แรงงานไทยในวิกฤต COVID-19 เป็นอย่างไร?
สรุปเนื้อหาจาก Podcast “101 One-On-One” สัมภาษณ์ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ (คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ผมได้ฟัง Podcast ตอนดังกล่าวซึ่งเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยในช่วงนี้ให้เห็นภาพได้อย่างละเอียด เลยอยากสรุป 8 ประเด็นน่าทำความเข้าใจและขบคิดต่อมาไว้ตรงนี้ หรือหากใครอยากได้สาระประโยชน์อย่างครบถ้วน แนะนำอย่างยิ่งให้ไปฟัง Podcast ตัวเต็มที่: https://www.the101.world/101-one-on-one-ep-137/ ครับ :)
1. สถานะแรงงานไทยตอนนี้เป็นยังไง?
ประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 37–38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็น
- แรงงานในระบบประกันสังคม (พนักงาน-ลูกจ้างเอกชนที่มีนายจ้าง) ที่ได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 12 ล้านคน
- แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (อดีตพนักงานที่มีนายจ้าง ไม่ได้ทำงานประจำแล้วแต่ยังเป็นผู้ประกันตนอยู่) และมาตรา 40 (แรงงานอิสระที่ยื่นประกันตน ซึ่งปัจจุบันได้รับสิทธิ์ครอบคลุมน้อยกว่ามาตรา 33,39) รวมกันอีก 4 ล้านคน
- แรงงานนอกระบบการประกันสังคมอีกประมาณ 20 ล้านคน (แบ่งเป็นเกษตรกรราว 11 ล้านคน แล้วแรงงานนอกภาคเกษตรอีก 9 ล้านคน) ซึ่งปกติจะไม่ได้รับสิทธิ์คุ้มครอง
2. การช่วยเหลือของรัฐและปัญหาที่เกิดขึ้น
มาตราการของรัฐในการช่วยเหลือแรงงานมีทั้งจากกระทรวงแรงงานโดยตรง ซึ่งมีเครื่องมือการจัดการเป็น 5 หน่วยงานหลัก โดยหน่วยที่ควรช่วยเหลือประชาชนได้เร็วที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้คือประกันสังคม แต่ติดที่ระบบฐานข้อมูลของประกันสังคมใช้ระบบเก่ากันมานานนับ 10 ปี ทำให้ใช้งานได้ช้า รวมถึงมีกรณียิบย่อย ๆ ต่าง เช่นประกันสังคมต้องรอนายจ้างส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ อีกส่วนหนึ่งคือมาตราการช่วยเหลือจากกระทรวงอื่น ๆ ที่กระทรวงแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นมาตราการแจกเงิน 5,000 บาทของกระทรวงการคลัง
ปัญหาของมาตราการนี้คือการจัดหมวดหมู่คน ที่สร้างความสับสนในตอนแรกว่าใคร (จากข้อ 1.) ได้รับสิทธิ์บ้าง และด้วยความที่เป็นการช่วยเหลือแบบ target-based ทำให้คนที่รายชื่อตกหล่นทั้งที่ควรจะได้ รู้สึกไม่พอใจ ภายหลังรัฐได้ขยายกรอบการช่วยเหลือและพยายามแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากช่วยเหลือให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตได้ รัฐน่าจะคาดหวังว่าเงินเหล่านั้นจะกลับไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าคนไม่ได้เอาเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอย แต่ไปใช้อย่างอื่น เช่นจ่ายหนี้เดิมที่มีอยู่แทน ผลลัพธ์อาจไม่ได้เกิดตามที่รัฐบาลคาดหวัง
