เมื่อพ่อฉันเป็นอัลไซเมอร์ จะทำอย่างไร?

Netsakao Arthan
Human Of Health At Home
2 min readDec 9, 2016

ไม่รู้ช่วงนี้หลายท่านได้สังเกตกันหรือไม่ว่า ทำไมภาพยนตร์ไทยช่วงสิ้นปีนี้ ถึงเจอแต่หนังที่มีผู้สูงอายุเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่องทั้งสิ้น อาจเป็นผลมาจากความแรงของกระแสผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเรื่องใกล้ตัวเราเข้าไปทุกที ทำให้หนังติดกระแส และเรียกคนดูได้อย่างไม่ยากเย็น

โดยส่วนตัวได้มีโอกาสดูเรื่อง “พรจากฟ้า” และ “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น “ หนังไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่เข้าฉายช่วงสิ้นปี และทำรายได้ถล่มทลาย ณ ขณะนี้ ถือได้ว่าหากใครดูแล้วไม่มีน้ำตาสักหยดให้มาเหยียบหน้าได้เลย

เรื่องราวที่จะยกมาพูดถึงในวันนี้คือภาพยนตร์เรื่อง “พรจากฟ้า” จากค่ายดัง GDH ซึ่งตอนที่นางเอกคนสวย มิว นิษฐา ได้รับบทเล่นเป็น “ฟา” ลูกสาวที่ต้องเลี้ยงดูพ่อ ซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะที่ 3 ตามลำพัง (สังเกตจากการใส่เสื้อผ้าในตู้เย็น มีอาการก้าวร้าวบ้างแต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงมากและยังจำชื่อตัวเองได้อยู่)

ฟาและคุณพ่อ ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอรื

เหตุการณ์เริ่มมาจากครอบครัวนี้ มีลูก 3 คน แม่ลาออกจากงานมาดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ช่วงที่วิกฤตที่สุดคือ คุณแม่เสียชีวิตกะทันหัน คำถามที่หลายคนน่าจะเคยพบเจอคือ “แล้วใครจะดูแลพ่อล่ะ” ลูกชาย 2 คนเสนอ จ้างผู้ดูแล (caregiver)และจะค้นหาในอินเตอร์เน็ต

แต่ “ฟา” ลูกสาวเพียงคนเดียว เสนอตัวเองดูแลพ่อและยอมลาออกจากงาน ทิ้งชีวิตทั้งหมดทุ่มเทให้กับการดูแลพ่อเพียงคนเดียว ลูกชายสองคนเป็นคนออกค่าใช้จ่าย ดูแล้วก็เหมือนจะลงตัวดูดีไปหมด

แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้สวยงามตามที่คาดหวัง ฟา ทุกข์ทรมาณมากจากการถูกทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง โดยพ่อของตัวเอง ที่ไม่สามารถจำอะไรได้เลย เธอกลับกลายเป็นคนนอกในสายตาพ่อ คำดูแคลน สิ่งที่เธอพยายามทำเพื่อพ่อของตัวเอง กลับกลายเป็นมีดที่ค่อย ๆ กรีดลงไปบนใจของเธออย่างปวดร้าว

จนกระทั่งวันนึง เธอพบว่าเสียงเปียโนมีความหมายกับพ่ออย่างลึกซึ้ง เธอจึงพยายามหัดเล่นและพบรักกับช่างจูนเปียโน และเขาได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาความทุกข์ของเธอ ความปวดร้าวต่าง ๆ ในใจจึงค่อย ๆ คลายลง

ขอถามว่าแล้วถ้าฟา ไม่โชคดีพบ ‘กุญแจ’ ในการแก้ไขปัญหาของพ่อ และพบรักกับช่างจูนเปียโนล่ะ ชีวิตของฟาตอนนี้จะเป็นอย่างไร ?

จากประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมาสักระยะ ขอตอบแบบไม่กั๊กว่าชีวิตฟาตอนนี้คงจะขึ้นคานและเป็นผู้หญิงแกร่งสุด ๆ คนนึง โดนฟ้าผ่านางอาจไม่ตาย (เว่อร์ไปนิส) และอาจมีอาการซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย (อยากแนะนำให้ดูหนังเรื่อง Hello my name is Doris สักครั้ง)

เราจะมาแนะนำการดูแลคนไข้อัลไซเมอร์
ในความเป็นจริงแล้วการที่พ่อแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาเพียงแค่ทางเดียว หรือจะดูแลเอง ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมาณเหมือนกับฟา (นางเอกของเรื่องนี้)

ข้อแรก คุณต้องยอมรับก่อนว่าโรคนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย

มันเหนื่อยกาย 10% ก็จริง แต่อีก 90% คือเหนื่อยใจแบบสุด ๆ ใครไม่เจอกับตัวคงไม่เข้าใจ แม้แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพทำงานมา 20–30 ปียังปฎิเสธที่จะดูแล และเป็นเคสที่หาคนดูแลยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ข้อสอง โรคนี้เป็นโรคที่ห้ามใช้ผู้ดูแลคนเดียวดูแล 24 ชม.

หากคุณดูแลเองควรหาพี่น้องมาสลับกัน หรือคุณมีงบสักหน่อยอาจจะจ้างแม่บ้านมาดูแล 2 คนสลับกัน แต่โอกาสเสี่ยงของการใช้แม่บ้านคือ ประสบการณ์การดูแลมีน้อย อาจจะพลาดลืมทานยา ทำคนไข้ล้ม หรือไม่มีทักษะในการโน้มน้าวใจคนไข้ให้หยุดทำสิ่งที่ไม่ดี ทุบตีคนไข้
ถ้าคุณมีงบมากหน่อยแนะนำให้จ้างผู้ดูแลมืออาชีพสัก 2 คนสลับเวรกัน หรือดูแลแค่ช่วงกลางวัน ถ้าที่บ้านสามารถดูแลเองช่วงกลางคืนได้ จะได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เน้นห้ามล้ม ทานยาให้ครบและตรงเวลา หากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและความทรงจำของท่าน

ข้อสาม หาศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่เหมาะกับท่าน
หากสิ่งแวดล้อมในบ้าน และไม่มีคนที่พร้อมจะดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แนะนำให้หาศูนย์ดูแลเฉพาะทาง ที่เข้าใจโรคนี้ หรือมีแนวทางดูแลที่ชัดเจน ให้เกียรติคนไข้

คนไข้ประเภทนี้ต้องการคนเอาใจใส่ และดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ หากปล่อยให้อยู่บ้านเพียงลำพัง หรือคนดูแลไม่ใส่ใจ อาจเกิดเรื่องไม่คาดคิดได้

สุดท้ายนี้
หากคุณยังมีความคิดที่ว่า พ่อแม่ยังเลี้ยงเราได้เลย ทำไมเราจะเลี้ยงท่านไม่ได้
ขอให้ล้มเลิกความคิดนี้เสีย หากคุณดูแลท่านจนกระทั่งสุขภาพของคุณแย่ลงเรื่อย ๆ จากที่ดูแลพ่ออยู่ อาจจะต้องหาคนมาดูแลตัวเองต่ออีกทีนึง

ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป การที่เราจ้างผู้ดูแลไม่ได้เป็นการอกตัญญูต่อบิดามารดา ตัวคุณเองก็ยังดูแลท่านได้ เช่นเลิกงานกลับมาทานข้าว พูดคุยกับท่านหรือดูแลเองในวันหยุด สร้างความสุขให้กับท่าน ที่คุณคนเดียวเท่านั้นสามารถทำได้ และที่สำคัญ อย่าลืม หาผู้ดูแลที่ดีให้กับท่าน

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • คุณเนตรสกาว อาจหาญ (นิ้ง)
  • Community Manager ของ Health at Home บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

--

--