สุมหัวกันในที่ที่สาม : กระบวนการตามหาชุมชนทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในเมืองตรัง

Apichaya@mingleintrang
Intermingle in Trang
3 min readMay 17, 2018

ในสมัยโบราณกาล พื้นที่ที่สามของคนในชนบทภาคใต้จะผูกพันอยู่กับโรงหนังตะลุง บ้านของคณะมโนราห์ สนามชนวัว สนามชนไก่ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและการผ่อนคลายเพียงไม่แห่งที่ผู้คนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านหลังจากเสร็จภารกิจในเรือกสวนไร่นา(ชัยพร จันทร์หอม, 2017)ในบริบทของเมือง เมื่อค้นคว้าเอกสารเบื้องต้นพบบันทึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจนมาก คือ ร้านกาแฟและงานศพ ทั้งสองพื้นที่ได้รับการอ้างถึงในงานเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนตรังเสมอ ทั้งวิถีการนั่งร้านกาแฟและวิถีการนั่งงานศพทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่มีชีวิตชีวามากในอดีต ร้านกาแฟในเมืองตรังนั้นมีเป็นจำนวนมากที่ขายกาแฟทั้งในตอนเช้าและค่ำ โดยประวัติศาสตร์เล่าว่า กลุ่มคนจีนที่มาตั้งรกรากทำการค้าขายในเมืองเป็นผู้เริ่มต้นวัฒนธรรมการกินกาแฟหรือโกปี้ขึ้น วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในมื้อเช้าและมื้อค่ำจึงเป็นที่แพร่หลายทั่วไปในจังหวัดตรัง (จิตรา หลีกภัย, 2533)ทั้งนี้เป็นผลมาจากในอดีตยังไม่มีโทรทัศน์หรือสื่ออื่น ๆ การนั่งคุยกันตามร้านกาแฟ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนข่าวสาร และเจรจาธุรกิจ[i](นันท์ เถระวงศ์ et al., 2018)นอกจากร้านกาแฟซึ่งเป็น “ที่ที่สาม” ตามวิถีคนตรังแล้ว “งานศพ” ก็ถือเป็นเป็นประเพณีที่สร้างพื้นที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของคนตรังที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เมื่อค้นคว้าเอกสารทั้งงานเขียนเชิงวิชาการ บทความทั่วไป เรื่องเล่าที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วพบว่าสอดคล้องกับการสัมภาษณ์คนรุ่นเก่าที่ต่างยกให้วิถีการจัดงานศพของตรังมีเอกลักษณ์เฉพาะจนกลายเป็นพื้นที่รวมตัวของคนจำนวนมาก

วิถีดังกล่าวเกิดจากรูปแบบการสื่อสารผ่านการพิมพ์การ์ดเชิญที่มีลักษณะเป็นแผ่นประกาศ มีรายละเอียดต่าง ๆ บอกไว้ เช่น ชื่อผู้ตาย สถานที่ตั้งศพ วันจัดงาน วันฌาปนกิจ และรายชื่อเจ้าภาพพร้อมญาติทุกคน เป็นต้น แล้วนำแผ่นประกาศนี้ไปติดไว้ตามที่ชุมชนทั่วไปเพื่อส่งข่าวสารแทนบัตรเชิญ เช่น ร้านกาแฟ หรือส่งไปยังสถานีวิทยุท้องถิ่นเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน ด้วยลักษณะทางสังคมเฉพาะของตรังที่อาศัยการสื่อสารกันตามแหล่งนัดพบต่าง ๆ สภากาแฟจึงกลายเป็นแหล่งกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึงและได้ผลอย่างดี ผู้คนที่ทราบข่าวจากการอ่านประกาศ จะดูรายชื่อเจ้าภาพหรือผู้ตายว่ารู้จักหรือไม่แล้วจะบอกต่อกันไปในหมู่ญาติมิตรและคนที่รู้จัก และจะไปร่วมในพิธีงานศพด้วยตนเองโดยไม่ต้องบอกกล่าว เพราะถือว่าเป็นการเชิญแล้ว นอกจากพิธีการทางศาสนาแล้ว การ “นั่งงาน” หรือ “กินงาน” ถือเป็นการชุมนุมสังสรรค์อย่างหนึ่งของชุมชนคนตรัง ทำให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างไกลกันได้มารวมตัวกัน[ii]ดังคำพูดที่ว่า “คนตายสร้างสายใยคนเป็น” (Intermingle in Trang, 2018b; V, 2554; จิตรา หลีกภัย, 2533; ชัยพร จันทร์หอม, 2017; เทศบาลนครตรังและเครือข่าย, 2558; นันท์ เถระวงศ์ et al., 2018; สมาคมชาวตรัง, 2547)

