[รีวิวหนังสือ] อย่าปล่อยให้ใครฆ่าวาฬของคุณ

หนังสือเล่มนี้กระตุ้นให้ผมพยายามค้นหา “วาฬ” ในตัวเอง และหันกลับมาดูแลให้มันแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับอนาคตที่กำลังมาถึง

Rattana-anun Chanchai
Human Touch TH
5 min readJul 24, 2019

--

หนังสือ อย่าปล่อยให้ใครฆ่าวาฬของคุณ

อย่าปล่อยให้ใครฆ่าวาฬของคุณ เป็นหนังสือที่ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่สามที่เข้ามาสืบทอดกิจการผงหอมศรีจันทร์ ผู้ลงมือพลิกโฉมและรีแบรนด์ผงหอมศรีจันทร์จนสามารถเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการเครื่องสำอางในประเทศไทย ได้ถ่ายทอดเคล็ดลับและเทคนิคที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงในชีวิตและการทำธุรกิจ รวมถึงหนังสือที่เขาได้อ่าน ให้อยู่ในรูปของวิธีคิดอันเรียบง่าย 36 วิธี ที่จะช่วยให้ออกเดินทางตามหาความสำเร็จได้เร็วขึ้น

เหตุผลที่อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้

  • หนังสือเล่มนี้เขียนจากประสบการณ์ของผู้ที่สามารถชุบชีวิตกิจการผงหอมศรีจันทร์ที่กำลังอ่อนแรง ให้กลับมาก้าวกระโดดได้อีกครั้ง เขาสามารถขยายยอดขายของธุรกิจถึง 600% ในเวลาไม่กี่ปี เรื่องราวของการเดินทางทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีหรือปฎิบัติที่เขาพบเจอ ได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว
  • หนังสือมีจำนวน 326 หน้า อาจจะดูหนา แต่การจัดเรียงตัวอักษรในแต่ละหน้าดูสบายตา อีกทั้งมีภาพประกอบมากมายทำให้การอ่านไม่น่าเบื่อ ภาษาที่ใช้อ่านเข้าใจง่าย เนื้อหาแบ่งเป็นบทย่อย ๆ จำนวน 36 บท (1 บท = 1 วิธีคิด) เนื้อหาจบในบท ค่อย ๆ ทยอยอ่านได้
  • สำหรับผมแล้วหนังสือเล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง
  1. คิดว่าตัวเองเป็นไม้ขีดไฟ เรื่องเล่าของ Johnny พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล็ก ๆ ด้วยความจริงใจของเขาสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ แต่ปัญหาคือคนมากมายมักดูถูกตัวเอง ว่าเป็นแค่คนธรรมดาจะไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร? แถมหาข้ออ้างมากมายมาสนับสนุน แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยที่ไม่ได้ลงมือทำอะไร

ไฟที่ลามออกไปเป็นวงกว้างล้วนเริ่มต้นจากประกายไฟเล็ก ๆ ทุกครั้ง ถ้าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างในวันพรุ่งนี้ ก็จงมองว่าตัวเองเป็นไม้ขีดไฟเสียตั้งแต่วันนี้เลย

2. ยิ่งขาดแคลนยิ่งได้เปรียบ ข้อจำกัดคือแรงผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เนื่องจากต้องใช้พลังสมองมากกว่าปกติ

ผู้ชนะใช้ข้อจำกัดเป็นพลัง ส่วนพวกขี้แพ้ใช้มันเป็นข้ออ้าง

- Dr. Seuss (ผู้เขียนหนังสือ Green Eggs and Ham ซึ่งเกิดจากการท้าทายให้ใช้คำเพียง 50 คำ)

3. จงอวดดี ถ้ามี “ดี” แล้วไม่งัดออกมาอวด ใครจะมองเห็น?

เพราะทุกคนถูกถล่มด้วยข้อมูลมากมายผู้ชนะคือคนที่คนอื่นยอมหยุดฟังเรื่องที่เขาพูด

6 เทคนิคการนำเสนองานที่ดี

  1. สร้างภูเขาน้ำแข็ง พูด 10% ของที่เตรียมไปส่วน 90% ที่เหลือคือข้อมูลสำหรับตอบคำถาม
  2. พูดแต่ความจริง กระชับ หนักแน่น ไม่แต่งเติมสิ่งที่ไม่จำเป็น
  3. เริ่มต้นแบบระเบิดลง พยายามเรียกความสนใจของผู้ฟังตั้งแต่ 30 วินาทีแรก
  4. ตอบคำถามว่า “ทำไม” ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำไม” เขาต้องมาฟังสิ่งที่เราพูด
  5. ทุกอย่างคือบทสนทนา อย่าพูดแต่สิ่งที่เราอยากพูด ให้สังเกตุคนฟังว่าต้องการฟังอะไรในตอนนั้น
  6. ซ้อม ซ้อม ซ้อม และซ้อม

4. ตั้งคำถามแบบ 10x มันคือต้นกำเนิดของคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น 10 เท่า!

