จาก “วิชาที่ชอบ” สู่ “(หลาย)งานที่รัก” ของอาจารย์นักภาษาศาสตร์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์

คุยกับอาจารย์ผู้หลงรักภาษา และสัญญาว่าจะทำหน้าที่ในทุกวันแบบ “The Best of Me”

Khaopoon Kulsakdinun
Heartwork
3 min readNov 8, 2019

--

“งานในฝัน” ของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร?

เราต่างมีคำนิยามเป็นของตนเอง แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกดีไม่น้อย หากสิ่งที่เรารักกลายเป็นงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้จริง ทั้งด้านการเงินและจิตใจ

แต่หากใครกำลังกังวลสงสัยว่า สิ่งที่ฉันรักจะไปทำเป็นอาชีพได้ด้วยหรือ?
Heartwork ขอแนะนำให้รู้จักกับ “นักภาษาศาสตร์” ผู้ค้นพบความมหัศจรรย์ของ “ภาษา” และสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็น “งานที่รัก” ได้ถึงสามงาน ทั้งเป็นอาจารย์ นักภาษาศาสตร์การตลาด และเป็นผู้บุกเบิกด้านนิติสัทศาสตร์ (การศึกษาลักษณะของเสียงพูดเพื่อใช้พิสูจน์หลักฐานในกระบวนการยุติธรรม) ที่พยายามผลักดันศาสตร์นี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย

เรากำลังพูดถึงอาจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พาเราไปยังห้องทำงานของภาควิชาภาษาศาสตร์ชั้น 12 อย่างเป็นกันเอง พร้อมแววตาเปล่งประกายและพลังงานบวกที่ฉายออกมา ไม่แปลกใจเลยที่นิสิตหลายต่อหลายคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าหลงรักในการเรียนวิชาของเขา

อะไรทำให้ศุจิณัฐมั่นใจในเส้นทางที่เลือก แล้วเขาค้นพบความหมายอะไรบ้างในการทำงานเหล่านี้
เราขอชวนทุกท่านกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง คาบเรียน “การงานที่รัก” โดยอาจารย์ศุจิณัฐกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้

สำหรับอาจารย์ ภาษาศาสตร์คืออะไร

ภาษาศาสตร์คือการศึกษาภาษามนุษย์ใด ๆ ในโลกว่ามีโครงสร้างและกลไกของปรากฏการณ์ทางภาษาอย่างไรด้วยระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ รวมถึงการวิเคราะห์เป็นขั้นตอนพิสูจน์ได้ เช่นการตั้งสมมติฐาน ทดสอบ หาหลักฐานสนับสนุน ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Arrival จะเห็นว่าเราสามารถศึกษาได้แม้กระทั่งภาษามนุษย์ต่างดาว ชอบมีคนถามเล่น ๆ ว่าถ้ามนุษย์ต่างดาวมาที่ไทย เราจะเรียนภาษาเขาได้ไหม ก็ลองแวะมาที่ชั้น 12 ภาควิชาภาษาศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์ได้ครับ เรามีคนจำนวนมากพร้อมจะช่วยรออยู่แล้ว (หัวเราะ)

เจอความพิเศษของภาษาศาสตร์นี้ได้อย่างไร

ตอนเรียนปริญญาตรี เราเรียนภาษาศาสตร์ของภาษาอังกฤษมาบ้าง แต่เหมือนยังขาดเนื้อหาเฉพาะที่ลึกซึ้งและอยากรู้มากกว่าภาษาอังกฤษ เลยมองหาสิ่งใกล้ตัวที่ตอบโจทย์มากสุด ซึ่งก็คือภาษาศาสตร์

เหตุผลที่เรียนเพราะชอบการที่ภาษาถูกอธิบายได้อย่างเป็นระบบ ชอบในความลึกซึ้ง และการเรียนภาษาศาสตร์ เราต้องเปิดใจว่าอาจไม่ได้เรียนแค่โครงสร้างภาษาที่รู้อยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจโครงสร้างของภาษาใด ๆ ก็ตามบนโลกนี้ แม้ไม่ใช่ภาษาที่เราพูด ถ้าได้ข้อมูลภาษาที่ไม่รู้จักมา เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลของภาษานั้นได้ด้วย

