ทบทวนเส้นทางการทำงานตลอด 6 เดือน

Thachaparn Bunditlurdruk
incubate.co.th
Published in
1 min readFeb 6, 2020

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากโลกของการเรียนมาสู่โลกของการทำงาน มันไม่ง่ายเลย ถึงแม้ระหว่างเรียนจะเคยทำงานมหาลัย หรืองานพาร์ทไทม์มาบ้าง แต่พอต้องมาทำงานเต็มตัว มันเป็นคนละเรื่องจริง ๆ มันคือจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ใหญ่ ทั้งความรับผิดชอบ สังคม ความคาดหวัง และความไม่แน่นอนของชีวิต

เราเลยอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อตั้งสติ และคุยกับตัวเองว่าตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง และปรึกษากับตัวเองว่าเราอยากจะมีชีวิตแบบไหนต่อ

มีวินัย และบริหารเวลางานกับชีวิตให้ดี

เนื่องจากบริษัทมีเวลางานที่ยืดหยุ่น ทำให้เราทำงานที่ไหนก็ได้ หรือตอนไหนก็ได้ ขอแค่ให้งานเสร็จ ลืมไปได้เลยกับเวลาเข้างาน หรือตารางเรียนสมัยก่อน ตอนแรก ๆ ก็คิดว่าเป็นเรื่องดี แต่จริง ๆ แล้วเราคิดว่าการทำงานแบบนี้ต้องมีวินัยมากถึงจะทำให้งานเสร็จได้ ถ้าเราแบ่งงานไม่ดี นั่งชิลล์เพลิน แล้วมาปั่นงานตอนใกล้เวลากำหนดส่งก็จะเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต หรืออาจจะกระทบคุณภาพของงานด้วย บางครั้งการทำงานแบบนี้ก็ทำให้เวลางานกับเวลาชีวิตผสมกันไปหมดจนแยกไม่ออกว่าช่วงไหนเวลางานช่วงไหนเวลาพัก ส่งผลให้บางทีเราทำงานไปเรื่อย ๆ แบบใช้เวลาไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานมันก็สามารถทำให้เสร็จได้ภายในไม่กี่นาทีถ้ามีสมาธิ แถมเวลาที่ไม่ชัดเจนก็ไปกระทบเวลาพักเรา เหมือนไม่ได้มีเวลาพักจริง ๆ อีก

ดังนั้น การบริหารเวลางานกับชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก และนอกจากจะเเบ่งเวลาดีแล้ว เราต้องมีวินัยเพื่อให้แผนที่คิดมันสำเร็จด้วย ต่อไปเราจะแบ่งเวลางานไว้ทำเวลาที่เราสมองตื่นและโฟกัสกับงานให้เต็มที่ ส่วนตอนไหนเป็นเวลาพักก็จะพักเต็มที่ให้ได้เหมือนกัน

จงเตรียมพร้อมเมื่อโอกาสมาถึง แต่ไม่เสียดายโอกาสมากจนเกินไป

ข้อดีของการมีเวลางานที่ยืดหยุ่น คือถ้าเราทำงานเสร็จเร็ว เราก็มีเวลาไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้ เช่น ไปเรียนคอร์สการทำแชทบอท คอร์สการสร้างเว็บ หรือไปงานสัมมนาที่เราสนใจ ซึ่งปีนี้เราตั้งใจจะเรียน javascript ให้สำเร็จให้ได้ (ตั้งใจตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่ทำงานแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มซะที) เราเชื่อว่าความรู้เหล่านี้จะเป็นอาวุธติดตัวเราไป เมื่อโอกาสมาถึงเราจะเป็นคนที่พร้อมกระโดดไปคว้าโอกาสนั้นเอาไว้ได้

แต่เรามองว่าเรื่องโอกาสเป็นดาบสองคม ถ้าเราคว้าทุกโอกาสที่เข้ามา ด้วยความคิดที่ว่า “เสียดายโอกาส/อุตส่าห์มีโอกาสแบบนี้” เราอาจจะกำลังหลงทางโดยไม่รู้ตัว โอกาสที่เราคว้าไว้เพราะเสียดายอาจจะพาเราไปสู่อนาคตที่สดใส แต่อนาคตนั้นใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่าเป็นคำถามที่เรามักจะคิดอยู่เสมอ

