E-commerce ในปี 2020–21 จะขายช่องทางไหนดี? แล้วมันมีข้อดี ข้อเสียยังไงบ้างมาดูกัน

Phumpat Ruangsakul
inCart
Published in
4 min readJul 20, 2020

มาเริ่มครับ เริ่มไปกันที่ EP1 นี้ ว่าด้วยเรื่องของช่องทาง Marketplace } Shopee / Lazada / JD Central ไปลุย!

Credit image Freepik

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า นี่เป็นบทความมุมมองแบบเปิดที่อยากให้คนอื่นที่ได้อ่านมีโอกาสแสดงความเห็นร่วมกันด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมุมมองของผมที่เขียนอยู่นั้นอาจจะเป็นมุมมองที่เป็นทั้งผู้ให้บริการ e-Commerce เองและเป็นทั้งผู้บริโภคเองด้วย (ชอบช็อปเหมือนกัน ) ก็เลยอยากจะแชร์ เพื่อที่จะเป็นไอเดียให้คนที่กำลังเพิ่งเริ่ม หรือร้านค้าที่เริ่มขายออนไลน์ไปแล้ว ได้เห็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง เผื่อเอาไปต่อยอดได้ครับ

ก่อนจะไปไหนไกล ถามคนอ่านสักนิด ภาพแรกที่คิดขึ้นมาจากคำว่า e-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไรฮะ Lazada? Shopee? ขายออนไลน์? ไลฟ์ขายของ? ขายในเฟสบุ๊คเพจ? หรือ เว็บไซต์? นั่นแหละฮะ ต้องบอกเลยว่าเยอะแยะครับ สารพัดจะนึกออก เพราะช่องทางในทุกวันนี้ที่ให้ขายมันเยอะซะจริงๆ

ย้อนความไปสักนิด ก่อนพี่โควิทจะมาเยือนเราในปี 2020 ทุกคน ปฏิเสธไม่ได้ว่า e-Commerce เรากำลังเริ่มบูมมากขึ้นเรื่อยๆ ขายและส่งกันสนุกสนาน ถึงขนาดที่รัฐบาลเองเริ่มจะเอาจริงเอาจังกับการเก็บภาษีออนไลน์ละนะ เก็บข้อมูลไปก่อนปีนี้ ปีหน้าเก็บภาษีจริง เออแล้วจะยังไงดีละ แต่พอโควิทมาเท่านั้นแหละฮะ ภาสงภาษีเลิกคิดเลยฮะตอนนี้ ขายได้ก่อน อยู่รอดก่อนตอนนี้ เพราะจะแย่กันหมดแล้ว ต้องบอกเลยว่า โควิทเนี่ยเป็นตัวเร่งชั้นดีให้พฤติกรรมการบริโภคของเราๆเปลี่ยนไปเลย แถมคนขายก็มากขึ้นตามไปด้วย

ไหนบ้านไหนมีกล่องขนส่งเพิ่มมากขึ้นบ้างครับ ฮั่นแน่ ผมรู้ว่าคุณกำลังแอบยิ้มอยู่ บ้านเรานี่หว่า ใช่ครับ บ้านผมก็ด้วย 😂 (ขนส่งโทรมาทุกวัน จนจำบ้านได้แล้ว)

แคปชั่นด้านบนไม่เกี่ยวกับภาพครับ น้องเค้าน่ารักดี Freepik มีเยอะ

พอกลับมามองกัน ปัญหามันอยู่ที่ ไอ้คนที่ขายดีอยู่ก็ประคองไป แต่ไอ้คนที่ไม่เคยขาย แถมตกลงงานนี่สิ หรือลด ชม. การทำงานลง ค่าจ้างลดลง เวลาว่างเอาไปทำไรดีหล่ะ แน่นอนครับ หาเลี้ยงชีพเพื่ออยู่รอด ต้องค้าขายก่อน ง่ายสุด

งั้นเรามาทำความรู้จักช่องทางแบบที่เราขายๆกันก่อน ว่าจริงๆแล้วเราแบ่งยังไงกันบ้าง ไปครับ

