ทำไม Personal Health record ( PHR ) เป็นสิ่งที่โลกนี้ต้องการ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นซักที

Dr.Kanapon Phumratprapin
Human Of Health At Home
2 min readMay 23, 2016

Personal Health record คือข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยแต่แตกต่างจาก Electronic medical record ซึ่งคือแฟ้มผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์เป็นผู้บันทึก แต่ PHR นั้นผู้ที่เข้าถึงและจัดการข้อมูลได้คือตัวผู้ป่วย หรือ เจ้าของข้อมูลเอง ( เพราะ PHR อาจจะใช้สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีแต่อยากบันทึกข้อมูลสุขภาพตัวเอง )

PHR เป็นไอเดียที่อย่างน้อยซักครั้งหนึ่ง เราเอง (​หรือท่านผู้อ่าน ณ ตอนนี้ ) ก็ต้องเคยคิดว่ามันน่าจะมี เช่น เวลาไปเจ็บป่วยไปตรวจที่ รพ.หนึ่ง แต่ต้องโดนเจาะเลือดใหม่ หรือ ถูกซักประวัติกรอกข้อมูลใหม่ ทั้งๆที่เคยตรวจสุขภาพอีกที่ รพ.หนึ่งแต่ข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน หรือ บางครั้งผู้ป่วยเองที่สนใจสุขภาพ ก็จดข้อมูลความดัน น้ำตาล ใส่กระดาษมาให้แพทย์ดู แต่แพทย์ก็ใช้ได้แค่ดูเทรน แต่ไม่สามารถนำข้อมูลเข้าไปเชื่อมต่อกับ ระบบโรงพยาบาลเพื่อวิเคราะห์กับข้อมูลอื่นๆได้

เพราะข้อมูลที่สำคัญที่สุดในโลก ก็คือข้อมูลของตัวเราใช่ไหมครับ ยิ่งยุคนี้ที่เราพยายามจะ Digitized ทุกอย่าง อุปกรณ์มากมายที่ออกมาดึงข้อมูลร่างกายเราออกมา ก็มากขึ้นทุกทีแต่ทำไม PHR ก็ยังไม่มีเจ้าไหนทำให้แจ้งเกิดได้เสียที

วันก่อนผมได้ขอปรึกษา อ.นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน Health informatic และทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในประเทศไทยอยู่ อาจารย์ได้ให้ White paper ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่อง PHR มาให้ศึกษา แม้เขียนตั้งแต่ปี 2006 แล้วแต่ผมคิดว่ามีแนวคิดหลายอย่างที่น่าสนใจครับ เลยลองเขียนสรุปมาให้ทุกท่านอ่านกันครับ

รูปแบบของ Personal Health record

มีอยู่สามแบบด้วยกัน

รูปจาก Journal of the American Medical Informatics Association Volume 13 Number 2 Mar / Apr 2006
  1. Stand alone : PHR ที่คนไข้บันทึกเองและดูเองไม่เชื่อมกับใคร ข้อดีคือ คนไข้มีอำนาจในการจัดการข้อมูลตนเองได้เต็มที่
  2. Tethered : PHR ที่เป็นส่วนต่อขยายของ EHR ของโรงพยาบาล เช่น EPIC ( ระบบ EHR เจ้าใหญ่ของ US ) ที่จะมีโปรแกรมที่ชื่อ My Chart ให้คนไข้สามารถเข้าไปดูข้อมูลของตนเองได้บางส่วน ข้อดีคือ ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากโรงพยาบาล แต่ข้อเสียคือ คนไข้มีอำนาจในการควบคุมที่น้อยลง
  3. Interconnected : พูดง่ายคือตรงกลางนั่นเอง มันคือ PHR ในฝันที่โลกนี้ต้องการ คนไข้สามารถลงข้อมูลของตนเองได้ สามารถดึงข้อมูลจากโรงพยาบาลที่รักษามาไว้ได้ และสามารถนำข้อมูลไปเชื่อมต่อกับใครก็ได้ แน่นอนการทำระบบนี้ย่อมมีความซับซ้อนที่สูงมาก

