกลับไปยาวเลย เริ่มจากตอนมัธยม เราเป็นชาวมุสลิมที่ได้โอกาสรับทุนไปแลกเปลี่ยน 1 ปีกับ AFS ที่สหรัฐอเมริกา หลังเกิดเหตุการณ์ 911 โอกาสครั้งนี้ทำให้เห็นความแตกต่างของประเทศเขากับเราอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา พอกลับมาเรียนที่ไทยเพื่อนบอกว่าเราดูเป็นผู้ใหญ่และมีความคิดมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้ทุนและโอกาสเปลี่ยนชีวิตที่หลายคนไม่ได้ เลยอยากใช้ความสามารถของเราเปลี่ยนบางอย่างในสังคมเป็นการตอบแทน

เราเริ่มจากทำโครงการภาษาอังกฤษให้เด็กในโรงเรียนเล็กๆ ก่อน พออยู่ระดับมหาวิทยาลัย เราเลือกเรียนรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จุฬาฯ เพราะสนใจเรื่องความแตกต่างหลากหลาย อยากเข้าใจประเทศต่างๆ ระหว่างเรียนก็ทำควบคู่คิดโปรเจคใหม่ๆ กับเพื่อนที่ไปแลกเปลี่ยนด้วยกัน จัดค่ายภาษาอังกฤษในประเด็นต่างๆ อย่างสิ่งแวดล้อม เขียนโครงการขึ้นมาและส่งให้สถานฑูตอเมริกาช่วยสนับสนุน ช่วงนั้นออกค่ายไปต่างจังหวัดกับเพื่อนบ่อยมาก

เป็นนักกิจกรรมเต็มตัวเลย มีเหนื่อยบ้างไหม

ไม่เหนื่อยนะ เหมือนเราได้ใช้เวลากับเพื่อน เที่ยว ทำงานและลงพื้นที่ด้วยกันอย่างมีประโยชน์ ตอนทำก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ผู้ใหญ่เห็นสิ่งที่เราทำและให้โอกาสมาเรื่อยๆ มีได้ไปต่างประเทศเพื่อประชุมงานกับข้าราชการผู้ใหญ่ที่คุยเรื่องจริงจังด้วย ผลคือเราเห็นภาพว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบอะไรง่ายขึ้นจากการไปอยู่ในงานที่เขาทำกันจริงๆ

กิจกรรมสำคัญที่สร้างตัวตน

ตอนปี 4 เราได้ไปตุรกีเพื่อร่วมประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม เจอคนจากร้อยกว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้เราได้คุยและเข้าใจว่าคนประท้วงรัฐเพราะอะไร ปัญหาที่เขาเจอเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมีวิธีการอะไรบ้างที่คนอย่างเราทำได้

จริงๆ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาจะประท้วงนะ เป็นเหมือนสอนเพื่อให้เราทำแคมเปญรณรงค์ในแบบของตัวเองมากกว่า เช่นเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับ Non-Violence Direct Action (NVDA) คือการกระทำแบบไม่ใช้ความรุนแรง แต่พอวันสุดท้าย เขาชวนกันจัดประท้วงเรื่องรัฐมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ละคนแต่งชุดประจำประเทศตัวเอง เดินขบวนแบบสงบและสร้างสรรค์มาก ไม่ต้องใช้ความรุนแรง การได้ประสบการณ์แบบนี้ทำให้เราเข้าใจคนในมุมมองต่างๆ และปฏิบัติต่อกันได้บนพื้นฐานของความเข้าใจ รวมถึงความคิดที่ว่าหากอยากเปลี่ยนแปลงอะไร เราทำได้ผ่านนโยบายที่ดีได้ ซึ่งการสร้างนโยบายแบบนี้ก็ต้องเข้าใจประชาชนทั่วไปก่อนนั่นแหละ

อีกเหตุการณ์คือได้ไปสอนในโรงเรียนตามชายแดนที่แม่สอด เจอกลุ่มเด็กไร้สัญชาติที่มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ เราก็สงสัยว่าทำไมเด็กเหล่านี้มาอยู่ที่นี่ พ่อแม่ไปไหน ซึ่งมีเรื่องการเมืองเบื้องหลังที่ทำให้เขาต้องจากกับพ่อแม่มาตามหาชีวิตที่ดีกว่า เราเลยสงสัยว่าทำไมเส้นแบ่งเขตแดนของชาติที่เป็นเส้นสมมติด้วยซ้ำ ถึงทำให้มนุษย์สองกลุ่มแตกต่างกันได้เพียงนี้ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราอยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเด็กกลุ่มนี้เมื่อมีโอกาส ซึ่งก็คืออาชีพที่ทำตอนนี้

