[รีวิวหนังสือ] กินกบตัวนั้นซะ! / Eat That Frog!

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ผมสามารถหยุดการผัดวันประกันพรุ่ง และลงมือทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้สำเร็จ! ด้วยเวลาที่น้อยลง

Rattana-anun Chanchai
Human Touch TH
2 min readJul 16, 2019

--

หนังสือ กินกบตัวนั้นซะ! / Eat That Frog!

Eat That Frog! เป็นหนังสือขายดีระดับโลก ยอดขายกว่า 1,500,000 เล่ม ของ Brian Tracy นักเขียนและนักพูดชื่อดังด้านความสำเร็จ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ 21 วิธีหยุดการผัดวันประกันพรุ่ง และทำงานให้ได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง สำหรับท่านที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารเวลา “ควรอ่าน” หนังสือเล่มนี้อย่างยิ่งครับ

เหตุผลที่อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้

  • หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Brian Tracy ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนและนักพูดในเรื่องความสำเร็จ การบริหารจัดการ และภาวะผู้นำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เขาเป็นที่ปรึกษาและผู้ให้การฝึกอบรมแก่บริษัทที่มีชื่อเสียงมากกว่า 1,000 แห่ง เช่น IBM, Ford, HP และ Xerox เป็นต้น รวมทั้งบรรยายให้ผู้คนฟังมากกว่าปีละ 250,000 คน
  • หนังสือมีจำนวน 157 หน้า ตัวอักษรแต่ละหน้ามีจำนวนที่พอเหมาะ ภาษาที่ใช้ไม่ซับซ้อนอ่านเข้าใจง่าย เนื้อหาแบ่งเป็นบทย่อย ๆ จำนวน 21 บท (1 บท = 1 วิธี) โดยเนื้อหาแต่ละบทมีความร้อยเรียงกันค่อย ๆ ไล่ระดับไปทีละขั้น และที่ชอบเป็นพิเศษคือ ทุกบทมีสรุปทริคให้ช่วงท้ายทำให้สามารถนำไปปฎิบัติตามได้ทันที
  • หากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ และนำ 21 วิธีหยุดการผัดวันประกันพรุ่งไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดการบริหารเวลาของคุณจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
  1. จัดโต๊ะ ตัดสินใจให้แน่ชัดว่าต้องการอะไร ความชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ ให้เขียนเป้าหมายและจุดประสงค์ออกมาก่อนเริ่มลงมือ

การผัดวันประกันพรุ่งและการขาดแรงจูงใจมีสาเหตุหลักมาจากความคลุมเครือ ความสับสน และความกำกวมว่าตัวเองกำลังพยายามทำอะไร? ต้องทำอะไรก่อนหลัง? และทำไปเพื่ออะไร?

สูตร 7 ขั้นสำหรับใช้กำหนดและบรรลุเป้าหมาย

  1. ตัดสินใจให้แน่ชัดว่าต้องการอะไร?
  2. เขียนมันออกมา
  3. กำหนดเส้นตายให้เป้าหมาย
  4. ระบุสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายออกมา
  5. เปลี่ยนสิ่งที่ต้องทำให้อยู่ในรูปของแผนงาน (จัดลำดับตามความสำคัญ)
  6. ลงมือทำตามแผนทันที
  7. ตั้งใจแน่วแน่ ลงมือทำทุกวัน เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมาย

2. วางแผนแต่ละวันเอาไว้ล่วงหน้า คิดแล้วเขียนลงบนกระดาษ เวลา 1 นาทีที่ใช้ไปกับการวางแผนสามารถประหยัดเวลาในการลงมือทำได้ 5–10 นาที

“คุณจะกินช้างสักตัวได้อย่างไร?” ตำตอบคือ “กินทีละคำไงล่ะ!” แล้วคุณจะกินกบตัวใหญ่ที่สุดและน่าเกลียดที่สุดของคุณอย่างไร? ง่าย ๆ เลย ก็ใช้วิธีเดียวกันนั่นแหละ คุณต้องชำแหละมันเป็นชิ้น ๆ และเริ่มต้นที่ชิ้นแรกก่อน

