ว่าด้วยการเป็นนักออกแบบ UX ที่ดี

คำแนะนำ, คุณสมบัติ และวิถี แด่มือใหม่ที่ต้องการหรือกำลังจะก้าวสู่การเป็นนักออกแบบ UX จากประสบการณ์ตรงหลายปีของนักออกแบบผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

Pond Narongrit
Human Of Health At Home
3 min readJun 24, 2024

--

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่กำลังสังสรรค์อยู่กับกลุ่มเพื่อนร่วมงานใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆบ้าง และผม ในฐานะสมาชิกใหม่ที่ยังไม่ค่อยรู้ background ของแต่ละคน บทสนทนาเกี่ยวกับที่มาที่ไปก่อนที่จะมาทำงานที่นี่จึงเป็นหัวข้ออันดับต้นๆในหัว กระทั่งพี่นุ่น Noon Nuntana หนึ่งใน Product Design ของเรา เล่าถึงความเป็นมาของตัวเองก่อนจะมาเป็นนักออกแบบที่นี่

“…เรียนจบป.ตรี คณะอักษรฯ เอกภูมิศาสตร์ แล้วเรียนต่อโทด้านอสังหาฯ…” กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประโยคที่ผมจำได้

นับเป็นอีกครั้ง (จากหลายๆครั้ง) ที่ผมได้ยินเรื่องราวทำนองนี้ เรื่องราวของการเข้าสู่วงการ UX ของคนที่ไม่ได้มี background ด้านนี้มาก่อน ถึงแม้จะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้ผมนัก เพราะตัวเองก็มีแค่วุฒิ ม.ปลายเหมือนกัน แต่การได้ยินจากปากคนใกล้ตัวจริงๆมันให้แง่คิดที่ต่างออกไป

“ใครๆก็กระโดดเข้ามาในวงการนี้ได้ง่าย แต่จะเป็นได้ดีรึปล่าว เป็นอีกเรื่องนึง”

ผมเห็นด้วย (แม้จะจำไม่ค่อยได้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนพูด) ในยุคนี้ ใครๆก็แทบมาเป็นนักออกแบบ UX ได้ ขอแค่สามารถบริหารจัดการความคาดหวังของนายจ้างและผู้ใช้ด้วยทักษะและความรู้ที่มีได้เพียงพอ แต่จะเป็นนักออกแบบที่ดีรึปล่าวนั้น เป็นอีกประเด็นนึง

ปัจจุบัน มีคนพยายามเข้าสู่วงการ UX ด้วยหลักสูตรเร่งรัดกันค่อนข้างเยอะ ผมไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพียงแต่สังเกตคร่าวๆจากคำถามต่างๆโดยว่าที่นักออกแบบหน้าใหม่ที่ผุดขึ้นมาในหน้าฟีดข่าว Facebook ของผม โดยเฉพาะช่วงที่ AI สามารถแทรกแทรงกิจการความคิดสรา้งสรรค์ได้ในระดับนึง ทำให้เพื่อนนักออกแบบสาขาอื่นๆบางคนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางสายอาชีพ จนเกิดเป็นคลื่นการอพยพสำมะโนครัวให้เห็นเป็นพักๆ

ผมเลยคิดที่จะเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในคำแนะนำจากหลายร้อยพันคำแนะนำที่หาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต แด่หนุ่มสาวที่กำลังหรือต้องการจะก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ รวมถึงเหล่าเพื่อนนักออกแบบตั้งแต่ junior ถึง senior และผู้ที่กำลังติดล่มอยู่กับเส้นทางสายอาชีพของตัวเอง

เพื่อที่อย่างน้อย การเป็นนักออกแบบที่ดีขึ้น อาจจะทำให้ชีวิตของใครบางคนดีขึ้นได้เช่นกัน ถือเป็นการยกระดับไปด้วยกัน