เห็นบางคนเรียนสายภาษาเพราะชอบ แต่ก็กังวลเรื่องงานในอนาคต อาจารย์มีภาพไหมว่าตัวเองเรียนจบไปแล้วจะทำอะไร

ตอนปริญญาตรี คนเรียนสายภาษามักมองว่าเราจะทำงานสายแปล ล่าม แต่ตัวเองเคยทำงานแปลมาก่อน สนุกแต่ไม่ได้ถูกจริตขนาดนั้น พอเรียนปี 3 เริ่มรู้สึกชอบการติวหนังสือ เพื่อน ๆ ก็บอกว่า เออ เราติวรู้เรื่องนะ เลยอยากเป็นอาจารย์ตั้งแต่ตอนนั้น เรียนเกี่ยวกับภาษาจนจบปริญญาเอกและมาเป็นอาจารย์ มองกลับไปก็ถือว่าตรงกับภาพที่คิดไว้นะ

คนรอบตัวมีความเห็นอย่างไรตอนตัดสินใจเป็นอาจารย์

แบบแรกคือ คนส่วนใหญ่บอกว่าอาจารย์เป็นงานที่สบาย จริง ๆ พบว่าไม่ได้สบายขนาดนั้นนะครับ (หัวเราะ)

แบบที่สองคือ อาจารย์เป็นงานที่หนัก เวลาที่เราสอนและภาระงานอื่นๆ นอกจากงานสอนของอาจารย์ ถ้าเทียบกับอาชีพอื่นอาจได้ค่าตอบแทนมากกว่านี้ ซึ่งทั้งสองแบบขัดแย้งกันมาก แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเลย ไม่ได้ลังเล คิดแค่ว่าอยากเป็นอาจารย์ อยากสอนหนังสือแค่นั้นเอง

แล้วคิดว่าที่เขาพูดกันนั้นจริงไหม

จะว่าไปเขาก็พูดถูกประมาณหนึ่งนะ แต่เรื่องงานหนักหรือไม่หนักขึ้นอยู่กับความถนัด ความรักและเป้าหมายชีวิตของแต่ละคน พอเรามาสอนแล้วก็รู้สึกว่า เราควรทำในสิ่งที่เรารัก งานต้องเป็นสิ่งที่เราภูมิใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร ถ้าเรามีความสุข ถึงจะหนักบ้างแต่เราจะทนไหว ถ้าเราฟังความเห็นของคนอื่นแล้วทรยศเสียงของตัวเอง เราอาจทำพอได้ แต่ถึงจุดหนึ่งเราคงหมดไฟ

สอนยังไงให้ “ภาษาศาสตร์” เป็นเรื่อง “ว้าว” สำหรับผู้เรียน

เราพูดเสมอว่าภาษาศาสตร์เป็นเรื่องที่ลึกและซับซ้อน แต่น่าสนใจพอที่จะอดทนเรียน เราจะไม่ทำให้ง่ายเกินไปจนเข้าไม่ถึงแก่น แต่นำเสนอและหาตัวอย่างให้สัมพันธ์กับความอยากรู้ของผู้เรียน เหมือนเด็กไม่กินผัก เราอาจจะเอาไปชุบแป้งทอด แต่เด็กต้องกินผัก เราจะไม่เอาเยลลี่ให้เด็กกินแล้วบอกว่านี่คือผัก ต้องทำให้เห็นว่าเนื้อหาที่เรียนเกี่ยวยังไงกับชีวิตประจำวัน เช่น ล่าสุด เรื่องการออกเสียงนามสกุลคุณธนาธร “จึงรุ่งเรืองกิจ” ทำไมคนในสภาออกเสียงให้ถูกยาก ถ้าเราเรียน Phonetics จะสามารถอธิบายได้ว่า “ทำไม” ซึ่งคือเป้าหมายของการเรียนวิชานี้

คือทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าภาษาศาสตร์ “อยู่ในชีวิตประจำวัน” และเป็น ”เรื่องใกล้ตัว”

ใช่ครับ เช่นการสอนปริญญาตรี เด็กจะสนุกเมื่อสิ่งที่เขาเรียนนั้นเอาไปตอบหรืออธิบายสิ่งที่เขา “อิน” ได้ วิธีการเตรียมตัวสอนคือเปิดทีวี เปิด Facebook ดู #hashtag ว่าตอนนี้เด็กอินอยู่กับอะไร เราจะได้ตัวอย่างการสอนจากรายการทีวี แล้วนำทฤษฎีเข้ามาจับกับตัวอย่างทำให้เห็นภาพง่ายขึ้น

เป็นอาจารย์ต้องทันสมัยอยู่เสมอนะ พอเราสังเกตสื่อรอบตัวเราจะพยายามตีความมันด้วยภาษาศาสตร์ ในทางกลับกัน การเป็นนักภาษาศาสตร์ก็ทำให้เราตีความภาษารอบตัวในแบบภาษาศาสตร์ เช่น เพลงที่กำลังฮิตอย่างเพลง “รักติดไซเรน” จะพบว่ามีรูปแปรเสียงภาษาสมัยใหม่อยู่เยอะมาก หรืออย่างการออกเสียง /l/ ของ Charlie Puth ในเพลง One Call Away ต่างกับเสียง /l/ ของคนอื่นอย่างไร ต้องหาวิธีสอนที่น่าสนใจในแบบของเรา ไม่ต้องตลกก็ได้ แต่สอนในสิ่งที่เด็กอย่างรู้ เราจะไม่สอนแบบกางตามหนังสือ แต่จะสอนในเรื่องที่ถ้าเด็กขาดเรียนไปจะ “รู้สึกพลาด” อะไรไปบางอย่าง

เราเองต้อง “อิน” ไปกับนักเรียนด้วย

ใช่ครับ อย่างเวลาสอนจบวิชา เขาจะมีให้ประเมินอาจารย์และวิชา เราอ่านทุกรอบ ทุกครั้งอย่างเปิดใจ คิดว่าจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ปัญหาในคาบเรียนของแต่ละปีไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับในสิ่งที่เด็กพูดแล้วเอามาพิจารณา บุคลิกภาพต้องเป็นมิตรกับเด็ก อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนต่างกัน เราต้องปฏิบัติกับนิสิตอย่างเท่าเทียม แต่วิธีการอาจจะแตกต่าง บางคนสนใจวิชาการเข้มข้น เราต้องสนับสนุนแบบหนึ่ง บางคนสนใจว่าจะประยุกต์ภาษาศาสตร์ในชีวิตได้อย่างไร ก็ต้องสนับสนุนอีกแบบหนึ่ง

อาจารย์ดูตั้งใจกับการสอนมาก อะไรทำให้อยากตื่นขึ้นมาทุ่มเทกับสิ่งนี้ทุกวัน

รางวัลของอาจารย์คือความสำเร็จของผู้เรียน แค่นิสิตเรียนรู้เรื่องก็ดีใจแล้ว พอเราตั้งใจสอนเต็มที่เด็กจะรับรู้ได้ ผลตอบรับก็จะดีเช่นกัน ชอบที่เห็นเด็ก ๆ เติบโต นักเรียนบางคนนำสิ่งที่สอนไปใช้ประโยชน์ได้ เราได้มีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ก็รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว

นอกจากบทบาทอาจารย์ที่เต็มที่ในทุกชั่วโมงสอนแล้ว นักภาษาศาสตร์คนนี้ยังมีบทบาทอื่น ๆ ที่มาพร้อมภารกิจใหม่ในการทำให้ภาษาศาสตร์ได้รับความสำคัญในสังคมมากขึ้นด้วยการทำให้เห็นว่า “ภาษาศาสตร์เรียนไปทำอะไรได้”

