5 ปีกับการทำงานในองค์กรเยาวชน ดูแลอาสาสมัครต่างชาตินับ 1000 ชีวิตของแฮม-ปัทมาสณ์

ชีวิตการทำงานในองค์กรเยาวชนที่สอนสาวอักษร ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่อยากพัฒนาผู้อื่น

Pan Langnamsank
Heartwork
3 min readSep 11, 2019

--

คนตัวเล็กๆ แบบเรา เปลี่ยนชีวิตคนได้มากแค่ไหน?

แฮม-ปัทมาสณ์ จันทร์ตรี เคยทำงานใน AIESEC องค์กรเยาวชนระดับนานาชาติที่มีในร้อยกว่าประเทศทั่วโลก เธอเป็นอาสาสมัครมาตลอดชีวิตมหาวิทยาลัย และยังทำเป็นงานประจำหลังเรียนจบ 1 ปีในฐานะประธานฝ่ายระดับประเทศ รวมทั้งหมดแล้ว แฮมทำงานกับ AIESEC เป็นเวลายาวนานถึง 5 ปี

จุดหมายปลายทางของ AIESEC คือการสร้างเยาวชนให้มีศักยภาพความเป็นผู้นำผ่านการไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศและทำงานข้างในองค์กร และแฮมก็อยากให้เยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่ไปแก้ปัญหาต่างๆ บนโลกนี้ แต่อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้แฮมเชื่อและยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานแม้แทบไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงิน แล้วเธอคิดว่าคนตัวเล็กๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ เราชวนแฮมมาหาคำตอบไปด้วยกัน

เล่าให้เราฟังหน่อยว่าทำไมถึงทำงานที่นี่ได้

ย้อนกลับไปตอนปี 1 เราสมัครมาเป็นอาสาของ AIESEC ที่จุฬาฯตอนหากิจกรรมทำตามอารมณ์น้องใหม่พึ่งเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้น เรามองมันเป็นชมรมทั่วๆ ไปแหละ ยังไม่เห็นภาพขององค์กรที่ทำอะไรมากมายเบื้องหลัง

เราทำงานในฝ่ายดูแลการรับสมัครอาสาสมัครชาวต่างชาติเข้ามาทำโปรเจค (Incoming Global Volunteer) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในไทย แต่ละมหาวิทยาลัยและประเทศที่มี AIESEC จะทำโปรเจคแตกต่างกันออกไป ของประเทศเราทำเรื่องการศึกษา ชื่อ Sawasdee Thailand Project ซึ่งส่งชาวต่างชาติไปกินอยู่และสอนในโรงเรียนต่างจังหวัดนาน 6 สัปดาห์

ทำไมถึงเป็นโปรเจคด้านการศึกษา อยากแก้ปัญหาอะไร

เพราะเรามีความเหลื่อมล้ำ เด็กต่างจังหวัดเข้าถึงโอกาสดีๆ (เช่นการได้เรียนกับครูต่างชาติ) ได้ไม่เท่าเด็กในเมือง จริงๆ แล้วการศึกษาควรเป็นอะไรที่คนได้รับอย่างเท่าเทียมกันหรือเปล่า ไม่ว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศก็ตาม อาจดูอุดมคติเกินไปหน่อย แต่เราน่าจะค่อยๆ หาวิธีทำให้ดีขึ้นได้ โปรเจคนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราลองทำดู

ค่ายเตรียมความพร้อมให้กับอาสาสมัครชาวต่างชาติก่อนลงพื้นที่ไปสอนที่ต่างจังหวัด 6 สัปดาห์

แล้วแฮมต้องทำอะไรบ้าง

เยอะมาก (หัวเราะ) ช่วงแรกได้สัมภาษณ์ชาวต่างชาติ เตรียมเอกสารต่างๆ อำนวยความสะดวกให้เขามาที่ประเทศเราได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ต่อมาได้จัดค่าย ลงพื้นที่ไปโรงเรียนต่างจังหวัด เจอและพูดคุยกับคุณครูของโรงเรียนที่รับอาสาสมัครไปสอน ปีถัดๆ ไปเราเป็นหัวหน้าฝ่าย ก็มีน้องๆ ในทีมที่เราต้องดูแล ช่วง 4 ปีที่เราทำในมหาวิทยาลัย มีเรื่องเกิดขึ้นเยอะ เล่าให้ฟังทั้งวันยังได้เลย