สุดท้าย เพื่อความลื่นไหลและอรรถรสในการอ่านที่ดี ผมแนะนำว่าผู้อ่านควรจะมีพื้นฐานเกี่ยวกับงาน UX มาก่อนประมาณนึง แบบไม่ต้องมากมายอะไร แค่พอที่จะอ่านต่อได้โดยไม่มีหัวข้อ “UX/UI คืออะไร?” ก็นับว่าได้แล้ว

เข้าเรื่องเลยละกัน

“อะไรทำให้ใครบางคนเป็นนักออกแบบที่ดี?” หรือถ้าให้เจาะจงมากขึ้นอีก “อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักออกแบบทั่วไปกับคนที่เป็นดาวเด่น?” (ซึ่งดาวเด่นในที่นี้ก็คือนักออกแบบที่ดีนั่นแหละ)

แต่ก่อนอื่นเรามานิยามคำว่า “ดี” กันก่อน ที่ว่าดี นี่คือดีสำหรับใคร?

นักออกแบบที่ดี สำหรับบางคนอาจหมายถึง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับเทพ, คนที่มีความสามารถในการออกแบบ visual ระดับสุดยอด, หรือคนที่สามารถมองเห็นปัญหาล่วงหน้าพร้อมแนะนำวิธีการแก้ไขนั้นก่อนที่ใครจะคาดถึง หรือคนนั้นต้องมีทั้งหมดที่ว่ามานี้…

สำหรับบางคนอาจไม่ได้ดูที่ “ฝีมือ” นักออกแบบที่ดีอาจเป็นคนที่มีจิตใจดี, มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานทุกคน, สามารถเป็นคนกลางคอยแก้ปัญหาให้ทีมได้ หรือมักจะเสียสละด้วยการเอาเวลาว่างที่มีไปกับการพัฒนาวิธีการทำงานของทีมให้ดียิ่งขึ้น

นั่นอาจหมายความว่า การแปะป้ายคำว่า “ดี” ของแต่ละคนไม่น่าจะสามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ แต่ละคน แต่ละองค์กร แต่ละวัฒนธรรม แต่ละบริบท ให้มุมมองกับนักออกแบบที่ดีไม่เหมือนกัน

แล้วเราจะหาคำตอบยังไง (ผมถามตัวเอง)

“อะไรทำให้ใครบางคนเป็นนักออกแบบที่ดี” หรือ “อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักออกแบบทั่วไปกับคนที่เป็นดาวเด่น”

หรืออาจเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราอาจจะลอง…

อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักออกแบบในดวงใจของคุณ, ฮีโร่ด้านศิลปะของคุณ หรือต้นแบบที่ทำให้คุณเข้าสู่วงการนี้ กับคนทั่วไปที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกับพวกเขา

หรือ อะไรที่ทำให้นักออกแบบที่เรียบจบที่เดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน ลงคอร์สหรือเวิร์กชอปเดียวกัน กระทั่งใช้กระบวนการออกแบบและวิธีการแก้ปัญหาเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์สุดท้ายของคนๆนึงกลับดีกว่าจนสังเกตุได้เมื่อเทียบกับอีกสองคน

หรือจริงๆมันคือเรื่องของ “รายละเอียด”

คืออีกระดับของความใส่ใจในรายละเอียดที่อยู่ในคุณสมบัติต่างๆที่นักออกแบบควรจะมีอยู่แล้ว มันอยู่ในความรู้ความเข้าใจ, ทักษะ, สไตล์ หรือแม้แต่แนวคิด คือความเป็นเลิศที่เฉิดฉายจนสามารถมองเห็นหรือรู้สึกได้ และซ่อนอยู่ภายใต้ความถ่อมตัวที่กล้าหาญ

ซึ่งต่อจากนี้ คือรายการคำแนะนำ, คุณสมบัติ และวิถีทางต่างๆ ที่ผมพยายามโน้มน้าวให้คุณเชื่อว่ามันสามารถทำให้คุณเป็นนักออกแบบที่ดีขึ้นได้