อยากเปลี่ยนโลกต้องตั้งคำถามแบบ 10x

5. ขาดทุนคือกำไร กำไรคือขาดทุน กรณีตัวอย่างสุดคลาสสิคของคุณอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของ Terminal 21 ที่ยอมขาดทุนจากการทำศูนย์อาหารปีละ 20 ล้าน แต่กลับเป็นการทำการตลาดที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาที่ศูนย์การค้าแห่งนี้

บางทีกำไรไม่ได้แปลว่ากำไร ขาดทุนอาจไม่ได้แปลว่าขาดทุน ถ้าเรารู้ว่าขาดทุนไปเพื่ออะไร

6. กำแพงที่กักขังเราได้ดีที่สุด คือกำแพงที่เราสร้างขึ้นมาเอง

อย่าให้ความลัมเหลวอยู่กับเราตลอดไป ไม่อย่างนั้นวันหนึ่งเราอาจตาย เพราะขาดกำลังใจที่จะไล่ตามความฝัน เพราะไม่กล้าเดินผ่านกำแพงแห่งความล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่กำแพงนั้นไม่มีอยู่จริง

7. ง่าย ชัดเจน และทรงพลัง การสร้างแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือคนสิ่งสำคัญคือสารที่สื่อออกไปต้องง่าย ชัดเจน และทรงพลัง

8. อย่าปล่อยให้เสียงของใคร ดังกว่าเสียงในใจของเราเอง

ถ้าตั้งใจจะทำอะไร จงลงมือทำ อย่าให้เสียงสงสัยเสียงวิพากวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นมาฉุดรั้งไว้

9. กฎเกณฑ์ไม่เคยมีอยู่จริง พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนทำให้กฎเกณฑ์ด้านการตลาดที่เคยยึดถือกันมานั้นเรียกได้ว่าไม่มีอีกต่อไป ยกตัวอย่าง Volvo ซึ่งไม่ได้ฉายโฆษณาช่วงการแข่งขัน Super Bowl แต่กลับเป็นบริษัทรถยนต์เพียงบริษัทเดียวที่ถูกพูดถึงไปทั่วประเทศและทั่วโลกในระหว่างการแข่งขัน Super Bowl เพราะแคมเปญโฆษณาที่บอกว่าทุกครั้งที่เห็นโฆษณารถยนต์ของค่ายอื่นให้ทวีตโดยใส่ชื่อทวิตของเพื่อนหรือคนรักที่อยากจะให้ได้รับรถ Volvo XC60 พร้อมใส่แฮชแท็กว่า #VolvoContest ง่าย ๆ แค่นี้เพื่อนหรือคนรักก็มีโอกาสได้รับรถไปขับฟรี ๆ

10. กิจวัตรที่ดี = ผลลัพธ์ที่ดี ลองสร้างกิจวัตรที่ดีขึ้นมาหนึ่งอย่าง รอบสั้น ๆ สัก 45 วัน เพราะกิจวัตรที่ดีช่วยให้เกิดกิจวัตรที่ดีตามมาอีกหลายอย่าง โดยที่ไม่ต้องพยายามอะไรมาก

11. เปลี่ยนโจทย์ IKEA สามารถทำโต๊ะที่สามารถขายได้ในราคา 5 ยูโรและมีกำไร เช่นเดียวกับ Audi ที่สามารถคว้าชัยจากรายการ 24 Hours of Le Mans ได้ 3 ปีติดต่อกัน ทั้งที่รถของ Audi นั้นไม่ได้วิ่งเร็วไปกว่าคู่แข่งเลย สิ่งที่ทำให้ทั้ง IKEA และ Audi ประสบความสำเร็จได้นั้นเกิดจากการเปลี่ยนโจทย์นั่นเอง

12. “พูดอะไร” ไม่ได้สำคัญไปกว่า “พูดอย่างไร”

ในโลกอันสุดแสนจะหนวกหูอย่างทุกวันนี้ วิธีการเล่าสำคัญพอ ๆ กับเรื่องที่เล่า เรื่องที่เล่าจะดีแค่ไหน แต่ถ้าวิธีเล่าไม่ได้เรื่อง ก็ไม่มีใครฟัง

13. กลับหัวคิด David วาดรูปนางแบบออกมาเป็นรูปการ์ตูนที่ดูน่าเกลียด เหมือนปีศาจที่มีแขนขาลีบ ตาถลน และแลบลิ้นนิด ๆ แม้อาจารย์ของเขาจะไม่ปลื้ม แต่ David บอกกับอาจารย์ว่า “Ugly is the new beautiful” เรื่องนี้คือจุดกำเนิดของตุ๊กตา Uglydoll ที่กลายมาเป็นธุรกิจที่มีรายได้ปีละ 100 ล้านเหรียญ