อาจารย์นำภาษาศาสตร์ที่ชอบไปประยุกต์ทำงานอื่น ๆ อย่างการบุกเบิกนิติสัทศาสตร์ในไทยหรือภาษาศาสตร์เพื่อการตลาดได้อย่างไร

ตอนแรกคิดแค่จะสอนภาษาศาสตร์ แต่พอมาทำงานจริง ๆ มันได้ทำอะไรนอกเหนือไปจากนั้น อย่างนิติสัทศาสตร์ (Forensic Phonetics) หรือการใช้คลื่นเสียงเพื่อระบุอัตลักษณ์ของผู้พูดในการพิสูจน์หลักฐาน เป็นศาสตร์ที่ในต่างประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย ใช้ในกระบวนการยุติธรรมมานานมากแล้ว

เรารู้จักศาสตร์นี้ตอนทำวิจัยอยู่ที่ออสเตรเลีย พอกลับมาเลยเสนอภาคภาษาศาสตร์ของคณะ ทางภาคก็สนใจและสนับสนุน นอกจากนั้นก็มีโอกาสไปบรรยายเรื่องนี้ให้ศาลยุติธรรมของไทยฟังด้วย ซึ่งผู้ฟังส่วนมากเป็นผู้พิพากษาแล้วเขาสนใจมาก ตอนนี้ที่กำลังทำคือให้ตุลาการรู้ว่ามีศาสตร์นี้อยู่ และทำให้เขานำไปใช้ในกระบวนการศาลได้จริง ๆ

ส่วนภาษาศาสตร์การตลาดเกิดจากการสอนภาษาศาสตร์ที่คณะ แล้วพบว่าเด็กอักษรฯ กลัววิชานี้ สิ่งแรกที่คิดคือทำยังไงให้เด็กได้มาลองลงเรียนภาษาศาสตร์ดูก่อน เราก็ลองวิเคราะห์ดูว่าเด็กอยากเรียนอะไร พบว่าเด็กสมัยนี้สนใจการตลาดมาก ประกอบกับภรรยาเรียนจบทางนิเทศศาสตร์ เคยทำการสื่อสารเพื่อการตลาดมาก่อน เราเลยคุยกัน เกิดเป็นวิชาใหม่คือภาษาศาสตร์กับการตลาด ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิชาแรกในไทย วิชานี้ไม่สอนว่าใช้ภาษายังไงให้เพราะ ให้ถูกต้อง แต่สอนว่า ภาษาที่คุณใช้ในการตลาด ชื่อแบรนด์ สโลแกน เมื่อวิเคราะห์ด้วยภาษาศาสตร์แล้ว ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของคุณอย่างไร แต่ละสัปดาห์จะมีกรณีศึกษาจากงานวิจัยหรืองานที่เราไปช่วยตามบริษัทต่าง ๆ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติให้นักเรียนลองตั้งชื่อสินค้า สโลแกนให้ผู้ประกอบการจริง

ถ้าภาษาศาสตร์อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้ สังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร

สิ่งที่เราพูดออกมาไม่ได้สะท้อนแค่ความหมายที่เราพูดออกมา แต่มีกลไก มีเจตนา เบื้องหลังหลายอย่าง การรู้ภาษาศาสตร์เบื้องต้นทำให้หลักการคิดวิเคราะห์ของเราเป็นกลางมากขึ้น เราไม่เพียงแต่ประเมินค่าคำพูด แต่จะพยายามอธิบายตามความเป็นจริง หรือ เราจะรู้เท่าทันโฆษณาได้มากขึ้นว่าเบื้องหลังนั้นมีการสร้างค่านิยมบางอย่างและผลิตซ้ำผ่านภาษาและเราเสพย์เข้าไปโดยไม่ทันรู้ตัว หรือ ก่อนแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เราจะคิดมากขึ้นว่าสิ่งที่เรากำลังเขียนสามารถตีความได้ว่าอะไรบ้าง ทำให้เราระวังการผลิตคำพูดและการรับสารมากขึ้น