ทั้งวิถีการนั่งร้านกาแฟและการนั่งงานศพยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่กลุ่มคน กิจกรรม และรูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในขณะที่การประกาศงานศพตามสถานที่สาธารณะยังคงทำหน้าที่ในการสื่อสาร “การบอกงาน” ได้ดีเหมือนเดิม ก็มีสื่อใหม่ที่ช่วยแจ้งข่าวงานศพได้เป็นวงกว้างและรวดเร็วมากขึ้น แม้งานศพจะเป็นแหล่งพบปะที่ยังคงคึกคักอยู่ ผู้คนมีทางเลือกในการรวมกลุ่มมากขึ้น ร้านกาแฟเก่าแก่ที่เคยเป็นที่แลกเปลี่ยนข่าวสารกลับลดบทบาทลงกลายเป็นเพียงที่หาอาหารอร่อยเจ้าเก่ารับประทาน และเป็นที่ประจำของคนรุ่นปู่ย่าตายายเท่านั้น สังเกตได้จากแผ่นกระดานข่าวสารตามร้านกาแฟที่เคยเต็มไปด้วยประกาศต่าง ๆ นานาของชุมชนและบ้านเมืองถูกทิ้งให้ว่าง เนื่องจากช่องทางเข้าถึงข่าวสารที่มากขึ้น ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ต คนรุ่นใหม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพามากขึ้น แทนที่จะไปร้านกาแฟตรงหัวมุมถนนและคาดหวังว่าจะเจอเพื่อนขาประจำที่นั่น พวกเขาเพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือเข้าแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ก็จะได้พูดคุยและรับรู้เรื่องราวของเพื่อน รวมทั้งข่าวสารบ้านเมืองและความเป็นไปของโลกได้ในชั่วพริบตา

ในยุคของชุมชนออนไลน์ ความต้องการที่ที่สามในโลกจริงอาจจะลดความสำคัญลง เพราะได้ถูกเติมเต็มหรือกระทั่งแทนที่ด้วยพื้นที่ในโลกเสมือนไปแล้ว แต่ภายใต้วัฒนธรรมซึ่งการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์เข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ที่ที่สามทางกายภาพในท้องถิ่นตามนิยามของ Oldenburg ยิ่งมีความจำเป็นมากกว่ายุคอื่นใด เพื่อที่จะเติมเต็มมิติของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร้านกาแฟยังคงเป็นสถานที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของคนรุ่นหลังแต่เป็นร้านกาแฟที่มีรูปลักษณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่การพบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อน การนั่งทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา การทักทายขาประจำ การประชุมหารือ การเจรจาธุรกิจ การไปดื่มกาแฟและกินขนม เป็นต้น