ปล. ถ้านี่เป็นเอกสารทางวิชาการที่ต้องการคำตอบที่ครอบคลุม, รัดกุม, พิสูจน์ได้ และยากจะโต้แย้ง ผมคงจะไม่เขียนมันต่อ เพราะมันไม่มีความจริงแท้หรือสัจธรรมของการเป็นนักออกแบบที่ดีอยู่จริงๆ แต่เนื่องจากผมไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่เพียงนักออกแบบคนนึงที่พยายามเรียบเรียงความคิดเห็นส่วนตัวที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ตรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา—หรือให้ถูกจริงๆคือการเค้นมันออกมาจากหัวมากกว่า

เรียนรู้(แบบไม่ผิวเผิน)อยู่เสมอ

ในฐานะคนที่ทำงานสายเทคฯอย่างเราเป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันว่าควรจะเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะเหมือนว่าในยุคสมัยแห่งการอัปเดต สิ่งที่ดูเหมือนจะล้ำหน้าที่สุดในวันนี้อาจจะเป็นล้าสมัยได้อย่างรวดเร็วในสัปดาห์หน้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมักต้องทอดทิ้งใครสักคนไว้ข้างหลังอยู่เสมอ

แต่ขณะเดียวกัน การเรียนรู้อยู่เสมอ ก็อาจทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย, หมดไฟ กระทั่งสมาธิสั้นได้ เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะรู้สึกว่ามีอะไรให้เรียนรู้มากกว่าที่จำเป็นต้องเรียนจริงๆ

แม้ว่าการลงคอร์สหรือเวิร์กชอป จะนับเป็นทางเลือกที่เข้าท่าสำหรับคนที่ไม่มีเวลามากนัก (เพราะมันคือหลักสูตรเร่งรัด) และมีผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อยู่มากมายในตลาดจนมีคุณภาพที่เกิดจากการแข่งขันมากพอ แต่จงเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่คุณอยากเรียนจริงๆหรือตามความจำเป็น ไม่ใช่เพราะถูกโน้มน้าวด้วยขบวนรถไฟแห่งอนาคตหรือถูกทำให้รู้สึกว่ากำลังเป็นคนที่ถูกทอดทิ้ง

สิ่งที่สำคัญคือ ความสามารถในการแยกแยะคุณภาพของความรู้นั้น

อะไรที่ไม่ค่อยจะแปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อะไรคือพื้นฐานที่จำเป็น หมอต้องเรียนกายวิภาค สถาปนิกต้องเรียนทิศทางของแดดและลม นักออกแบบที่ทำงานกับคนก็อาจจะต้องศึกษาคนเชิงลึกให้มากขึ้น ข้อจำกัดของคนคืออะไร? คนมักคิดกันยังไง? ทำไมคนถึงคิดอะไรแบบนั้น? อันที่จริงแล้วในทางจิตวิทยาเราในปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยต่างกับเราเมื่อห้าร้อยปีก่อนมากนัก มันเลยอาจจะคุ้มค่ากว่าที่จะเรียนรู้ไหมนะ?

ความรอบรู้ในสาขาวิชาอื่น

UX นั้นค่อนข้างต่างกับสาขาวิชาอื่น เพราะพื้นฐานของมันเป็นอะไรที่หลากหลายกว่ามาก หากถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว UX คือสาขาวิชาที่เป็นสหวิทยาการ ให้กำเนิดโดยการผสมผสานข้ามสายพันธ์ของหลายๆสาขาวิชา เช่น Computer Science, Visual Design, Industrial Design, Psychology, Cognitive Science และอื่นๆอีกมากมาย

อย่าหยุดอยู่แค่เรื่องการออกแบบ ในบางครั้ง ความเข้าใจในองค์ความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมนั้นก็อาจสำคัญหรือบางกรณีอาจเป็นภาคบังคับไปเลย เช่น ถ้าคุณออกแบบซอฟแวร์บัญชี การที่คุณเข้าใจว่าการทำงานบัญชีที่ดีเป็นยังไง อาจทำให้คุณออกแบบได้ดีขึ้นได้ หรือถ้าคุณออกแบบแอปฯสำหรับเทรดคริปโต คุณแทบจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเทรดเท่านั้น?