เรามองว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราชอบอะไร หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเราไม่ชอบอะไร แต่สุดท้ายเราก็ไม่ควรเคร่งเกินไป เพราะลึก ๆ แล้ว เราคิดว่าชีวิตมันพึ่งเริ่มต้น จะวางแผนชีวิตเป๊ะ ๆ ว่าเราจะเป็นสิ่งนี้สิ่งนั้นในอีก 10 ปี แล้วเราจะชอบมันไปอีก 20 ปี ทำงานกับมันจนเกษียณไปเลยตอนอายุเท่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไร ดังนั้น เราอยากจะพยายามรู้จักตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้ว่าชอบไหมไว้ด้วย ถ้าได้ลองแล้วรู้ว่าเป็นยังไง เราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยว่าเราจะไปทางไหน ช่วยให้เราต่อจิ๊กซอว์ภาพชีวิตของเราได้มากขึ้น

ไม่ต้องสำเร็จทุกครั้งก็ได้ นี่คือพื้นที่ของการทดลองและการเรียนรู้

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่ที่เรามีนิสัยถ้าจะทำอะไรก็ควรทำให้ได้ดี ทำให้มักจะเกิดเหตุการณ์รู้สึก fail และผิดหวังในตัวเองบ่อยเวลาไม่สำเร็จอย่างที่หวัง แต่บางครั้งเราก็ลืมไปว่าเราพึ่งเริ่มต้น เหมือนกับเด็กที่เริ่มหัดเดิน จะรีบวิ่งไปทำไม สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าเราได้เรียนรู้อะไรระหว่างทางมากกว่า และเราผิดพลาดอะไรมา จดจำและนำไปปรับปรุงไม่ให้มันเกิดขึ้นดีกว่า ดูเหมือนจะเป็นประโยคที่ได้ยินกันบ่อย แต่เอาเข้าจริงก็จะเผลอทำผิดพลาดอีกครั้ง แล้วจบด้วยการรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำคือ จด! เราต้องเขียนออกมาเป็น checklist ไว้เตือนใจว่าเคยผิดอะไร จะได้ไม่ลืมและรู้สึกไม่ดีกับตัวเองอีกให้ได้ ว่าแล้วก็เตรียมเปิดโน๊ตเลย

พูดคุยเพื่อเข้าใจเป้าหมายของกันและกัน

บางครั้งความสำเร็จของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เรามักจะเครียดกับงานที่ออกมาเพราะเรามองว่ามันไม่โอเค แต่จริง ๆ งานเท่านี้อาจจะถือว่าผ่านแล้วในสายตาของคนอื่น ตอนเข้าทำงานแรก ๆ ก็ค่อนข้างเครียดและกดดันมาก แต่โชคดีที่ในบริษัทสามารถคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมาทำให้เราปรับเป้าหมายให้ตรงกันได้ ตัวเราก็ไม่ต้องกดดันตัวเองมากไป มีเวลาไปทำงานอื่นต่อ ส่วนหัวหน้าก็ได้งานที่ต้องการตามเวลา ถือว่า win-win กันทั้งสองฝ่าย

แต่บางครั้งก็อาจมีปัญหาว่ามาตรฐานที่คนอื่นโอเค มัน “ควร” จะดีกว่านี้จริง ๆ อาจจะมีตกหล่นบ้างไปในบางมุมที่แต่ละคนนึกไม่ถึง ดังนั้น ทักษะการจัดการปัญหา และการสื่อสารให้ข้อสรุปออกมายอมรับได้ทั้งสองฝ่ายแบบไม่บาดหมางกันก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องพยายามเพิ่มขึ้นด้วย

Be kind to yourself

บางครั้งตอนทำงานก็เกิดความเครียดว่าทำไมทำงานไม่สำเร็จ ทำไมทำงานช้า บางครั้งก็นึกสงสัยกับตัวเองว่าเราไม่เหมาะกับงานสายนี้หรือป่าว ถ้าเราจบมาตรงสายจะทำได้ดีกว่านี้ไหม บางครั้งก็เครียดจนกดดันตัวเองมากไป