ชอบอะไร ทำไมเป็นอาสาในฝ่ายเดิมได้นานถึง 4 ปี

มันเปลี่ยนชีวิตเรานะ เราได้เจออาสาสมัครที่สัมภาษณ์ตั้งแต่ตอนเขาอยู่ต่างประเทศ เขาเดินมาขอบคุณที่รับเข้าโครงการ เราก็แบบ เฮ้ย ฉันยังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ มันยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลยหรอ แล้วเราได้เห็นคนเหล่านี้ออกไปทำโปรเจค พอกลับมาเขาเปลี่ยนไปเยอะเลย เขาได้ไปเจอนักเรียนและเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ เหล่านั้น พอเขากลับประเทศก็ไปส่งต่อพลังดีๆ ในแบบของตัวเอง เราได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำเล็กๆ มันส่งผลกับชีวิตคนได้มากๆ

ประสบการณ์แบบนี้ทำให้เราย้อนกลับมามองตัวเอง เราไม่ได้เป็นคนมีความสามารถพิเศษอะไร แต่เราสร้างประโยชน์และมีคุณค่ากับคนอื่นได้แหะ มีคนขอบคุณการมีอยู่ของเรา เรามองเห็นตัวเองด้านที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากทำงานต่อเรื่อยๆ

ระทับใจเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษไหม

เยอะมากจนเลือกไม่ถูกเลย แต่ที่ตราตรึงใจสุดมี 2 อัน

เรื่องแรก เราลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้อำนวยการโรงเรียนเดินมาบอกขอบคุณเราที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้เด็กในโรงเรียนที่ไม่เคยเห็นคนต่างชาติเลยได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และเปิดโลกมากขึ้น เราดีใจนะได้ยินแบบนี้

เรื่องสอง เป็นอาสาสมัครคนแรกที่เราไปรับเขาที่สนามบิน ชื่อบรูนา เป็นคนบราซิล ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้สึกอะไรกับองค์กรเท่าไหร่นะ ก็ไปรับและพาเดินเล่นก่อนเขาไปศรีสะเกษ หลังจบโปรเจคบรูนากลับมา เขาดีใจมากที่ได้ทำโปรเจคนี้และขอบคุณเรา เขาบอกว่าเราเป็นคนแรกที่เขาเจอ ทำให้เขาได้มาถึงอย่างปลอดภัย นี่เป็นงานที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ แต่มันมีส่วนในการเติมเต็มชีวิตคนโดยเราไม่รู้ตัวเลย

แล้วทำไมหลังเรียนจบ ยังเลือกทำเป็นงานเต็มเวลาอีก 1 ปีในระดับประเทศ ไม่เบื่อหรอ

(ใน AIESEC แต่ละตำแหน่งมีวาระ 1 ปี เพื่อเป็นการสลับสับเปลี่ยนให้คนได้รับบทบาทใหม่ๆ)

เบื่อบ้าง คิดว่าจะพอแล้วเหมือนกัน แต่ไปๆ มาๆ มีคนเชื่อในศักยภาพและสนับสนุนเรา เรามีเรื่องที่คิดว่ายังทำให้ดีกว่านี้ได้ เลยอยากลองสักครั้ง ไม่มีอะไรเสียหายนี่เนอะ ยังไงก็มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้อีกเยอะ อีกอย่าง เราชอบการทำงานที่นี่ ถ้าออกไปคงไม่เจอที่ไหนแบบนี้อีกแล้ว ถ้าจะทำก็ต้องตอนนี้แหละ เลยสมัคร ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนเยอะมาก แต่มันยิ่งทำให้เราอยากทำสิ่งที่เราเขียนลงไปตอนสมัครให้เกิดขึ้นจริง

เขียนไปว่าอะไร

เราเคยเห็นจุดที่องค์กรแย่มากๆ มาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นองค์กรที่เริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้เรารู้สึกว่าหลายๆ อย่างโตขึ้นได้อีกเยอะ อีกอย่าง เรารู้ว่าอับราฮัม หัวหน้าของเราที่มาจากเม็กซิโก เป็นหัวหน้าที่เราอยากทำงานด้วย มีความเชื่อคล้ายกัน เรารู้ว่าถ้าอยู่ทีมเขา เราจะไม่ตายอยู่คนเดียว เขาพร้อมจะสนับสนุนเราต่อให้พลาดก็ตาม