ราวกับว่าพื้นฐานของการเป็นนักออกแบบที่ดี คือการเป็นเป็ดที่โปรหลายๆเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญมันไปทั้งหมด พิจารณาจากหน้าที่รับผิดชอบหรือจำเป็นที่อาจจะต้องใช้ บางทีเราแค่รับรู้หรือเข้าใจไว้บ้างก็นับว่าเพียงพอ เช่น ถ้าคุณรู้ข้อจำกัดทางเทคนิคการในการพัฒนา คุณก็จะออกแบบโดยคำนึงถึงขอบเขตที่ยังสามารถพัฒนาได้

สิ่งสำคัญไม่ใช่การไล่ท่องหรือจดจำข้อเท็จจริงเหล่านั้น แต่เป็นการคิดที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องมากกว่า

และอาจด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ UX ค่อนข้างเป็นมิตรและเปิดกว้างกับทุกๆคน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการ เพราะมันทำให้งานออกแบบที่มีมนุษย์เป็นผู้ใช้ถูกประเมินจากหลายมุมมองมากขึ้น เท่ากับว่า การที่คุณเรียนจบวิศวกรรม, กฏหมาย หรือชีววิทยา ก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ ตราบใดที่คุณสนใจและรักที่จะเป็นจริงๆ

มีคลังไอเดียขนาดใหญ่

บางครั้งความคิดสร้างสรรค์อาจไม่ใช่อะไรที่มากกว่าการสะสมข้อมูลปริมาณเยอะๆในหัว และการสะสมก็ไม่ใช่แค่การบันทึกรูปภาพหรือ bookmark ไว้ แต่เป็นการพยายามสังเกตสิ่งนั้น สิ่งที่ทำให้คุณประทับใจและอยากเก็บมันไว้? และยิ่งมีมากและหลากหลายเท่าไหร่ วันนึงมันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญที่ทำให้คุณสามารถรับมือกับปัญหาได้หลากหลายมากขึ้นเท่านั้น

พอพูดแบบนี้เรามักจะพุ่งตรงไปที่แหล่งรวบรวมแรงบันดาลใจของเรา เช่น Behance, Dribbble หรือ บทความเกี่ยวกับการออกแบบ ซึ่งก็ดีสำหรับคนที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยและไม่ค่อยอยากเสี่ยง แต่ถ้าคุณอยากไปไกลกว่าแค่ “เหมือนคนอื่น” การศึกษาสิ่งอื่นๆก็อาจช่วยได้ ศึกษาศิลปะ, ดนตรี, วรรกรรม, จิตวิทยา, ธรรมชาติ ภูมิปัญญาต่างๆ พูดให้ง่ายกว่านั้นคือศึกษาโลก

จุดที่เกิดจากการเชื่อมโยงแต่ละองค์ความรู้ที่เป็นของเราเอง จะทำให้การเชื่อมต่อนั้นเสถียรและแข็งแรงกว่ามากกว่าข้อมูลมือสองที่ผ่านการย่อยและบีบอัดมาแล้ว

พยายามเติมมันเข้าหัวอยู่เสมอด้วยวิธีที่ถนัด (สำหรับผมคือการอ่าน) แต่อย่าพยายามซึบซับทุกอย่างราวกับฟองน้ำที่พึ่งซื้อมาใหม่ การใคร่รู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่า นำข้อมูลเหล่านั่นมาจัดระเบียบ, คัดกรอง และทบทวนบ้างหากมีเวลา ทำให้มันกลายเป็นความเข้าใจไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ผ่านตา