ปัจจุบัน ชีวิตสาธารณะของผู้คนในเมืองเล็ก ๆ อย่างเมืองตรัง เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ในร้านน้ำชา มีหมูย่าง ขนมจีน ติ่มซำชุดใหญ่ให้เลือกทานได้ตามใจชอบ บ้างก็ในสวนสาธารณะขนาดเล็กที่มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มายืดแข้งยืดขา ออกกำลังยามเช้า ตกบ่ายร้านกาแฟตกแต่งสไตล์ Loft ก็เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มานั่งคุยสารทุกข์สุขดิบกับเพื่อน บ้างก็หมกมุ่นกับคอมพิวเตอร์พกพาที่เสียบปลั๊กแบตเตอรี่พร้อมนั่งทำงานเป็นชั่วโมง ๆ บ้างก็ใส่หูฟังเปิดเพลงดัง ๆ กับหนังสือเล่มโปรดในมือ บ้างก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคในการถ่ายภาพ หลังเวลาเลิกเรียน ร้านหนังสือมิตรสาส์นซึ่งอยู่ใจกลางเมืองก็จะมีกระเป๋านักเรียนจำนวนหนึ่งกองระเกะระกะที่พื้นหน้าร้าน ภายในมีนักเรียนเดินขวักไขว่ เดินมาอีกหน่อยแม่ค้าพ่อค้าเริ่มตั้งแผงขายอาหารปรุงสำเร็จและขนมอร่อย ๆ ที่ตลาดเซ็นเตอร์พ้อยข้างลานวัฒนธรรม พอพลบค่ำ ร้านน้ำชาสไตล์เก๋ ๆ ริมถนนรัษฎา ก็จัดเรียงเก้าอี้พร้อมรับวัยรุ่นที่มานั่งสังสรรค์กันอย่างคึกคัก ในสนามกีฬาฝั่งตรงข้ามถนน ก็มีกลุ่มนักบาสชายหญิงที่พากันแย่งลูกบาสเพื่อเอาชนะทีมคู่แข่งและหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน นักเทนนิสมือสมัครเล่นนั่งพูดคุยกันริมคอร์ต และนักวิ่งมืออาชีพวิ่งฉิวลู่ลมเย็น ๆ จนดึกดื่น บรรยากาศข้างต้นเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองตรัง ทำให้ตรังเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามากเมืองหนึ่ง มีพื้นที่กิจกรรมที่นอกเหนือจาก “ที่บ้าน” และ “ที่ทำงาน/เรียน” จำนวนมาก พี้นที่ลักษณะดังกล่าวถูกนิยามโดยRay Oldenburg ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเมืองว่า “ที่ที่สาม (Third Place)”(Oldenburg, 1989, p. 16)

ที่ที่สามเป็นสถานที่ที่มีความหมายต่อผู้คนตามความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น หากพิจารณาในทางกายภาพ ที่ที่สามมีความหมายค่อนข้างกว้างและเกือบจะไร้ขอบเขต กล่าวคือ เป็นที่ที่ไม่ใช่อาณาบริเวณของที่บ้านซึ่งถือเป็นที่ที่หนึ่ง และที่เรียนหรือที่ทำงานซึ่งถือเป็นที่ที่สองบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางสังคมหน่วยเล็กที่สุด เป็นที่แรกของมนุษย์ในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวและใกล้ชิด เมื่อเติบโตมาเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น คนเราจะปฏิสัมพันธ์กันในที่เรียนและที่ทำงาน ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบเจอก็จะเปลี่ยนไป เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางกฎระเบียบทางสังคมและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามบทบาทอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากที่ที่หนึ่งและสองแล้ว มนุษย์ก็ยังต้องการที่ที่สามเพื่อเติมเต็มรูปแบบความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการให้กับชีวิตอีกด้วยOldenburg อธิบายว่า ที่ที่สามหรือสถานที่รวมตัวของผู้คนอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบจำเป็นและสำคัญต่อสุขภาวะของสังคม ทั้งนี้ พื้นที่อารยธรรมและเมืองที่ยิ่งใหญ่ในอดีตและปัจจุบันมักจะมีพื้นที่สำหรับรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของผู้คนอยู่เสมอ

