มาตั้ง New year’s resolution ด้วย OKRs กัน!

Nitipat Lowichakornthikun
I GEAR GEEK
Published in
3 min readJan 25, 2019

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีน้องถามว่าได้ตั้ง New year’s resolution ของปีหน้าหรือยัง? แน่นอนว่าผมดำรงชีวิตมาตลอดโดยแทบไม่มีครับ ฮ่า ๆ เน้นทดลอง เรียนรู้ ปรับปรุงตามสถานการณ์ที่พาไปตลอด แต่จนผมได้พบกับ OKRs และนำเอามันมาประยุกต์ใช้กับชีวิต หลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไปในทิศทางที่เราไม่เกลียดตัวเอง ;(

ปกติสิ่งที่เรามักจะทำกันต้นปีและผมเห็นบ่อยมากในหน้า New feed ของ facebook ก็จะเห็นเพื่อน ๆ หลายคนเค้าตั้ง New year’s resolution กันถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือการตั้งปณิธานตั้งแต่ต้นปีว่าเราจะทำอะไรในปีใหม่นี้ อาทิ

ปีนี้จะ… ลดน้ำหนัก

ปีนี้จะ… ดูซีรีย์ Netflix น้อยลง

ปีนี้จะ…. อ่านหนังสือให้มากขึ้น

แต่ความเป็นจริงแล้ว New year’s resolution พวกนี้มันมักจะล้มเหลวครับ
จากการที่ผมหาข้อมูลก็พบว่ามีการสำรวจเรื่องนี้และพบกับตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจนั่นคือจากการสำรวจผู้คนต่างในสหรัฐอเมริกากว่า 80% จะเลิกล้มการทำ New year resolution ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

อะไรล่ะ? ที่ทำให้คนต่างเลิกล้มสิ่งที่ตัวเองตั้งใจในระยะเวลาแค่ 1 เดือนเท่านั้น

  1. เป้าหมายไม่ชัดเจน — มันไม่ชัดเจนว่าทำไมเราต้องทำ มันสำคัญกับเราจริงใช่ไหม? หรือ บางครั้งก็ไม่ชัดว่าจะสำเร็จได้อย่างไร
  2. เป้าหมายใหญ่เกินไป — แน่นอนว่าถ้าเราจะลดน้ำหนัก 20 กิโลภายใน 1 ปี มันดูเยอะและยากมาก แค่เห็นก็ท้อแล้ว ~
  3. ไม่มีกำลังใจในการทำต่อ — เนื่องจาก 2 ข้อแรก มันส่งผลหลายอย่างกับเราอย่างมาก เพราะ ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่คลุมเคลือ ดูยากเกินไป มันก็แทบจะไม่มีกำลังใจในการทำอย่างต่อเนื่อง
  4. ตัวเราเองนั่นแหละที่ยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลง — การจะเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่างที่เราคุ้นชินและทำมาอย่างต่อเนื่องมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

OKRs?

สำหรับผมแล้วนั้นปีที่ผ่านมาก็ได้ไปศึกษาการทำ OKRs ในองค์กรจากการร่วมอบรมของอาจารย์นพดล ร่มโพธิ์ และ ก็มีการศึกษาจากหนังสือ Measure What Matters ซึ่ง ณ​ ตอนที่ผมเขียน Blog นี้ผมก็ได้อ่านไปประมาณครึ่งเล่มแล้วครับ สนุกมากกับการได้ศึกษาเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยกว่าจะมาเป็น OKRs ที่ทุกคนเริ่มรู้จักกันในทุกวันนี้ครับ ดังนั้นใครอยากศึกษาเรื่องนี้ผมจะแนะนำเลยว่านี่คือหนังสือที่ควรอ่านครับ

ที่นี้เราลองมารู้จักกันกับ OKRs ว่ามันจะมาเกี่ยวกันกับเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง ตามทั่วไปเลย OKRs ย่อมาจาก Objectives และ Key results แยกตามความหมายคือ

Objective = เป้าหมาย

Key result = ตัวชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมาย

จบครับ กระชับมาก…

OKRs เป็นเครื่องมือนึงที่ตอนนี้หลาย ๆ องค์กรเริ่มนำมา implement ควบคู่ไปกันกับการทำ Performace management ครับ คร่าว ๆ มันเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ทำให้ทีมงานและองค์กรสามารถก้าวไปได้ในเป้าหมายเดียวกัน ลดปัญหาต่าง ๆ ในการทำงานได้ดีทีเดียวเลย ทีนี้ถ้าจะถามว่าใครใช้บ้างตอนนี้ก็เจ้าดังเลยอย่าง Google ที่สามารถนำเอา OKRs มาใช้ในองค์กรและทำให้เติบโตได้จนทุกวันนี้