รู้ว่าเครื่องมือเป็นแค่เครื่องมือ

แน่นอนว่าคุณจำเป็นต้องใช้เครื่องมือสำหรับการทำงานเป็น เปรียบเสมือนความต้องการขั้นต่ำ ซึ่งจะดีมากหากคุณมีความชำนาญในการใช้งานด้วย ความสามารถในการคราฟต์งานที่อยู่ในจิตนาการให้เห็นจริงได้คือการแสดงออกที่จำเป็น นอกจากการใช้งานแล้ว การติดตามข่าวสารและอัปเดตต่างๆของเครื่องมือนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ดูว่ามีอะไรใหม่ๆที่ทำให้คุณทำงานได้ดีขึ้นบ้าง บางครั้งคุณอาจไม่ต้องใช้ทุกฟีเจอร์ที่สามารถทำได้ แต่ควรรับรู้ถึงความเป็นไปได้และประโยชน์ของมัน

บางครั้ง ฟีเจอร์ต่างๆก็ไม่ได้มีความจำเป็นเสมอไป ไม่ใช่ทุกองค์กรที่เหมาะกับการมี Design System แบบครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

และเครื่องมือก็ยังเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ของเจ้าไหน Figma, Sketch, Penpot หรืออะไรก็ตาม อย่าคาดหวังว่าเครื่องมือนั้นจะดำรงอยู่ตลอดไป สิ่งที่คุณใช้มันไม่ใช้วัตถุที่จับต้องได้เหมือนค้อนหรือขวาน มันคือ code ที่อาศัยอยู่บนก้อนเมฆ (ซึ่งจริงๆก็แค่เครื่องเซิฟเวอร์สักแห่ง) มันพร้อมหายและถูกเปลี่ยนเข้าของได้ทุกเมื่อ

แล้ว AI หล่ะ? คนที่สมาทานการใช้งาน AI มักบอกว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ส่วนตัวผมไม่แนะนำให้ใช้ ผมมองว่าแรงเสียดทานทางความคิดที่พาให้คุณเครียดเล็กน้อยเมื่อเจองานที่ท้าทายยังคงมีความจำเป็นต่อการพัฒนา (ไว้เราค่อยมาถกประเด็นนี้กันภายหลัง)

แต่การใช้เครื่องมือเป็นอย่างเชี่ยวชาญไม่ได้หมายถึงการเป็นนักออกแบบที่ดี ถึงแม้ว่าเจ้านายคุณจะเข้าใจแบบนั้นก็ตาม และการออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของ pixel บนหน้าจอ เราอยู่ในยุคที่ visual หรือความสวยงามกลายเป็นแก่นสารของการออกแบบมากจนเกินไป

รู้ว่าอะไรที่ดีพอสำหรับตอนนี้

นักออกแบบที่ดีมักรู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุด หาตรงกลางที่ออมชอมกันได้ระหว่างงานที่ดีกับเดทไลน์ และรับได้กับความไม่สมบูรณ์แบบ เพราะรู้ว่าการอยู่ในจุดที่ “ดีพอ” ก็สามารถสร้างผลกระทบได้เช่นกัน

สิ่งเหล่านี้อาจเริ่มต้นด้วยขยะต่างๆมากมาย ผ่านการคิด-ทำ-ทิ้ง ไปไม่รู้จบ เมื่อได้อะไรที่เหมือนจะเข้าท่ากว่า ก็จะพัฒนามันต่อไป ปรับปรุงมัน บิดงอมัน ต่อเติมมันไปเรื่อยๆจนกว่าความลงตัวจะปรากฏให้เห็น แต่หลายครั้งก็ไม่ เลยต้องใช้แนวคิดที่ว่า งานจะลงตัวก็ต่อเมื่อมันไม่สามารถปรับแก้ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกแล้ว

ความลงตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้ยากที่จะหาว่าความคาดหวังของผู้คนอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ควรหยุดได้แล้ว เมื่อไหร่ควรพูดว่า “ทำดีที่สุดแล้ว เอาแบบนี้ไปก่อนแล้วกัน” เพราะงานที่สมบูรณ์แบบอาจไม่มีอยู่จริง เพราะถ้ามันมีอยู่จริง เราคงไม่ต้องย้อนกลับมาแก้ไขและปรับปรุงมันอีกต่อไป

