Phrownapha Tuetun
I GEAR GEEK
Published in
3 min readFeb 21, 2019

--

หลังจากที่เราสัมภาษณ์น้องๆในบริษัทไปบ้างแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไอเกียกีค นั่นก็คือพี่เต้ยของพวกเรานั่นเองงง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มคำถามแรกกันเลยดีกว่า

แนะนำตัวเองหน่อย

ชื่อนิธิภัทร์ โล้วิชากรติกุล ชื่อเล่น เต้ย ตอนนี้เป็น co-founder ที่ บริษัทไอเกียกีค

ประสบการณ์ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

ประสบการณ์ทำงานที่ทำที่แรกเลย คือที่ THiNKNET โดยเริ่มแรกเป็น Web developer ทำ API เขียน back-end ต่อมาก็ได้มีโอกาสทำหลายๆอย่าง ซึ่งบริษัท THiNKNET ก็เป็นบริษัทที่ดี ที่ให้โอกาสได้ลองทำอะไรหลายอย่าง เช่น Research & Development งานสุดท้ายที่ทำก่อนออกจากที่นั่นก็เป็นงานแนว Agile coach เพราะเราสนใจในด้านรูปแบบและกระบวนการทำงาน ซึ่งเรามี background ทางด้าน developer มาอยู่แล้ว ความรับผิดชอบหลัก ๆ ก็เลยหนักไปทางฝั่งของ Technical coach ควบคู่ไปด้วยกัน ปัญหาจากการทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่ที่เห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น คนจะคิดว่าการนำคนมาทำงานในทีมเยอะๆ จะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น แต่ว่าจริงๆแล้วมันไม่ใช่เลย มันมีหลายเรื่อง มีอุปสรรคที่เป็น Challenge หลายอย่างซึ่งก็ทำให้เราสนใจในเรื่องการบริหารทีมงานมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปทำอยู่บริษัท สยามชำนาญกิจ ได้มาทำเป็น External coach หน้าที่หลักก็เป็น Technical coach ได้มีโอกาสเข้าไปตามบริษัทต่างๆ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เราจะเป็น Internal coach อยู่ภายในบริษัทเราเอง หลังจากมาอยู่ที่บริษัทสยามชำนาญกิจ เราก็ได้เห็นรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากเดิมพอสมควร ดังนั้นที่บริษัทสยามชำนาญกิจ ถือว่าเป็นที่ ๆ เราได้เรียนรู้หลายเรื่องมาก ๆ อันนี้ต้องขอบคุณทางบริษัทสยามชำนาญกิจที่ให้โอกาสเราได้ไปร่วมงานครั้งนั้นมากครับ มันเป็นที่ ๆ เราโชคดีที่ได้ไปทำงานร่วมกับคนเก่งเยอะมาก ได้เรียนรู้ในหลายๆเรื่องจากทีมงาน ทั้งในแง่การดูแลทีม การวางแผนการทำงาน ทำให้รู้ว่าเราต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอีกเยอะ อีกทั้งยังทำให้เราเห็นภาพชัดมากขึ้นว่าเราควรสร้างทีมให้เป็นในแบบไหนบ้างเพื่อให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราต้องเจอในอนาคต

ส่วนที่ทำงานสุดท้ายก่อนมาเริ่มสร้างไอเกียกีค เราก็ได้โอกาสไปทำงานกับบริษัท Startup ทางด้านการเงิน ก็เป็นที่ ๆ ที่เราได้เรียนรู้รูปแบบการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราก็ได้เรียนรู้วิธีการสร้างทีม และการสร้าง product ไปควบคู่กัน

จุดเริ่มต้นของไอเกียกีคเกิดมาจากอะไร

พอถึงจุดๆนึง เราก็มองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่น่าจะต้องลองทำอะไรสักอย่างของเราเองบ้างแล้ว เพราะตอนนี้เราก็มีเครื่องมือ มีองค์ความรู้ในหลายเรื่อง มีหลายสิ่งหลายอย่างพอสมควรที่จะทดลองหยิบมาประยุกต์ใช้กับงานของเราเอง และเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มาสร้างด้วยกันทั้งกับพี่มินที่ไอเกียกีค