14. ถ้าลูกค้าติว่าแย่ ก็จงแย่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย หนึ่งในปัญหาใหญ่ของแบรนด์ที่เห็นในปัจจุบันคือความไม่เสมอต้นเสมอปลายในการสื่อสารแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งผลที่ตามมาคือ ลูกค้าจำแบรนด์ไม่ได้ ตัวอย่างแบรนด์ที่สื่อสารได้เสมอต้นเสมอปลาย คือ Ryanair ที่ส่งสารที่ชัดเจนสุด ๆ ออกไปในทุกช่องทางว่า “เรามาเพื่อบินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และกฏของเราก็เข้มงวดมาก เรื่องอื่นเราไม่สน” แม้ Ryanair จะถูกด่ามากกว่าชาวบ้าน แต่กลับเติบโตขึ้น แม้ธุรกิจสายการบินจะโหดและหินมาก ๆ

15. อย่า “เดินตาม” คนที่ทำสำเร็จแล้ว หนึ่งในสูตรลับที่รับประกันความล้มเหลวคือการทำธุรกิจแบบ Me too เห็นใครทำอะไรสำเร็จก็เลียนแบบ โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น จึงไม่มีแก่น ไม่มีราก เมื่อไม่มีรากก็ไม่มีแรงบันดาลใจ เมื่อไม่มีแรงบันดาลใจจึงไม่มีเรื่องราวที่มาที่ไปหรือ Story ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเล่าเรื่องหรือ Storytelling นั้นสำคัญกับการขายของเพียงใด

16. แค่อ่านตัวเลขเป็น ก็เห็นโอกาสมากกว่าคนอื่น ขอแค่เข้าใจตัวเลขของธุรกิจตัวเอง เช่น จุดคอขวดอยู่ตรงไหน และของชิ้นใดมีต้นทุนการผลิตต่อราคาขายสูงที่สุด

ถ้าเข้าใจว่าตัวเลขพวกนี้กำลังบอกอะไร แค่บวกลบคูณหารเป็นก็เกินพอแล้ว

17. ล่าควายป่าทั้งผูง โดยไม่ใช้อาวุธแม้แต่ชิ้นเดียว สมัยก่อนการล่าควายป่าถือว่าอันตรายมากเนื่องจากตัวใหญ่ และมีสัญชาติญาณในการป้องกันตัว และยังเคลื่อนที่เร็ว ที่สำคัญคืออยู่กันเป็นผูง แต่ชนเผ่า Blackfoot สามารถล่าฝูงควายป่าด้วยการคิดกลยุทธ์ที่เฉียบคม โดยปลอมตัวด้วยชุดหมาป่าซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของควายป่า เมื่อควายป่าเห็นหมาป่าก็วิ่งหนีตาม ๆ กันไปในเส้นทางที่ชนเผ่า Blackfoot กำหนดซึ่งคือช่องแคบที่ตรงดิ่งไปยังหน้าผา ไม่ต้องออกแรงมาก ควายป่าทั้งผูงก็ตกหน้าผาไปนอนนิ่งอยู่ด้านล่าง

ชนเผ่า Blackfoot ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรมากมายเลย แค่ใช้สมองให้มากหน่อยเท่านั้นเอง

18. ยิ่งฉับไวมากเท่าไหร่ ยิ่งไว้ใจมากเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการตอบสนองอย่างฉับไว (Responsive) ซึ่งหมายถึงการตอบสนองต่อทุกงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกว่าสั่งงานอะไรไปต้องมีการรายงานกลับมาให้เร็วไม่ว่างานจะเสร็จหรือไม่ก็ตาม โดยไม่ต้องให้คนสั่งเอ่ยปากถาม ฟังดู basic มาก ๆ แต่มีคนส่วนน้อยมาก ๆ ที่ทำได้

19. หา “วาฬ” ของคุณให้เจอ เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่หรือ wide-body jumbo jet ซึ่งเคยครองน่านฟ้ามากกว่า 40 ปีนั้นมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาจนถึงขั้นที่การบินระยะไกล ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินที่มี 4 เครื่องยนต์อีกต่อไป รวมถึงการเดินทางเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการบินตรงมากขึ้น การใช้เครื่องบินขนาดใหญ่จึงไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป หากเปรียบเทียบเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่กับวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และอายุยืน เราแทบไม่สังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันในแต่ละปี เรามักคิดว่ามันจะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ ตลอดไป จนกระทั่งมันตายไป ทุกธุรกิจล้วนมีวาฬเป็นของตัวเอง หากรอให้วาฬหมดลมไปก่อนเดี๋ยวจะไม่ทันเอา