จนบางครั้ง มันก็คล้ายกับการค้นหาสูตรอาหารอย่างน่าประหลาดใจ (แม้ผมจะไม่เคยมีประสบการณ์นั้น) ที่ ณ จุดหนึ่งเราอาจจะพบกับ ความลงตัว ความเค็มกำลังดี หอมกำลังได้ สัมผัสกำลังโดน นี่แหละใช่เลย

สวมหมวกได้หลายใบ

นักออกแบบที่ดีเข้าใจว่างานออกแบบเป็นอะไรมากกว่าแค่ความสวยงามหรือความสุทรีย์ทางสายตา ประสบการณ์การใช้งานเป็นอะไรที่มากกว่าแค่สิ่งที่มองเห็นได้ มันคือขอบเขตที่กว้างกว่าแค่สิ่งที่ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบ

บางครั้งมันคือการคิดล่วงหน้า หาวิธีการแก้ไขปัญหาเผื่อไว้หากผู้ใช้หลงเข้าไปในจุดบอดที่แม้แต่ผู้ออกแบบเองก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริง หรือการคงไว้ซึ่งน้ำเสียงและสำเนียงของข้อความแม้ว่าจะไม่ใช่โฟลวปกติที่ผู้ใช้จะผ่านมา ความไปด้วยกันได้ระหว่างบุคลิกภาพของผู้ใช้กับสไตล์ของผลิตภัณฑ์สำหรับของขวัญเล็กๆน้อยๆ

แบบเดียวกับกลยุทธ์ในการหาจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดตามมุมอับของเมือง

บางครั้งเราก็จำเป็นต้องสวมหมวกของตำแหน่งอื่นบ้าง เราอาจต้องเป็นนักการตลาดที่การแต่งและเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์อาจช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้เช่นกัน และการสลับหมวกอาจทำให้เราเห็นจุดบอดบางอย่างที่คาดไม่ถึง

การออกแบบไม่ได้เป็นทางออกของทุกสิ่งอย่างไปเสียหมด เพราะการออกแบบถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อผลลัพธ์ปลายทางที่ออกแบบแทบไม่ต่างกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดหรือกระทั่งไม่เข้าท่า เราก็อาจต้องพึ่งสิ่งอื่นๆ เช่น ศิลปะ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกมากกว่า

และหากงานที่ออกมาแย่หรือไม่ประสบความสำเร็จ อย่าโบยความผิดนั้นให้กับคนอื่นหรือข้อมูล (มันง่ายมากที่จะพูดว่าตัวเลขนี้บ่งบอกถึงสิ่งนี้ เราเลยต้องทำแบบนี้) กรณีนี้หมวกของผู้นำควรเป็นใบที่คุณกำลังสวม

หรือก็แค่เป็นตัวของตัวเอง?

ไม่มีอะไรที่วิเศษและนับเป็นสิทธิพิเศษ ไปกว่าการเป็นตัวของตัวเอง บางทีเราทุกคนอาจจะกำลังเป็นนักออกแบบที่ดีกันอยู่แล้ว (มองโลกในแง่ดี) แต่เหมือนที่ปรัชญาเต๋าบทนึงกล่าวไว้ ความเร่งรีบอาจทำให้ของที่กำลังจะเสร็จอยู่แล้วเสียหาย เราอาจจะกำลังเร่งรีบกันจนเกินไป มองหาแต่สูตรลัดหรือสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วว่าดีเท่านั้น เพราะที่จะไม่ต้องเสียเวลาเสี่ยงเอง

แน่นอนว่าสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วว่าดีนั้นควรค่าแก่การเข้าใจ เช่น แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของแต่ละแพลตฟอร์ม การรู้ว่า solution ไหนเหมาะสมกับการแก้ปัญหาอะไร เพื่อระบุขอบเขตของความเสี่ยง เพื่อให้คุณรู้ว่ากรอบกว้างแค่ไหน ไม่ใช่เพื่อที่จะเดินตามรอยมันอย่างเคร่งครัด