แปลว่าหัวหน้ามีผลมาก

ใช่ สำคัญมาก

ประธานฝ่ายระดับประเทศของ AIESEC ประเทศไทยปี 2017–2018

พอเป็นระดับประเทศแล้ว หน้าที่ของแฮมคืออะไรบ้าง เปลี่ยนไปเยอะไหม

เราต้องดูแลน้องๆ ในหลายมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในจุฬาฯเหมือนเดิม สิ่งที่เราทำคือการวางแผนภาพใหญ่ คิดกลยุทธ์ วัดผลและคอยแนะนำ สนับสนุนให้น้องๆ ทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ละที่มีปัญหาแตกต่างกันออกไป พอเรามีประสบการณ์มาก่อน แม้จะงูๆ ปลาๆ ก็ตาม แต่มันอยู่ในจุดที่สามารถช่วยคนอื่นได้ ทำให้เราสามารถช่วยคนและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมน้องๆ

อีกอย่างที่ต้องดูแลคือการทำพาร์ทเนอร์กับต่างประเทศ เรามีทำข้อตกลงกันก่อนจะแลกเปลี่ยนอาสาสมัครระหว่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าอาสาสมัครที่รับเข้ามามีทัศนคติที่ดี ตั้งใจมาทำอาสาไม่ใช่มาเที่ยว ตรงนี้ทำให้เราวางแผนได้ง่ายขึ้นด้วย ส่วนอื่นๆ ก็จะเป็นงานจิปาถะ เช่นจัดค่าย ติดต่อกับสถานทูตหรือองค์กรภายนอก

รวมแล้วปีนั้นมีอาสาสมัครต่างชาติกี่คน ส่งไปกี่จังหวัด

ประมาณ 700 กว่าคน ส่งไปทั้งหมด 32 จังหวัด แบ่งพื้นที่ให้แต่ละมหาวิทยาลัยดูแล

เกือบครึ่งประเทศเลย เยอะจัง

ใช่ๆ เราดูเป็นชมรมมหาวิทยาลัย แต่จริงๆ เราทำงานกันจริงจังนะ

ได้ยินว่าแฮมเรียนอักษรศาสตร์มา แต่งานที่ทำดูเป็นงานด้านบริหารมาก มีความท้าทายอะไรบ้างหรือเปล่า

ท้าทายนะ เราอาจไม่เข้าใจกลไกการทำงานด้านบริหารแบบคนที่เรียนมาโดยตรง บางทีก็รู้สึกคิดไม่ออก แต่การเรียนอักษรก็มีข้อดี เราเรียนเพื่อทำความเข้าใจคนซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ทำให้เรามองโลกได้รอบด้านมากขึ้น พอมาทำตรงนี้ก็เป็นโอกาสพัฒนาทักษะการบริหารงาน เรียนรู้จากคนที่ทำงานด้วยกัน

แล้วอะไรยากสุดในการทำงาน ณ จุดนี้

การทำสิ่งที่เราฝันให้เกิดขึ้นจริง เพราะคนที่ลงมือทำจริงๆ เป็นน้องๆ อาสาในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรา ซึ่งเขาอาจไม่ทำตามสิ่งที่เราคิดทั้งหมดก็ได้ เราเห็นภาพรวมทุกอย่าง แต่ไม่ใช่คนลงมือทำทั้งหมด แต่เราก็พยายามหาวิธีสนับสนุนน้องๆ ในแบบที่ทำได้

ฝ่ายดูแลอาสาสมัครชาวต่างชาติของ AIESEC ประเทศไทย ปี 2017–2018

แฮมทำยังไงให้น้องๆ ที่เป็นอาสาสมัครเชื่อในตัวเรา

เราพยายามเข้าใจเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและทำให้สนิทกันก่อน เราเชื่อว่ามันทำให้ทำงานง่ายขึ้นนะ บางทีมีแผนเต็มหัวเลย แต่ถ้าสื่อสารไปไม่ถึงใจเขาก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราเสนอให้เขาก็ต้องเป็นสิ่งที่ดีและทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้นด้วย

