EPIC จากโปรแกรมจัดตารางเวรแพทย์ รายได้ 150 บาท สู่ระบบ EMR รายได้ 1 แสนล้าน บาท

Dr.Kanapon Phumratprapin
Human Of Health At Home
4 min readApr 25, 2022

เมื่อข้อมูลสุขภาพถูกเก็บในระบบกระดาษ (Analog)

มุขตลกที่คุณหมอเราถูกแซวอยู่บ่อยๆ คือลายมือแพทย์ที่อ่านไม่ออก ประหนึ่งเป็นรหัสลับ (สารภาพตามความจริง ผมก็เป็นหนึ่งที่ลายมือเป็นเช่นนั้น ที่แย่กว่า คือบางครั้งผมก็อ่านลายมือตัวเองไม่ออกด้วย 😂)

https://socialnews.teenee.com/penkhao/16729.html

ที่เราได้ยินเรื่องแบบนี้ เพราะสำหรับเมืองไทยแล้ว ข้อมูลทางการแพทย์ของเราส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบ Analog หรือ กระดาษนั่นเอง (Paper-Based) แต่แน่นอนว่า…ไม่มีอะไรสามารถต้านทานเทคโนโลยีได้

เพราะการแปลงข้อมูลจาก Analog เป็น Digital นั้นมีประโยชน์อย่างมหาศาล และถูกพิสูจน์มาแล้วทุกอุตสาหกรรม (แม้จะทำให้เรารู้สึกเบื่อคำว่า Digital Transformation อยู่บ้างไม่น้อย)

สำหรับประเทศไทย ในฐานะแพทย์ ในทุกโรงพยาบาลที่ผมเคยอยู่นั้น ได้เริ่มค่อยๆเปลี่ยนสู่ระบบDigital ตอนแรกเริ่มจากการออกใบสั่งยา จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มบันทึกทุกอย่างลงในรูปแบบ Digital ทั้งหมด ซึ่งหากใครทำงานในโรงพยาบาล ผมมั่นใจว่า หัวข้อการทำ EMR (Electronic Medical Record) , HIS (Health Information System) น่าจะอยู่ในนโยบายของทุกที่อย่างแน่นอน

ทีนี้เราไปดูตลาดอย่าง US ซึ่งถือว่าได้มีการปรับมาใช้ EMR (Electronic Medical Record) เต็มรูปแบบมาซักระยะใหญ่ๆ ตอนที่ผมไปเทรนนิ่งที่อเมริกานั้น รพ ที่ผมอยู่ก็เป็น Paperless 99% แล้ว (เผื่อไว้ 1%) และตอนนั้นระบบ EMR ที่เขาใช้ก็คือ EPIC นี่แหละครับ

แล้ว EPIC มีอะไรน่าสนใจ ผมถึงมาหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง

1.ยืนหนึ่งในตลาด

https://www.healthcareittoday.com/2014/05/27/ehr-product-market-shares-rankings-the-envelope-please/

ปัจจุบันนี้ EPIC หรือ EPIC system operation เป็นบริษัท EMR ที่ใหญ่ที่สุดใน US มี 2,400 รพ.ที่ใช้ระบบนี้ จำนวนคนไข้ที่อยู่ในระบบคือ 250 ล้านคน หรือประมาณ 2/3 ของประชากรสหรัฐนั่นเอง มีพนักงานทั้งสิ้นราวๆ 10,000 คน

โดยข้อมูลปี 2018 นั้นได้รายงานรายได้ 2.9 Billion USD เลยทีเดียว(เนื่องจากเป็น Private company ไม่ได้เข้าตลาด จึงไม่มีข้อมูลล่าสุด)

2.เติบโตแบบ Organic เริ่มจากโปรแกรมจัดเวรแพทย์

ทีเด็ดอีกอันคือ บริษัทนี้เน้นการเติบโตแบบ organic คือไม่มีการระดมทุนรอบใหญ่ๆเลย ทำให้ผู้ก่อตั้ง คุณ Judith Faulkner เป็นผู้ถือหุ้นหลักถึง 47% และ ทำให้เธอกลายเป็น 2nd Richest Self-made billionair ที่มีทรัพย์สิน 6 Billion USD

คุณ Judith Faulkner ถ่ายรูปแรกของ Office EPIC ซึ่งเป็นห้องใต้ถุนตึก University Avenue (ปี 1982)