3. ใช้กฎ 80/20 กับทุกเรื่อง 20 เปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมที่คุณทำจะก่อให้เกิดผลลัพธ์มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จงทุ่มเทความพยายามให้กับงาน 20 เปอร์เซ็นต์อันมีค่านั้นเสมอ

เรามีเวลามากพอเสมอ หากเราใช้มันอย่างถูกต้อง

-โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่

4. คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา งานที่มีความสำคัญที่สุดคืองานที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดต่อชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในแง่บวกหรือลบก็ตาม จงให้ความสนใจงานเหล่านี้มากที่สุด

“ผู้แพ้พยายามถอยหนีจากความกลัวและงานหนักด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดให้ตัวเอง ส่วนผู้ชนะมีแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมที่ปูทางไปสู่เป้าหมาย”

-เดนิส เวตลีย์

คำถาม 3 ข้อเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  1. อะไรคืองานที่มีค่าที่สุดสำหรับฉัน?
  2. อะไรคือสิ่งที่มีแค่ฉันคนเดียวที่ทำได้ และถ้าทำออกมาได้ดีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างแท้จิง?
  3. อะไรคืองานที่จะเป็นการใช้เวลาของฉันอย่างคุ้มค่าที่สุดในตอนนี้?

5. ฝึกผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่สามารถทำไปเสียทุกอย่างได้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะผัดผ่อนงานที่สำคัญน้อยกว่าออกไปก่อน เพื่อให้มีเวลามากพอที่จะทำงานไม่กี่อย่างที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง

คุณจะควบคุมเวลาและชีวิตได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณเลิกทำงานที่ไม่ค่อยสำคัญได้ดีแค่ไหน

6. หมั่นใช้เทคนิค ABCDE อยู่เสมอ ก่อนเริ่มทำงานต่าง ๆ ที่รออยู่ ให้ใช้เวลาสักครู่จัดประเภทงานตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณกำลังทำสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่เสมอ

เทคนิค ABCDE จะช่วยให้จัดลำดับความสำคัญในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันง่ายและทรงพลังมาก แค่เทคนิคนี้เพียงอย่างเดียวก็อาจผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็นคนแถวหน้าในสาขาอาชีพเลยก็ได้

ให้ระบุทุกสิ่งที่ต้องทำในวันรุ่งขึ้นออกมาเป็นข้อ ๆ โดยถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวลงสู่กระดาษทั้งหมด จากนั้นให้ใส่ตัวอักษร A B C D หรือ E ลงไปข้างท้ายของแต่ละข้อ

  • “A” คืองานสำคัญสุด ๆ เป็นงานที่ต้องทำ การทำเสร็จหรือไม่เสร็จอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ลบหรือบวกอย่างรุนแรง งานจำพวกนี้คือกบนั่นเอง

หากมีงานกลุ่ม A มากกว่า 1 อย่าง ให้จัดลำดับความสำคัญในกลุ่มโดยเขียนเลขลงไป เช่น “A-1” “A-2” “A-3” “A-…” งาน A-1 คือกบตัวใหญ่และอัปลักษณ์ที่สุดนั่นเอง

  • “B” เป็นงานที่คุณควรทำ เพราะส่งผลกระทบในแง่บวกหรือลบพอสมควร งานจำพวกนี้เทียบได้กับลูกอ๊อด อย่าคิดทำงาน B ถ้างาน A ยังค้างอยู่
  • “C” เป็นงานที่ถ้าได้ทำก็น่าจะดี แต่ไม่ว่าจะทำหรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
  • “D” เป็นงานที่มอบหมายให้คนอื่นทำแทนได้
  • “E” เป็งงานที่กำจัดทิ้งไปได้โดยไม่ก่อให่เกิดความแตกต่างใด ๆ เลย

