✍🏼 ความเสี่ยง 11 ข้อของสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้น

Piyorot
Inthentic Inc
Published in
1 min readSep 26, 2020

หมายเหตุ: ผมกลับมาเขียนในเวปไซต์ของตัวเองที่ PIYOROT.COM แล้วนะครับ ในนั้นจะมีข้อมูลความรู้และสื่ออื่นๆมากกว่าในนี้ เพื่อนๆคนไหนสนใจก็ลองแวะไปเยี่ยมเยียนกันได้ครับ ขอบคุณครับ ✌🏼

การเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพต้องเริ่มจากไอเดีย เรามีไอเดียว่าอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร เรามีไอเดียว่าเราอยากจะนำเสนออะไรที่แตกต่างอย่างมีคุณค่าให้ตลาดและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย … แต่สตาร์ทอัพมาพร้อมความเสี่ยงเสมอครับ ความเสี่ยงที่เราจะไปไม่รอด ความเสี่ยงที่เราจะหาเงินลงทุนไม่ได้ ความเสี่ยงที่เราจะขายไม่ออก หน้าที่สำคัญของผู้ก่อตั้งต้องทำก่อนเลยคือการประเมินความเสี่ยงเหล่านี้และพยายามหาแนวทางป้องกันหรือลดดีกรีความรุนแรงของมันตั้งแต่ต้น

ปัจจัยความเสี่ยงที่นำเสนอมานี้เป็นมุมมองของนักลงทุนมืออาชีพที่ใช้วิเคราะห์ความน่าลงทุนของบริษัทสตาร์ทอัพ ดังนั้นการเตรียมข้อมูลเพื่อตอบคำถามพวกนี้จะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้ดีมากครับ

👫 ความเสี่ยงจากทีมผู้ก่อตั้ง — สตาร์ทอัพนี้มีทีมงานผู้ก่อตั้งที่เหมาะสมหรือไม่? ตามหลักการแล้วสตาร์ทอัพต้องประกอบไปด้วยคนที่เก่งมากๆเรื่องเทคโนโลยีและคนที่มีความสามารถจะบริหารธุรกิจได้ … อย่างน้อยก็ตอนเริ่มต้น คนที่ดูแลเทคโนโลยีเก่งพอมั้ย? คนที่จะเป็นซีอีโอมีความสามารถที่จะบริหารบริษัทได้รึเปล่า? หรือว่าในทีมไม่มีคนที่เข้าใจธุรกิจเลย? หรือกลับกันว่าทีมนี้มีแต่ธุรกิจแต่ไม่มีคนเก่งเทคโนโลยีซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าบริษัทนี้ไม่น่าลงทุน?

🛍 ความเสี่ยงจากตลาด — มีตลาดสำหรับโปรดักท์หรือเซอร์วิสที่สตาร์ทอัพกำลังทำอยู่จริงมั้ย? มีลูกค้าที่อยากจะได้โปรดักท์นี้อยู่รึเปล่า? พวกเขาพร้อมจ่าย? พวกเขาพร้อมจ่ายที่ราคาเท่าไร? เรารู้ได้อย่างไร?

🥊 ความเสี่ยงจากการแข่งขัน — มีสตาร์ทอัพอื่นทำเรื่องนี้อยู่แล้วหรือไม่? เยอะแค่ไหน? สตาร์ทอัพนี้มีความแตกต่างจากสตาร์ทอัพอื่นมากเพียงพอหรือไม่? แล้วแตกต่างจากบริษัทใหญ่ที่นำเสนอโปรดักท์หรือเซอร์วิสที่ใกล้เคียงกันแค่ไหน?

⌚️ ความเสี่ยงเรื่องเวลา — มันช้าเกินไป? มันเร็วเกินไป? ตอนนี้ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับโปรดักท์นี้มั้ย?

💵 ความเสี่ยงด้านการเงิน — หลังจากลงทุนรอบนี้ไปแล้ว สตาร์ทอัพนี้ต้องการเงินลงทุนเพิ่มอีกกี่รอบเพื่อที่จะกลายเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้? แล้วต้องการเงินรวมแล้วอีกเท่าไร?

📢 ความเสี่ยงเรื่องการตลาด — สตาร์ทอัพนี้ดีพอที่จะฝ่าเสียงรบกวนในตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้มั้ย? ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจะเป็นเท่าไร? ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างเงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ลูกค้ามาเทียบกับรายได้ที่สตาร์ทอัพจะได้จากลูกค้าแต่ละรายมันเวิร์คหรือไม่?

🚚 ความเสี่ยงจากการกระจายโปรดักท์ — สตาร์ทอัพนี้ต้องการพาร์ทเนอร์มาช่วยกระจายหรือขายโปรดักท์หรือเซอร์วิสหรือไม่? พวกเขาจะหาพาร์ทเนอร์แบบนี้ได้มั้ย? อย่างไร?

🤖 ความเสี่ยงจากเทคโนโลยี — โปรดักท์นี้มันสร้างขึ้นมาได้จริงมั้ย? มันต้องการความรู้อะไรที่ลึกลับซับซ้อนแบบสุดขั้วรึเปล่า? มันต้องใช้เทคโนโลยีอะไรที่ต้องคิดค้นขึ้นมาใหม่รึเปล่า? มันยากแค่ไหน? แล้วสตาร์ทอัพทีมนี้จะมีความสามารถพอที่จะสร้างมันขึ้นมาได้จริงมั้ย?

🖥 ความเสี่ยงจากโปรดักท์ — สมมติว่าโปรดักท์นี้ถูกสร้างขึ้นมาได้ คำถามคือสตาร์ทอัพทีมนี้มีความสามารถและความพร้อมเพียงพอที่จะทำได้ด้วยตัวเองหรือไม่?

👔 ความเสี่ยงจากการหาทีมงาน — ตำแหน่งอะไรที่สตาร์ทอัพนี้ขาดอยู่แล้วต้องจ้างเพิ่มเพื่อที่จะทำงานตามแผนที่วางไว้ได้? เช่น สตาร์ทอัพที่ทำซอฟต์แวร์ที่รันอยู่บนระบบคลาวด์ต้องจ้างหัวหน้าทีมโอเปอเรชั่น แล้วสตาร์ทอัพนี้มีความสามารถที่จะเข้าถึงและจ้างคนเก่งเข้ามาร่วมทีมได้หรือไม่?

🗺 ความเสี่ยงจากสถานที่ตั้ง — สตาร์ทอัพนี้เริ่มต้นและตั้งอยู่ที่ไหน? พวกเขาสามารถจ้างคนเก่งในละแวกนั้นได้รึเปล่า?

พรุ่งนี้มาต่อกันเรื่องวิธีการในการลดความเสี่ยงเหล่านี้ครับ

เรื่องนี้ผมเขียนจากความรู้ที่ได้จากการอ่านบทความที่ดีมากๆของมาร์ก อันเดรสเซ่นครับ

--

--

Piyorot
Inthentic Inc

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com