ช่วง 1 ปีนั้นได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เป็น 1 ปีที่เราเติบโตขึ้นมาก มาก แบบ กอไก่ ล้านตัว มีความรับผิดชอบสูงขึ้น ต้องบริหารจัดการเวลาเอง บางวันมีประชุมตั้งแต่เช้ายันค่ำเลย ทำอย่างไรให้บริหารได้แบบไม่ตาย ได้พัฒนาการทำงานร่วมกับคนอื่น คิดแบบผู้ใหญ่ เข้าใจและคุยกับคนเป็นมากขึ้น ได้เรียนรู้เยอะมากเพราะแต่ละวันเข้มข้นสุดๆ

พอเลือกเส้นทางนี้ มีเปรียบเทียบกับเพื่อนรอบตัวที่ไปทำงานข้างนอกเลยบ้างไหม

มี เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนเหมือนกัน ตอนเรียนจบคนถามเยอะด้วยว่าทำงานที่ไหน ตอบไม่ค่อยถูกเหมือนกัน บางคนมองว่าเรายังติดอยู่ตรงนี้ ยังทำอยู่อีกหรอ แต่ก็เข้าใจว่าคนนอกไม่เห็นภาพว่าองค์กรเราทำอะไรบ้าง แต่พอเวลาผ่านไป คนอื่นคิดเห็นอย่างไรกับเราก็เฉยๆ คนที่สำคัญกับเราเข้าใจก็พอแล้ว

หลังจากออกมาองค์กรมาทำงานอื่นแล้ว เห็นภาพ AIESEC ประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างไร

กระจายโอกาสในการพัฒนาคนให้เป็นผู้นำที่ดีออกไปมากขึ้น ตอนนี้เราเริ่มมีส่วนร่วมกับองค์กรเพื่อสังคมอื่นๆ คนมองเห็นเราเป็นองค์กรมากขึ้น เริ่มออกไปแบ่งปันประสบการณ์ในที่ต่างๆ ได้ น่าจะโตขึ้นได้อีกเยอะเลยแหละ

แฮมพูดถึงเรื่องการให้โอกาสและสนับสนุนคนบ่อย ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับแฮม

ทุกครั้งที่เราเห็นคนเรียนรู้ ทำให้เรานึกย้อนไปถึงวันแรกที่เราเข้ามาทำงานที่นี่ เราเป็นเด็กธรรมดาๆ แต่ได้พื้นที่ตรงนี้ในการเปิดโลก เราดีใจมากๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่องค์กรนี้ เราเคยได้รับและได้ให้โอกาสคน และเราอยากให้คนได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้ ไม่ว่าเขาจะประทับใจหรือไม่ แต่เชื่อว่าเขาจะได้เรียนรู้อะไรกลับไป

คำแนะนำเรื่องการทำงานอะไรที่สำคัญกับชีวิตมากที่สุด

ทุกคนอยากทำงานที่ตัวเองชอบ แต่ความจริงเราหาสิ่งที่ตรงใจเราทุกด้านทั้งหมดไม่ได้หรอก สิ่งสำคัญคือรู้ว่าตัวเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร งาน สิ่งแวดล้อม ผลตอบแทน ให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันล่ะ อย่างเราให้ความสำคัญกับตัวเนื้องานและสิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมในการทำงานเช่นเพื่อนหรือวัฒนธรรมองค์กรไม่ดี เราคงรู้สึกหมดอาลัยตายอยากและเสียสุขภาพจิต

สุขภาพจิตสำคัญมากเช่นกัน ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วรู้สึกไร้ค่า ลองกลับมาทบทวนดูว่านี่เป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงหรือเปล่า ไม่มีผิดถูก ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรในชีวิต

คำถามสุดท้าย อะไรเป็นเหตุผลของแฮมในการตื่นเช้าขึ้นมาทำงานทุกวัน

อยากตื่นขึ้นมาสร้างอะไรใหม่ๆ ทุกวัน เป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นได้แบบที่เคยเกิดขึ้นกับเรา เราดีใจที่สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นในชีวิตเราและไม่เคยเสียดายเวลาที่ได้ใช้ไปกับที่นี่เลย

ปัจจุบันแฮมทำงานในเอเจนซีการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งและมีความสุขกับการได้เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าทุกวัน

--

--

Pan Langnamsank
Heartwork

สิ่งมีชีวิตขนาดธุลีของดวงดาว ออกเดินทางเพื่อแสวงหา สร้าง และสลายตัวตน