3. Benefit Allocation แบบใหม่ ยังไงดี?
ในความเห็นของอาจารย์ เหมาะสมแล้วที่รัฐเลือกช่วยเหลือแบบเป็น target-based เพราะหากทำเป็นแบบ universal จะต้องสูญเสียงบประมาณมากโดยไม่จำเป็น จริง ๆ อาจไม่ใช่ทุกคนที่ต้องรับทั้งหมดในรูปตัวเงิน 5,000 บาทด้วย แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ง่ายจริง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการระบบฐานข้อมูลที่ดี และจากนี้ต้องคิดหาโมเดลการคุ้มครองแรงงานแบบใหม่ ๆ ให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไปด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะใช้เงินสนับสนุนจนเคยชิน จนทำให้คนรอรับการช่วยเหลือมากกว่าการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตัวเอง
4. การปรับเปลี่ยนของระบบประกันสังคมและคำถามที่เกิดขึ้น
เดิมนายจ้างและลูกจ้างจะต้องจ่ายสมทบประกันสังคมฝ่ายละ 5% ทุกเดือน (เพดานสูงสุดในการคำนวณอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่มีกองทุนส่วนนี้ เพราะสมัยก่อนเราคาดการณ์ว่าคนจำนวนมากจะไม่ได้มีเงินเดือนถึง 15,000 เร็วขนาดนั้น แต่ปัจจุบันด้วยนโยบายต่าง ๆ ทำให้คนมีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปมากขึ้น) แต่ในสถานการณ์ช่วงนี้ รัฐได้ประกาศลดอัตราสมทบฝั่งนายจ้างเหลือ 4% และลูกจ้างเหลือ 1% แต่เกิดคำถามตามมาเงินส่วนสมทบที่หายไปนั้น รัฐจะเป็นผู้สมทบในส่วนนี้แทนหรือเปล่า
5. กลุ่มที่ควรได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น
ไทยใช้งบประมาณในการคุ้มครองแรงงานเทียบเป็นเงิน 3.7% ของ GDP ในขณะที่จีน-เวียดนามอยู่ที่ประมาณ 6% เกาหลีใต้อยู่ที่ 10% ของ GDP เป็นคำถามชวนคิดว่าจริง ๆ ไทยอาจช่วยแรงงานได้ทั่วถึงและครอบคลุมมากกว่านี้ เช่นช่วยเหลือกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชน ให้พวกเขายังมีรายได้และรู้สึกมีคุณค่า
อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มเด็กจบใหม่ปีนี้ที่มีมากถึง 340,000 คนที่ต้องเข้าตลาดแรงงานในช่วงที่มีความผันผวนอย่างหนัก เป็นโจทย์ของรัฐและตัวพวกเขาเองที่ต้องหาหนทางใหม่ ๆ ทางอาชีพการงานให้ตัวเอง
6. เปรียบเทียบวิกฤตปี 2540 และ 2563 (ภาคการเกษตร-อุตสาหกรรม)
วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยยังมีภาคเกษตรไว้รองรับแรงงาน คนสามารถกลับไปทำเกษตรเพื่อยังชีพได้ แต่ปี 2563 เรามีพื้นที่การเกษตรน้อยลง เกษตรกรดั้งเดิมอายุมากขึ้น แต่ value-added ทางเศรษฐกิจที่ทำได้ยังเท่าเดิม และมีภัยแล้งต่าง ๆ เป็นโจทย์ที่ต้องหาทางต่อไปว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรที่มีจำนวนมากในประเทศ สามารถปรับตัว เข้าถึงข้อมูลที่ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และทำงานแบบ Smart Farming
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้นสร้าง value-added ทางเศรษฐกิจได้มาก แต่ประเทศเรามีแรงงานส่วนนี้น้อยกว่าภาคอื่น ๆ อย่างภาคบริการที่มี 17 ล้านคน และยังคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ของตัวเองได้ไม่เท่าประเทศอื่น เป็นอีกหนึ่งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้แรงงานที่มีเหล่านี้สามารถปรับตัว และเรียนรู้ควบคุมระบบ Automation/AI ต่าง ๆ ได้
7. New Normal และการปรับตัวของแรงงานในอนาคต
COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เทคโนโลยีแทนการจ้างแรงงานมากขึ้น ในขณะที่คนก็จะใช้เทคโนโลยีเพื่อประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ภาคการศึกษาต้องปรับตัวนำสถานการณ์โลกแห่งความเป็นจริงเข้ามาในห้องเรียนและฝึกให้คนทำงานได้หลากหลายรูปแบบ สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ ได้ (interdisciplinarity) ภาคเอกชนอาจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาแรงงานของอนาคตร่วมกับรัฐมากขึ้น และภาครัฐควรจะปรับระบบคุ้มครองแรงงาน เลิกยึดตำราแบบเดิม ๆ ที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ไปเสีย
8. ถึงเวลาปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
ภาครัฐควรบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานเข้าด้วยกัน เช่น พัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปและปรับโครงสร้างสิทธิ์ประโยชน์ใหม่ พัฒนาระบบพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบบการจัดหางาน ทำให้กระทรวงสามารถเป็น Smart Job Cetner ที่มีความน่าเชื่อถือ รวดเร็วไม่แพ้เอกชน รวมถึงออกแบบระบบที่ช่วยให้คนเกิดวัฒนธรรมการออมเงินในระยะยาว ทั้งหมดนี้ควรเกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ฟัง Podcast ตัวเต็มได้ที่: https://www.the101.world/101-one-on-one-ep-137/