20. ถ้าชีวิตขมขื่นนัก ก็สร้างมันเป็นธุรกิจซะเลย Josh Opperman ถูกคู่หมั้นทิ้งไป แต่เธอยังวางแหวนหมั้นไว้ให้ เขาไม่อยากเห็นแหวนวงนี้ให้มันบาดตาบาดใจ จึงนำไปขายโดยคิดว่าร้านคงรับซื้อคืนในราคาพอ ๆ กับที่เขาซื้อมา ซึ่งก็คือ 10,000 เหรียญ แต่ร้านบอกว่าแหวนวงนี้สามารถขายคืนได้ในราคาเพียง 3,500 เหรียญ แม้แหวนจะยังใหม่ และไม่มีรอยแม้แต่น้อย เขาจึงไปปรึกษาน้องสาวว่าจริง ๆ ก็น่าจะมีหนุ่มสาวอกหักที่อยากขายพวกแหวนหมั้นแบบนี้ไม่น้อย เขาจึงตั้งเว็บไซต์เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องประดับโดยเฉพาะแหวนหมั้นจากคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นที่มาของธุรกิจที่ชื่อว่า I Do Now I Don’t ซึ่งเป็น Platform ที่ตัดคนกลางทิ้งไปทำให้ขายได้ราคาดี จนสามารถสร้างรายได้มากถึงปีละ 3 ล้านเหรียญ

21. ไม่มีเงินเป็นเพียงข้ออ้าง

ถ้ารู้ว่าเงินไม่เยอะ ให้รู้ไว้ว่าสมองเป็นอาวุธเพียงอย่างเดียวที่มี ใช้มันเยอะ ๆ

22. จงสร้างความยิ่งใหญ่ขึ้นมาจากความเรียบง่าย Jack Dorsey มาทำงานให้กับบริษัท startup ชื่อ Odeo ในปี 2006 วันหนึ่งเขาไปหา Evan Williams หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Odeo ว่า “มันจะเป็นยังไงถ้าเราสามารถบอก status ให้เพื่อน ๆ รู้ได้แบบง่ายที่สุด” Evan บอกว่าไอเดียนี้เข้าท่าดี ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ Jack, Biz Stone และ Noah Glass ก็สร้าง prototype ขึ้นมามันเป็น Platform ที่ส่งข้อความสั้นได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร จุดประสงค์คือเพื่อให้แชร์ได้ง่ายที่สุด นี่คือจุดกำเนิดของ Twitter หนึ่งใน social media ที่สำคัญที่สุดของโลก

“Success is never accidental” / “ความสำเร็จไม่เคยเป็นเรื่องบังเอิญ”

- Jack Dorsey

23. เรียนลัดการเป็นแม่ทัพในยามสงคราม สิ่งที่ควรทำ หากวันหนึ่งบริษัทเข้าสู่ภาวะสงคราม (วิกฤต)

  1. ซีอีโอและแม่ทัพต้องมีกรอบความคิดที่เหมาะสมสำหรับภาวะสงคราม เลื่อนการสังสรรค์ออกไปก่อน มาทำงานเช้าขึ้น และต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะแก้ปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกทีมเห็น ทุกคนจะศัทราในความตั้งใจจริง และไม่ว่าจะพาพวกเขาไปบุกน้ำลุยไฟที่ไหนก็มีแต่คนอยากเดินตาม
  2. ประกาศภาวะสงคราม ทุกคนในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทราบ
  3. รวมอำนาจการบริหารบางส่วน ในภาวะสงครามอำนาจการตัดสินใจหลายอย่างควรกลับมาที่ซีอีโอด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ 1 บางเรื่องต้องใช้สัญชาติญาณในการตัดสินใจ 2 การตัดสินใจหลายอย่างจะขัดกับสิ่งที่เคยทำมาในภาวะปกติ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาจะป้องกันลูกทีมจากความผิดเพราะซีอีโอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
  4. ต้องเพิ่มความละเอียดเป็นสองเท่า
  5. ห้ามเจ็บ ห้ามกลัว ห้ามหิว ห้ามหนาว ห้ามตาย ผู้นำในภาวะสงครามห้ามแสดงออกถึงความอ่อนแอ เพราะกำลังใจของลูกทีมจะไม่เหลือถ้าลูกพี่ยังถอดใจ

24. จะชนะอย่างไร ในเมื่อยังไม่พร้อม Cliff Young ชาวไร่มันฝรั่งอายุ 61 ปี เขามีแกะในความดูแล 2,000 ตัว เขาต้องต้อนมันโดยใช้ร่างกายของตัวเอง ด้วยปริมาณแกะที่เยอะขนาดนี้บางครั้งทำให้เขาไม่ได้นอนถึง 2 วันติด ๆ กัน เขาลงแข่งวิ่งอัลตรามาราธอนจากซิดนีย์ไปเมลเบิร์นระยะทางรวม 875 กิโลเมตร ทั้งที่เขาไม่เคยแข่งวิ่งอะไรมาก่อน ทันทีที่เริ่มวิ่ง นักวิ่งคนอื่น ๆ ทิ้งเขาแบบไม่เห็นฝุ่น ปกติการวิ่งแบบนี้จะใช้วิธีวิ่ง 17 -18 ชั่วโมง และหลับ 6–7 ชั่วโมง แต่เพราะลุง Cliff ไม่รู้ว่าสามารถนอนหลับได้ด้วย! แกจึงวิ่งไปเรื่อย ๆ มีแอบงีบบ้างทีละชั่วโมง โดยพยายามไม่ให้ใครเห็น ไม่ต้องมีเทคนิคการวิ่ง ไม่ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นเรื่องของใจล้วน ๆ สุดท้าย Cliff เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 โดยใช้เวลา 5 วัน 15 ชั่วโมง 4 นาที เร็วกว่าที่ 2 ถึง 10 ชั่วโมง ทำลายสถิติของรายการลงอย่างราบคาบ