พี่มิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไอเกียกีค

ซึ่งช่วงนั้นเราก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่พอดี และมีโอกาสรับโปรเจคที่ต้องทำร่วมกันกับพี่มิน ก็เลยได้โอกาสที่คิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว พวกเราก็น่าจะเปิดบริษัทเองเลย รับงานเองด้วยเป็น Project แล้วก็ทดลองลองสร้าง Product ของเราเองด้วย

ยากไหมกว่าจะตัดสินใจทำที่นี่

ค่อนข้างยาก เพราะจริงๆเราเป็นคนพิษณุโลก มาเรียนอยู่กรุงเทพ หลังจากนั้นก็ทำงานที่กรุงเทพต่อเลย ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงเทพประมาณ 8–9 ปี เราก็มีหลายๆอย่างแล้วที่นั่น ไหนจะคอนโดที่ซื้อไป เอาจริง ๆ แล้วที่นี่ก็เป็นจุดหักเหเหมือนกันที่เราต้องย้ายมาอยู่เชียงใหม่ แล้วอีกความท้าทายก็คือ จริงๆเราขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ค่อยแข็ง เพราะอาศัยขนส่งสาธารณะหมดเลย นี่ก็เป็นความท้าทายอย่างนึงของปีที่ผ่านมาที่เราต้องเปลี่ยนทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต และ รูปแบบการทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อนหลายเรื่อง

แต่เราก็มองว่ามองก็เป็นโอกาสนึง ที่เราจะได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วก็ลองหยิบสิ่งที่มันมีอยู่จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาในช่วง 3–4 ปีนำเอามาประยุกต์ใช้ต่อไป

จุดเด่นของไอเกียกีคคืออะไร

จุดเด่นของไอเกียกีคในมุมมองของเรา คือเรามองว่าจริงๆเราอยากเป็นออฟฟิศที่ทำงานแล้วรู้สึกถึงความสนุก ความไม่เคร่งครัด ไม่มีกฎอะไรชัดเจน เอาจริงๆพี่กับพี่มินเราก็ดู reference มาจากหลายๆที่ เพราะพี่มินก็มีประสบการณ์มาเยอะ ไปทำงานที่ต่างประเทศมา ก็ได้เรียนรู้อีกแบบนึง ส่วนพี่ก็ได้เห็นหลายๆที่ในประเทศไทย บางอย่างก็น่าทำตามก็จะเลือกหยิบเอามาใช้ แต่ก็นั่นแหละการสร้างบริษัทของจริงมันไม่ใช่การเดินตามทางคนอื่น สุดท้ายมันก็ต้องทดลองทำด้วยตนเอง พยายามเลือกสิ่งที่ใช่เก็บไว้ ตัดเอาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราออกไป ดังนั้นจุดเด่นของไอเกียกีคคือ เราอยากได้ออฟฟิศที่เป็นคนรุ่นใหม่และสนุก ทำงานสนุก แต่งานทุกงานที่ออกไปต้องมีคุณภาพ และทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่บุคลิกของไอเกียกีคควรเป็น

หลังจากที่เราคุยกับน้องๆ ดู น้องบอกว่าบรรยากาศในการทำงานมันชิว มันก็ใช่ที่เราชิวเพราะ เราไม่ได้เคร่งขนาดนั้น ทั้งในแง่การเข้า การออก หรือการลาก็ตาม เราแค่มองว่า เราตกลงกันแล้ว ว่างานตรงนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลยที่ต้องไปตั้งกติกามากมายมาใช้กับพวกเค้าเอง

อีก 3 ปีข้างหน้าอยากให้ไอเกียกีคเป็นยังไง

อันที่จริงเราก็คุยกับน้องที่เข้ามาเรื่อยๆ เหมือนกับแชร์ความฝันร่วมกัน คือฝันของเรา ฝันของพี่มิน หรือฝันของน้องมันอาจจะแตกต่างกัน แต่มองว่าในสามปีนี้ เราอยากโตขึ้นกว่าเดิม คือถ้าในมุมเรา หรือมุมน้องหลายๆคน เค้าก็มองว่าจริงๆแล้วเราเพิ่งเริ่มมาได้ 7–8 เดือนเอง แต่เรามีทีมที่ขยายขึ้นมาเรื่อยๆ จนน่าจะเกือบ 10 คนแล้ว และเราก็มีความตั้งใจว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แจกอั่งเปาให้น้องๆเนื่องในวันตรุษจีน

