7 ข้อที่จำเป็นต้องรู้ + 8 ขั้นตอนรับมือ จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

[สรุปครบจบในบทความเดียว] 7 ข้อที่จำเป็นต้องรู้กรณีนายจ้างขอลดเงินเดือน และ 8 ขั้นตอนรับมือเมื่อตกงานจากวิกฤตไวรัสโควิด-19

Rattana-anun Chanchai
Human Touch TH
3 min readMay 11, 2020

--

จากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลโดยตรงทำให้เศรษฐกิจซบเซาอย่างรุนแรง ซึ่งจริง ๆ แล้วเศรษฐกิจบ้านเราได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอเมริกา-จีน มาก่อนหน้าแล้ว ทำให้หลายบริษัทที่สู้ต่อไม่ไหวถึงขนาดต้องปิดตัวไปก็มีไม่น้อย หรือบางบริษัทมีนโยบายลดเงินเดือนพนักงานออกมาเพื่อความอยู่รอด

หลายท่านจึงสอบถามเข้ามาว่า “นายจ้างมีสิทธิลดเงินเดือนลูกจ้างหรือไม่?” จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่ามี…

7 ข้อที่จำเป็นต้องรู้ กรณีนายจ้างขอลดเงินเดือนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19

1.นายจ้างจะลดค่าจ้างของลูกจ้างไม่ได้ถ้าหากลูกจ้างไม่ยินยอม เพราะถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง แต่ถ้าลูกจ้างยินยอมโดยสมัครใจก็สามารถที่จะทำได้ โดยจะต้องมีใบสัญญาระบุชัดเจนที่ว่าลูกจ้างยินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงเท่าไหร่ กี่บาท กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วจะต้องให้ลูกจ้างเซ็นชื่อยินยอมเท่านั้น

2.หากลูกจ้างทำการเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนค่าจ้าง ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด [การขอลดเงินเดือนสามารถปรับลดได้เพียง 25% หรือเราต้องได้เงินเดือน 75% เป็นอย่างน้อยตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน]

3.ถ้าไม่ยอมเซ็นลดเงินเดือน แล้วบริษัทเลิกจ้าง

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 ดังนี้

  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน

ทั้งนี้ ในการเลิกจ้างบริษัทจะต้องบอกเลิกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปด้วย แต่ถ้านายจ้างให้ออกจากงานทันที นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงวันเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าว

นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และถูกเลิกจ้างเสียก่อนโดยไม่มีความผิด ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของการทำงานในปีที่ถูกเลิกจ้างด้วย

หมายเหตุ: ลาออก ≠ เลิกจ้าง ก่อนเซ็นเอกสารให้อ่านดี ๆ ก่อน เพราะกรณีของการลาออกจะไม่ได้รับเงินชดเชย

4.เมื่อเซ็นยินยอมลดเงินเดือน แล้วจะมีผลลดไปถึงเมื่อไหร่ มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ทางบริษัท ว่าจะกำหนดให้การลดเงินเดือนเพื่อให้บริษัทอยู่รอดมีผลไปถึงเมื่อไร กี่เดือนหรือกี่ปี อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายของฝ่ายบริหารแต่ละบริษัท

5.ถ้าเซ็นยินยอมลดเงินเดือนลงแล้ว ต่อมาทางบริษัทแจ้งเลิกจ้าง เราจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่ อัตราเท่าไร

กรณีนี้ตามกฎหมายแรงงานให้ใช้ “ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยตามมาตรา 118

6.จากข้อ 5 จึงจำเป็นต้องพิจารณาพฤติกรรมของฝ่ายบริหาร โดยดูจากอดีตที่ผ่านมาว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีแนวโน้มเลิกจ้างภายหลังจากเซ็นยินยอมลดเงินเดือนหรือไม่

ต้องดูแนวโน้มทางธุรกิจที่ทำว่าในอนาคตจะฟื้นตัวหรือไม่ นอกจากนี้อาจจะต้องวัดใจว่าบริษัทที่ทำงานนี้มีความจริงใจและมีเจตนาที่จะให้ช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอดจริงหรือไม่

ดังนั้น ก่อนจะเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเอง จำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องประเมินความจริงใจของฝ่ายบริหารและคิดให้ดี ๆ ว่าคุ้มค่ากับการเซ็นยินยอมลดเงินเดือนหรือไม่

7.กรณีถูกเลิกจ้างแต่รู้สึกว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม สามารถไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมหรือไม่ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้

การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องพูดจากันด้วยความจริงใจ โปร่งใส ตรงไปตรงมา ใช้หลัก “ใจเขา-ใจเรา” จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลกันให้วุ่นวายภายหลัง

คำถามที่พบบ่อย

1.หากบริษัทจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวเพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือเงินชดเชยหรือไม่?

ตอบ ตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้าง”

จากกฎหมายข้างต้น หมายความว่า หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาจนกระทั่งเป็นเหตุจำเป็นให้บริษัทต้องหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่หยุด และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เนื่องจากค่าชดเชยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเลิกจ้าง

2.หากบริษัทหรือสถานที่ทำงานของลูกจ้างถูกสั่งปิดชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือเงินชดเชยหรือไม่?

ตอบ ถ้าบริษัทมีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน (work from home) ลูกจ้างก็จะยังได้ค่าจ้างตามปกติ แต่สำหรับลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเป็นกรณีที่นายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย แต่ลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมได้

3. ประกันสังคมจะจ่ายค่าชดเชยเท่าไร? กรณีตกงานเพราะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

กรณีที่1 ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่ว่างงาน

  • หากถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)
  • หากสมัครใจลาออกจะได้รับเงินร้อยละ 45 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)

กรณีที่2 ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน, ลูกจ้างรายวัน, อาชีพอิสระ

  • ได้สิทธิ์รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

4.ผู้ที่ถูกลดเงินเดือน ทำให้ขาดรายได้นั้น จะได้สิทธิใดจากทางสำนักงานประกันสังคมหรือไม่?

