สำรวจโลกภายในของ “ปาล์ม-ปัณณวัฒน์” นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด ผู้ก้าวข้ามอาการ ADHD และ Dyslexia มารับฟังคนที่อยู่ตรงหน้าอย่างตั้งใจ

การเติบโตต่อสู้กับปัญหาที่ไม่ได้เลือก ด้วยการวาดรูปและผจญภัยในต่างแดน สู่ชีวิตที่เลือกเส้นทางนักจิตวิทยา เพื่อช่วยคนผ่านการเป็นกระจกธรรมดาที่ดี

Pan Langnamsank
Heartwork
4 min readOct 28, 2020

--

“าายษจติกันาลปม์_____นมดผวั______ปัน์ปลล”

ประโยคข้างต้นไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด หากคุณมองโลกใบนี้ผ่านสายตาของปาล์ม-ปัณณวัฒน์ วีรบุรีนนท์ ในวัย 8 ขวบ ที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่ามีอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) และบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน (Learning Disorder หรือ LD ประเภทดิสเล็กเซีย) ทำให้เขาเหม่อลอยง่าย เขียนหนังสือกลับหัวกลับหาง และอ่านตัวอักษรภาษาใด ๆ ได้ผิด ๆ ถูก ๆ ชีวิตการศึกษาในวัยเด็กของปาล์มจึงไม่ได้ราบรื่น เกรดที่เห็นได้ในสมุดพกของเขาในช่วงวัยนั้นมักเต็มไปด้วยเลข 1 หรือ 2

แต่ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้เสมอ 18 ปีต่อมา ปาล์มในวัย 26 ปีนั่งอยู่ตรงหน้าเราในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัย Glasgow Caledonian ประเทศสกอตแลนด์ กับประสบการณ์ชีวิตที่เขาทดลองมาหลายอย่าง ทำโครงการต่าง ๆ จนได้ทุนไปศึกษาเรียนรู้ในเกือบสิบประเทศโดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่นโครงการ Kanthari ในประเทศอินเดีย และ Dalai Lama Fellowship ที่ร่วมมือกับองค์ดาไลลามะ รวม ๆ แล้วถือเป็นหนึ่งชีวิตที่ปาล์มเรียกได้เต็มปากว่า “ใช้คุ้มแล้ว ไม่มีอะไรให้เสียดาย”

ปาล์มผ่านการทำงานเพื่อเรียนรู้และเยียวยาจิตใจเบื้องลึกของมนุษย์หลากวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในหลายประเด็น ตั้งแต่การอกหักรักคุดทั่วไป จนถึงการบอบช้ำทางจิตใจจากความรุนแรงในครอบครัว ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การแสดง ศิลปะ และการประยุกต์นวดแผนไทยเข้ามาในกระบวนการ สิ่งที่ทำให้เขาพยายามอย่างหนักเสมอมาจนพาตัวเองมาถึงจุดนี้ของชีวิตคือ เป้าหมายในการช่วยคน ในแบบที่เขาทำได้

“เราอยากช่วยคน ซึ่งแต่ละคนคงมีวิธีการในแบบของตัวเอง สำหรับเรา เราไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณ รู้อยู่แล้วว่าหนึ่งปีอย่างมากอาจให้คำปรึกษาได้เต็มที่แค่ 100 คน แต่นี่คือ 100 คนที่เขารับเราเข้าไปในชีวิต พร้อมที่จะเปิดเผยความในใจ และเดินทางร่วมกันไปจนสุดทาง” ปาล์มเล่า เมื่อเราถามถึงแรงขับเคลื่อนชีวิตของเขา

ด้วยวิชาชีพ โดยปกติแล้วปาล์มจะทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังและสะท้อนความคิดของผู้คนอย่างตั้งใจ แต่วันนี้ เราขอสลับบทบาทให้เขาได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองบ้าง ในโลกที่มอบความท้าทายอันหนักหน่วงให้แก่เขาตั้งแต่ยังเด็ก เขาก้าวข้ามผ่านช่วงเวลายาก ๆ เหล่านั้น จนมาทำงานในวิชาชีพที่เขารู้สึกรักราวกับไม่ได้ทำงานอยู่ได้อย่างไร

ขอชวนคุณมาร่วมเดินทางผ่านเรื่องราวของปาล์มไปด้วยกัน ไม่แน่ว่า เขาอาจเป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนความรู้สึกที่ถูกเก็บอยู่ลึกข้างในใจคุณเสมอมา ให้คุณได้เห็นอย่างประจักษ์ชัด