มันก็เลยกลายเป็นว่าในอนาคตจริงๆ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เชียงใหม่ มันอาจจะมี working space หลายๆที่ให้เราสามารถนั่งทำงานได้ วันนึงเราอาจจะมีทีมอยู่กรุงเทพ หรืออยากทำที่อื่นๆ เรามองว่าไอเกียกีคมันเป็นเป็นกลุ่มคนก็ได้ ในอนาคต มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบบริษัทที่ทุกคนต้องมาลงชื่อเวลาเข้า ออกออฟฟิศ แล้วมาเจอหน้ากันอะไรขนาดนั้น ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม ก็ต้องลองดู

อีกอันก็คือเราอยากมี Product เพราะในตอนนี้ไอเกียกีคเป็น Software House แต่ว่าเราก็มีความฝันว่าอยากทำ Product ของเราด้วย ถึงมันเป็น Software House แต่เราก็อยากเป็น Software House ที่สนุกและอีกฝั่งนึงเราก็อยากทดลอง คือลองผิดลองถูกทำ Product หาไอเดียใหม่ๆมาทำอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากหยุด

อยากให้ทีมงานรู้สึกยังไงกับไอเกียกีค

Ownership” by Nick Youngson. CC BY-SA 3.0. Alpha Stock Images.

บริษัทก่อนๆที่เราเคยทำงานมา มันจะมีคำนึงเรียกว่า Ownership (ความเป็นเจ้าของ) เราจะถูกสอนตลอดว่าต้องรู้สึกเป็น Ownership ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เข้าใจหรอกในความหมายของมัน แต่พอได้มาทำถึงจุดนี้ เราก็รู้สึกว่าจริงๆแล้วคำนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากขององค์กร คือแน่นอนว่าเราอยากให้ทุกคนในองค์กรหรือคนในทีมของพวกเรารู้สึกมีส่วนร่วมมีความเป็นเจ้าของ ดังนั้นมันก็คือสิ่งที่ Challenge ของเรามากที่จะทำอย่างไรให้ทีมงานของพวกเราสร้างคำว่า I GEAR GEEK ขึ้นมาเอง โดยไม่ได้มาจากความคิดพี่ ๆ อย่างเดียว เรามองว่าเราเข้ามากันเป็นทีมเดียวกันแล้วแล้วคือมันไม่จำเป็นต้องเป็นตามแบบที่เราๆคิดไว้เป๊ะ ๆ ในเมื่อพวกเราเป็นไอเกียกีคแล้ว เราอยากอยู่ในรูปแบบไหนอยากให้มันเป็นในรูปแบบไหนอีก 2–3 ปี เราลองมาสร้างด้วยกัน มาแชร์กันมากกว่า

เจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไรไหม

ปัญหาแรกเลยคือไอเกียกีคไม่มีคนรู้จักในตอนแรก อันนี้เป็นความท้าทายอย่างนึงของเราในตอนแรก เราเพิ่งมาอยู่ในตลาดบริษัทซอฟต์แวร์แค่ประมาณสักครึ่งปีได้ ซึ่งมันก็ทำให้หลายๆอย่างเช่น โอกาสที่เราจะได้น้องที่เก่งๆ คนที่มีประสบกาณ์สูงๆเข้ามามีน้อยลงไป มองในอีกมุมนึงมันก็ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่เราจะทำยังไงให้บริษัทเรามีคนรู้จักมากขึ้น และทำยังไงให้บริษัทเรามีคนที่มองข้างนอกแล้วอยากเข้ามา แต่คนข้างในไม่อยากออก ถ้าคนข้างในอยากออกนี่ฮาเลยนะครับ

ปัญหาอีกอันนึงที่เรามองก็คือเรื่องของการ Scale ทีม จริงๆเราโตเร็วพอสมควร จาก 2 คน ตอนนี้ 8 คนแล้ว มันค่อนข้างเร็วพอสมควร นี่ก็เป็นจุดที่กังวล แต่ว่าเราก็พยายามรับมือในหลายๆรูปแบบทั้งในด้านการทำงานหรือวิธีการทำงาน เราก็พยายามคิดและปรับปรุงมาเรื่อยๆ มันก็มีความเสี่ยงตรงที่ ถ้าคนเทเข้ามาเยอะๆ วัฒนธรรมขององค์กรที่เราอยากให้เป็นด้วยกัน มันจะบิดได้ ดังนั้นอันนี้ก็เป็นอีกความท้าทายนึง ที่เราจะทำยังไงให้น้องๆรู้สึกเป็น Ownership ทุกคนในการร่วมกันสร้าง เพราะจริงๆแล้วมันไม่ใช่แค่มาเช้าเย็นกลับ สร้าง Product แล้วจบแต่มันคือการที่ทุกคนต้องมาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมบางอย่างขององค์กรร่วมกัน

