มาตรฐานสินค้าราคาถูก

Piyorot
Inthentic Inc
Published in
1 min readJun 30, 2015

ผมมีเพื่อนสนิท (อีกคนหนึ่ง) เป็นสถาปนิก เรียนจบมาพร้อมๆกัน เริ่มทำงานในเวลาใกล้เคียงกัน ถึงจะผ่านมาหลายปีแล้วแต่ผมจำได้ดีว่าบทสนทนานี้เกิดขึ้นที่ร้านข้าวต้มใกล้บ้าน

“วงการนี้มันเกิดยาก เด็กๆตัวเล็กๆอย่างเรา” เพื่อนผมแชร์มุมมองต่อสายอาชีพสถาปนิก

“ทำงานสองแสนได้เงินเดือนสองหมื่น เหนื่อยหวะ … แกรู้มั้ยว่าทำไม?” เพื่อนยิงคำถามมาที่ผม

“ทำไมวะ งานเยอะหรอ?” ผมก็ตอบไปแบบซื่อๆ

“งานเยอะก็ส่วนหนึ่ง แต่ต้นตอสำคัญมันคือธุรกิจนี้มันแข่งกันราคาถูก บริษัทส่วนใหญ่พร้อมจะดั้มพ์ราคาลงมาต่ำๆเพื่อให้ได้งานเข้ามาเยอะๆ เหมือนยอมกินส่วนต่างกำไรน้อยๆจากปริมาณงานมากๆหวะ” เพื่อนผมหยุดซดข้าวต้มไปแล้วด้วยความเครียด ฮ่าๆ

“พอราคามันถูกจะเอาเงินมาจ้างพนักงานแพงๆมันก็ไม่ได้ จบงานที่หนึ่งราคาถูก งานที่สองมันจะไปคิดแพงก็ไม่ได้แล้ว ลูกค้าไม่โง่นะ แล้วคิดดูว่าหนึ่งบริษัทเป็นแบบนี้ สิบบริษัทก็เอาอย่าง ร้อยบริษัทก็ไม่มีทางเลือกอื่น กลายเป็นการสร้างมาตรฐานไปว่างานสถาปนิกเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ เป็นเรื่องอะไรที่หาได้ง่ายๆในราคาถูกๆ” เพื่อนผมร่ายยาว

“แทนที่บริษัทพวกนี้จะจับมือกันสร้างมาตรฐานราคาที่สมควรจะเป็น สร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแรง กลายเป็นแข่งกันถูกเหมือนลดคุณค่าอาชีพตัวเองยังไงไม่รู้” เพื่อนผมจบบทสนทนาตรงนี้

ผมเห็นด้วยกับที่เพื่อนผมพูดมากนะ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการแข่งกันราคาถูกจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำธุรกิจ อย่าเพิ่งไม่เห็นด้วย ฮ่าๆ ผมก็เข้าใจว่าในบางธุรกิจเรื่องราคาถูกสำคัญสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าและบริการประเภทโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศหรือทั่วโลก เช่น เมื่อพูดถึงข้าวโพด เราไม่สนหรอกว่ามันจะมาจากไร่ลุงแดงที่กาฬสินธุ์หรือจากไร่ป้าทองที่กาญจนบุรี แต่งานออกแบบบ้านมันไม่ควรจะเหมือนการทำไร่ข้าวโพดนะ

บทสนทนาและความรู้สึกครั้งนั้นเวียนกลับมาในสมองผมเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อผมต้องยื่นใบเสนอราคาเพื่องานพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง หลังส่งราคาไปเรียบร้อย ผมโทรไปแจ้งพี่หัวหน้าทีมไอทีของบริษัทนั้นอีกรอบ

“พี่ครับ ผมส่งราคาไปในอีเมล์แล้วครับ รบกวนพิจารณาด้วยครับ” ผมเริ่มก่อน

“ได้ๆ ขอบคุณมาก เดี๋ยวพี่รีบดูเลย” พี่คนนี้อัธยาศัยดีครับ

“พี่ครับ พี่รอให้บริษัท ABC เสนอราคามาด้วยใช่มั้ยครับ?” ผมถามด้วยความสงสัย

“ใช่ๆ พี่รอดูสองเจ้าเลย”

“แล้วจุดตัดสินมันคืออะไรครับพี่?” ผมถามเพราะอยากประเมินโอกาสที่จะได้งาน

“ราคา” พี่เค้าตอบมาคำเดียว

“แฮะๆ ราคาอย่างเดียวเลยหรอครับ?” ผมอมยิ้มและถามย้ำ

“ใช่ๆ อย่างเดียวเลย” พี่ตอกย้ำด้วยความมั่นใจ

นี่แหละครับที่ผมเล่าให้ฟังว่าการแข่งขันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เป็นเรื่องดีกับธุรกิจที่ใช้สมอง ใช้ฝีมือ ใช้ความประณีตในการทำ ไม่ว่าจะงานสถาปนิก งานซอฟต์แวร์ งานทางด้านศิลปะ หรือแม้แต่งานก่อสร้าง (คนสร้างบ้านได้นี่เก่งมากนะครับ แค่ฉาบปูนก็โคตรยากแล้ว — ผมไม่เคยทำหรอกแต่รู้เลยว่าไม่ง่าย)

พี่คนนี้ไม่ได้ผิดอะไรเลย — ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนอยากได้ของดีราคาถูกแต่ในบางกรณีของดีราคาถูกไม่มีอยู่จริงครับ น่าเสียดายที่คนทั่วไปไม่รู้ มาตรฐานที่ถูกสร้างมาอย่างผิดๆทำให้งานซอฟต์แวร์กำลังจะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไปด้วยซะแล้ว มันไม่ส่งผลดีกับใครเลยกับลูกค้า คุณภาพของงานก็ได้ตามราคาที่จ่าย จ่ายราคาถูกคุณภาพก็ตามนั้น ดีไม่ดีงานไม่เสร็จ เสร็จมาใช้ไม่ได้ กลายเป็นเกิดภาพลบต่อวงการนี้

กับผู้ประกอบการถ้าจะอยู่ได้ด้วยราคาที่ถูกก็ต้องรับงานเข้ามาเยอะๆ หลายครั้งเยอะจนเกินปัญญาที่เด็กๆจะทำไหวก็เอ้าท์ซอร์สออกไปเป็นทอดๆ การควบคุมคุณภาพยิ่งยากเป็นทวีคูณ อีกทางเลือกที่จะสร้างกำไรได้คือกดผลตอบแทนของเด็กให้ต่ำๆแล้วใช้งานมันให้เยอะๆ — ไม่ว่าทางไหนก็มีแต่เสียกับเสีย

จากความผิดพลาดในการวางกลยุทธ์การแข่งขันมันมีส่วนทำให้คุณค่าของอาชีพมันลดลง คนที่ทำงานในวงการซอฟต์แวร์อาจจะดีหน่อยแต่ดูคนที่อยู่ในสายสถาปนิกหรือกราฟฟิค ดีไซเนอร์ซิ งานที่เค้าทำไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้นะ มันต้องใช้สมอง ใช้ความคิด ใช้ทักษะอย่างมากแต่ผลตอบแทนที่เค้าได้รับมันน้อยอย่างน่าตกใจ ที่ได้ยินมาคือกราฟฟิค ดีไซเนอร์มีประสบการณ์ทำงานสองสามปีเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท อืมมมมม — มันเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างแท้จริงครับ

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Inthentic Inc

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com