นอกจากเรื่องกิจกรรมแล้ว การเรียนรัฐศาสตร์ให้อะไรกับชีวิตนัทบ้าง

ความเข้าใจเรื่องโครงสร้าง มองปัญหาสังคมในระดับภาพใหญ่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ พอมาประกบคู่กับความเข้าใจจากการทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยในช่วงนี้ ทำให้เราคิดว่าถ้าอยากแก้ปัญหาเหล่านี้และเปลี่ยนพฤติกรรมของคน คำตอบในระยาวอยู่ที่การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา

เป็นเหตุผลที่เลือกงานแรกเป็นครู (Fellow) ในโครงการ Teach for Thailand รุ่นแรก

คำว่า “ขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” และ “สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ Teach for Thailand ดึงดูดเรามาก ตอนนั้นโครงการเกิดขึ้นเป็นปีแรก ยังไม่ค่อยมีรายละเอียด แต่เราอยากลองเลยสมัครไปก่อน สุดท้ายได้ แถมเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ด้วย แต่เงินเดือนไม่เยอะนะ แล้วก็ต้องเป็นตั้ง 2 ปี

อะไรทำให้เรากล้าตัดสินใจเลือกงานนี้หลังเรียนจบเลย แม้อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องการเงิน

เพื่อนก็สำคัญ ก่อนเข้าไปสอนจริงในโรงเรียนจะมีการฝึกสอนก่อน 2 เดือน เราอยู่กับเพื่อนเพื่อทำแผนการสอนตลอด สอน 8 โมงเช้า นั่งทำแผนด้วยกันถึงตี 2 เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เลยสนิทและสนับสนุนกัน มันได้พลังจากคนรอบข้าง คนกลุ่มนี้มุ่งเน้นที่ตัวเด็กจริงๆ

ไปสอนแล้วเป็นยังไง

ตอนเข้าไปช่วงแรก โรงเรียนยังไม่ไว้ใจหรอก เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่เราค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์และแสดงให้เห็นว่าเรามาเพื่อช่วยเขาจริงๆ นะ เราเจอปัญหาเด็กลำบาก ไม่มีเงินใช้ เลยคิดโปรเจคทำโรงเพาะเห็ดขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างในการดูแลและหาเงินด้วยได้ จริงๆ จ้างคนข้างนอกมาช่วยทำจะง่ายมาก แต่คนในชุมชนจะไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เราใช้วิธีชวนคนในชุมชน ครู เด็ก ภารโรง ช่าง มาทำและเรียนรู้วิธีการไปด้วยกัน แบ่งหน้าที่ในการดูแลและนำไปขายต่อ คนก็มาช่วยกันซื้อ เป็นโปรเจคที่ผ่านไปได้ด้วยดี ปีต่อๆ ไปเลยมีการให้ครูในโครงการคิด Community Project 1 โปรเจคก่อนจบการเป็นครูด้วย

มีรู้สึกตัวเล็กบ้างไหมเวลาเป็นครู เมื่อเราเรียนและมองในระดับภาพใหญ่หรือเชิงนโยบายมาตลอด

เรามาทำตรงส่วนนี้ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจปัญหาให้รอบด้านมากขึ้น ทั้งเข้าใจเด็ก ครู สังคม นโยบายการศึกษา ที่นี่ทำให้เราเข้าใจแง่มุมการศึกษาได้หมดเลย และมีเวทีให้เราได้สื่อสารเรื่องราวพวกนี้ต่อ ซึ่งเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง และเราพยายามชวนคนหลากหลายวงการเข้ามาทำเรื่องการศึกษาด้วยกัน เพื่อเข้าใจว่าสภาพการศึกษาตอนนี้เป็นอย่างไร และกลับไปทำบางอย่างในรูปแบบของเขา เราเลยไม่รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กนะ

เรียนรู้การศึกษาผ่านการเป็นครูเสร็จแล้วทำอะไรต่อ

พอจบก็เคว้งๆ นะ แต่รู้ตัวว่าอยากออกจากกรุงเทพ พอดีไปเจองานของ International Student Volunteer ที่รับชาวต่างชาติมาเป็นอาสาสมัครต่างชาติมาทำงานด้าน Community Development ที่ปาย เชียงใหม่ เราสมัครเป็น Project Leader และไปทำงานกินอยู่กับชุมชนที่นั่นอยู่ 3 เดือน ได้สอนและพัฒนาชุมชน ก่อนที่ AFS ที่อเมริกาเสนอให้เราไปทำงานที่ออฟฟิศตรง Wall Street เป็นเวลาครึ่งปีเพื่อช่วยเป็นกระบวนกร จัดค่ายแนะนำให้เด็กทั่วโลกที่มาแลกเปลี่ยนที่นี่ เน้นเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลาย (Diversity) เพื่อลดผลกระทบจากความแตกต่างทางความคิดและการโดนแบ่งแยกชนชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยต่างๆ