  1. Marketplace (มาร์เก็ตเพลซ) แหล่งรวมร้านค้า สินค้าจากหลายๆร้านมาขายอยู่ในที่เดียวกัน นิยามสั้นๆว่างั้นเลย ได้แก่อะไรบ้าง ก็อย่างเช่น Lazada / Shopee / JD Central หลักๆก็ 3 เจ้าใหญ่นี้ รายเล็กลงมาก็จะมี WeLoveShopping / Wemall หรือจะเน้นไปที่ของมือสองก็จะมี Kaidee.com เป็นต้น
  2. Social Commerce ขายของผ่าน Social อันนี้เรานับรวมๆหมด เช่น Facebook / Line / Instagram
  3. เว็บไซต์ .com ตัวเอง อันนี้คนสมัยเก่าคุ้นเคยดี (แหม่! ดูแก่เชียว) ในไทยเว็บใหญ่ๆก็เช่น J.I.B / Central online / Powerbuy / Homepro / Pomelo / Officemate / BananaIT ฯลฯ หรือจะแนวประมูลก็จะมี Chillindo เป็นต้น

ต้องบอกว่า หลักๆ 3 ประเภทนี้แหละที่เราจะเจาะลึกลงไปกัน แต่ใน EP นี้มากันที่ Marketplace ก่อน

Marketplace ขายแบบร้านทั่วไป แบบ Mall หรือจะยังไงดี?

Shopee / Lazada / JD Central 3 พระกาฬแห่ง E-Commerce ไทย

Shopee ปฏิเสธไม่ได้ว่าเค้ามาดีมาก แซงหน้า Lazada ในยอดของ traffic ไปเมื่อปี 2019 อ้างอิงจาก (ipricethailand) เราว่าหลายๆคนเคยใช้ทั้ง 2 platform ต้องบอกเลยว่าแรกทุกคนน่าจะเป็นว่า เอ ? สินค้าชิ้นนี้ซื้อใน Shopee หรือ Lazada มันถูกกว่ากันน้า จนหลังๆชินไปเองว่า เออชั่งมันเถอะ เอาเป็นหาเจอของที่อยากได้ โอเค ใช่ครับ ต้องบอกก่อนว่าจุดสังเกตเล็กๆน้อยๆนี้ เลยเป็นที่มาให้หลายๆคน เข้ามาถึงแล้ว Search หรือกดค้นหาก่อนเลย

การค้นหาของใน Shopee / Lazada / JD นี้น่าสนใจนะครับ

ถ้าคนที่ไม่ได้ advance มาก เอาเป็นว่าเราคิดถึงคนมาซื้อของ ค้นหาแบบตรงไปตรงมาด้วยคำ keyword แล้วก็คาดหวังว่าจะเจอของที่ต้องการ

ตัวอย่างการ Search ด้วย Keyword เดียวกันในแต่ละ platform

จาก 3 รูปของแต่ละแพลตฟอร์ม เห็นความแตกต่างอะไรบ้างครับ

  1. Shopee มีให้เลือก Filter แบบ Mall ได้ เลือกสินค้าขายดี เลือกช่องทางการชำระเงินได้ แล้วก็มีสิ่งที่เป็น keyword ที่ relate กับคำค้นหาของเราด้วย
  2. Lazada เลือก Filter mall ได้ เลือก Filter LazGlobal (ของที่ผู้ขายมาจากต่างประเทศ เรียกง่ายๆของจากจีน ซึ่งเราจะรู้กันว่าถูกกว่ามากในบางสินค้า แต่มีระยะเวลาส่งอยู่)
  3. JD Central Filter ด้วยช่องทางการจดส่งชำระเงินปลายทาง (COD) ได้ และเลือกที่ขายโดย JD เองได้

อันนี้ไม่นับรวม Filter เรื่องช่วงราคา แบรนด์ต่างๆ ช่องทางการจัดส่งอื่นๆ หมวดหมู่ ฯลฯ​ ที่ส่วนใหญ่ๆ ทุกเจ้ามีเหมือนกัน ความต่างมันอยู่ตรงที่จุดนี้เราว่า Shopee คิดมาดีนะ เลือกมาให้ดีว่าคนกดๆอะไร หรือตัวกรอง (รูปกรวยกรอง) ก็เขียนไปเลยตัวกรอง ดีกว่าแบบไอคอน ซึ่งคนทั่วไปที่ใช้มีหลากหลายช่วงอายุ