01: เผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่ได้เลือก ด้วยการเลือกวิธีของเรา

“ช่วงประถม เราเป็นเด็กอ้วน ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออกเลย เวลาอ่านการ์ตูนเราจะเห็นแค่ตัวละคร 2 ตัว แต่ไม่เห็นตัวอักษรในช่องคำพูด เวลาเรียนก็จะเหม่อลอย กระดิกขาตลอด เป็นช่วงเวลาที่ลำบากมาก” ปาล์มเล่าย้อนกลับไปช่วงวัยเยาว์อันดูน่าสับสน ด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ เหมือนเล่าให้คนอื่นฟังบ่อยจนชิน

ตามทฤษฎีแล้ว เป็นที่เข้าใจกันว่าอาการของ ADHD จะถูกแสดงออกมาผ่าน 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ การขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง (inattentiveness) การไม่อยู่นิ่ง (hyperactivity) และการขาดความยั้งคิด (impulsiveness) ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจการแสดงออกเช่นนี้ รวมถึงอาการของดิสเล็กเซีย และมองว่าปาล์มเป็นเด็กไม่ฉลาดเหมือนคนอื่น ๆ

ปาล์มในวัยเด็ก กับครอบครัวที่เข้าใจเขา

“โชคดีที่ครอบครัวและคุณครูต่างชาติบางคนเข้าใจเราและไม่ได้เชื่อแบบนั้น พวกเขารู้ว่าต้องดูแลเด็กที่มีอาการแบบนี้ยังไง คอยมาถามเราบ่อย ๆ ว่าเข้าใจเรื่องที่เรียนไหม อ่านหนังสือตอนพักเที่ยงให้เราฟังเพิ่ม ทำให้เรามีแรงฮึดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังเป็นการเรียนแบบเน้นท่องจำอยู่ดี” ปาล์มเล่าถึงแรงผลักดันที่สำคัญอย่างคนรอบตัว ก่อนค้นพบว่า ตัวเขาเองก็เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนชะตาชีวิตตัวเองได้เช่นกัน

การออกกำลังกาย และการวาดรูป คือสองกิจกรรมหลักที่ช่วยให้ปาล์มหาหนทางไปต่อของชีวิต เพราะช่วยให้เขามีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นานขึ้น และจัดระเบียบความคิดได้โดยไม่ต้องจดบันทึกเป็นตัวอักษร เมื่อทำบ่อย ๆ เป็นกิจวัตร ผลการเรียนก็ดีขึ้น และกลบเสียงแห่งความไม่เข้าใจจากคนรอบข้างไปได้

“เมื่อก่อนเราจะโทษว่า ADHD ทำให้เราเรียนไม่รู้เรื่องและทำอะไรได้ไม่เท่าคนอื่น แต่เราพบว่าจริง ๆ นอกเหนือจากการรักษาแล้ว ส่วนหนึ่งมันขึ้นอยู่กับทัศนคติด้วย ถ้าเราอ่านหนังสือได้ยาก เราก็ต้องหาวิธีการของตัวเองในการอยู่กับเพื่อนบ้านในหัวคนนี้ให้ได้ รู้จักเขาให้มากพอ สำหรับเรา การอยู่กับเขาให้ได้คือต้องวาดรูปและว่ายน้ำ เพื่อไม่ให้ตัวเองจมอยู่กับมุมมองร้าย ๆ ไปตลอดชีวิต จนวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็กลายมาเป็นความสามารถของเรา”

กิจกรรมที่ปาล์มหลงรักและช่วยให้เขามีสมาธิได้ดีขึ้น

02: ตามหาสภาพแวดล้อมที่ดี จะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ต่อ

ความพยายามอย่างต่อเนื่องของปาล์มประสบผลสำเร็จ เขาได้รับการทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น แต่ปรากฎว่าความอิสระในชีวิตต่างแดนทำให้เขาไขว้เขวในเส้นทางเดิน หันไปติดสุราอย่างหนัก จนมีผลการเรียนที่เขาบอกว่า ‘เละเทะ’

ในข่วงเวลามืดมนเช่นนั้น โชคดีอีกครั้ง ที่ปาล์มมีกัลยาณมิตรชาวบราซิลเลือกจะอยู่เคียงข้าง และชวนเขาเข้าหาแสงสว่างที่โบสถ์