ผมคงไม่ลงลึกในแง่ของรายละเอียดการเอาไปใช้ในองค์กรครับสำหรับ Blog นี้เราจะมาดูกันว่าเราจะเอาเครื่องมือนี้มาใช้กับตัวเราเองได้อย่างไรบ้าง (มันง่ายจริง ๆ แล้วได้ผลด้วยครับ)

OKRs มันมีพลังวิเศษอยู่

  1. Focus — คุณไม่ต้องอยากทำไปซ่ะทุกอย่าง ลองเลือกที่สำคัญที่สุดแล้วตอบโจทย์ในตอนนี้ของคุณ
  2. Alignment — ตรงไปตรงมา ทุกเป้าหมายต้องสอดคล้องกันกับการวัดผลความสำเร็จได้ (ถ้าอยากเหนือกว่านั้นคือลองตั้งเป้าหมายหลักของเราใน 1 ปี จากนั้นตั้ง OKRs ให้สอดคล้องกันดู)
  3. Commitment and accountability — เราตั้งเอง ทำเอง แบบชัดเจน ดังนั้นไม่มีใครมาบังคับ (อันนี้ในองค์กรเรามักจะโดนยัดให้ทำนี่นั่นนู่น)
  4. Tracking — OKRs ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ยาวเกินไป ดังนั้นเราจะสามารถเห็น Progress ออกมาเรื่อย ๆ ยิ่งการวัดผลมันชัดเจนด้วย ดังนั้นถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยตามสถานการณ์
  5. Stretching — มันคือตัวที่จะลองเสริมเราให้ก้าวข้ามผ่าน comfort zone บางอย่างได้ จากการที่ OKRs ที่ดีมันควรไม่ยาก หรือ ไม่ง่ายจนเกินไป (มีการให้คะแนนตอนหลังจากทำสำเร็จแล้ว ถ้าง่ายไปเราก็ขยับให้สูงขึ้นได้ ถ้ายากเกินเราก็ปรับลดให้มันต่ำลงได้)

หลัก ๆ เลยน่ะครับ ถ้าเราเอา OKRs มาใช้ในการตั้ง New year resolution มันก็จะมีพลังจากหลายข้อที่ผมกล่าวมาทำให้สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นมันเป็นจริงได้ ซึ่งผมได้มีโอกาสทดลองกับตัวเองช่วง 3–4 เดือนที่แล้ว พบว่ามันดีกว่าการตั้งเป้าหมายแบบอื่น ๆ ที่เคยทำมาด้วย

ทดลองตั้งเป้าหมายแบบ OKRs กัน!

ยกตัวอย่างของผมครับ ผมตั้งใจจะเขียนบทความลง Medium ให้ได้ เนื่องจากผมมองว่าการเขียนมันก็คือการฝึกอย่างนึงในการเรียบเรียงและถ่ายทอดให้กับคนอื่น ๆ ในอีกรูปแบบนึง และ อีกทางคือตอนนี้ผมเปิดบริษัทเกี่ยวกับทางด้านพัฒนาซอฟแวร์ขึ้นมาใหม่ การเขียนบทความเรื่อย ๆ ก็จะทำให้คนเริ่มรู้จักบริษัทเรามากขึ้นด้วย

ดังนั้นผมเลยเริ่มต้นด้วย

Objective = เขียน Blog medium อย่างสม่ำเสมอ

Key result

  1. blog จะต้องปล่อย 3 เรื่องต่อเดือน
  2. blog ที่เกี่ยวกับ Technical จำนวน 2 เรื่องลงใน publication ของ IGEARGEEK
  3. blog ที่เกี่ยวกับ life style อาทิหนังสือ การไปเที่ยว เป็นต้น จำนวน 1 เรื่องลงใน nitip.at หรือช่องทางอื่น ๆ

อันนี้คือ OKRs เกี่ยวกับการเขียน blog ของผมครับ จะเห็นว่า 1 Objective ควรมี KRs ที่ระบุรายละเอียดเป็นข้อ ๆ ไว้ เพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถนำเอามาประเมินผลตอนท้ายได้ว่าเราสามารถทำสำเร็จได้จริง ๆ แล้วเท่าไร