ดังนั้นจุดนี้เอง ร้านค้าที่จะลงขายสินค้า ต้องมาดูนะว่าเค้ามี option อะไรให้เราได้เล่นบ้าง เผื่อคนค้นหาแล้วจะได้เจอของเราเลย เช่น ของเราแพงที่ร้านค้าตั้งผ่อนชำระสินค้า คนที่อยากซื้อผ่อนมาเจอปั๊ป มีโอกาสซื้อทันที ส่วนในข้อสังเกตจุดอื่นๆเราจะมาเจาะลึกกันใน ตอนต่อๆไป (อดใจรอนะครับ)

งั้นมารวบรัดให้ดูหน่อยได้ไหมว่า Marketplace มีข้อดี ข้อเสียยังไง และมีจุดข้อสังเกตอะไรที่เราต้องรู้บ้าง เผื่อจะได้ขายได้เลย มาครับ ลุย!!

ข้อดีของ Marketplace

1. เค้าหาลูกค้ามาให้เรา (หา Lead มาให้) แถมส่งเสริมการขายให้เราด้วย (เอาโปรมาล่อเราในโอกาสต่างๆ)

เนื่องจาก platform เค้า เน้นยอดขาย เน้น Traffic เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเราๆ ดังนั้นเค้าจะช่วยทำ platform ให้มันน่าสนใจตลอดเวลา คิด feature ใหม่ๆเผื่อดึงดูดคนให้เข้ามา เช่น Flash sale / 7.7 / 11.11 หรือเล่นเกมต่างๆในแอพ เป็นต้น คนเข้ามามาซื้อของ ค้นหา เจอของๆเรา จบ จ่ายตัง ในโอกาสสำคัญๆตาม Campaign ต่างๆของแต่ละเจ้า ก็จะมีแถมเช่น แจกโค๊ดจัดส่งฟรี โค๊ด
ลดราคาเป็นต้น

ตัวอย่างแบนเนอร์ลดราคาที่มาเรื่อยๆจาก Marketplace แต่ละเจ้า

2. มีเครื่องมือทางด้าน E-commerce ให้พร้อม

หลายคนงงว่าคืออะไร หลังจากที่เราเจอสินค้าเสร็จ เราก็ต้องเอาลงตะกร้า กรอกคูปอง บลาๆ แล้วก็ จ่ายตัง (Payment) และขนส่งมาส่งของ (Logistic) นั่นแหละครับ หมดเลย เค้าช่วยเราหมดแล้ว หรือจะแชทกับร้านค้า (Chat) เดี๋ยวนี้ก็ได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราจะทำร้านค้าที่มีครบๆแบบนั้น เราต้องลงทุนทำในเชิง IT นี่ น่าจะแพงเอาเรื่องอยู่นะครับ หรือในยุคนี้ก็มีคนช่วยทำแพลตฟอร์มที่รวม service พวกนั้นไว้อยู่ครบๆแล้วก็มีนะ (แอบขายของๆ Muze เรามี inCart E-Commerce platform ที่ช่วยสร้างร้านค้าและขายของได้นะ ไปดูที่นี่เลย >> inCart) แต่ก็ต้องบอกว่าที่แต่ละเจ้ามี service พวกนั้นให้ก็เพราะเค้าได้เงินด้วยนั่นแหละครับ

3. เป็นตลาดกลาง แข่งขันกันที่ราคา แต่ถ้าร้านค้าราคาเป็นธรรมแล้ว Rating ดี ไม่ต้องตัดราคามากก็มีคนซื้อ

อันนี้ทัศนคติส่วนตัว กวาดสายตาไปในหลายๆร้าน ตอนที่หาของ ถ้าเรทมาดี มีโอกาสที่จะกดเข้าไปก่อน และขั้นตอนถัดไปทำไรครับ

