เขียน Blog แล้วได้อะไร ?

เขียนทำไมเสียเวลา ไม่ได้ทำอาชีพ Blogger แล้วจะเขียนทำไม ?

Jedsada Saengow
JED-NG
3 min readAug 11, 2018

--

https://unsplash.com/photos/pUAM5hPaCRI

บทความนี้ ขอนำเสนอมุมมอง(ส่วนตัว)ของผู้เขียนที่เขียนเพราะชอบ โดยมีประสบการณ์ระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมากับการเขียนเกี่ยวกับ IT สาย Development และการท่องเที่ยว

ซึ่งอยากเสนอเกี่ยวกับคำตอบของ “เขียนแล้วได้อะไร” และ “ทำไมถึงเขียน”

เหตุผลที่เริ่มเขียนบทความ

https://unsplash.com/photos/bJhT_8nbUA0

เมื่อเดือนเมษายน 2017 ทำงานที่ใหม่ในเดือนแรกคือที่ Scale360 ก็ได้คุยกับเพื่อนใหม่ตอนที่เข้ามาทำงานพร้อมกันในช่วงเดือนแรก นั่นก็คือ แน็ค โดยมีเรื่องเกี่ยวกับการเขียนบทความประมาณว่า เราควรเขียนบทความด้วยนะ เวลาเราแก้ปัญหาอะไรได้แล้วน่ะ เผื่อกลับมาดูอีกครั้งหรือเวลามีคนอื่นติดปัญหาเหมือนกัน จะได้ดูได้

และนั่นคือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเขียนของผู้เขียนครับ

โดยเริ่มจากตอนนั้นเขียน ASP.NET ในงาน Freelance แล้วติดปัญหาเกี่ยวกับ Crystal Report เมื่อแก้ไขได้แล้วก็จัดซะเลยบทความแรกของชีวิต

จากนั้นก็ไม่ได้เขียนอีกเลย เพราะรู้สึกว่ามันยุ่งยากเหลือเกิน ต้องมาเรียบเรียงคำพูด แถมเขียนไปก็นึกแต่ผลลัพธ์ว่า ได้อะไรบ้าง แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดี

จนมาเมื่อมกราคม 2018 มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือ มีโอกาสอาจจะได้ไปสอนงานเด็กฝึกงานที่ออฟฟิศแห่งหนึ่ง (ถึงแม้สุดท้ายจะไม่ได้สอนก็เถอะ 😂😂) เกี่ยวกับ C# ASP.NET นั่นก็เป็นความรู้สึกเกิดความกังวล เพราะจากประสบการณ์ที่เคยสอนเพื่อน และไปรับการสอนจากเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยในช่วงที่เรียนจบใหม่ ๆ แล้วเราอยากจะแชร์ความรู้กัน มันทำให้รู้ว่า ต้องใช้เวลาอย่างมาก ในการเรียนรู้ใหม่ซักเรื่อง ต้องพูดแล้วพูดอีก จดแล้วจดอีกในบางเรื่องที่ใหม่ต่อความคิด

ก็ได้ไอเดียหนึ่ง โดยมีแรงบันดาลใจจากพี่ดิว olDuelo ที่มีสถานการณ์ที่ต้องใช้ React Native ในการพัฒนา Mobile Application และต้องสอนคนในองค์กรด้วย แต่ช่วงนั้น React Native เพิ่งมาใหม่เลย คนในองค์กรก็ไม่คุ้นเคย พี่ดิวเลยใช้การเขียนบทความเนี่ยแหละ ช่วยในการสอน

และนั่นแหละครับที่ทำให้ผู้เขียนรู้จัก Medium ซึ่งมีความสามารถที่ตอบโจทย์การเขียน Blog แถมยังมีลูกเล่นและ Community อีกด้วย จึงเริ่มหันมาเขียน Blog ด้วยการใช้ Medium ครับ

โดยบทความแรกที่เขียนด้วยจุดประสงค์ที่ว่า จะได้สอนการเขียน ASP.NET โดยจะใส่คำแนะนำยาก ๆ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มใหม่ ๆ ยังไม่ชิน เป็น Text ซึ่งไม่ต้องมาจด แถมยังเขียนครั้งเดียวแต่ใช้ได้กับทุกคน ไม่ต้องส่งต่อกัน ตัดปัญหาจดไม่ทันอีกด้วย ซึ่งบทความแรกก็คือ

เขียนแล้วได้สอนคนอ่าน และสอนคนเขียน(สอนตัวเอง)

จากประสบการณ์ที่เจอต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะว่ามันโดนมากครับ

https://unsplash.com/photos/O33IVNPb0RI

เรื่องการสอนคนอ่านอันนี้แน่นอนครับ รู้กันอยู่แล้ว

แต่การที่เราจะสอนคนที่เข้ามาอ่านได้ เราควรจะต้องรู้เรื่องนั้น อาจจะไม่ต้องในระดับแบบเข้าถึงแก่นแท้ก็ได้ แต่เราก็สามารถสอนได้ บอกต่อได้ เช่น

เราจะสอนเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เราอาจจะไม่ต้องลงลึกว่า สิ่งที่เขียนนั้นถูกพัฒนามาโดยมีรากฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างไร

เราอาจจะโฟกัสที่บางส่วนก่อน เช่น เขียนแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร พร้อมทั้งบอกต่อแหล่งอ้างอิง เพื่อที่คนอ่านที่สนใจที่ลึกกว่านี้จะได้ไปต่อได้ถูก

**แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด

เราควรสอนและบอกต่อในสิ่งที่เรารู้เท่านั้น ห้าม !! พูดในสิ่งที่เกิดจากการเดา หรืออะไรที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวก็ควรบอกลงไปด้วย ไม่ควรให้คนอ่านเข้าใจผิด และนี่คือสิ่งแรกที่เป็นการสอนตัวเองว่า ไม่ควรสื่อสารผิด เพราะฉะนั้นจะเขียนสิ่งใด ก็ควรศึกษาเรื่องนั้นมาบ้างแล้ว และต้องสามารถแนะนำคนอ่านได้ ว่าจะศึกษาเพิ่มได้ที่ไหน

ขอยกตัวอย่างการสื่อสารผิดที่อาจจะไม่ร้ายแรง เกี่ยวกับสถานที่ “บางกะเจ้า” สมุทรปราการ ที่มีการเขียน Blog review กันเยอะมาก แต่หลายท่านเขียนเป็น “บางกระเจ้า” ทำให้คนที่อ่านก็เข้าใจผิดและไปพูดคุยหรือบอกต่อกับคนอื่นกลายเป็นแบบนั้นไป

นอกจากการสอนที่ไม่ควรเกิดจากการเดา สิ่งอื่นที่คนเขียนจะได้คือ การใช้คำที่จะสื่อสาร ใช้คำอย่างไรให้คนอ่านทุกเพศทุกวัยเข้าใจได้ การใช้เทคนิคการสอน ต้องสอนอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ อ่านแล้วสนุก อ่านแล้วเข้าใจด้วยประโยคที่ไม่ต้องยาวเกินไป ในส่วนนี้ก็จะทำให้คนเขียนเป็นคนที่นำเสนอข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น

หากเขียนไปด้วยความคิดดังที่กล่าวไป ก็น่าจะได้อะไรเกี่ยวการการเป็นคนสอนที่ดีบ้างแล้วครับ 😙😎

ประโยชน์ของการเขียน Blog สร้างมาตรฐานใหม่ และยกระดับตัวเอง

https://unsplash.com/photos/EAvS-4KnGrk

หัวข้อนี้ทางผู้เขียนขอแบ่งประโยชน์เป็น 2 หัวข้อโดยความเห็นส่วนตัว ดังนี้

ประโยชน์ทางตรง

ผู้เขียนเชื่อว่า การที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรซักอย่าง คงต้องใช้สมาธิและไฟในการเริ่ม มีหลาย ๆ คน ที่ผู้เขียนได้พูดคุยมา พบว่าเมื่อเริ่มทำหรือเรียนรู้ได้ซักพักนึงก็หมดไฟเพราะไม่ได้เอาไปใช้ อาจเป็นเพราะการที่ไม่ได้เอาใช้ คือไม่ได้เห็นผลลัพธ์

จากที่ผู้เขียนได้ลองหัดเรียนรู้บางอย่างโดยที่ไม่เคยศึกษามาก่อน เช่น บทความนี้

แล้วผนวกกับความคิดที่ว่า เราเรียนรู้แล้วเอามาเขียน Blog ต่อ ซึ่งด้วยการทำแบบนี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกกดดันตัวเองเล็กน้อยว่า จะต้องเข้าใจสิ่งนี้จริง ๆ ต้องคิดตลอดว่าจะเขียนอย่างไร ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาไปอีกขั้นนึงทางด้านความคิด และในทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนคนมีเป้าหมายตลอด ในเวลาที่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ครับ

ประโยชน์ทางอ้อม

ผู้เขียนเชื่อว่า การที่เราได้เขียนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ในวันหนึ่งจะต้องมีคนอยากรู้เรื่องที่เราเขียนเหมือนกันแน่ ๆ และหากว่าเค้าคนนั้นได้เข้าถึงข้อมูลใน Blog ที่เราเขียน เค้าก็จะเก่งขึ้น รู้เยอะขึ้น และถ้าเค้าพบบทความของคนอื่น ๆ อีก เค้าก็จะมีบทความให้เปรียบเทียบได้ด้วย เพราะฉะนั้นเค้าก็จะใช้เวลาในการเรียนสิ่งต่าง ๆ ลดลง จากการที่ได้อ่านบทความนั้น ๆ ในหลายมุมมอง

จึงคิดว่าในอนาคตอัตราส่วนของคนเก่งจะเยอะขึ้น ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น มีมาตรฐานใหม่ ๆ และยกระดับในเรื่องนั้น ๆ ที่เกิดจากการแข่งขันไปได้อีกด้วย

เป็นอีกหนึ่ง Activity ที่น่าสนใจ

https://unsplash.com/photos/3TRdlKU-3II

เคยไหมครับที่อยากจะลองทำอะไรบางอย่างให้เป็นงานอดิเรกของตัวเอง ?

หัวข้อนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากบอกว่าผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ค่อยมีงานอดิเรกอะไร ส่วนใหญ่ก็หมดเวลาไปกับดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานเสริม แต่พอมาได้ลองเขียน Blog ก็พบว่า มันคืองานอดิเรกที่ชอบครับ จึงอยากชวนให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่หลงเข้ามาอ่านในบทความนี้ได้ลองเขียนดูครับ

เพิ่มเติมครับล่าสุดได้ไปอ่านบทความเกี่ยวกับเหตุผลของการเริ่มต้นเขียน Blog เช่นเดียวกัน ของคุณ noomerZx หากท่านผู้อ่านสนใจเรียนเชิญที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับ

หากท่านผู้อ่านมีคำถามหรือข้อสงสัย หรือมีคำแนะนำ อยากติชม สามารถติดต่อผู้เขียนได้เลยครับ

--

--