ชอบไหม

ไม่ชอบงานออฟฟิศเท่าไหร่ เหมือนอยู่ในป่าคอนกรีต แต่ชอบที่ได้ทำเนื้อหาให้เด็กได้นำเสนอเกี่ยวกับประเทศและศาสนาของตัวเอง เด็กจะเห็นเองว่าแม้แต่ในศาสนาเดียวกันก็มีความแตกต่างตามแต่ละประเทศและบุคคล คนมีความเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งความขัดแย้งส่วนมากเกิดจากคนยึดถือความเชื่อของตัวเองว่าเป็นความจริงแน่แท้และไม่เปิดใจรับฟังคนอื่นนี่แหละ ตรงนี้เป็นพื้นที่ให้เด็กได้ถกเถียงกันและถอดบทเรียนกันได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องบังคับหรือบอกว่าอะไรผิดถูก แต่เขาจะเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของโลกใบใหญ่นี้เอง

เห็นนัทบอกว่าชอบทำความเข้าใจความหลากหลายและแตกต่าง แต่ไม่สับสนหรอเวลามีความเชื่อหลากหลายเข้ามาปะทะในความคิด อันไหนเป็นความจริงกันแน่ ที่เราเชื่อตอนนี้เหมาะสมหรือเปล่า

ต้องเข้าใจก่อนว่าที่มาที่ไปของความคิดคนมาจากไหน อะไรทำให้เขาเชื่อแบบนั้น มีปัจจัยอะไรบ้าง ในทางรัฐศาสตร์มีคำว่า Constructivism หมายถึงคนเรียนรู้โดยการให้ความหมายผ่านประสบการณ์ที่ปัจเจกบุคคลพบเจอ สิ่งที่เราเชื่อตอนนี้อาจเป็นความหมายที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่ละคนมีมุมมองของความหมายคนละแบบ แต่ละคนให้คุณค่าในการใช้ชีวิตต่างกัน ตรงนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่านี่เป็นสิ่งที่คนให้ความหมายกับมันอย่างไร แล้วไตร่ตรองดูว่าอันไหนเหมาะสมกับชีวิตเรา

สุดท้ายได้กลับมาทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยตามที่หมายมั่นไว้ เป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ เราไม่ได้ทำงานมาตรงสายกับตำแหน่งขนาดนั้น แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเข้าใจว่าต้องทำอะไรบ้าง และทีมที่ทำงานด้วยกันค่อนข้างมุ่งเน้นที่ตัวเด็กในสถานกักกันเช่นกัน ไม่ต้องห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นทีมเลย ถ้าจะเครียดก็เป็นเพราะคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในสภาพแวดล้อมทางพื้นที่ที่มีความตึงเครียดและผู้ลี้ภัยจากหลากหลายชนชาติมาอยู่ด้วยกัน จะตอบรับกับความคาดหวังของพวกเขาอย่างไรได้บ้าง

ช่วงนี้ก็ยังทำงานอาสาไปด้วย

ใช่ เพราะข้อจำกัดของเวลาตามเวลาที่เราได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานกักกัน เวลาที่เหลือก็กลับมาเน้นผลักดันการศึกษาของเด็กไทย เช่นทำ Saturday School ตอนนี้กำลังมีโปรเจคใหม่ชื่อ Education for the Deaf เน้นสอนผู้บกพร่องทางการได้ยิน

จากที่เห็นปัญหามาเยอะ นัทคิดว่าการศึกษาไทยยังมีความหวังหรือเปล่า เชื่อว่าตัวเองขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ

การเป็นครูทำให้เรามีทัศนคติที่ว่า จริงๆ สอนร้อยคน เปลี่ยนได้แค่คนเดียวก็มีความหมายแล้วนะ ถ้าเราไม่มาสอนตรงนี้ อาจไม่มีเด็กคนไหนเปลี่ยนไปเลย แต่วันนี้มาทำตรงนี้ ถึงเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็มีความหมาย ช่วงชีวิตเราอาจสั้นแหละเมื่อเทียบกับโลก แต่เราทำสิ่งที่ทำได้ในช่วงเวลาหนึ่งนี้ เหมือนเป็นคนสวนที่รดน้ำพรวนดินให้เด็กที่ปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์อย่างดี ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละเมล็ดพันธุ์ด้วยว่าจะเติบโตอย่างไร ทำในระดับที่พอดีน่ะ ไม่ทำก็ไม่เกิดเลย แต่ถ้าเยอะไปอาจเหนื่อยจนทำต่อไม่ไหว