7. ให้ความสำคัญกับหน้าที่หลัก ระบุให้ได้ว่า อะไรคือหน้าที่ที่จำเป็นต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้งานโดยรวมได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม แล้วลงมือทำหน้าที่นั้นไปตลอดทั้งวัน

สาเหตุเหตุของการผัดวันประกันพรุ่งก็คือ ผู้คนมักเบือนหน้าหนีจากงานและกิจกรรมที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีเอาเสียเลย แทนที่จะตั้งเป้าหมายและวางแผนพัฒนาตนเอง ในทางกลับกัน ยิ่งปรับปรุงทักษะในการทำงานด้านใดด้านหนึ่งให้ดีขึ้นได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีแรงจูงใจทำงานด้านนั้นมากขึ้น

คำถามสำคัญ

  • ถ้ามีทักษะหนึ่งอย่างที่เมื่อพัฒนาจนเชี่ยวชาญแล้วจะส่งผลกระทบในแง่บวกต่ออาชีพการงานมากที่สุด ทักษะนั้นน่าจะเป็นอะไร?

8. ประยุกต์ใช้กฎทองสามประการ ระบุงาน 3 อย่างที่ทำประโยชน์ให้บริษัทได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมดที่ทำ พุ่งเป้าไปที่การทำงานเหล่านั้นให้เสร็จก่อนงานอื่น ๆ แล้วจะมีเวลาให้กับครอบครัวและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

จุดประสงค์ของการบริหารเวลา และการทำงานให้เสร็จมากขึ้นในเวลาที่น้อบลงก็เพื่อจะได้มีเวลา “เห็นหน้าค่าตา” คนที่ห่วงใย ได้ใช้เวลาร่วมกันทำสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างความสุขให้กับชีวิตมากที่สุด

เมื่ออยู่ที่ทำงาน คุณภาพของเวลานั้นมีความสำคัญ แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ปริมาณของเวลากลับสำคัญมากกว่า

9. เตรียมการอย่างรอบคอบก่อนเริ่มงาน ตระเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นไว้ให้พร้อมก่อนเริ่มงาน วางไว้ในตำแหน่งที่หยิบใช้สะดวก รวบรวมข้อมูล รายงาน บทความ เครื่องมือ วัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการทำงานให้เสร็จและเบอร์โทรศัพท์ที่อาจต้องใช้ เพื่อให้เริ่มทำงานและทำไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด

10. จับตามองถังน้ำมันทีละถัง คุณสามารถทำงานที่ยากและใหญ่ที่สุดให้สำเร็จได้เพียงแค่ทำไปทีละขั้นตอนจนกว่าจะเสร็จ

“หนทางไกลนับหมื่นลี้เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ”

- เล่าจื๊อ

11. พัฒนาทักษะสำคัญ ๆ ของคุณให้ดีขึ้น ยิ่งคุณมีความรู้และมีทักษะในการทำงานชิ้นสำคัญมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งลงมือเร็วขึ้นเท่านั้น แถมยังทำให้เสร็จได้เร็วขึ้นด้วย

สาเหตุหลักของการผัดวันประกันพรุ่งคือความรู้สึกต่ำต้อย ไม่มั่นใจ และคิดว่าตนเองทำงานนั้น ๆ ไม่ได้ ความรู้สึกบกพร่องหรืออ่อนแอในด้านใดด้านหนึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้หมดไฟและไม่อยากทำงานที่รออยู่ตรงหน้า

จงพัฒนาทักษะสำคัญ ๆ ของคุณให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สามขั้นตอนสู่ความสำเร็จ

  1. อ่านเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาขาอาชีพของคุณอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง
  2. สมัครเข้าเรียนในทุกหลักสูตรฝึกอบรมและทุกงานสัมนาที่เกี่ยวกับทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ
  3. ฟังซีดีให้ความรู้ระหว่างขับรถ (ปัจจุบันสามารถฟัง Podcast, YouTube ฯลฯ)

12. นำความสามารถพิเศษของคุณมาใช้ให้เกิดผล ค้นหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ยอดเยี่ยม (หรือน่าจะทำได้ยอดเยี่ยม) แล้วทุ่มเททำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

ถามคำถามสำคัญต่อไปนี้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

“อะไรที่ฉันทำได้ดีเยี่ยมที่สุด? ฉันชอบทำอะไรที่สุดในงานของฉัน? อะไรมีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา? หากฉันเลือกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ ฉันควรเลือกอาชีพไหนดี?

