ปลากบลายริ้ว สิ่งมีชีวิตที่ยืนยันว่า “ทุกชีวิตเกิดมาพร้อมพรสวรรค์อย่างน้อย 1 ข้อ”

ปลาที่อ้วนป้อม เชื่องช้า ซ้ำยังว่ายน้ำไม่เก่ง เอาชีวิตรอดได้อย่างไร?

Rattana-anun Chanchai
Human Touch TH
1 min readApr 19, 2020

--

ดูรายการ “ชีวิตสัตว์มหัศจรรย์” ตอน “ปลากบลายริ้ว แห่งอ่าวโอเซซากิ” ที่เคยฉายในวันที่17 พฤศจิกายน 2560 ทางช่อง 9 MCOT HD ผ่าน YouTube ระหว่างทานข้าวกลางวัน แล้วรู้สึกสะดุดใจหลายเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเจ้า “ปลากบลายริ้ว” จึงอยากนำมาเล่าให้ฟัง…

ณ อ่าวโอเซซากิ ในภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น ที่มีคลื่นลมสงบ มีปลารูปร่างอ้วนป้อม เดินอย่างเชื่องช้าอยู่บนพื้นใต้ทะเล มันเป็นปลาที่ว่ายน้ำไม่เก่งเมื่อทะเลมีคลื่นแรงเลยมักถูกโยนไปมาในคลื่น

ด้วยรูปร่างที่อ้วนป้อม เชื่องช้า และทักษะการว่ายน้ำที่สุดแสนจะห่วย หลายท่านคงคิดว่ามันต้องเป็นปลากินพืชแน่ ๆ เพราะปลานักล่านั้นมีรูปร่างเพรียว ปราดเปรียว และแน่นอนว่าต้องว่ายน้ำเก่งมาก ๆ แต่ผิดถนัดครับเพราะว่าเจ้า “ปลากบลายริ้ว” มันดันเป็นปลากินเนื้อที่แหกกฏของปลานักล่าซะกระจุย แต่มันก็ไม่เหมือนนักล่าที่น่ากลัวเลยสักนิด

เพราะเชื่องช้า และว่ายน้ำไม่เก่ง มันจึงไม่สามารถจับปลาที่ว่ายอยู่รอบ ๆ ได้ อ่านถึงตรงนี้หลายท่านคงสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่ามันเอาชีวิตรอดได้อย่างไร?

แน่นอนว่าธรรมชาติไม่ได้ใจร้ายกับเจ้า “ปลากบลายริ้ว” นัก ถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถจับปลาที่ว่ายอยู่รอบ ๆ ได้ แต่เมื่อมันหยุดเคลื่อนไหวตัวของมันจะกลมกลืนไปกับพื้นหิน มันแค่รอคอยจับเหยื่อที่เข้ามาใกล้ปากโดยไม่ต้องว่ายน้ำ ความสามารถในการกลืนกินเหยื่อของมันโดดเด่นมากตั้งแต่เริ่มต้นจนกลืนเหยื่อเข้าไปใช้เวลาเพียงชั่วพริบตาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวนี้เร็วที่สุดในบรรดาปลา อีกทั้งโครงสร้างปากของมันมีพื้นที่ภายในกว้างกว่า 12 เท่าของปลาขนาดปกติซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกของปลา การที่มันไม่มีกระดูกซี่โครง และมีผิวหนังที่ขยายได้มันจึงสามารถกลืนปลาที่มีขนาดใหญ่เท่าตัวมันเข้าไปได้ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงเห็นแล้วว่ารูปร่างที่อ้วนป้อม เชื่องช้า และทักษะการว่ายน้ำที่สุดแสนจะห่วยของมัน ถูกชดเชยด้วยพรสวรรค์ระดับโลกของปลาถึง 2 ข้อด้วยกัน คือ

  1. ความเร็วในการกลืนเหยื่อ
  2. พื้นที่ภายในปาก

เชื่อว่าตอนนี้ท่านผู้อ่านคงมองเจ้า “ปลากบลายริ้ว” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

แต่ใช่ว่าการรอคอยของเจ้า “ปลากบลายริ้ว” จะได้ผลเสมอไป ธรรมชาติจึงได้มอบติ่งเนื้อ (Esca) ที่วิวัฒนาการมาจากครีบหลังมีลักษณะคล้ายหนอนปล้องที่ปลาชื่นชอบไว้สำหรับล่อเหยื่อ แต่มันไม่ได้ใช้ตึ่งเนื้อตกปลาทุกครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าติ่งเนื้อจะถูกกินด้วยปลาตัวอื่น และเสี่ยงที่จะดึงดูดปลาขนาดใหญ่ เพราะติ่งเนื้อนั้นดึงดูดเหยื่อ และศัตรูในขณะเดียวกัน มันจึงใช้ทักษะการตกปลาด้วยติ่งเนื้อตามเงื่อนไขที่อยู่รอบตัว นับว่าฉลาดมาก ๆ เลยทีเดียว

เจ้า “ปลากบลายริ้ว” ที่อ้วนป้อม เชื่องช้า ซ้ำยังว่ายน้ำไม่เก่ง ยังมีพรสวรรค์ระดับโลกของปลาติดตัวมาถึง 2 ข้อ ดังนั้น…

“เราไม่มีสิทธิ์ตัดสินใครเพียงแค่เขาไม่ได้ถนัดในเรื่องที่เราชำนาญ เพราะสิ่งที่เขาชำนาญเราอาจไม่ถนัดเช่นกัน”

เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้า “ปลากบลายริ้ว”

  • ถึงจะว่ายน้ำไม่เก่ง แต่วันหนึ่งเดินได้หลายร้อยเมตร
  • ติ่งเนื้อ (Esca) หากถูกกินสามารถงอกใหม่ได้
  • สามารถกระโดดโดยเปิดเหงือกสูบน้ำเข้าไป และพ่นออกมา (Action = Reaction)
  • ฝึกฝนตกปลาอยู่กับที่ตั้งแต่เด็ก ๆ
  • คนญี่ปุ่นโบราณเข้าใจผิดว่ามันคือคางคก (เขียนไว้ในสมุดรวมภาพสัตว์ศตวรรษที่ 19)

--

--