กลุ่มเพื่อนที่ไปโบสถ์ด้วยกันสมัยเรียนปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น (ปาล์มยืนอยู่ตรงมุมขวาแถวหลัง)

“เพื่อนชวนเราไปเรียนพระคัมภีร์ที่ภาษาอังกฤษยากมาก ๆ สำหรับเราในตอนนั้น แต่เพราะเราอยากคุยกับพวกเขารู้เรื่อง เลยพยายามตั้งใจเรียน ไป ๆ มา ๆ เขาให้เราลองเป็น MC ในโบสถ์ ปรากฎว่าวันแรกเละเทะมาก ลิ้นรัว พูดไม่รู้เรื่อง เหงื่อแตก คิดว่าจบแล้ว เขาคงไม่ได้ให้เราทำอีก แต่เขากลับมาบอกว่าเราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร และให้เราลองทำใหม่ครั้งหน้า รวมถึงให้โอกาสอื่น ๆ เช่นร้องเพลง ทั้งที่เราร้องเพี้ยนมาก เหมือนเราได้เจอพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้เราไม่ต้องกลัวอะไร”

จากประสบการณ์นี้ ทำให้ปาล์มเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ให้หน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนและคอยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยผลักดันให้คนเติบโตไปถึงจุดที่ไม่คาดฝันได้มากแค่ไหน เขาเก็บความรู้สึกดี ๆ และความมั่นใจนั้นไว้ และนำมาสร้างโปรเจคใหม่ของตัวเองที่ชื่อว่า “This is me” ตระเวนออกสัมภาษณ์คนนับร้อยเพื่อพูดคุยและสื่อสารประสบการณ์สำคัญที่ได้เรียนรู้ในชีวิต และ “Hypper” ที่ชวนพ่อแม่และลูกที่มีอาการสมาธิสั้นมาทำความเข้าใจกัน ผ่านกระบวนการที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของเขาเอง สองโครงการนี้ทำให้ปาล์มมีโอกาสรับทุนไปยังประเทศต่าง ๆ นานนับเป็นปี เพื่อหาความรู้มาพัฒนาโปรเจค

ทำไปได้สักพัก ปาล์มค้นพบว่าสิ่งที่เขาขาดคือความรู้เฉพาะด้านที่จะช่วยคนในแบบที่เขาต้องการ จึงตัดสินใจพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ด้วยการเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านจิตวิทยาการปรึกษา

03: เปิดใจรับฟังความรู้สึก และสะท้อนตัวตน

การให้คำปรึกษาของนักจิตวิทยามีหลายรูปแบบ แต่แก่นสำคัญที่ทุกแบบมีร่วมกันคือการ ‘ฟัง’ ทำความคิดของตัวเองให้ว่างเปล่า และให้ความสนใจแก่คนตรงหน้าเสมือนว่าโลกทั้งใบมีเพียงเขาเท่านั้น

“หลายครั้งคนไม่ได้ต้องการทางออกของปัญหานะ แต่ต้องการคนฟัง คนที่ช่วยสะท้อนความคิด เพราะลึก ๆ เขาอาจมีคำตอบให้ตัวเองอยู่แล้ว แค่ต้องการคนที่พร้อมจะเดินทางไปด้วยกัน นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกธรรมดาที่ช่วยสะท้อนให้คนเห็นตัวเองชัดขึ้น ไม่เป็นกระจกวิเศษที่มีคำตอบ สุดท้ายเขาจะต้องตัดสินใจเองว่าอยากไปทางไหน” ปาล์มเล่าหัวใจสำคัญของวิชาชีพที่เขากำลังร่ำเรียนฝึกปฏิบัติ พร้อมเสริมว่าปัญหาที่ทำให้คนเครียดส่วนหนึ่งที่พบบ่อย ๆ เกิดจากการทะเลาะกัน เพราะทุกคนมีความจริงของตัวเอง และพยายามเอาความจริงฝั่งที่ตัวเองเห็นไปครอบทับความจริงของคนอีกคนให้สูญหายไป ทั้งที่จริงแล้ว ความจริงทั้งสองด้านนั้นอาจมีจุดร่วมที่เชื่อมต่อและอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ต้อง “ฟัง” ให้เป็น