เราไปดูจุดเริ่มต้นกันดีกว่า

ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1970 คุณ Faulkner นั้นจบปริญญาตรี คณิตศาสตร์ แล้วก็ไปทำงานด้านฟิสิกส์อนุภาค ก่อนปี 1965 มาเรียนโท ด้าน Computer science โดยอาจารย์ที่สอน Warner Slack เป็นจิตแพทย์ และสอนคอมพิวเตอร์สำหรับการแพทย์ (Clinical Informatic) ซึ่งถือว่าบุกเบิกมากๆ โดยอาจารย์ Slack ได้แนะนำให้รู้จักกับคุณหมอ John Greist ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านอยู่ โดยคุณหมอ Greist ได้มาปรึกษาว่า อยากทำระบบจัดตาราวเวรแพทย์หน่อย (ผมเคยรับตำแหน่งนี้ สมัยเป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ยอมรับว่าปวดหัวมากเลยทีเดียว😅)

Faulkner ได้พัฒนาระบบขึ้นมา ตอนนั้นยังเป็นระบบ Punched cards สามารถใช้จัดตาราวเวรแพทย์เวร ทั้งปีได้ ในระยะเวลาเพียง 18 วินาที ด้วยต้นทุน 5 USD เท่านั้น (~150 บาท)

จากนั้นก็ได้ช่วยพัฒนาโปรเจคต์ ระบบจัดการข้อมูลคนไข้เพื่อติดตาม ของโรงพยาบาล Wisconsin จนเพื่อนหมอหลายคนก็เชียร์ให้เธอตั้งบริษัท

สุดท้ายเธอก็เลยตั้งบริษัท Human Services Computing ขึ้นมา (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น EPIC) มีทีมงานประมาณ 6–7 คน โดยใช้เงินตั้งต้น 70,000 USD (เทียบเงินเฟ้อ ปัจจุบันจะประมาณ 270,000 USD)

โดยปี 1983 Co-founder ของเธอ คุณหมอ Greist ได้ออกจากการบริษัท เนื่องจากแนวคิดเรื่องการระดมทุนไม่ตรงกัน คุณหมอ Greist อยากให้บริษัทรับเงินลงทุนจาก VC จะได้เติบโตรวดเร็วชนะคู่แข่ง แต่ Faulkner ไม่เห็นด้วย เธอบอกว่ามันจะเสียการควบคุม

สุดท้ายคุณหมอ Greist ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สุดท้าย “ผมผิด และเธอถูก”

EPIC ค่อยๆเติบโตแบบ Orgainic เริ่มจากทำระบบออกใบเสร็จให้โรงพยาบาล และคลินิก จากนั้นค่อยๆ ขยับมาทำ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล OPD (Out Patient Department) ผู้ป่วยนอก (เรียกได้ว่า ทำสิ่งรอบๆ ก่อนเข้ามายุ่งกับข้อมูลสุขภาพ)

จุดเปลี่ยนใหญ่คือปี 2004 เมื่อเครือ Kaiser Permanente ได้ลงทุนจะทำระบบ EMR ขนาด 4 Billion USD โดย EPIC จะได้รับส่วนแบ่งถึง 400 Million USD

และไม่นานนี้ เครือ AdventHealth ของ Florida ก็ได้เซ็นสัญญา 650 Million USD เพื่อจะย้ายคนไข้ทั้งหมด 5.5 ล้านคน มาอยู่ในระบบของ EPIC จากเดิมมีใช้ของ Cerner และ Athenahealth ปนๆกัน (ทั้งสองเป็นคู่แข่งของ EPIC ประมาณ AIS, Dtac, True)

เรื่องราวนี้ทำให้เราเห็นว่า ก่อนจะเกิดระบบการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ ที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ก็เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆเท่านั้นเอง ค่อยขยับพัฒนาทีละนิดๆ อาจเป็นเรื่องราวที่สอนเราว่า ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ตั้งแต่วันแรกก็ได้ Think Big Act Small

จุดแข็งของ EPIC คืออะไร

ทีนี้เหตุที่ EPIC ยืนหนึ่งได้นั้น มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน

1.การเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มเข้าโรงพยาบาล จนกลับบ้าน (ครบวงจร)