แต่มันก็นำมาซึ่งความเสี่ยง ความเสี่ยงที่แอปฯคุณจะแตกต่างจากชาวบ้านจนคนใช้ไม่เป็น หรือความเสี่ยงที่คุณจะเจอกับแนวทางการใช้งานใหม่ๆที่ทำให้ผู้ใช้ติดหนึบ

หรือนักออกแบบที่ดี คือการในการปฏิเสธเวทย์มนต์ของนักออกแบบคนอื่นๆ แต่พยายามผสมสูตรของตัวเองแทน เพื่อรอให้ธรรมชาติของการลงมือทำและความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเหล่าออกผล

ปิดท้าย

สวัสดีครับผมปอนด์ ปัจจุบันเป็น Senior Product Designer อยู่ที่ Health at Home หนึ่งใน startup สาย Health-Tech ที่กำลังมาแรงที่สุดในยุคนี้ — Sponsors by Dr.Kanapon Phumratprapin

บทความนี้เกิดจากคำถามทำนองว่า “อยากเป็น UX/UI Designer ต้องรู้อะไรบ้าง?” ที่มักโผล่ขึ้นมาหน้าฟีดข่าวใน Facebook ของผมอยู่บ่อยครั้ง (ผมเดาว่าอัลกอริทึมคงรู้ว่าเนื้อหาทำนองนี้สามารถสะกดผมได้ระยะนึง)

และการพยายามครุ่นคิดถึงคำตอบที่สมบูรณ์แบบราวกับยาครอบจักรวาลที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ถามไปตลอดกาลนั้น ทำให้มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะส่วนมากมักจะจบลงด้วยคำตอบจากคนอื่นที่มีประโยชน์กว่าเด้งขึ้นมาก่อนแทน

ซึ่งสิ่งที่คุณได้อ่านไปทั้งหมดนั้น คือการนำเศษซากของคำตอบที่ไม่เคยกดส่งที่ว่านั่นมาประกอบและเรียบเรียงจนเกิดเป็นบทความใหม่อีกที ซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆผมว่าการเขียนใหม่น่าจะง่ายกว่า

แน่นอนว่า มันไม่ได้สมบูรณ์แบบ อย่างที่ผมกล่าวไปก่อนหน้า ความคิดเห็นบางอย่างที่อาจยังพัฒนาไม่เสร็จย่อมเต็มไปด้วยความบกพร่องหรือช่องโหว่ บางทีเกิดจากอคติที่ผมศรัทธาในประสบการณ์ตรงและการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าระบบการศึกษา นั่นเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป

เพราะฉะนั้นจงระวังกับการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งหมด เราคุ้นเคยกับการเอียงไปยังด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไปจากการนำเสนอข้อมูลที่แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนของโซเชียลมิเดีย จนทำให้แนวคิดสายกลางตายจากไปเหลือเพียงขาวกับดำ

ถ้าผมถามว่า แมวที่ดีควรรจะเป็นยังไง? คำตอบอาจขึ้นอยู่กับความคาดหวังของเจ้าของแมวรึไหมนะ? สำหรับผม มันควรจับหนูได้, ขี้อ้อน และนอนตรงเวลา

แล้วคุณหล่ะ คิดว่าแมวและนักออกแบบที่ดีควรจะเป็นยังไง?

หากใครชอบบทความแบบนี้ สามารถกดติดตามได้ที่ Human of Health at Home ได้เลยนะ เรากำลังผลักดันวัฒนธรรมการเขียนบทความในองค์กรขึ้นมาอีกครั้ง และหวังว่าจะมีบทความแบบนี้ให้ได้อ่านกันทุกๆเดือน (ว่าแล้วก็ไปบิลด์เพื่อนๆก่อน)

--

--

Pond Narongrit
Human Of Health At Home

UX/UI craftsman, Curious human, Digital nomad & Lifelong student. Writing about design, psychology, digital life and magic.