Cliff กลายเป็นตำนานของนักวิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาเริ่มต้นจากความไม่รู้และความไม่พร้อม แต่มีหัวใจและความอืดอยู่เต็มกำลัง

25. ความสำเร็จตัดสินกันในช่วงเวลาที่ไม่มีใครเฝ้าดู ในชีวิตนี้มีหลายครั้งที่เราเลือกจะอยู่เฉย ๆ เข้าสู่ภาวะ “ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องที่ยากและสำคัญ ราวกับเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านั้นจะเสร็จได้เอง และเลือกที่จะใส่ความพยายามแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อถีบตัวเองให้สูงขึ้น แล้วปลอบตัวเองว่าชีวิตต้องเดินทางสายกลาง

วิธีทำให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง (สิ่งที่คุณรวิศทดลองกับตัวเอง)

  1. ระยะเวลาการนอน นอน 4 ทุ่มตื่อนตี 5 ทำให้คุณรวิศมีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สูงสุด
  2. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายก่อนไปทำงานแต่ไม่ควรเกิน 90 นาที
  3. การนอนกลางวัน นอนกลางวัน 30 นาที ทำให้ช่วงบ่ายมีพลังไปถึงช่วงเย็น
  4. การนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิมีประโยชน์ในแง่การจัดสรรพลังงานและการควบคุมอารมณ์
  5. การทำงานในช่วง Prime Time เวลาเริ่มงานถึง 11 โมงเช้า ทำสิ่งที่เรียกว่า “The Thing Of The Day” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของวัน โดยหลีกเลี่ยงการประชุม การตอบอีเมล์ การเซ็นเอกสาร หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
  6. การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  7. การใช้ Social Media อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ ไม่ค่อยดูโทรทัศน์ และจำกัดเวลา Social Media และอินเทอร์เน็ต ไม่เกิน 45 นาที/วัน
  8. การจัดสรรเวลาให้ครอบครัว อ่านนิทานให้ลูกฟังวันละ 1.30–2 ชั่วโมง รวมถึงใช้เวลากับภรรยาและพ่อแม่มากขึ้น โดยปราศจากภาวะขับเคลื่อนอัตโนมัติ
  9. การสังสรรค์กับเพื่อน เปลี่ยนที่สังสรรค์จากร้านเหล้าเป็นนัดทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ
  10. การอ่านหนังสืือ จัดเวลาการอ่านหลังสือออกเป็น 2 ช่วง บ่าย 30 นาที ก่อนนอน 30–60 นาที

John Paul Jones Dojoria มหาเศรษฐีพันล้านผู้ร่วมก่อตั้ง Paul Mitchell และบริษัทเตกีลาชื่อดังอย่าง Patron Spirits Company เคยทำงานในร้านซักแห้งตอนอายุ 16 ปี เขามีหน้าที่ติดป้ายและจัดถุงเสื้อผ้าของลูกค้า รวมถึงทำความสะอาดร้าน วันหนึ่งเจ้าของเรียกเขาไปหาและบอกว่า “เมื่อคืนฉันอยู่ทำงานจนดึกแล้วได้เดินตรวจตราร้าน ฉันเห็นว่านายขยับตู้และดูดฝุ่นหลังตู้ด้วย มันน่าทึ่งมาก เพราะตั้งแต่เปิดร้านมายังไม่เคยมีใครทำแบบนั้นเลย ฉันจะขึ้นค่าแรงให้นายอีก 25 เซนต์” จากเดิมเขาได้รับค่าแรง 1.25 เหรียญ/ชั่วโมง ถือว่าได้เพิ่มมาไม่น้อยเลย

26. จงทิ้งกำไร “วิธีคิด” คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ

การยอมเสียกำไรระยะสั้นเพื่อแลกกับการเติบโตระยะยาวนั้นให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเสมอ

27. สร้างสมุดบันทึกบทเรียน ในการทำธุรกิจ ควรมีสมุดเอาไว้บันทึกบทเรียน ไม่ใช่บันทึก “เหตุการณ์ที่ผิดพลาด” หรือ “สิ่งที่ได้จากความผิดพลาด” เท่านั้นแต่ยังรวมถึง “ชุดความคิด” ที่จะช่วยไม่ให้เราทำพลาดอีก