อ่านรีวิวครับ ถูกต้อง แถมไม่มั่นใจแชทไปถามซะเลย

อันนี้ก็ทำให้คนมาซื้อเรามีโอกาสมั่นใจที่จะซื้อกับเรามากขึ้นมากๆเลย ถ้าเรทในการรีวิวเราดี เรทในการตอบแชทที่เร็ว จบการขายได้เร็วยิ่งขึ้นไปอีกครับ platform แต่ละเจ้าเค้าก็จะพยายามให้คนช่วย รีวิวนะเพื่อปรับพฤติกรรมคนด้วย โดยเอาพวก point / coin อะไรมาล่อเรานิดๆหน่อยๆ แต่เราว่าดีนะเพราะครั้งต่อไปคนซื้อตามที่เรารีวิวมันชัวร์เหมือนที่เราไปอ่านเค้ามา อันไหนห่วยจริงเราก็ 1 ดาวไปฮะ

ตัอวย่างการ Search “เกลือแร่” ใน Shopee จะมีทั้งดาวเยอะ ไม่มีดาวเลย และมี Mall ให้เห็น หรือร้านแนะนำ อันนี้ก็ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจกดได้เร็วขึ้น

4. สร้างร้านที่เป็น Mall เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อันนี้ในกรณีร้านไหนโปรๆหน่อยแล้ว และเป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ คนก็จะพิจารณาเป็นพิเศษนะ สังเกตจากที่เราบอกไปในตอนแรกเรื่องการค้นหา แต่ละเจ้าจะมีปุ่มกดไปดูของจากร้านที่เป็น Mall ทันทีเลย แต่คุณต้องทำตามเงื่อนไขเค้าให้ได้ด้วยนะ (ร้านคุณต้องเป็น Professional นิดๆละ)

5. มีช่วยทำโฆษณาลง Google Shopping ให้ด้วย

อันนี้ต้องบอกว่าเป็นบางรายการ และมีในช่วงแรก หลังๆร้านค้าคงต้องทำของตัวเอง ทั้ง Google Shopping และ Facebook Ads

ตัวอย่าง Google Ads ที่แต่ละเจ้าเวียนเอามาลงให้ร้านค้า

ข้อเสียของ Marketplace

1. เรายืม Platform เค้าใช้ เราก็ต้องจ่ายให้เค้าบ้างไรบ้าง

ค่าธรรมเนียมการขาย (Sale transaction fee) นั่นแหละครับ อย่าง Shopee ตอนนี้เก็บ 3% ในหมวด electornic และ 5% ในหมวดสินค้าที่ไม่ใช่ electronic นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมของการจ่ายเงิน (payment fee) ด้วย เฉลี่ยของ payment ในแต่ละช่องทางคือ 2%(Credit, COD, Bank transfer, Wallet) ส่วนผ่อนชำระ บวกไปอีก 3% รวมเป็น 5% ใครจะทำราคาสินค้าขายใน Shopee ก็คำนึงจุดนี้ด้วยนะ ซึ่ง JD ก็จะมีค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกัน แถมหลากหลายกว่าหน่อย สูงสุดถึง 10% (แต่ตอนนี้มีโปรฟรี 3 เดือน) ส่วน Lazada เค้าค่าคอมมิชชั่นนั้น ฟรี!! เก็บแต่เฉพาะค่าธรรมเนียมจ่ายตัง ซึ่งก็ใกล้ๆกัน

Ref: ดูค่าธรรมเนียมแต่ละเจ้าที่นี่ > Shopee / JD Central / Lazada

ค่าธรรมเนียมชำระเงินด้วย Rate นี้ ถือว่าคุ้มอยู่นะ ไปเชื่อมต่อเองมี 3% up

2. เรายืม Platform เค้าใช้ ! เออหว่ะ ถ้ามันเปลี่ยน Policy หล่ะทำไง

อันนี้แหละ ต้องมาคำนึงสักนิด เราเองต้องยอมรับความเสี่ยงจุดนี้ด้วยนิดนึง เพราะตัวอย่างเช่น แต่ละเจ้าเกิดขึ้นค่าธรรมเนียมหรือคอมมิชชั่นการขายขึ้นมาเราจะทำอย่างไร หากเราขายอยู่บนนี้ที่เดียวแน่นอนว่ารายได้เราก็จะลดลง แต่เราก็เชื่อว่าเค้าต้อง balance ให้มันโอเคกับคนขายเดิมด้วย เพราะช่องทางการได้เงินของเค้ามาจากการที่เราๆขายดีนั่นเอง