งานวิจัยได้บอกไว้ชัดว่า PHR แบบ Stand alone นั้นใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก ต้องเชื่อมกับ EMR ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งถึงจะประโยชน์สูงสุด ( แบบ 2,3 )

ประโยชน์ของ Personal Health record

ทีนี้มาดูว่า PHR น่าจะมีประโยชน์ในแต่ละกลุ่มอย่างไร

คนไข้ ( ผู้รับบริการ )

  • มีส่วนร่วมในการรักษามากขึ้น งานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า คนไข้ที่บันทึกข้อมูลของตัวเอง จะทำให้ทานยาได้ต่อเนื่องมากขึ้น
  • สามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลอื่นๆจากหลายแหล่ง เช่น อาจจะได้ Data จาก wearable, ข้อมูล lab จากโรงพยาบาล, อาการปวดเล็กน้อยจากการตรวจที่คลินิกใกล้บ้าน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประมวลผลได้

แพทย์ (ผู้ให้บริการ)

  • ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้น ยิ่งช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น
  • ลดปัญหาการสื่อสารระหว่างคนไข้ และแพทย์ โดยใช้ PHR เป็นสื่อกลาง ( แทนที่จะบอกว่าอาการช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ก็ดู Pattern ของข้อมูลที่มีได้เลย )

บริษัทประกัน/ รัฐบาล ( ผู้ถือเงิน )​

  • ลดค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้โรคเรื้อรัง
  • ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นโรคระบาด น้ำท่วม ข้อมูลพวกนี้ก็ช่วยในการจัดการสถานการณ์ได้

ถ้าประโยชน์มีมากมายขนาดนี้แล้ว แต่ PHR ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้จริงจัง มันก็ต้องมีปัญหาแน่นอน ทีนี้มาดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และ แนวทางแก้ไขน่าจะเป็นอะไร

ปัญหาที่ทำให้ Personal Health record ไม่แจ้งเกิด และ แนวทางแก้ไขที่อาจจะเป็น

คนไข้ ( ผู้รับบริการ )

ปัญหา

  • เอาจริงๆแล้วปัญหาหลักคือ คนไข้ไม่ได้เห็นความสำคัญในการลงข้อมูล หรือ ใส่ใจสุขภาพของตัวเองเท่าที่ควร ( ว่ากันว่าคนส่วนใหญ่รู้เรื่องสภาพรถของตัวเองดีกว่า ร่างกายของตัวเอง) และสิ่งที่ยากที่สุดในการใช้เทคโนโลยีคือการเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ยังไม่มีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างแท้จริง พูดง่ายๆคือ PHR ส่วนใหญ่ที่ทำออกมาแล้วยังใช้ยาก ไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้

แนวทางแก้ไข

  • งานวิจัยเป็นส่วนที่สำคัญ ที่ต้องหา Success case ให้เจอว่าประโยชน์ของ PHR นั้นคืออะไร เพราะถ้าชี้ให้ user ให้ชัดว่าการลงข้อมูลสร้างประโยชน์ได้จริง ก็จะมีแรงขับให้คนใช้ PHR มากขึ้น
  • การสอน ถ้ามีข้อมูลแล้วก็ต้องสอนให้ user รู้จักการลงข้อมูลต่างๆ ในงานวิจัยบอกไว้ว่า คนเราจะมีช่วงเวลาที่ “Teachable” อยู่เช่น ช่วงที่พึ่งรู้ว่าตัวเองป่วย เราต้องฉวยเวลานั้นไว้ หรือ ควรปลูกฝังเรื่องการสนใจข้อมูลสุขภาพของตนเองตั้งแต่ในโรงเรียน ( เพราะจริงๆ ทุกวันนี้เราก็ใส่ข้อมูลมากมายเข้าไปใน internet เพียงแต่ไม่ใช่ข้อมูลสุขภาพเรานั่นเอง )
  • การออกแบบ Flow ในการใช้ โดยใช้มุมมองของ”ผู้ใช้เป็นหลัก” อันนี้คงต้องใช้หลัก Human center design