ตัวอย่างสมุดบันทึกบทเรียนตลอดเส้นทางการทำธุรกิจของคุณรวิศ

  1. อย่าเข้มงวดเรื่องการใช้ทรัพยากรมากเกินไป โดยเฉพาะกับบุคลากรคนสำคัญขององค์กร
  2. อย่าหลงใหลแสงสีเสียงของโครงการใหม่ ๆ ที่ยั่วยวนใจ มนุษย์ไม่มีความสามารถในการทำงานวันละ 29 ชั่วโมง การมีโครงการเยอะทำให้ต้องกระจายทรัพยากรไปทำหลายอย่าง สุดท้ายงานหลักไม่ดี ส่วนงานรอง ๆ ก็ไม่รอด
  3. เรื่องที่เราไม่ถนัดให้มืออาชีพทำซะเถอะ
  4. อย่าทำแต่งานอย่างเดียว ควรหาเวลาสร้างแบรนด์ส่วนตัว และสร้าง Connection ให้ตัวเองด้วย
  5. กลยุทธ์ที่ดีต้องมาพร้อมกับแผนงานที่ละเอียดรอบคอบ (แผนงานละเอียดยิบ เส้นตายที่เข้มงวด และผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน)
  6. การไม่กล้าตัดสินใจคือการตัดสินใจประเภทหนึ่ง แถมยังมักเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดด้วย
  7. Clash Flow สำคัญที่สุด ต้องเข้มงวดและไม่มีข้อยกเว้น ต้องตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อลูกค้ามีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน ต้องหยุดขาย หาสาเหตุ และลงมือแก้ไขทันที

28. เดินหมากตัวเดียวล้มได้ทั้งกระดาน วิชาอะไรสำคัญที่สุด? คำตอบคือทฤษฎีเกม ทำไมน่ะเหรอ? เพราะในชีวิตจริง ขยันผิดที่ อดทนผิดเรื่อง เจรจาผิดคน ทำให้ตายก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทฤษฎีเกมทำให้เราไม่ติดกับเหล่านั้นได้

ราว 2,400 ปีก่อน วันหนึ่งเกิดข้อพิพาทที่ต้องการให้กษัตริย์ Solomon ตัดสิน เรื่องมีอยู่ว่าหญิงสองคนอยู่บ้านหลังเดียวกันและให้กำเนิดบุตรในเวลาไล่เลี่ยกัน หญิงคนแรกบอกกษัตริย์ Solomon ว่าลูกชายของหญิงคนที่สองเสียชีวิต แต่หญิงคนที่สองบอกว่าหญิงคนแรกมาขโมยลูกของเธอไป กษัตริย์ Solomon ตรัสว่า “ไปเอาดาบมาเล่มหนึ่ง และหั่นทารกน้อยที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นสองท่อนและแบ่งให้แต่ละฝ่ายคนละครึ่ง” ได้ยินเช่นนั้นหญิงคนแรกกล่าวด้วยน้ำเสียงตกใจว่า อย่าทำร้ายทารกเลย ขอให้มอบทารกให้หญิงคนที่สองเถิด ในขณะที่หญิงคนที่สองกล่าวทำนองว่า เคารพในการตัดสินใจของกษัตริย์ Solomon ขอให้แบ่งเด็กตามคำวินิจฉัย เมื่อได้ยินดังนั้นกษัตริย์ Solomon จึงตัดสินมอบเด็กให้หญิงคนแรก เพราะคนที่เป็นแม่แท้ ๆ ไม่อาจทนเห็นลูกตายต่อหน้าได ้เรื่องนี้สอนเรื่องทฤษฎีเกมได้เป็นอย่างดี และกระบวนการดังกล่าวก็สามารถนำไปตัดสินข้อพิพาทต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้การตัดสินใจที่ดีคือรู้เขา รู้เรา และรู้แรงจูงใจ นี่คือทฤษฎีเกม ทฤษฎีชีวิต

ชีวิตก็เหมือนกับการเล่นหมากรุก คนที่คิดนำหน้าคู่ต่อสู้ย่อมได้รับชัยชนะ

29. อย่าขุดหลุมฝังตัวเอง Social Media สามารถโหมกระพือจนเปลวไฟเล็ก ๆ จากไม้ขีดกลายเป็นไฟป่าได้อย่างง่ายดาย และไม่ว่าความตั้งใจจะเป็นอย่างไร แต่เราต้องรับผิดชอบกับสารสุดท้ายที่ส่งออกไป อุทาหรณ์จากกรณีของ Lindsey Stone ที่เกรียนใส่ป้าย “Silence and Respect” โดยการทำท่าตะโกนใส่คำว่า Silence และชูนิ้วกลางใส่คำว่า Respect เพื่อต้องการให้เป็นเรื่องตลกในกลุ่มเพื่อน แล้วโพสต์รูปลง Facebook แต่ป้ายที่เธอเกรียนใส่นั้นดันตั้งอยู่ท ี่Arlington National Cemetery สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตันที่พักผ่อนสุดท้ายของเหล่าทหารหาญอเมริกาที่ต่อสู้และสละชีพเพื่อมาตุภูมิ เพียงไม่นานภาพดังกล่าวได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