3. ข้อมูลพฤติกรรม กับลูกค้าต่างๆเราจะเก็บเพิ่มเติมทำไม่ได้

ข้อมูลที่เราจะได้จะมีข้อมูลเชิงสถิติอื่นๆ และรายการการขายที่เราขายได้ นอกจากนั้นจะมาติด script เองไรเอง แบบเว็บไซต์ตัวเองนั้น ทำไม่ได้ จะประยุกต์ก็ต้องเอาข้อมูลการขายไปแปลงต่อเอง

4. การแข่งขันทางราคาสูง เนื่องจากเป็นตลาดกลาง

ด้วยความที่มันเป็นตลาดเปิด คน Search ก็เจอสินค้าใกล้เคียงกัน ดังนั้นภาพลักษณ์ร้านค้าต้องทำมาดี มีรีวิว และ Rating จากลูกค้า หลายๆคน จะเจอว่าเราเองค้นหาเสร็จเจอร้านดาวเยอะ และขายหลายชิ้น คราวนี้ advance ก็ต้อง เปรียบเทียบจากกลุ่มนั้นอีกที ให้ได้ราคาที่ถูกสุด

ตัวอย่างการค้นหา “Eucerin acne pro” ใน Shopee เราสุ่มๆมา เจอร้านแนะนำทุกร้าน ตกลงร้านไหนดี ฮ่าๆ

ข้อสังเกตอื่นๆ

  1. ส่วนตัวในฐานะผู้บริโภค เราเจอว่าของใน Lazada จากจีนมาเยอะมากๆ บางทีเยอะเกินไปจน Search แล้วไม่เจอของจากร้านที่ต้องการสักที (เพราะบางทีเราอยากได้ร้านในไทย ส่งไวกว่า) ใน Shopee จะน้อยกว่ามาก
  2. การปรับหน้าแรก (Homepage) ให้เป็นแบบ dynamic ตามการค้นหาของเราๆ ใครสังเกตใน Shopee / Lazada บางที ก็เกินไป ปรับมาซะไม่เห็นสินค้าอื่นเลย บางทีแค่มา Search อะไรเล็กๆน้อยๆพี่ท่านเปลี่ยนหน้า Home เป็นของพวกนั้นซะเกลี้ยง
  3. สอบถามเพื่อนๆหลายๆคน ยังไม่ค่อยมีใครไปเข้า JD นะ แต่ร้านค้าเริ่มไปลงกันบ้างแล้ว อันนี้ก็น่าสนใจในมุมคนขายว่า ถ้าดูแลไหว การแข่งขันมันยังไม่สูง น่าไปเจิมๆไว้ก่อน คนติดร้านเราและรีวิวมาดี วันที่ traffic คนเข้ามาเยอะๆ เราได้เปรียบ
  4. จับตาดูเรื่องการกวาดล้างสินค้าผิดกฎหมาย หรือตอนรัฐเก็บภาษีขายให้ดี ร้านค้าจะลดลงอย่างมาก เราเชื่อว่าอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้มีร้านที่ขายตำ่กว่าราคาตลาดที่เราเห็นๆเยอะมากๆ ซึ่งทั้งนี้เราเองก็ไม่ทราบว่าเจ้าของร้านชำระภาษีถูกต้องหรือไม่ อย่างไร (เอาเป็นว่าขนาดที่แบรนด์ Official บางที่ ขายแข่งไม่ไหว)
  5. ในมุมคนขายจับตาดูหากรัฐบาบมีท่าทีจะเก็บภาษีของที่มาขายจาก ตปท. ที่ไม่เกิน 1,500 บาท ตอนนั้นโมเดลการขายจะเปลี่ยนไป คนขายในไทยอาจะมีโอกาสแข่งขันกับ ตปท. ได้ดีขึ้น

ก็ผ่านไปแล้วกับใน EP แรกนี้ที่เน้นไปที่ช่องทาง Marketplace ก่อน EP หน้าเรามาเจาะลงในพวก Social media และดูจุดข้อสังเกตต่างๆกัน หวังว่าไอเดียเล็กๆน้อยๆนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆได้นะครับ ขอให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตโควิทนี้ไปทุกท่านครับ

--

--

Phumpat Ruangsakul
inCart
Editor for

I’m Name, CPO of inCart e-Commerce Platform and co-founders at Muze Innovation. Our businesses focus on tech solutions and e-commerce.