ปัญหาทุกวันนี้ในการสื่อสารบนโลกออนไลน์คือคนมักรู้สึกว่าเราพูดแค่ตัวสาระ พูดแค่นี้เองจะไปคิดอะไรมาก แต่จริง ๆ มันไม่ได้มาแค่สาระ มีสิ่งอื่นที่สื่อออกมาด้วย คำพูดสื่อถึงความคิดเบื้องหลังของผู้พูด ทำให้คนคิดต่อได้อยู่แล้ว และโลกออนไลน์ไปเร็วมาก หยุดแทบไม่ได้เลย ยิ่งควรระวัง

ภาษาศาสตร์ (และสาขาต่าง ๆ ของมนุษยศาสตร์) ยังสัมพันธ์กับสังคมปัจจุบันอยู่ไหม ทำอย่างไรให้ศาสตร์นี้ได้รับความสำคัญมากขึ้นในโลกปัจจุบันที่กล่าวกันว่า AI (Artificial Intelligence-ปัญญาประดิษฐ์) กำลังเข้ามาแทนที่

จริง ๆ สาขาเหล่านี้ทั่วโลกเริ่มถูกปิดไปบ้างแล้ว แม้เราบอกว่าภาษาศาสตร์สอนให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางภาษาอย่างลึกซึ้ง แต่คำถามคือ ตอนนี้คนต้องการความลึกซึ้งนี้มากน้อยเพียงใด มันยังตอบโจทย์สังคมอยู่หรือเปล่า หรือเขาต้องการประยุกต์ใช้จริงในชีวิตพอ เป็นเรื่องที่เราต้องกลับมามองตัวเองใหม่

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเราต้องคงความลุ่มลึกไว้ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถประยุกต์อะไรต่อได้ อาจนำไปบูรณาการร่วมกับสาขาอื่น ๆ เช่น ล่าสุดไปโครงการวิจัยร่วมกับ NECTEC เรื่องการประยุกต์ใช้สัญญาณคลื่นสมอง EEG เพื่อตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กปฐมวัย เรามีส่วนช่วยเกี่ยวกับการออกแบบเสียงกระตุ้นว่าต้องมีคุณสมบัติทางเสียงและคลื่นเสียงเป็นอย่างไร หลายครั้งงานสาขาอื่นก็ต้องการนักภาษาศาสตร์ไปช่วยในบางจุด เพียงแต่เขาไม่รู้ว่ามีศาสตร์นี้อยู่ เราต้องปรับตัวเปิดใจเรียนรู้จากสาขาอื่น ๆ หรือเรียนรู้ร่วมกัน อาจไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ทุกคนที่อยากนำไปประยุกต์กับศาสตร์อื่น แต่นี่เป็นหนทางหนึ่งในการทำให้คนเห็นอย่างชัดเจนขึ้นว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ถ้าหากพักจากภารกิจเพื่อการอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ที่ว่าถือว่าเป็น “งาน(หนัก)” ที่รักสักครู่แล้วนั่งมองภาพตัวเองจากระยะไกล คำว่า “งาน” มีความหมายกับชีวิตยังไงกันนะ

เคยเบื่องานที่ทำบ้างไหม

ไม่เคยเบื่อการสอนและงานวิจัยเลย รู้สึกมีแรงใจมาก อาจมีเบื่อเล็กน้อยกับงานเอกสารบ้าง แต่ก็ต้องทำ และเหนื่อยบ้างเวลาอยากพักแต่ได้พักน้อยหรือสุขภาพไม่ดี

คิดเห็นอย่างไรกับเรื่อง Work-Life Balance ที่คนชอบพูดกัน

คิดว่าต้องรู้จักรักษาสมดุลเรื่องชีวิต งาน ครอบครัว เวลาพักผ่อนส่วนตัวนะ เพราะเราไม่ได้มีบทบาทเดียว เมื่อก่อนมองว่าคนเก่งคือคนที่อุทิศตัวให้งาน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าคนที่เก่งคือคนที่รู้จักขีดจำกัด บริหารเวลาชีวิตได้ดี มีเวลาให้ครอบครัว ท่องเที่ยวพักผ่อนบ้าง ไม่ใช่ทำงานทั้งวันทั้งคืน

