จะจบชีวิตบัดซบของ Software Engineer กันได้อย่างไร ?

Parnooruk R.
Jitta Engineering
Published in
3 min readMay 11, 2018

ความสมดุลในการทำงาน และชีวิต นั้นจะเป็นส่วนช่วยให้เราสามารถก้าวหน้าขึ้นไป ทั้งทางด้านการทำงาน และมีความสุขในการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน โดยปกติแล้ว Software Engineer นั้นมักจะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่แตกต่างจากการทำงานในสายงานอื่นๆ เรามาลองดูกันว่า Software Engineer และคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Manager, Human Resource (HR), Project Manager, Product Owner และ Stakeholder อื่นๆ จะเข้าใจ และปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อความสมดุลนี้ได้บ้าง

ขั้นแรกเราควรจะเข้าใจความหมายของคำว่า “สมดุล” กันก่อน คำว่าสมดุลนั้นไม่ได้แปลว่าแบ่งเท่าๆ กัน เช่น วันทำงานมี 24 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง ให้ครอบครัว 8 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง แปลว่าสมดุล ความสมดุลในที่นี้น่าจะหมายถึง “ความเหมาะสม” ในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในชีวิตทั้งหมด เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ความสมดุลนั้นไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนคงที่อยู่เสมอ มักจะต้องเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ในบางช่วงมีจังหวะงานที่สำคัญเข้ามา เราอาจจะต้องใช้เวลาและความทุ่มเทพิเศษเพื่อให้งานนั้นบรรลุผล หรือในอีกมุมถ้ามีคนในครอบครัวป่วยขึ้นมา และต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เราอาจจะต้องใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น

อะไรบ้างเป็นส่วนประกอบหลักที่ Software Engineer จะต้องสร้างสมดุลโดยทั่วๆ ไปบ้าง

  • งานหลักที่รับผิดชอบ
  • การเรียนรู้
  • Community
  • ครอบครัว
  • คนรัก
  • เพื่อน

แต่ในชีวิตแต่ละคนก็อาจจะมีสิ่งที่สนใจ หรือสิ่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่ละคนก็จะต้องนำมาวิเคราะห์ และจัดสมดุลกันด้วย ในที่นี้ขอคุยถึงส่วนประกอบหลักๆ กันดังต่อไปนี้

งานหลักที่รับผิดชอบ ในส่วนใหญ่ใจความคืองานที่อยู่ใน Job Description ของเรา รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะต้องทำเพื่อให้งานที่อยู่ใน Job Description บรรลุเป้าหมาย สำหรับ Software Engineer แล้วงานส่วนนี้มักเป็นงานด้านเทคนิค หากเราเป็น Supervisor หรืองานที่มีส่วนบริหารด้วย เราก็ต้องทำงานบริหารส่วนนั้นให้ได้ตามความเหมาะสม การสร้างความสัมพันธ์ภายในบริษัทเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น หรือจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท ก็ควรจะนับอยู่ในส่วนนี้ด้วย สำหรับเริ่มงานใหม่ หรือรับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ มีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะต้องใช้ความตั้งใจ และเวลามากกว่าปกติในการทำงานหลักที่รับผิดชอบ แต่หลังจากเราทำงานไปสักพัก เราก็อาจจะไม่ต้องใช้เวลามากเท่าในช่วงแรก ซึ่งจะทำให้เราสามารถแบ่งเวลาไปรักษาสมดุลในด้านอื่นๆ ไว้ให้ได้ด้วย

การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับ Software Engineer เพราะองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถเรียนรู้ได้มากเพียงพอ จะทำให้เราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างงานที่ดีขึ้น เด็กรุ่นใหม่ที่รักการเรียนรู้ก็สามารถก้าวแซงหน้าเราได้อย่างรวดเร็ว ในหลายๆ บริษัทได้มีการส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ถึงแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก การเรียนรู้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องใส่ใจ อาจจะอ่านหนังสือ, Online Course, เข้าอบรม, หรืออื่นๆ เพื่อให้เรามีความรู้มากขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาช่วยค่ำๆ หรือเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องจัดเวลาให้เกิดความสมดุลขึ้นให้ได้

Community เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างของ Software Engineer ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรมองในมุมกว้างหน่อย ว่า Community นี้รวม การเข้ากลุ่มตาม Web board, FB, สมาคม, การเข้าร่วมงาน Meet-up, หรือแม้แต่การนัดกินข้าวกับเพื่อนๆ ในสายงานเดียวกัน เพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ และเทคนิควิธีต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจวิธีการทำงานของคนอื่นๆ และบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ให้เราสามารถมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และการรู้จักคนในวงการเพิ่มขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้เราสะสม Connection ไว้เมื่อทีมเราขยายก็สามารถทาบทามเพื่อนๆ ในวงการเข้ามาช่วย หรือเมื่ออิ่มตัวกับงานที่ทำอยู่ก็อาจเห็นช่องทางขยับขยายได้โดยง่าย หรือแม้การที่เราจะมีที่ปรึกษาทีดีเพิ่มอีกสักคนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว

ครอบครัวส่วนนี้ขอเน้นที่ครอบครัวพ่อ-แม่ และญาติๆ ทั้งหลาย ซึ่งเราจะต้องดูแลเอาใจใส่ บางบ้านจะมีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้ว เช่น วันอาทิตย์ Family Day ต้องมาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนบางบ้านอาจจะต้องไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันปีละ 2 ครั้ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มีข้อตกลงอะไรที่ชัดเจนเราก็ควรจัดสรรเวลา และทรัพยากรต่างๆ กับพ่อ-แม่ และญาติๆ ผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย ใช้เวลาร่วมกับท่านให้เหมาะสม พาท่านไปเที่ยว หรือพักผ่อนตามสมควร อย่าคิดว่าครอบครัวจะอยู่กับเราตลอดไป ให้เวลาในภายหลังก็ได้ แม้ว่าเราจะสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนใช้ชีวิตมานานเท่าไหร่แล้ว แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละคนจะเหลือเวลาในชีวิตอีกเท่าไร