13. มองหาข้อจำกัดของคุณ ระบุจุดคอขวดหรือข้อจำกัดต่าง ๆ (ทั้งภายในและภายนอก) ที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะบรรลุเป้าหมายที่สำคัญที่สุดได้เร็วหรือช้าแค่ไหน แล้วพยายามหาทางแก้ไข

ระบุข้อจำกัด (ทั้งภายในและภายนอก) ที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วหรือช้าแค่ไหน ตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที? อะไรในตัวฉันที่คอยฉุดรั้งฉันไว้? ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นอะไร ให้ลงมือจัดการกับมันทันที

14. สร้างแรงกดดันให้ตัวเอง จินตนาการว่าคุณต้องเดินทางไปต่างประเทศนานหนึ่งเดือน แล้วทำราวกับว่าต้องสะสางงานสำคัญ ๆ ให้เสร็จทั้งหมดก่อนออกเดินทาง

ในการก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดตามศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ต้องหมั่นสร้างแรงกดดันให้ตัวเองและเลิกรอให้คนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทน ต้องเป็นคนเลือกกบของตัวเอง จากนั้นต้องบังคับให้ตัวเองกินมันลงไปทีละตัวตามลำดับความสำคัญ

15. เพิ่มพลังของคุณไปสู่จุดสูงสุด ในแต่ละวัน ให้ค้นหาช่วงเวลาที่มีพลังกายและพลังสมองสูงสุด แล้วทำงานสำคัญและยากที่สุดในช่วงเวลานั้น พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ

วิเคราะห์ระดับพลังและประเมินนิสัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของตัวเอง ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเพิ่มพลังและปรับปรุงสุขภาพของคุณให้ดีขึ้น โดยถามคำถามต่อไปนี้ “อะไรที่ควรทำมากขึ้น? อะไรที่ควรทำน้อยลง? อะไรที่ยังไม่ได้ทำแต่ควรเริ่มทำ หากอยากให้ผลงานออกมาดีที่สุด? อะไรที่ทำอยู่ตอนนี้แต่ควรหยุดทำ หากอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น?”

16. กระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ ทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ที่คอยให้กำลังใจตัวเอง มองหาแง่มุมดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในทุกสถานการณ์ ให้ความสำคัญกับทางออกมากกว่าตัวปัญหา มองโลกในแง่ดีและคิดในทางบวกเสมอ

ควรพูดคุยกับตัวเองในแง่บวกตลอดเวลาเพื่อช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น จงพูดในทำนองว่า “ฉันชอบในสิ่งที่ฉันเป็น! ฉันชอบตัวเองเหลือเกิน!” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเชื่อในสิ่งที่พูดและเริ่มทำตัวเฉกเช่นบุคคลที่เปี่ยมประสิทธิภาพจริง ๆ

17. สลัดตัวเองให้พ้นจากกับดักเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การติดต่อสื่อสารดีขึ้น แต่อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นทาสของมัน จงเรียนรู้ที่จะปิดอุปกรณ์สื่อสารแล้วปลีกตัวออกมาบ้าง

“ผมเริ่มตาสว่างว่า เวลาที่มีใครบางคนส่งอีเมล์มาหาผม นั่นไม่ได้หมายความว่าเขามีสิทธิบังคับให้ผมตอบกลับ ไม่ว่าจะตอนนี้หรือตอนไหนก็ตาม แล้วผมก็ยังพบว่า หากอีเมล์ฉบับนั้นสำคัญจริง ๆ เจ้าของอีเมล์จะส่งมาหาผมอีกครั้ง”