30. ของที่มีค่าที่สุดแต่กลับถูกทิ้งขว้างเป็นเหมือนขยะ เวลาคือทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด แต่น่าแปลกใจเหลือเกินที่หลายคนใช้มันอย่างไร้ค่า คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่คนที่ประสบความสำเร็จใช้มันเก่งกว่า แต่ละวันเราจะเจอเรื่องต่าง ๆ อยู่ 4 ประเภท แต่เราอาจจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนต่างกันขึ้นอยู่กับว่าชีวิตเราต้องการอะไร คือ 1. สำคัญ+เร่งด่วน (ทำก่อน) 2. สำคัญ+ไม่เร่งด่วน (วางแผน แต่หากละเลยมันจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ+เร่งด่วน ในอนาคต) 3. ไม่สำคัญ+เร่งด่วน (กระจายงาน) 4. ไม่สำคัญ+ไม่เร่งด่วน (ทิ้งซะ)

3 ปัจจัยในการบริหารเวลา

  1. อยู่กับปัจจุบัน ทุ่มเทร่างกายและจิตใจลงไปกับงานที่อยู่ตรงหน้า
  2. วินัย ต้องปฎิบัติตามแผนอย่างเข้มงวด
  3. จัดลำดับความสำคัญและจดจ่อกับมัน ในหนึ่งวันไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่ต้องทำเรื่องสำคัญให้เสร็จ

31. มองหาช่วงเวลาที่ทำให้คุณลืมหายใจ ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าที่จะมาทนอยู่กับสิ่งที่เราไม่ได้รักไม่ได้หลงไหล

“การมีชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของลมหายใจ แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มีความสุขจนทำให้คุณลืมหายใจได้ต่างหาก”

- ประโยคจากหนังเรื่อง Hitch

32. คิดแบบนักเล่นโป๊กเกอร์ นักเล่นโป๊กเกอร์มืออาชีพไม่เพียงวิเคราะห์ไพ่ของตัวเอง แต่จะพยายามเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ไพ่ในมือของคู่แข่ง ทั้งจำนวนชิพ ภาวะจิตใจ และกลยุทธ์ที่คู่แข่งชอบใช้ในอดีต และนำข้อมูลมาสร้างกลยุทธ์ พวกเขาจะไม่เล่นทุกตา เพราะกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะคือการรู้ว่าเมื่อไหร่ควรเล่นและเมื่อไหร่ควรหมอบ เขายังลงเงินพนันจำนวนน้อย ๆ เพื่อทดสอบสมมุติฐานของตัวเอง เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจเมื่อตาสำคัญมาถึง และเมื่อรู้ว่าทำพลาดไปแล้ว จะไม่อัดเงินตามลงไปเพื่อหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะกู้คืนสิ่งที่สูญเสียไป เขาสมามารถตัดอารมณ์ออกจากการเล่นโดยจดจ่ออยู่กับเป้าหมายเพียงอย่างเดียว เมื่อสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้แล้ว จะทำตามแผนโดยไม่ไขว้เขว ทำให้สามารถดำเนินเกมได้โดยไม่ต้องเดาสุ่มอีกต่อไป

การหากลยุทธ์ที่ถูกต้องมีหลักการณ์ดังนี้

  1. สิ่งที่เราเสนอแก้ปัญหาได้จริงหรือ
  2. โอกาสประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับขนาดของปัญหา
  3. วิธีคิดแบบนักสืบ vs วิธีคิดแบบหมอดู การหาสิ่งที่ต้องการนำเสนอลูกค้าต้องใช้วิธีคิดแบบนักสืบ คือหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่นั่งคิดเองว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ด้วยวิธีคิดแบบหมอดู
  4. คนเดียวที่จะให้คำตอบทั้งหมดได้คือลูกค้า

33. คิดเชื่อมโยง Robert Lang หลงไหลในศิลปะการพับกระดาษที่เราคุ้นเคยในชื่อ Origami ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่ของญี่ปุ่น เขาหลงไหลมันขนาดตัดสินใจทิ้งอาชีพนักวิจัยที่กำลังรุ่งของเขาตอนอายุ 40 (ตอนนั้นเขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรด้านออพโตอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 46 ใบ) แล้วหันมาศึกษาเรื่องการพับกระดาษอย่างจริงจัง งานอดิเรกของเขาถูกนำมาต่อยอดในศาสตร์ด้านอื่น ๆ มากมายเช่น เป็นที่ปรึกษาให้ NASA เพื่อออกแบบเลนส์กล้องส่องทางไกลที่มีขนาดมหึมาให้ “พับ” จนมีขนาดเล็กพอที่จะเก็บในจรวจก่อนขึ้นไปกางออกในอวกาศ เป็นต้น