ตอบ ไม่มี เนื่องจากลูกจ้างได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทน

5.กรณีนายจ้างให้หยุดงาน และจ่ายเงินค่าจ้างให้ 75 เปอร์เซ็นต์ ทางสำนักงานประกันสังคมจะเยียวยาอย่างไร?

ตอบ ไม่มี เนื่องจากนายจ้างยังจ่ายเงินให้อยู่ ถือว่ามีรายได้ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้าง เพื่อนำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างตามกฎหมาย

6.กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่มีการแจ้งออกจากงาน จะได้รับสิทธิใดบ้าง?

ตอบ ลูกจ้างยังคงทำงาน แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง ให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทุกจังหวัด แต่หากไม่มีการจ้างงาน แต่นายจ้างไม่แจ้งออกจากระบบประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ดำเนินการติดตาม ให้นายจ้างชี้แจงข้อเท็จจริงตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์

7.กรณีว่างงาน (เนื่องจากเหตุสุดวิสัย) จะได้รับสิทธิใดบ้าง?

  • กรณีรัฐสั่งให้กักตัวแล้วนายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้าง

ตอบ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน

  • กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด -19

ตอบ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน

  • กรณีหน่วยงานภาครัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบการชั่วคราว

ตอบ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน

วิธีการลงทะเบียนว่างงานออนไลน์กับสำนักงานประกันสังคม

1.กรณีว่างงาน (เนื่องจากเหตุสุดวิสัย)

2.กรณีว่างงาน (เนื่องจากกรณีถูกเลิกจ้าง/ลาออก)

  • ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน และรายงานตัวผ่านระบบในเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ก่อนเป็นลำดับแรก
  • เพียงใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชน พร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ
  • เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ประกันตนยื่นคำขอ “รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2–01/7) e-form” บนเว็บไซต์
  • รายงานตัวเดือนละครั้ง ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะกรอก E-forms ทางประกันสังคม ได้เพิ่มช่องทางสำหรับการส่งแบบในทุกกรณี โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ประกันสังคม

  1. ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ตอบรับ
  2. ส่งทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
  3. ส่งทาง e-mail ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่/จังหวัด/สาขากำหนด
  4. ส่งทางไลน์ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่/จังหวัด/สาขากำหนด

หมายเหตุ:

  • สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สายด่วน 1506
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สายด่วน 1506 กด 3

8 ขั้นตอนรับมือเมื่อตกงาน จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

1.ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้อย่ามัวตำหนิคนอื่น และ ปล่อยให้ชีวิตหลังตกงานเต็มไปด้วยความซึมเศร้า หรือเสียใจนาน มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป

2.ดูเรื่องค่าชดเชยที่จะได้รับตามกฎหมาย

3.ตรวจสอบสิทธิ์ประกันสังคม

4.จัดระเบียบรายรับ-รายจ่าย ทันทีที่ว่างงาน รายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิม แต่รายจ่ายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ รีบตรวจเช็คสถานะทางการเงินของตัวเองว่ามีหนี้สิน ทรัพย์สิน หรือภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง และมีเงินเก็บส่วนไหนที่สามารถนำมาใช้ได้บ้าง ช่วงเวลานี้ ควรจัดการการเงินให้มีสภาพคล่องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ค่าอาหารราคาแพง ค่าท่องเที่ยว ค่าช้อปปิ้ง จนกว่าจะมีรายได้ประจำที่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้

5.มองหางานใหม่ทันที แต่ไม่ควรเร่งรีบที่จะหางานใหม่จนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ได้งานที่เราไม่ได้อยากจะทำจริง ๆ ฝืนทำได้ไม่เท่าไรก็ต้องลาออกอีกในที่สุด

การหางานใหม่คราวนี้ควรใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบลองหยิบเรซูเม่สมัครงานอันเก่ามาปรับปรุงใหม่ให้ดูน่าสนใจและรอบด้านมากกว่าเดิม และปรับให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด

6.หาอะไรทำระหว่างรอเพื่อหารายได้มาแบ่งเบา ระหว่างรองานใหม่ เงินเก็บของคุณจะค่อย ๆ ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ถึงตรงนี้ต้องมาสำรวจตัวเองแล้วว่า มีทักษะพิเศษอะไรที่พอจะนำมาใช้หารายได้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย

7.ใช้เวลาพัฒนาตัวเอง ช่วงเวลาที่ตกงานคือ ช่วงเวลาทองในการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต

8.ใช้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือไม่มีเวลาแม้แต่จะออกกำลังกาย อยากให้คิดว่า ช่วงว่างงานนี้ คือช่วงพักร้อนของชีวิต จงใช้เวลาตอนนี้ให้คุ้มค่า อย่ามองว่าเวลาที่ว่างลงเพราะไม่ได้ทำงานจะเป็นเรื่องเลวร้าย คิดเสียว่าตัวเองได้พักผ่อนเพื่อดูแลตัวเองให้มากขึ้น นอกจากนี้อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่บ้านเฉย ๆ เด็ดขาด แต่ควรหาอะไรทำให้ตัวเองไม่ว่าง เพื่อจะได้ไม่คิดฟุ้งซ่าน

อ้างอิง

--

--