-นักเขียนคนหนึ่งเล่าไว้ในนิตยสารฟอร์จูน

18. หั่นงานเป็นชิ้น ๆ ซอยงานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนเป็นส่วน ๆ แล้วจึงเริ่มต้นจากทำงานเล็ก ๆ นั้นไปทีละส่วน

เหตุผลที่เรามักเลื่อนงานใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ออกไปก่อนก็คือตอนที่เราเห็นมันครั้งแรก มันดูหนักหนาสาหัสและใหญ่โตเกินกว่าจะรับมือได้

19. สร้างช่วงเวลาขนาดใหญ่ แบ่งเวลาในแต่ละวันออกเป็นช่วง ๆ วางแผนการทำงานไปตามช่วงเวลาเหล่านั้น แล้วหาทางรวบช่วงเวลาเข้าด้วยกันเมื่อต้องการช่วงเวลาขนาดใหญ่สำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุด

ตารางเวลา (Time Planner) ที่แบ่งเวลาออกเป็นวัน ชั่วโมง และนาที ถือเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพส่วนบุคคลที่ทรงพลังที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะจะมองเห็นว่าสามารถรวบช่วงเวลาใดเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างช่วงเวลาที่นานขึ้นสำหรับงานสำคัญที่ต้องการสมาธิ

20. สร้างสำนึกแห่งความเร่งด่วน สร้างนิสัยในการลงมือทำงานสำคัญ ๆ และทำให้เสร็จลุล่วงโดยเร็ว สั่งสมชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในฐานะคนที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วและดีเยี่ยม

อย่ารอ เพราะโอกาสที่ “เหมาะสมที่สุด” ไม่มีอยู่จริง แค่เริ่มต้นจากจุดที่คุณอยู่และลงมือทำด้วยเครื่องมืออะไรก็ตามที่คุณมี แล้วคุณจะได้พบเครื่องมือที่ดีกว่าระหว่างทาง

-นโปเลียน ฮิลล์

21. แน่วแน่กับงานทุกอย่างที่ทำ จัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน เริ่มลงมือทำงานที่สำคัญที่สุดทันที และทำไปโดยไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ นี่คือกุญแจสำคัญที่แท้จริงสู่การทำงานที่ยอดเยี่ยมและเปี่ยมประสิทธิภาพ

มีการประเมินกันว่า นิสัยทำ ๆ หยุด ๆ อาจยืดระยะเวลาในการทำงานออกไปมากถึง 500 เปอร์เซ็นเมื่อเทียบกับเวลาที่ควรจะใช้จริง ๆ เพราะทุกครั้งที่กลับไปทำงานที่คั่งค้างอยู่ ต้องตั้งต้นใหม่และใช่เวลาปรับตัว โดยต้องนึกย้อนกลับไปว่าทำค้างไว้ตรงไหน? เลิกทำไปเมื่อไหร่? และเหลืออะไรที่ต้องทำต่อบ้าง? อีกทั้งยังต้องเอาชนะความเฉื่อยชาและบังคับตัวเองให้กลับมาทำงานอีกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ๆ กว่าจังหวะการทำงานจะกลับคืนมา

ถ้าสิ่งแรกที่คุณทำในตอนเช้าคือการกินกบเป็น ๆ หนึ่งตัว นั่นเท่ากับว่าตลอดทั้งวันจะมีแต่เรื่องดี ๆ เพราะคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านั้นอีกแล้ว ดังนั้นรีบหากบตัวนั้นของคุณให้เจอ แล้วกินมันเข้าไปซะ!

อ้างอิง

  • Brian Tracy. กินกบตัวนั้นซะ! Eat That Frog! [2nd Edition]. กรุงเทพมหานคร : วีเลิร์น,

--

--