แต่การฟังไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป บ่อยครั้ง คนที่เข้ามารับการปรึกษามักมาด้วยความคาดหวังว่านักจิตวิทยาจะช่วยบรรเทาให้ความเจ็บปวดหายไปได้อย่างฉับพลัน แต่แท้จริงแล้ว ทุกอย่างล้วนอาศัยเวลา และกระบวนการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์สองคนที่ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและเข้ากันได้สูง

“ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นฮีโร่ที่สามารถช่วยทุกคน เราช่วยได้ในเรื่องที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ถ้าทำไม่ได้ ยังมีคนที่ทำสายงานนี้คนอื่น ๆ ที่เขาอาจช่วยคนตรงหน้าดีกว่า และเราส่งต่อไปให้เขารับคำปรึกษาได้ บางคนหามา 3–4 คนไม่เวิร์ก เจออีกคนครั้งเดียวก็เวิร์กเลย ระหว่างทาง เราก็ต้องตรวจสอบตัวเองด้วยว่า เราอยากช่วยคนนี้ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง หรือเพื่อช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ เป็นการสะท้อนตัวเราเองด้วยเหมือนกัน”

04: ปลดปล่อยวัตถุตกค้าง ก่อนสำรวจดาวดวงใหม่

การให้คำปรึกษาเป็นเหมือนการเดินทางสำรวจอวกาศ ปาล์มเชื่อเช่นนั้น

แต่ละคนที่เข้ามารับการปรึกษาล้วนมีปัญหาและความรู้สึกที่แตกต่างกันหมด ไม่มีใครเหมือนใคร เปรียบเสมือนดวงดาวแต่ละดวงที่มีสภาพบรรยากาศแตกต่างกัน การเจอคนใหม่ ๆ ทำให้ต้องสำรวจเรียนรู้อย่างถี่ถ้วน เพื่อช่วยพัฒนาดาวดวงใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เติมเต็มจิตใจของปาล์มในการทำงาน

แต่การสำรวจเช่นนี้ไม่ได้ง่ายเสมอไป เพราะผลข้างเคียงคือ ผู้ให้คำปรึกษามักต้องแบกรับเศษซากวัตถุบางอย่างกลับมายังโลกของตัวเองด้วย อาจเป็นความเครียดหรือสิ่งกระตุ้นความทรงจำอันเลวร้าย ซึ่งนักจิตวิทยาแต่ละคนจะต้องหาหนทางปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ของตัวเอง สำหรับปาล์มแล้ว หนึ่งในวิธีการของเขาคือการวาดรูประบายความรู้สึกข้างในออกมา

“เรามักวาดรูปอารมณ์ความรู้สึกที่เราได้รับจากคนที่มาปรึกษาให้เขาดู ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการปรึกษา การวาดจะไม่ได้คิดเรื่องสีหรือรูปแบบเลย เปิดให้ตัวเองวาดเต็มที่ เพื่อให้เห็นความรู้สึกชัดมากขึ้น และเปิดโอกาสให้เราไม่เป็นเพียงแค่ผู้รับความรู้สึกอยู่ฝ่ายเดียว แต่เราได้แบ่งปันกลับไปให้เขาด้วย”

“ส่วนวิธีการอื่น ๆ ก็แล้วแต่คนนะ ซึ่งจะมีบางครั้งแหละที่เราเอาความรู้สึกแย่ ๆ ออกไปไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และพักปัญหา ความกังวลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วหรือยังมาไม่ถึงไว้ก่อน พอเจอคนที่เข้ามารับคำปรึกษาใหม่ เราต้องอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนตรงหน้าก่อน และพอเขาออกไปแล้ว พยายามอย่าให้มีเงาของเขาติดหลงเหลือไว้บนกระจก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลลบต่อตัวเราและคนที่เราจะไปคุยต่อด้วย”

ปาล์มหยิบรูปบางส่วนที่เขาเคยวาดมาให้เราดู ด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ เขาไม่สามารถเล่าได้ว่ารูปภาพเหล่านี้หมายถึงเหตุการณ์แบบไหน แต่เพียงมองรูป เราก็พอรู้แล้วว่าการเดินทางข้ามดวงดาวเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ

05: ใฝ่ฝันถึงระบบที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพใจ

ที่ประเทศสกอตแลนด์ที่ปาล์มไปเรียนและทำงาน ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญอย่างมาก เห็นได้จากนโยบายที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ์ในการรับคำปรึกษาที่โรงพยาบาลได้ฟรี 6 ครั้ง หากคุยแล้วยังไม่ดีขึ้น นักจิตวิทยามีสิทธิ์ที่จะเพิ่มชั่วโมงการปรึกษาให้ได้อีก 6 ครั้ง และยังมีหน่วยงานเฉพาะด้านคอยรองรับ ทำให้การไปรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติมาก ๆ