“แนวความคิดเรื่อง third place มันเริ่มมาจากแนวความคิดในการพัฒนาเมืองหลาย ๆ ความคิด เช่น “อุทยานนคร” ของ Ebenezer Howard ที่พูดถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองมีโอกาสที่จะปะทะสังสรรค์กันทางสังคมมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด “ละแวกบ้าน” (Neighbourhood concept) ซึ่งในอดีตแนวคิดนี้เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเน้นพื้นที่สาธารณะที่คนจะร่วมกันแสดงออกถึงอะไรบางอย่างทางสังคม มีการปะทะกันทางสังคมชัดเจนมาก แต่แนวคิดนี้ก็เริ่มลดบทบาทลง เพราะคนรุ่นใหม่มีที่ว่างเสมือนจริงที่อยู่ใน online social network เราอาจจะไปปะทะสังสรรค์กันทางสังคมในนั้นมากขึ้น กลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจเฉพาะทาง ก็ไปอยู่ใน social network อย่าง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ มากขึ้น

จริง ๆ พื้นที่ทางสังคม (social space) เป็นหนึ่งในเรื่องจิตวิทยาสถาปัตยกรรม ถ้าศึกษากันลึก ๆ เราจะแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวคือพื้นที่ในบ้าน และพื้นที่ที่เราอยู่กับคนรอบ ๆ ข้าง แต่ก่อนคือเป็นรูปแบบพื้นที่กายภาพที่จะต้องมีที่ว่าง ในเมืองหนึ่งจะต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้คนทำกิจกรรมได้ ยุคนี้มันกลายเป็นรูปแบบพื้นที่เสมือนจริง (virtual space) ทำให้เป็นกระบวนทัศน์ของการออกแบบที่ว่างเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่า การใช้ที่ว่างทางกายภาพหรือที่ว่างที่มีอยู่จริง เห็นหน้ากันจริง ๆ ยังคงเป็นพื้นที่เมืองที่มีความสำคัญในการสร้างการปะทะสังสรรค์ระหว่างบุคคลต่างวัย ซึ่งจะต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน

กระบวนทัศน์เรื่องพื้นที่ทางสังคมของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อาจจะต่างกัน คนรุ่นเก่าใช้ที่ว่างสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายในขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้สำหรับกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงและใช้ที่ว่างเสมือนจริงมากกว่าอย่างไรก็ตาม ในการวางแผนพัฒนาเมือง การสร้างที่ว่างทางสังคมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ก็ยังคงเป็นบทบาทที่สำคัญของนักพัฒนาเมือง

เมื่อเราออกแบบสถาปัตยกรรมหรือชุมชนเมือง เราต้องรู้ว่ากิจกรรมของเมืองเกิดขึ้นที่ไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง ผู้ใช้เป็นคนประเภทไหน รุ่นไหน แต่ละกลุ่มสร้างกิจกรรมอะไรในเมือง ทั้งนี้เพื่อให้การออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองมีความสอดคล้องกับพื้นที่ทางสังคมเหล่านั้น ในฐานะสถาปนิกเราจึงไม่ได้ออกแบบตัวอาคารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวิเคราะห์ด้วยว่สถาปัตยกรรม มีความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะในเมืองอย่างไร สถาปัตยกรรม นั้นจึงจะเอื้ออำนวยให้คนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง โดยสรุป แม้พื้นที่ทางสังคมจะถูกผลักให้ไปอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่การปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าในพื้นที่ของโลกจริงก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย เป็นที่มาว่าทำไมเราต้องออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดชีวิตสาธารณะในเมือง”

ตรีชาติ เลาแก้วหนู (Intermingle in Trang, 2018b)