คนรักก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญสำหรับคนจำนวนมาก อาจเติบโตเป็นครอบครัวใหม่ หรือมีลูกๆ ตัวน้อยๆ เข้ามารวมในครอบครัวใหม่นี้ด้วย แม้คนรักจะทำให้หลายๆ คนชุ่มชื่นหัวใจ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะสร้างความเสียใจได้ไม่น้อยทีเดียว พยายามแยกเรื่องความรักออกจากเรื่องอื่นๆ ในชีวิตให้เหมาะสม อย่าให้ความสิ่งไม่ดีด้านหนึ่งในชีวิต ทำให้ด้านอื่นๆ ต้องแย่ลงไปด้วย เช่น ทำงานเครียดก็อย่าเอาความเครียดไปให้คนรัก หรือทะเลาะกับคนรักก็อย่ามัวแต่ครุ่นคิดไม่เป็นอันทำงาน เราควรจะจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมให้กับคนรักทั้งเวลา ของขวัญ หรือ Dinner หวานๆในโอกาสสำคัญต่างๆ แต่ละคน แต่ละคู่จะต้องมองหาความเหมาะสมกันทั้ง 2 ฝ่ายในการใช้เวลาร่วมกัน

เพื่อนนั้นก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนของหลายๆ คน แม้เพื่อนสนิทๆ หลายๆ คนก็สามารถต่อติดได้แม้จะไม่ได้เจอกันนาน การแบ่งเวลาให้เพื่อนๆ นอกจากช่วยให้เราได้สนุกสนานผ่อนคลายแล้ว เพื่อนที่ดีก็ยังมีส่วนเติมเต็มต่างๆ ทั้งการคุยเรื่องแนวความคิด เป็นผู้ฟังที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านต่างๆ อย่าลืมแบ่งเวลาจุนเจือความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ ด้วย

กลยุทธ์ในการจัดการกับสมดุลให้กับชีวิต Recommendation/Strategy

1) การเข้าใจตัวเอง และปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน เป็นขั้นตอนแรกในการจัดการสมดุลให้กับชีวิตของแต่ละคน ลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร บางครอบครัวมีความคาดหวังกับสมาชิกในครอบครัวมากกว่าครอบครัวอื่น งานบางอย่างอาจจะไม่ได้บีบรัดเรื่องเวลามากนัก ในขณะที่คนรักของบางคนก็ไม่ค่อยเข้าใจลักษณะการทำงานของเรามากนัก

2) การจัดลำดับความสำคัญในชีวิต ลองเรียงลำดับความสำคัญในสิ่งต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง สิ่งใดสำคัญที่สุด สิ่งใดสำคัญรองๆ ลงมา ถ้าวันที่ส่วนประกอบต่างๆ มีความไม่สมดุลเกิดขึ้น เราจะยอมให้ส่วนประกอบใดไม่สมดุลชั่วคราวในขณะที่มีการเปลี่ยนสมดุลได้บ้าง

3) ยืดหยุ่นในการสร้างสมดุล เช่น บางครั้งต้องใช้เวลางาน ทำเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ไช่เรื่องงานบ้าง และบางครั้งเราก็ต้องใช้เวลาวันหยุด หรือค่ำๆ ในการทำงานเช่นกัน อย่าให้ตารางเวลามาเป็นข้อจำกัด ความยืดหยุ่นจะช่วยให้การจัดสมดุลง่ายขึ้น และก็แน่นอนว่าถ้าเรายืดหยุ่นมากเกินไปจนส่วนประกอบบางส่วนไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะทำให้เกินการเสียสมดุลเช่นเดียวกัน

4) ทุกการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนสมดุล โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน สำหรับคนที่ยังบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีนัก ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านพร้อมกันได้อาจส่งผลดีกว่า เช่น ถ้ามีคนในครอบครัวที่ต้องการการดูแลพิเศษในบางช่วง เราอาจจะไม่เปลี่ยนงานในช่วงนั้น

Tips & Tricks ในการจัดการกับสมดุลให้กับชีวิต

1) เพิ่มประสิทธิภาพให้กับชีวิต

  • ลดเวลาเดินทาง อาจย้ายที่อยู่มาใกล้ที่ทำงาน ขึ้นทางด่วน หรือเปลี่ยนวิธีเดินทาง
  • ลงมือเขียน automate tools เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • วางแผนล่วงหน้าในทุกๆ เรื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพชีวิต

2) ให้เวลากับการเรียนรู้ สะสมความรู้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เพื่อสมดุลใหม่ที่ดีขึ้นในอนาคต

3) ถ้ามีโอกาสให้เลือกส่วนประกอบหลักของชีวิตที่เข้ากับตัวเอง

  • เลือกงานที่มี Flexible Time และมีการสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้
  • เลือกคนรักที่เข้าใจธรรมชาติของเรา งาน และส่วนประกอบอื่นๆ ขอเรา
  • เพื่อนบางกลุ่มอาจจะต้องเลิกคบไปบ้าง

ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีก้าวแรก เริ่มต้นก้าวต่อไปในวันนี้ สร้างชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาขึ้น หวังว่าทุกคนจะสามารถไปถึงเป้าหมายในชีวิตพร้อมกับรักษาสมดุลต่างๆ ไว้ให้ได้อย่างเหมาะสม ก้าวต่อไปนะครับ

--

--