หัวใจของความคิดสร้างสรรค์คือการคิดเชื่อมโยง

34. ไอเดียที่แปลกใหม่น่ะดี แต่ก็ไม่ดีเท่าไอเดียที่เหมาะกับคุณ “ไอเดีย” นั้นมีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าให้เวลาครึ่งชั่วโมงทุกคนสามารถเขียนไอเดียทำธุรกิจเจ๋ง ๆ ออกมาได้เต็มหน้ากระดาษ แต่ต้องยอมรับว่าไอเดียส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับเรา เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการหาไอเดียที่เชื่อมโยงกับตัวเราอย่างไร้รอยต่อ หากมีรอยต่อจะมีแนวโน้มสูงมากที่มันจะปริและแตกออกมาเมื่อเผชิญกับแรงเสียดทานหลังจากผ่านช่วงโลกสวยที่เรามองไม่เห็นข้อบกพร่องของไอเดียของเรา

ถึงแม้ไอเดียจะดี แต่หากไม่เหมาะกับเรา พอเจอแรงเสียดทานมาก ๆ เข้า มันก็พัง

35. จง “มอง” ให้ “เห็น” หนึ่งในบุคลิกที่พบได้ในเหล่านักธุรกิจคือความช่างสังเกต มีหลายคนเคยเห็นภาพ Mona Liza ที่วาดขึ้นในสตวรรษที่ 16 โดยจิตรกรเอกของโลกอย่าง Leonardo da Vinci ซึ่งเป็นงานศิลปะที่น่าจะมีคนรู้จักมากที่สุดในโลก แม้จะเคยเห็นภาพ Mona Liza บ่อยเพียงใด แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะสังเกตว่า Mona Liza ไม่มีคิ้ว

36. ขัดขืน Status Quo Warby Parker หนึ่งในบริษัทแฟชั่นที่เท่ที่สุดในโลก มีจุดกำเนิดมาจากชาย 4 คนที่รู้สึกโกรธมาก ๆ ที่ต้องจ่ายเงินแพง ๆ เพื่อซื้อแว่นตาแทนของเก่าที่พังหรือหายไป ทั้งที่แว่นตาไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่ทำไมตั้งราคาขายสูงกว่าต้นทุนหลายเท่าตัว พวกเขาไม่ยอมรับ Status Quo จึงพยายามหาคำตอบจนพบว่าตลาดแว่นถูกครอบงำด้วย Luxottica ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% เขาจึงนำโมเดลของ Zuppos มาใช้กับอุตสาหกรรมแว่นตา เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่น ๆ ฟัง พวกเขากลับได้รับแต่คำวิจารณ์และสบประมาท โดยแทบทุกคนบอกว่าไม่มีใครซื้อแว่นตาทางอินเตอร์เน็ตหรอก โชคดีที่พวกเขาทั้ง 4 ไม่เชื่อ ปัจจุบัน Warby Parker มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ

บทส่งท้าย

“ทำแบรนด์เล็กจะสู้แบรนด์ใหญ่ได้ยังไง” แนวคิดเกี่ยวกับ Homogenization หรือการหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันของแบรนด์ระดับโลกนั้นขัดกับความรู้สึกลึก ๆ ของมนุษย์ที่ต้องการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จึงต้องการสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองใน Social Media ซึ่งไม่ค่อยเห็น Heterogenization หรือความหลากหลายและการผสมผสานจากแบรนด์ระดับโลก ในยุคปัจจุบันการเริ่มต้นธุรกิจง่ายและมีกำแพงในการเริ่มต้น (Barrier to entry) ต่ำ เนื่องจากคนทั่วโลกถูกเชื่อมด้วย Social Media โอกาสในการขายจากตลาดออนไลน์มีมหาศาล หากนำเสนอถูกกลุ่มแบรนด์มีโอกาสเกิดอย่างแน่นอน อีกทั้งแบรนด์เล็กมีข้อได้เปรียบคือความเร็วและความคล่องตัวที่สูงกว่าแบรนด์ใหญ่

“ทำแบรนด์ไทยจะสู้แบรนด์นอกได้ยังไง” แบรนด์ไทยมีทางเลือก 4 ทางคือ

  1. พยายามทำตัวเหมือนแบรนด์ต่างชาติไปเลย
  2. ทำแบบพื้นบ้านและขายในราคาถูก
  3. เป็นโรงงานผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศ
  4. สู้โดยพยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมายืนเทียบเคียงแบรนด์นอก (คุณรวิศอยากชวนแบรนด์ไทยมาทำกัน)

อ้างอิง

  • รวิศ หาญอุตสาหะ. อย่าปล่อยให้ใครฆ่าวาฬของคุณ. กรุงเทพมหานคร : วีเลิร์น

--

--