2.การทำงานที่มากกว่าข้อมูลทางการแพทย์ คือดูแลเรื่องหลังบ้าน การนำข้อมูลมาทำ CRM (Customer Relationship Management) การทำ Analytic ทำให้ผู้บริหารชอบมาก

(อันนี้ประสบการณ์ตรง ตอนผมอยู่ที่อเมริกา ก็ถามเพื่อนหมอที่นั่นว่าระบบนี้ มันดียังไง ทำไมทุก รพ ใช้กัน เพื่อนผมบอกว่า มันไม่ได้ใช้ดีนะ แต่ผู้บริหารชอบมาก ซึ่งคนจ่ายเงินคือผู้บริหาร ไม่ใช่หมอ ดังนั้นทุก รพ เลยใช้กัน 🤣)

3.High Switching Cost บริษัท EPIC รายลงานว่า โรงพยาบาลที่ใช้ EPIC มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่า ค่าเฉลี่ยคู่แต่งงานในอเมริกา แต่ผมคิดว่าเข้าใจได้นะครับ เพราะระบบ EMR ของโรงพยาบาลเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก มี Stakeholder หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงมีเสียงด่า มากกว่าเสียงชมแน่นอน ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ไม่อยากแตะเรื่องเนี้ ถ้าไม่ได้มีปัญหาจริงๆ ในบทความยังมีเขียนถึงอีกด้วยว่า หากเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ EPIC บริหารจัดการผู้ป่วยใน ไม่มีโรงพยาบาลไหนเปลี่ยนระบบเลย (Retention rate 100% ) !!

5.Branding power ผมคิดว่าฝ่าย IT โรงพยาบาล ถ้าไม่อยากมีปัญหาก็เลือกของที่ได้รับการยอมรับ ชัวร์ โอกาสโดนด่าคงจะน้อยกว่า คล้ายๆกับ IBM ในยุคก่อน ดังนั้นการมี Brand แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่มีพลังในการต่อรองที่สูงนะครับ โดยเฉพาะลูกค้า B2B ที่เขายอมจ่ายแพงเพื่อได้ของที่ชัวร์กว่า

Quote สุดฮิต ในการจัดซื้อระบบ IT สมัยก่อนนู้น

6.Founder-led mindset ถ้าดูเรื่องราวจะเห็นว่า Faulkner มี Passion ในบริษัทที่ทำจริงๆ ทำให้มี Align in long-term interest ได้อย่างแท้จริง ซึ่งการที่ทำอย่างนี้ได้ เพราะเธอมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่เยอะ การที่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน ก็ช่วยลดแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งต้องบอกว่าเราไม่ได้เห็นกันบ่อยนะครับ อีกบริษัทที่ไซส์ใหญ่แล้วเป็น Private ก็คือ Bloomberg (ถือหุ้นโดย Michale Bloombert 88%)

คู่แข่งไปไหน?

ทำไม EPIC ถึงยืนหนึ่งได้ ไม่ใช่ไม่มีคู่แข่ง เพราะตลาดนี้ ใครวิเคราะห์ก็รู้ว่ามีโอกาสมหาศาล แต่ถ้าไปดูข้อมูลจะเห็นว่า Tech Giant ต่างๆ พยายามจะเข้ามาลุยในตลาดนี้ แต่ยังไม่มีใครบุกสำเร็จ

Google Health (2006–2012)

Micosoft HealthValult (2007–2019)

และ Amazon + Berkshire Hathaway+ JP morgan ก็ได้เปิด Haven (2018–2021) แล้วก็ปิดตัวไปเช่นกัน

แน่นอน Tech Giant เหล่านี้แม้จะแพ้ไปในยกแรก แต่ไม่มีใครจะยอมแพ้ในตลาดนี้จริงๆอย่างแน่นอน เพราะ การจัดการข้อมูลที่มูลค่าสูงที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือข้อมูลสุขภาพนั่นเอง ดังนั้นในรอบ 10 ปีข้างหน้านี้ เราจะเห็นการเข้ามาของเหล่า Tech Giant ในสมรภูมินี้อย่างแน่นอน

