มีความสามารถควรบอกให้คนอื่นรับรู้ หรือปล่อยให้เขารู้เอง แบบไหนดีกว่ากัน?

Rattana-anun Chanchai
Human Touch TH
Published in
1 min readMay 25, 2020

เนื่องจากผู้เขียนถูกถามเข้ามาว่า

“ถ้าเรามั่นใจแล้ว ควรให้คนอื่นพูดถึงเรา ว่าเราดีแบบนั้นแบบนี้ หรือเราควรไปบอกใครต่อใครเองเลย ว่าเรามีดี แบบไหนดีกว่ากัน?”

การตอบคำถามนี้จำเป็นต้องดูบริบทอื่น ๆ ประกอบ แต่หากเรามองย้อนกลับไปที่ “การเลี้ยงดูบุตรหลานของคนไทย” ส่วนใหญ่ มักพบว่าเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าให้ระมัดวังเรื่องการแสดงออก ดังคำสุภาษิต สำนวน หรือบทกลอน ที่มักได้ยินอยู่เป็นประจำเช่น “กลองดีตีดังไกล กลองจัญไรดังเอง”, “คมในฝัก”, “ระฆังดังเมื่อคนตี คนดีไม่ตีก็ดัง ทำดีแล้วดัง ดีกว่าคนชังเพราะชั่ว” แต่ที่คุ้นหูที่สุดน่าจะเป็นบทกลอนที่หลวงวิจิตรวาทการประพันธ์ขึ้นว่า

“อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี

แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย

ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงออก หรือบอกให้คนอื่นรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใด เพราะกลัวถูกผู้อื่นหมันไส้ และถูกกลั่นแกล้ง

แต่จากประสบการณ์ทำงานของผู้เขียนพบว่า “คนที่นำเสนอตัวเองเก่ง” มักได้ดี มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถ ทำให้มีผลงาน ในทางกลับกันมีคนเก่ง ๆ หลายคนที่เป็นประเภท “คมในฝัก” มีความรู้ความสามารถแต่มัวรอโอกาสหรือเวลา โดยไม่ไขว่คว้าด้วยตนเอง จึงไม่ได้รับโอกาสในการแสดงฝีมือออกมาให้เป็นที่ปรากฏซักที จึงทำให้คนเหล่านี้ไม่ค่อยก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้น หากเรามีความสามารถก็ควรบอกให้คนอื่นรับรู้

แต่ก่อนจะไปบอกให้คนอื่นรับรู้ว่าเรามีความสามารถนั้น ควรดูบริบทอื่น ๆ ประกอบ ดังนี้

  1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน จำเป็นต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดที่อยู่รอบตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม ผู้ร่วมงาน หรือแม้กระทั่งสิ่งของที่อยู่รอบตัว เนื่องจากมันมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของบุคคลแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อยู่นั้นส่งเสริมและเปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้หรือไม่
  2. ตัวบุคคล ต้องพิจารณาตัวผู้ฟังว่ามีทัศนคติในเชิงบวกหรือไม่ และที่สำคัญเรื่องที่เราจะบอกเขานั้น เขาอยากรับฟังใหม?
  3. สถานการณ์ ต้องพิจารณาสถานการณ์ก่อนว่าเหมาะสมที่จะพูดหรือไม่ เพราะกาลเทศะถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
  4. วิธีการสื่อสาร ควรมีความความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ควรยกตนข่มผู้อื่น เพราะคุณสามารถเป็นคนเก่งที่มีความมั่นใจในตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้อื่นรู้สึกด้อยลง

[สรุป] หากมีความสามารถควรบอกให้คนอื่นรับรู้ แต่จำเป็นต้องดูบริบทอื่น ๆ ประกอบด้วย

--

--