แล้วคิดว่าเราทำงานกันไปเพื่ออะไร จำเป็นต้องมีเป้าหมายให้ชีวิตไหม

ส่วนตัวคิดว่าควรมีเป้าหมายนะ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายเลยในระยะยาวอาจจะเหนื่อย เวลามีเป้าหมายชีวิตจะตื่นเต้น ถึงจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ตามแต่เราจะได้รู้ว่าต้องทำอะไร เหมือนเวลาเรียนหนังสือ เราจะไม่กำหนดว่าอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง แต่วางแผนว่าจะอ่านเนื้อหาถึงแค่ไหน กี่บทแทน การใช้ชีวิตก็เหมือนกัน

ในฐานะอาจารย์เป้าหมายระยะสั้นคือทำให้วิชาในแต่ละเทอมและงานวิจัยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนเป้าหมายระยะยาวคงเป็นอาจารย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อาจไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว แต่สัญญาว่าจะเป็น “the best of me” เป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดเท่าที่ตอนนั้นเราจะทำได้ ทำวิจัยและทำงานที่ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับผู้เรียน แต่มีประโยชน์กับสังคมข้างนอกด้วยมากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา

ท้ายสุดนี้ มีบทเรียนอะไรที่อยากแนะนำให้คนที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน อะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตการทำงาน?

ส่วนตัวคิดว่าอย่างแรกที่สำคัญคือ ความรักในงานที่ทำ จะทำให้เราทนความหนักของงานได้ อย่างที่สองคือเราควรจะ “be nice” อย่างจริงใจกับทุกคน หลายคนคิดว่าการทำงานเป็นเพียงเรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่การเป็นอาจารยสอนว่าการทำงานเป็นการทำเพื่อคนอื่น เราพยายามเป็นมิตรและเข้าใจนิสิต แม้หลายครั้งเราไม่เข้าใจพฤติกรรมของเขา แต่เราจะพยายามเพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดกลับไป เพื่อนร่วมงานก็เช่นกัน ทั้งเพื่อนอาจารย์ ฝ่ายสนับสนุนอย่างเจ้าหน้าที่ ทุกคนมีความสำคัญหมด ควรปฏิบัติดีต่อกัน ไม่เช่นนั้นเวลาทำงาน ทั้งเราทั้งเขาอาจทุกข์ใจ

อย่างสุดท้ายที่สำคัญมากคือ การดูแลสุขภาพ ถ้าสุขภาพแย่จะกระทบทุกอย่าง ต่อให้ทำงานเก่งมาก แต่ถ้าป่วยเราจะหมดแรงกาย ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ และส่งผลกระทบกับคนอื่น ๆ ด้วย

อาจารย์ศุจิณัฐตอบคำถามที่เราสงสัยเรียบร้อย และทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มสดใส เราพลางคิดตามถึงการทำงานในอนาคตของเราว่าจะเป็น “งานที่รัก” แบบนี้ได้ไหม

บทสัมภาษณ์จบลงเพียงเท่านี้ แต่ประกายในการสอนภาษาศาสตร์ยังฉายอยู่ในแววตาของนักภาษาศาสตร์คนนี้ แรงใจในการทำให้สังคมเห็นความสำคัญของมนุษย์ศาสตร์ยังคงต้องดำเนินต่อไป คุณค่าและความจำเป็นของมนุษยศาสตร์ยังมีอีกหลายแง่มุมที่รอการค้นพบและประยุกต์ใช้ ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในเร็ววันนี้จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของอาจารย์ผู้หลงรักในงานที่ทำ

ติดตามอ่านเรื่องราวและพลังใจในการทำงานของผู้คนอีกมากมายหลากหลายต่อได้ที่เพจ Heartwork นะคะ : — )

--

--

Khaopoon Kulsakdinun
Heartwork

pieces of writings, opinions, reviews, reflection — anything I’ve stumbled upon in life