บรรยากาศของนครตรังที่บรรยายไปในตอนต้นทำให้เราเห็นพื้นที่เมืองที่มีชีวิต สถานที่จำนวนมากไม่ว่าจะถือครองโดยรัฐหรือเอกชนได้กลายเป็นที่ที่สามของคนหลากหลายกลุ่มและวัย ทั้งสวนสาธารณะของเมืองที่กลายเป็นสถานที่รวมกลุ่มของผู้สนใจกีฬาและการออกกำลังกาย ทั้งพื้นที่ขายอาหารเล็ก ๆ ริมทางที่มีคนมาดื่มกินและพูดคุยกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทั้งพื้นที่ฟุตบาธหน้าร้านหนังสือใจกลางเมืองที่กลายเป็นจุดนัดพบของนักเรียน ทั้งร้านกาแฟที่กลายเป็นสถานที่จัดเสวนาและทำงานกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ทั้งตลาดนัดและห้างสรรพสินค้าที่ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและข่าวสาร ทั้งจุดรอรถประจำทางที่คนทักทายกันระหว่างรอ ทั้งลานหน้าสถานที่เรียนพิเศษมีทั้งกลุ่มผู้ปกครองมารอรับบุตรหลานและนักเรียนที่ยืนซื้อขนมก่อนเข้าเรียน ทั้งห้องสมุดสาธารณะที่มีคนทุกรุ่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาอ่านหนังสือทุกวันเสาร์อาทิตย์ หากพิจารณาตามนิยามอย่างกว้าง แทบทุกสถานที่รวมตัวของผู้คนที่ไม่ใช้ที่บ้านและที่ทำงานสามารถเป็นที่ที่สามได้ เพราะทุกที่ต่างมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อชีวิตสาธารณะของผู้คนในนครตรัง อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในที่ที่สามแต่ละแห่งก็มีรูปแบบและระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของพื้นที่และกระบวนการสร้างความหมาย จะเห็นได้ว่า พื้นที่บางแห่งมุ่งหมายให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นที่รกร้างไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ในขณะที่บางแห่งตั้งใจให้เป็นเพียงสถานที่สำหรับการบริโภคแต่กลับเกิดบทสนทนาที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นประจำ กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยความคิดใหม่ ๆ และเป็นที่พบเพื่อนใหม่ซึ่งมีความสนใจเฉพาะเหมือนกัน ส่งผลทางบวกต่อการพัฒนาชุมชนทางวัฒนธรรม เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เกิดชุมชนทางวัฒนธรรมของผู้สนใจศิลปะและสถาปัตยกรรมในเมือง โดยกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ยึดโยงกันด้วยความสนใจเฉพาะนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อยากสร้างชุมชนทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ในเมือง เช่น 3/2Gallery, Tub-tieng Old Town Café, The Tree Sleep | Space และ 3rd Place Coffee Trangเป็นต้น คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม เช่น กลุ่มช่างภาพรุ่นใหม่และศิลปิน ก็ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมชั่วคราวในพื้นที่สาธารณะของเมือง เช่น 100 ปีเมืองทับเที่ยง เป็นต้น

นอกจากนี้ พบว่า มีการเพิ่มจำนวนและขนาดของร้านกาแฟซึ่งออกแบบและจัดการในแบบสบาย ๆ มากขึ้น บางแห่งมีบริการ Co-working space สำหรับการรวมกลุ่มทางสังคมและธุรกิจ ในพื้นที่เหล่านี้ เกิดกิจกรรมและบทสนทนาที่หลากหลาย มีขาประจำ ผู้มาเยือนมีโอกาสพบปะเพื่อนหรือเครือข่ายของคนทำงานแนวเดียวกันที่อยู่ในเมืองตรังได้เสมอ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายให้บริการ มีโซฟาและเก้าอี้นั่งสบาย ให้บรรยากาศคล้ายอยู่บ้าน กิจกรรมและการใช้พื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งที่สำคัญ ในขณะที่การสร้างพื้นที่สำหรับชีวิตสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะในเมืองก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน

เหตุผลหนึ่งที่นครตรังโดดเด่นในเรื่องพื้นที่ที่สาม ก็สืบเนื่องจากการใช้ชีวิตสาธารณะของคนตรังซึ่งเป็นวิถีมาแต่ดั้งเดิม แม้ปัจจุบันนี้จะมีสื่อใหม่มากมาย แต่คนตรังไม่ว่ารุ่นไหน ก็ยังคงออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน สร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามร้านกาแฟ ร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในรอบห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่แบบนั้นและคนที่อยู่ในนั้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีการศึกษาในเชิงประจักษ์ว่า สถานที่เหล่านั้นทำหน้าที่ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ในยุคสังคมดิจิตอล พื้นที่ทางกายภาพดังกล่าวได้พัฒนาไปสู่ชุมชนทางวัฒนธรรมบ้างหรือไม่ ใครบ้างที่เข้าถึงที่ดังกล่าว และขาประจำกลุ่มใดที่สร้างตัวตนของสถานที่นั้น ๆ ขึ้นมา ฯลฯ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับที่ที่สามซึ่งดำเนินการโดยรัฐ

ดังนั้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์สามประการ ได้แก่

1. เพื่ออธิบายการเกิดขึ้นและลักษณะเฉพาะของ “ที่ที่สาม” ในเขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งคนรุ่นใหม่เลือกเข้าใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในชุมชน (ทั้งชุมชนทางกายภาพและชุมชนทางวัฒนธรรม)

2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานของ “ที่ที่สาม” ที่มีลักษณะเฉพาะของคนรุ่นใหม่ ในเขตเทศบาลนครตรัง

3. เพื่อให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการสร้าง“ที่ที่สาม” ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ชุมชนทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ได้

[i]“แต่เดิมการทานอาหารนอกบ้านเป็นวิถีของคนในตัวเมือง การนั่งร้านกาแฟจึงเป็นวิถีปกติมานานแล้ว ส่วนคนต่างอำเภอคนกินอาหารในบ้านและมีกาแฟเป็นเครื่องดื่มเสริม แต่ร้านกาแฟก็ยังเป็นพื้นที่รับแขกของคนทั่วไป เมื่อมีคนไปเยี่ยมบ้าน ไม่มีตู้เย็น ไม่มีกระติกน้ำแข็ง ก็พาไปร้านกาแฟ แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องปกติ คนกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น

เมื่อก่อนกินข้าวเสร็จไปร้านกาแฟ จะได้เจอเพื่อน เพราะไม่มีทีวี การมาร้านกาแฟของคนในตลาดก็ไม่ได้มานั่งเฉย ๆ พ่อค้าแม่ค้าก็มาตกลงธุรกิจ เป็นแหล่งของข่าวสารในชุมชน บางช่วงของประวัติศาสตร์ ร้านกาแฟก็เป็นแหล่งเล่นการพนันด้วย (พนันฟุตบอล พนันการเมือง และพนันการแข่งวัวชน) แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเรื่องปัญหาขัดแย้ง เพราะรู้กันว่าใครมาตรงนี้เพื่อคิดบวก เพื่อสามัคคี บางแห่งรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มเป็นสภา ทำให้การติดต่อธุรกิจ การแลกเปลี่ยน และการพึ่งพาอาศัยกันเกิดขึ้นที่นี่ จุดนัดพบเหล่านี้ เป็นที่แลกเปลี่ยน สื่อสาร สื่อข่าว สังคมแบบนี้จะอยู่กับเราอีกนาน ถือเป็นอัตลักษณ์ของคนตรัง”

(นันท์ เถระวงศ์, ลักษณ์ เหมไพศาลพิพัฒน์, & โสมนัส สุทธินนท์, 2018)

“เอกลักษณ์ของจังหวัด คือ กาแฟ เรียกว่ากินกัน ตั้งแต่เช้ามืด สาย เที่ยง บ่าย เย็น หัวค่ำ ยังถึงดึกดื่น จนเรียกได้ว่าวัฒนธรรมการกินกาแฟของคนตรัง นั้นมีมนต์ขลังและมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนที่ไหนเลยจริง ๆ ใครที่โปรดปรานกาแฟจะต้องชอบเพราะไม่มีถนนสายไหนในเมืองตรังที่ไม่มีร้านกาแฟ มีของกินให้อิ่มท้องให้หายหิว มีร้านให้ลองได้ทั้งยามกลางวันและกลางคืน