ซึ่งจากที่มานั่งย้อนดูผมสามารถทำสำเร็จได้แค่ข้อ 2 ครับ นั่นคือผมสามารถเขียนบทความ Technical จำนวน 2 เรื่องลงใน publication ของ IGEARGEEK ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 ครับ

ถ้าเราลองแปลงกลับมาเป็นคะแนนแบบคร่าว ๆ คือผมสามารถทำสำเร็จได้ 2 ใน 3 นั่นก็คือ ~66% ครับ…

ซึ่งข้อนี้มันก็คือความสามารถของข้อ 5. Stretching ที่เราควรตั้ง OKRs ที่อัตราความเร็จอยู่ที่ 60% ครับ เพราะมันอยู่ในช่วงที่ไม่ง่าย และ ไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าผมตั้ง OKRs ที่ไม่ท้าทายแบบนี้อัตราความสำเร็จมันอาจจะไปตกที่ 100% นั่นคือ ถ้าผมตั้งว่าจะเขียน Blog แค่เดือนละ 1 Blog ก็จะถือว่ามันดูถูกตัวเองไป อิอิ…

ความดีงามของมันคือทำให้เราเข้าใจภาพปลายทางของสิ่งที่เราคาดหวัง และ มีการวัดผลอย่างต่อเนื่องครับ มันทำให้เรารู้สึกฟินอย่างบอกไม่ถูกถ้าเราสามารถทำให้แต่ละเดือนมัน Unlock ได้ตามที่ตั้งใจไว้

ซึ่งการนำเอาเครื่องมือนี้มาใช้มันก็เสมือนการสร้างวินัยไปในตัวอีกด้วย เพราะ การเริ่มต้นมันยากครับ แต่การรักษาวินัยนี่ยากกว่ามาก อย่างเช่นช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมวุ่น ๆ หลายเรื่องเลยไม่ได้เขียนเรื่องราวลง blog เลย มันก็จะรู้สึกผิดในใจมากที่เราเคยทำได้ตามที่ตกลงกับตัวเอง แต่ตอนนี้กลับไม่ได้ทำเรื่องนี้

ลองนำเอาไปใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันดูครับ อย่างช่วง 3–4 เดือนก่อน ผมทดลองโดยเริ่มแค่ 2 เรื่องหลัก ๆ นั่นก็คือการอ่านหนังสือ (ผมดองไว้เยอะมาก) กับ การเขียน blog ก็พบว่ามันก็ช่วยสร้างวินัยใหม่ ๆ ให้เราได้จริงครับ

Key takeaway

  1. เลือกเรื่องที่เราอยากทำ เอาไม่ต้องเยอะ 2–3 ข้อพอแล้ว

2. กรอบเวลาไม่ต้องนานเกินไป 3–4 เดือนก็พอในการทดลองทำ

3. OKRs ต้องไม่ยากและไม่ง่ายไป ยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเราเองมันก็ไม่ยากที่จะประเมินความสามารถเราเอง

4. แชร์ให้คนใกล้ตัวรู้ ว่าเราตั้งเป้าหมายไว้อย่างไรบ้าง

5. เริ่มเลย เมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรอต้นปีอีกต่อไป เมื่อก่อนผมคิดน่ะว่าปีหน้าจะทำนู่นนั่นนี่แต่เอาจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ทำตลอดเลย ดังนั้น เริ่มเลย! ตั้งแต่วันนี้ครับ

6. Key Results ไม่ใช่ action หรือ การกระทำ มันคือการวัดผลว่า Objective เราจะสำเร็จได้อย่างไร เช่น ถ้า Objective คืออยากลดน้ำหนัก Key Results ไม่ใช่การบอกว่าจะวิ่งให้ได้ 10 กิโลทุกวัน เพราะ การวิ่งไม่ได้บอกว่าการลดน้ำหนักจะสำเร็จ ต้องปรับให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เช่น น้ำหนักลดลง 10 กิโลกรัมใน 3 เดือน เป็นต้น

ขอให้โชคดีกับปีใหม่ในทุก ๆ ปีครับ
ปีนี้ผมก็ตั้งใจจะทดลองเขียน blog ในเรื่องอื่น ๆ บ้างที่ไม่ใช่แค่เนื้อหาฝั่ง Technical ทุกคนจะได้เห็นบทความหลายแนวมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

ถ้าใครมีคำแนะนำเรื่องการเขียนเนื้อหาแนวนี้ให้ลองทิ้งคอมเมนต์ได้เลยครับผม

--

--