แพทย์ ( ผู้ให้บริการ )

ปัญหา

  • ความมั่นใจในข้อมูล : อันนี้น่าสนใจว่า แพทย์มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อข้อมูลที่คนไข้ลงมาเอง ดังนั้นมันก็ทำให้ข้อมูลไม่ได้มีผลในการตัดสินใจการรักษา แล้วก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี
  • จำนวนข้อมูลที่มากเกินไป : บางครั้งข้อมูลที่ได้มาก็มากเกิน มีการกินอาหาร อารมณ์ กิจวัตรประจำวัน ข้อมูลที่มากเกินไปก็ทำให้แพทย์ไม่รู้จะนำมาใช้อย่างไร ไม่รู้ว่าอันไหนสำคัญบ้าง

แนวทางแก้ไข

  • แพทย์ต้องเชื่อใจข้อมูลคนไข้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์เองก็อยากให้คนไข้จดข้อมูลบันทีกต่างๆมาให้แพทย์ดูเวลามาตรวจ เพื่อช่วยในการปรับยามากขึ้น
  • การเก็บข้อมูลอาจต้องลดการลงด้วยตัวคนไข้ แต่ให้เชื่อมต่อจากเครื่องวัดแบบอัตโนมัติเอง ลด human error
  • Data visualization : ตัว PHR ก็ต้องมีความสามารถในการสกัด ข้อมูลที่จำเป็นในการรักษา ออกมาให้แพทย์ดูและเข้าใจได้ง่าย

บริษัทประกัน / รัฐบาล

ปัญหา

  • ยังไม่เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะสุดท้ายแล้วการ implement techonology ต่างๆก็ต้องมีต้นทุน

แนวทางแก้ไข

  • อาจต้องกลับไปที่ภาคงานวิจัย ที่ต้องชี้ให้เห็นถึงความคุ้มทุน เพราะมันจะเป็นแนวว่าประหยัดไปได้เท่าไหร่ ซึ่งอาจจะไม่ได้ชัดเจนเหมือนกับการลงทุนแล้วเห็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น

บรรยากาศและความคาดหวังของสังคม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นหลายบริษัทพยายามจะเข้ามาทำเรื่อง PHR แต่ก็ยังล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะการล้มของ Google Health ที่ปิดตัวลงเมื่อหลายปีก่อน ทำให้นักลงทุน และ หลายๆคน คาดหวังเกี่ยวกับ PHR น้อยลง ( undervalue )

“เพราะเราคิดว่ายักษ์ใหญ่ก็ยังทำไม่สำเร็จ แล้วเราจะไปทำสำเร็จได้อย่างไร “

ดังนั้นผมคิดว่าที่จะผลักดันเรื่องนี้ต้องเอาบทเรียนและปัญหาก่อนๆ มาปรับใช้แล้วมีแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าเดิมมากๆ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร แต่มันอาจต้องทำหลายๆอย่าง เช่น Human Center design, การ partner กับโรงพยาบาล , การ educate ผู้ป่วย , การผลักดันนโยบายจากภาครัฐ, การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

อ่านดูเหมือนจะยากอยู่ไม่เบาที่ทุกอย่างจะเกิดพร้อมกันได้ สุดท้ายแล้วคงต้องภาวนาขอให้พระเจ้าอวยพร เหมือนใน Ted talk ของ Bill Gross ที่บอกว่าสิ่งที่ทำให้ Startup สำเร็จคือ “เวลาที่ถูกต้อง” เท่านั้นเอง

ทั้งนี้เรายังคงต้องไม่หมดหวัง เพราะที่ไหนมีความหวัง ที่นั่นก็มีความหมาย

จบแบบไปคนละทางเลย

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ (ตั้ม )

ผู้ร่วมก่อตั้ง Health at home + Health at Work

--

--