แต่เราคิดว่าการกดดันตัวเอง “บ้าง” ก็เป็นเรื่องดี แต่บางทีตัวเราก็อยากได้รับคำชมจากตัวเองบ้างนะ ถ้าเราเพียงแต่มองเป้าหมายที่ใหญ่และไกล อาจจะใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ และได้ชื่นชมกับความสำเร็จนั้น ลองสับเป้าหมายนั้นเป็นเป้าหมายระยะสั้น และเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ ดูบ้าง น่าจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น แต่บางครั้งงานที่ทำก็ยากที่จะมองเป็นความสำเร็จเพราะหลายครั้งต้องกลับมาทำงานเดิมหรือแก้ไขใหม่อยู่เรื่อย ๆ เป็นลักษณะงานที่ไม่จบสิ้นซะที ซึ่งมันก็ถือว่าปกติของงานสายนี้

เราคิดว่าการบันทึกสิ่งดี ๆ หรือความสำเร็จเล็กน้อยประจำวัน อาจจะช่วยเตือนสติเรา และให้กำลังใจเรามากขึ้นว่าเส้นทางที่กว่าเราจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราได้ผ่านอะไรมาบ้าง ถ้าเราไม่ได้จด เราอาจจะหลงลืมความพยายามก่อนหน้าของตัวเองไป แล้วคิดถึงแต่เรื่องลบ ๆ เวลาเราติดกับงาน ดังนั้น เราจะเป็นนักจดมากขึ้น จะได้เป็นการบันทึกขอบคุณตัวเองไปในตัว และบันทึกพัฒนาการของตัวเอง เพื่อที่จะได้กลับมาวิเคราะห์ได้อย่างเป็นกลางว่าเราเหมาะกับงานนี้จริงๆไหม หรือเรากำลังฝืนอยู่กันแน่

สรุปสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้

  • Work-life balance ให้ดีและชัดขึ้น
  • รู้จักตัวเองให้มากขึ้น ผ่านการลองอะไรใหม่ ๆ ที่ยังเป็นปริศนากับเรา
  • เป็นนักจดที่จดทั้งความผิดพลาด และความสำเร็จ เพื่อพัฒนาตัวเอง
  • เพิ่มทักษะการสื่อสารและการเจรจา
  • ชมตัวเองวันละนิดจิตเเจ่มใส

พอลองมองทบทวนแต่ละเรื่องก็ดูเป็นเรื่องที่อาจจะเจอได้ตั้งแต่ตอนเรียน แต่ด้วยความที่มันเกิดขึ้นในช่วงการทำงาน ความกดดันที่คิดว่าเราควรจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นในฐานะผู้ใหญ่ทำให้เรามองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มากและจะพินาศมากถ้าเราทำพลาด เพราะมันจะทำให้บริษัทถึงขั้นเสียหายเลยนะ แต่ข้อดีของการได้มาทำงานที่บริษัทนี้คือมันเป็นบริษัทที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทางบริษัทคอยซัพพอร์ทเวลาเรามีปัญหา และช่วยหาทางแก้ไขกันแบบครอบครัว แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างในบริษัทจะดีหมดแล้ว ยังคงมีหลายอย่างที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ดังนั้นไม่ใช่เราคนเดียวที่ได้เรียนรู้ บริษัทก็เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับเราเช่นกัน

สุดท้าย เราก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีแต่ดีขึ้นหลังจากทำสิ่งเหล่านี้ แต่เราเชื่อว่ามันจะดีกว่าเมื่อวานแน่ และเราอาจจะมีปัญหาใหม่เข้ามาทักทาย เราก็แค่แก้ปัญหานั้นไปวันต่อวัน และเรียนรู้บทเรียนจากมันเหมือนกับที่ทำอยู่ตอนนี้เท่านั้น

พยายามเข้านะ ชีวิตพึ่งเริ่มเอง

ธัชพรรณ

5 ก.พ. 2563

--

--

Thachaparn Bunditlurdruk
incubate.co.th

An Arts graduate who’s trying to challenge herself with programming