และคนที่มีอาการสมาธิสั้นและดิสเล็กเซียอย่างปาล์มก็ไม่ได้ถูกเพิกเฉย เพียงแค่เขาสื่อสารให้คนรับทราบ ก็มีคนและระบบที่พร้อมสนับสนุนเขา

“พอเราบอกทางมหาวิทยาลัยว่ามีอาการนี้ เขาให้แล็ปท็อปเราฟรีเลย ในนั้นมีโปรแกรมที่ช่วยแก้ไขคำเวลาพิมพ์ให้สำหรับคนที่เป็นดิสเล็กเซีย มีโปรแกรมที่ช่วยอ่านคำให้ฟังจากไฟล์ PDF ทำให้เราปรับตัวเรื่องการเรียนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มจากการกล้าสื่อสารก่อน เวลาเราสมัครอะไรเราก็จะบอกเขาหมดว่าเราเป็นอะไร ส่วนเขาจะตัดสินใจรับเราไหมเป็นเรื่องของเขาแล้ว โชคดีที่ที่นี่เข้าใจ”

ส่วนประเทศไทย แม้ช่วงปีหลัง ๆ จะมีการกล่าวถึงประเด็นนี้มากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ห่างไกลจากระบบการรักษาที่เข้าถึงคนได้อย่างทั่วถึง และยังขาดความเข้าใจอยู่มาก

“สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง และกระทบกับชีวิตได้แม้แต่ตอนนอน ต่อไปปัญหาจะยากขึ้นด้วย เพราะเทคโนโลยีและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เปลี่ยนไป ถ้าเรารักษาและให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตโดยไม่ต่างอะไรกับสุขภาพกายที่ต้องได้รับการดูแล การใช้ชีวิต การทำงาน ก็จะดีขึ้นด้วย เป็นเรื่องที่เราอยากให้ได้รับการดูแลและลงทุนมากขึ้น” ปาล์มเน้นย้ำ เขาไม่ได้ต้องการจะเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศ เพราะเข้าใจดีว่าบริบทบ้านเมืองนั้นต่างกัน เพียงแต่อยากเห็นประเด็นนี้ได้รับความสำคัญ เพราะจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลุดพ้นออกมาจากความมืดมิด และกลับมาหายใจเหมือนได้มีชีวิตจริง ๆ

06: ใช้เวลา 2% เพื่อ 80% ที่เหลือของชีวิต

ปัจจุบัน นอกจากให้คำปรึกษาแก่ชาวสกอตแลนด์และอังกฤษแบบออนไลน์ (เนื่องด้วยโควิด-19) เรียนวิธีการบำบัดแบบใหม่ และทำวิทยานิพนธ์เรื่องประสิทธิผลของการบำบัดการนวดแผนไทยและการนั่งสมาธิ ต่อระดับความเครียดของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ปาล์มยังช่วยทำงานวิจัยเรื่องการบำบัดเชิงรุกกับกลุ่มวัยรุ่นให้มหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย เป็นวิทยากรรับเชิญตามงานต่าง ๆ ล่าสุด เขาเพิ่งไปถ่ายทอดประสบการณ์การให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ให้กับอีเวนต์ในประเทศอาเซอร์ไบจาน เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปาล์มทำเช่นนี้มาโดยตลอด เพราะมองเป็นเรื่องสนุกที่ทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานะที่ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน และพ่อแม่ไม่ได้บังคับเส้นทางชีวิตเราเลย เขาแค่อยากให้เราใช้เวลาหาตัวเองให้เจอ เราเลยลองทำอะไรหลายอย่างมาเรื่อย ๆ และพยายามทำให้มีผลงานออกมาเพื่อพิสูจน์ว่าเราทำอะไรจริง เคยทั้งเรียนนวดแผนไทย ทำงานเป็นล่าม ทำงานให้สถานฑูตในสำนักงานผู้ช่วยฑูตฝ่ายทหารบก ไปประเทศนู้นนี้ มันอาจจะดูเสียเวลาไปบ้างนะ แต่ถ้าเราใช้เวลาค้นหาตัวเองให้เจอแค่ 2–3 ปีจากชีวิต 100 ปี เราจะเสียเวลาไปแค่ 2% เอง ดีกว่าเสียเวลาอีกกว่า 80% ที่เหลือของชีวิตไปกับสิ่งที่เราไม่ต้องการ”