มองในภาพใหญ่ เราว่าแต่ละคนมีบทบาทต่างกัน แต่ละคนแค่ต้องกำหนดชัดว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ทำส่วนของเราให้ดีที่สุด คิดว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เราทำได้อย่างไร จะทิ้งอะไรให้คนรุ่นหลังบ้าง ไม่ต้องจำชื่อเราได้หรอก แค่ความเชื่อมันถูกส่งต่อเป็นการกระทำก็พอแล้ว อย่าง Saturday School ก็มีเป้าหมายว่าวันหนึ่ง Saturday School ควรจะหายไป เพราะการศึกษาควรจะดีจนปัญหาตรงนี้หมดไป ไม่ต้องมาทำสิ่งนี้แล้ว

หาก Saturday School หายไปแล้วฝากการศึกษาที่ดีขึ้นไว้ แล้วถ้าวันหนึ่งถ้านัทหายไป สิ่งที่นัทอยากฝากให้คงอยู่ต่อไปคืออะไร

(นิ่งคิด) การลงมือทำโดยยังไม่ต้องพร้อม เพราะไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะพร้อม

เราคิดถึงเรื่องการจากโลกนี้ไปตลอดเวลา ตั้งแต่พ่อเสียไปด้วยโรคมะเร็งตอนเราปี 4 ก่อนพ่อเสีย พ่อยังสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนคนที่เป็นมะเร็งด้วยกัน คนในนั้นก็ค่อยๆ จากไปเรื่อยๆ นะ แต่พ่อยังมีความหวังอยู่ ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงหรอก แต่ในภาวะเหนื่อยที่สุด พ่อยังเลือกให้คำปรึกษาและอยู่ข้างๆ คนอื่นอย่างมีความหวัง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราเรียนรู้และแข็งแกร่งมากขึ้น

เราไม่อยากจากไปโดยเสียดายในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ อะไรที่ลงมือทำได้จะลงมือทำเลย ผิดพลาดก็เรียนรู้แล้วไม่ผิดพลาดแบบเดิมอีก ชีวิตมันสั้นน่ะ ไม่อยากกลัวโดยไม่ได้ลงมือทำอะไร เป้าหมายใหญ่ของเราอาจเป็นการทำด้านนโยบาย แต่จากที่ทำมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าตัดจบตรงนี้ก็ไม่ได้เสียดายอะไร

คำถามสุดท้าย อะไรเป็นเหตุผลของนัทในการตื่นเช้าขึ้นมาทำงานทุกวัน

การไปถึงที่ทำงานเร็วๆ ของเราอาจทำให้คนมีโอกาสได้รู้สึกถึงความเป็นอิสระมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่าต่อตัวเราเองและคนอื่น แม้จะเป็นงานที่ทำโดยคนทั่วไปไม่เห็นและมีความกดดันมากก็ตาม แต่ละวัน เรามีเวลาน้อยมากที่เขาอนุญาตให้อยู่ในสถานกักกัน ทุกอย่างต้องทำอย่างรวดเร็ว ทำให้เราเห็นคุณค่าของเวลามากๆ

เรามีเวลาเลือกทำเพื่อตัวเองและคนอื่นเท่ากัน เราอยากใช้เวลาทำเพื่อคนอื่นมากขึ้นโดยที่ยังดูแลตัวเองไปด้วย มีเรื่องอีกมากที่อยากเรียนรู้ ไปในที่ที่คนไม่รู้จัก พยายามทำความเข้าใจชีวิตให้มากขึ้น และที่สำคัญ เราอยาก “ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ให้หมดไปในสักวันหนึ่ง

ปัจจุบันนัททำงานในฐานะ Child Care and Development Expert ขององค์กรสหประชาชาติ ควบคู่ไปกับการทำงานอาสาด้านการศึกษา

ความสุขของนัทคือการได้เปลี่ยนภาพที่อยู่ในความคิดของเขาให้กลายเป็นความจริงที่มีประโยชน์ต่อชีวิตผู้อื่น

--

--

Pan Langnamsank
Heartwork

สิ่งมีชีวิตขนาดธุลีของดวงดาว ออกเดินทางเพื่อแสวงหา สร้าง และสลายตัวตน