ความพิเศษของร้านกาแฟตรัง ไม่ใช่เป็นแค่ที่ฝากท้องให้คลายหิวเท่านั้น แต่ร้านกาแฟยังเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะในสมัยก่อนที่ยังไม่มีโทรทัศน์ การจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะราคายางพาราว่า มีการเคลื่อนไหวกันอย่างไร ก็จะต้องฟังจากวิทยุ โดยเมื่อก่อนร้านรับซื้อยางกับร้านกาแฟจะอยู่คู่กัน ช่วงที่ข่าวยังไม่มาก็นั่งกินกาแฟ แล้วพูดคุยกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้ จากเรื่องคุยหลักๆที่จะเป็นเรื่องราคายาง ก็เริ่มขยายวงออกไปเป็นเรื่องใกล้ตัวในชุมชน ต่อมาเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ข่าวสารเหตุการณ์ประจำวันไปจนถึงเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ แต่หัวข้อพูดคุยและการวิพากษ์วิจารณ์ที่คุยกันได้อย่างออกรสออกชาติมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง สภากาแฟของคนรักกาแฟจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่นิยมมานั่งสนทนากัน”

(สมาคมชาวตรัง, 2548)

“ทับเที่ยงเต็มไปด้วย ร้านน้ำชา ร้านอาหารเก่าแก่ รวมถึงโรงแรมที่พักขนาดไม่ใหญ่มาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องมือยืนยันว่าในอดีตทับเที่ยงเคยเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อไปยังกันตัง หรือที่แห่งอื่นในระดับภูมิภาคก็เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับผู้ที่เดินทางจากภูเก็ต พังงา กระบี่ เข้ากรุงเทพฯ หรือจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเหล่านั้น หรือไปปีนังหรือไปลงเรือ

ทับเที่ยงยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของการจิบน้ำชากาแฟในแต่ละช่วงวัน ดังนั้นถึงแม้ว่าในปัจจุบันโรงแรมบางแห่งจะปิดกิจการลงไปแล้วก็ตามแต่ร้านน้ำชา กาแฟ อีกหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน สมกับเป็น ‘เมืองสภากาแฟ’”

(เทศบาลนครตรังและเครือข่าย, 2558, p. 88)

[ii]“มีคำพูดว่า ในจังหวัดตรัง ใครที่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าไม่ไปงานศพ ไม่ไปเจอคน อย่าหวังว่าจะได้รับเลือกตั้ง นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว นักการเมืองก็จำเป็นต้องมีการมวลชนสัมพันธ์ และงานศพก็เป็นที่ที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก”

“การไปนั่งงานศพกันเพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพและผู้ตาย เป็นงานที่แสดงถึงน้ำใจไมตรี เป็นงานที่ไม่ต้องเชิญ ไม่ต้องมีบัตรเชิญ แค่เห็นประกาศมีชื่อคนรู้จักในนามเจ้าภาพก็รู้กันว่าต้องไปงานศพ”

(นันท์ เถระวงศ์ et al., 2018)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ผลการศึกษาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างพฤติกรรมและความต้องการใช้พื้นที่ของคนรุ่นใหม่และการจัดพื้นที่ให้โดยรัฐและเอกชน จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเชิงพฤติกรรมในฐานะเป็นพื้นฐานในการออกแบบนโยบายสาธารณะ ภายใต้การอยู่ร่วมกันของกลุ่มประชากรรุ่นต่าง ๆ ที่มีพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างกัน
  • ภาครัฐและเอกชนในเทศบาลนครตรังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ไปเป็นแนวทางในการสร้างใหม่หรือปรับปรุงพื้นที่เดิมให้เหมาะสมกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งวางแนวนโยบายในการใช้พื้นที่สร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองตรังในภาพรวมด้วย

ติดต่อโครงการ

นักวิจัย: อภิชญา โออินทร์

Email: intermingle.in.trang@gmail.com

โทร: 0858872707

FB page: Intermingle in Trang

--

--