เดี๋ยวในโอกาสหน้าจะขอมาเล่าถึง Tech Giant in Healthcare แบบเต็มๆครับ

นอกจากยักษ์ใหญ่ Startup ก็ดาหน้าเข้ามา

เนื่องจาก EPIC มี Feature ที่หลากหลาย ทำให้ Startup รายเล็กตั้งใจ แย่งส่วนแบ่งใน Feature เหล่านั้น

หากดูในการระดมทุน Digital Health มี Funding มหาศาลในปีที่ผ่านมา แต่ Fauklner บอกว่า นี่ไม่ใช่ Silicon Valley คุณไม่สามารถมาทดลอง Fail Fast หรือ Disrupt อะไรไปเรื่อย เพราะข้อมูลทางการแพทย์ “ ใช้คำว่าผิดพลาด ไม่เป็นไร ไม่ได้” ทีนี้เราก็ต้องมาดูกันต่อว่าเจ้าตลาดอย่าง EPIC จะต่อต้านการโจมตีทุกทิศทางได้อย่างไร

ฟังข่าวไม่ดีกันบ้าง

EPIC ถูกโจมตีเรื่องการไม่ยอมเชื่อมระบบกับโปรแกรมอื่นๆนอกระบบ EPIC โดยอ้างเรื่องความลับของคนไข้ ซึ่งอันนี้โดน รัฐบาลกลางก็กดดันให้ EPIC ต้องเชื่อมข้อมูลกับแอปสุขภาพอื่นๆ ก็ต้องมาดูว่า EPIC จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะหากปล่อยให้ข้อมูลไหลเข้าสู่ระบบอื่นได้ง่าย ก็ทำให้เสียอำนาจการต่อรองไม่น้อยทีเดียว

เกล็ดอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตัว Judith Faulkner เป็นแฟนตัวยงของ Harry Potter และ J.K Rolling ทำให้ HQ ของ EPIC นั้นไม่ต่างจาก Hogwarts School เลยทีเดียว ลองดูคลิปกันครับ ผมว่าเขาก็ไปสุดดี

อนาคต

แน่นอนว่า EPIC คือผู้ยืนหนึ่ง ในเรื่อง Digital Health

ผมเชื่อว่า EPIC จะถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด แต่ไม่ใช่การแข่งด้าน EMR แบบตรงๆ ผมคิดว่า มันจะเหมือนกับที่ Microsoft ป้องกัน Desktop เป็นของตัวเองได้ แต่อยู่ๆ คนก็ไปใช้ Smartphone แล้วเสียท่าให้กับ Android และ iOS ประมาณนั้น

อีกทั้งคุณ Faulkner ก็อายุจะ 80 แล้วยังไงก็ต้องวางมือ ดังนั้นสิ่งที่เคยเป็นจุดแข็ง ก็จะกลายเป็นจุดอ่อน หากไม่สามารถหาผู้สืบทอดได้ เพราะลูกทั้งสามไม่มีใครรับช่วงต่อ

เนื่องจาก Healthcare เป็นหมุดหมายสำหรับทุกบริษัทที่มองหา S-curve ใหม่ เราคงได้เห็นการแข่งขันที่น่าสนุกอีกเรื่อยๆ แน่นอน

สำหรับประเทศไทย ผมได้เห็นว่ามีหลายบริษัทตั้งใจเข้ามาพัฒนาระบบ EMR,EHR,HIS,PHR ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการจัดการข้อมูลที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์กับคนไข้ และทุกๆคนอย่างแน่นอน (ภาษีเราก็หมดไปกับเรื่องการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพนะครับ) จึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคน (รวมถึงตัวเองด้วย ฮา)

ใครสนใจเรื่องแนวนี้ก็มาติดตาม และมาพูดคุยกันครับ

หมอตั้ม นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

CEO and Founder Health at Home

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Epic_Systems

https://en.wikipedia.org/wiki/Judith_Faulkner

https://www.forbes.com/sites/katiejennings/2021/04/08/billionaire-judy-faulkner-epic-systems/?sh=28a9987e575a

https://en.wikipedia.org/wiki/Google_Health

https://en.wikipedia.org/wiki/Microsoft_HealthVault

https://en.wikipedia.org/wiki/Cerner

https://en.wikipedia.org/wiki/Haven_Healthcare

https://www.cbinsights.com/research/electronic-health-record-companies-unbundling/

https://ehr.meditech.com/

https://www.cerner.com/

https://www.epic.com/about

--

--