ปาล์มถ่ายรูปกับเด็ก ๆ ที่อินเดีย (ได้รับทุนจากโครงการ Kanthari)

จากการลงทุนเวลาเพื่อค้นหาชีวิตตลอดมา ปาล์มได้ค้นพบการงานที่รัก และเป้าหมายอันชัดเจนที่ทำให้ไม่ต้องรีบเร่งไขว่คว้าสิ่งที่ไม่ได้ต้องการ อาจฟังดูไม่ยิ่งใหญ่เหมือนใครคนอื่น แต่มีความหมายสำหรับเขา

ปาล์มอยากให้คนที่มารับคำปรึกษากับเขา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นรู้สึกดีขึ้น พร้อมจะเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิต และรู้สึกว่าสามารถพูดเรื่องที่ไม่เคยกล้าบอกใครมาทั้งชีวิตกับเขาได้อย่างปลอดภัย เท่านี้ก็ถือเป็นรางวัลอันงดงามแก่ชีวิตแล้ว

“นี่เป็นงานที่เราคิดว่าอยากทำไปจนถึงอายุ 80 ปี เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่งาน แต่เป็นชีวิตประจำวันของเรา” จากคนที่เคยอยู่อีกด้านหนึ่งของห้องรับฟังคำปรึกษา วันนี้ปาล์มขยับบทบาทมาเป็นผู้ให้คำปรึกษา นั่งตรงอีกฝั่งหนึ่งของห้อง และพูดประโยคข้างต้นได้อย่างมั่นใจ

07: It’s okay to not be okay

เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกไม่ปกติ” ปาล์มสรุปบทเรียนสำคัญจากชีวิตของตัวเอง โดยไม่ต้องอิงซีรีส์เรื่องใด เพราะเขาเข้าใจเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ตรงว่า มนุษย์เราล้วนต่างพบเจอความทุกข์ยากเป็นสัจธรรมของชีวิต ขอเพียงเราให้เวลาแก่ตัวเองได้พักผ่อนและทบทวนจิตใจบ้าง แต่อย่าเสียเวลากับการวนเวียนเดินรอบห้องมืด ๆ ที่กักขังเราไว้อยู่กับความทุกข์มากนัก ให้พิจารณาด้วยว่าเราต้องใช้กุญแจแบบใดในการไขกลอนประตู ค่อย ๆ ลองไปเรื่อย ๆ สักวันเราจะเปิดประตูเดินออกไปหาแสงสว่างได้อย่างงดงาม

เหมือนปาล์มที่มานั่งอยู่ตรงหน้าเราในวันนี้ด้วยรอยยิ้ม เราไม่แน่ใจว่าเขามีปัญหาใดเก็บอยู่ในใจตอนนี้หรือเปล่า ที่เราสัมผัสได้คือเขาพูดคุยและฟังอย่างตั้งใจ จดจ่อกับปัจจุบัน เสมือนว่าโลกทั้งใบมีเพียงแค่เราเท่านั้น

Heartworker ต้นแบบของปาล์ม: -
“ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มีหลายคนมากที่ช่วยทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ ไม่อยากจะเลือกใครคนหนึ่ง แต่ถ้าช่วงเร็ว ๆ นี้จะเป็นพระชาวทิเบตชื่อยงเก มินจู ริมโปเช ที่เขียนหนังสือ “in LOVE with the WORLD” และสอนให้เราเห็นความว่างเปล่าของชีวิต ถ้าลองหายใจเข้า และหายใจออก ระหว่างสองช่วงนี้จะมีความว่างเปล่าเกิดขึ้นนิดนึง พระท่านสอนให้เราลองสังเกตชั่วขณะนี้ เห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชีวิต มันทำให้เราคอยสังเกตคนที่มาเข้ารับการปรึกษาได้ละเอียดขึ้น เห็นสีหน้า เห็นท่าทาง มากกว่าแค่สิ่งที่พูดออกมา และทำให้เราอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ”

ขอบคุณรูปถ่ายโดย Moment Maker Image และสถานที่ Kups Cafe

--

--

Pan Langnamsank
Heartwork

สิ่งมีชีวิตขนาดธุลีของดวงดาว ออกเดินทางเพื่อแสวงหา สร้าง และสลายตัวตน