เป้าหมายหลักสำคัญขององค์กรไอเกียกีคคืออะไร

เป้าหมายหลักของเราอย่างแรกคือการได้สร้างบริษัทที่มันสนุก ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ใช้จุดแข็งหรือสิ่งที่ตัวเองถนัดเต็มที่ เราพยายามส่งเสริมเต็มที่ว่าใครถนัดด้านไหน หรือใครไม่ถนัดเรื่องไหน เราก็ดูว่าจะปรับกันยังไงด้วยระบบหลายๆแบบนะ

อย่างที่สองคือเราตั้งใจอยากจะทำให้สังคมหรือ community ที่เราอยู่มันดีขึ้น ทั้งในแง่ของเชียงใหม่ที่เราอยู่ เราพยายามจัดอีเว้นท์ จัดกิจกรรม จัด workshop จุดหลักๆคือเราอยากคืนสิ่งนี้ให้กับสังคม เรามองว่าการสร้างเรื่องพวกนี้ นอกจากตัวเราได้ประโยชน์แล้ว คนรอบข้างก็ควรได้ประโยชน์ด้วย แล้วผลดีพวกนี้มันจะกลับมาหาคนรอบข้างเรา

อย่างที่สามแน่นอนว่าจุดมุ่งหมายของเราก้คือการสร้างการแก้ปัญหาบางอย่างของ user จริงๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ลองมองไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก เอาจริงๆเราก็อยากเปลี่ยนโลกประมาณนึงแต่ว่ามันเป็นความท้าทายที่ยากพอสมควร เพราะบริษัทเราเพิ่งทำมาหรือว่าเราไม่ได้มาด้วยไอเดียหลักที่จะสร้างอะไรบางอย่าง ซึ่งก็ค่อนข้างยากที่จะทำยังไงสร้าง Product ที่จะเปลี่ยนโลกได้ เนี่ยแหละคือเป้าหมายหลักๆของไอเกียกีค ทั้ง 3 ข้อ

กิจกรรม Workshop Line Chatbot คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เราหาคนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ถึงไม่รู้ว่าอยากทำอะไรแต่มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจในการทำเรื่องบางอย่าง หรือ กล้าที่จะลองผิดลองถูก

เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากทุกคนเลยคือ “โอกาส” พยายามเตรียมตัวให้ดีเสมอ เพราะโอกาสมันเข้ามาเรื่อยๆ แต่เรามักจะไม่กล้า หรือ ไม่พร้อมที่จะเข้าหาโอกาสนั้น เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยทดลองทำ หลายครั้งเราก็เป็นนะที่โอกาสมันวิ่งเข้ามา แต่เราไม่พร้อม มันเลยทำให้เราต้องปล่อยโอกาสนั้นหลุดไป ดังนั้นมันก็มีหลายแบบนะ เช่นคุณจะเริ่มเมื่อยังไม่พร้อมก็ได้ ลงไปลุยงานเลย เรียนรู้เอาหน้างาน หรือเริ่มเมื่อมั่นใจในระดับนึงแล้วว่าตัวเองน่าจะพอทำได้ ก็โดดตัวเองลงไปทำเลย หลายๆอันที่เราเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการทำงานหรือเปลี่ยนที่อยู่ มันก็เลยเป็นความท้าทายนึง ที่ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในเมื่อมันมีโอกาสมา ก็ลองรับดู แล้วเราน่าจะรับมืออะไรกับมันได้บ้าง ส่วนที่เหลือเราก็ไปเติมเอาหน้างาน ลองฝึกไป โอกาสมันมาสำหรับคนที่พร้อม ลองมองหาดูว่าแต่ละคนชอบวิธีแบบไหน บางวิธีมันเหมาะกับเรา แต่บางวิธีก็ไม่เหมาะกับเรา ดังนั้นใช้ชิวิตในแบบของคุณซะ!

--

--