ฝึกกระบวนการคิด ง่ายๆให้สนุก ด้วย Unplugged Coding Game “เด็กหลงกับคนเมา”

Supichaya Muennuch
2 min readFeb 22, 2023

--

การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นการเขียนด้วยภาษาใด สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือการเข้าใจในคอนเซ็ปต์ และยิ่งถ้าเรามีทักษะการวางแผนที่ดี การคิดอย่างเป็นระบบ ทักษะการแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ ก็จะยิ่งทำให้การเขียนโปรแกรมของเราง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทักษะต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมายังสามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราได้อีกด้วย เราจึงต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้อยู่เสมอ แต่การทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เสมอไปนะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Unplugged Coding Game ที่มีชื่อว่า “เด็กหลงกับคนเมา” กัน

Unplugged Coding เป็นแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจหลักการพื้นฐานของคอมพิวเตอร์และตรรกศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการเล่นโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และสามารถฝึกทักษะการแก้ปัญหา การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบ และทักษะการสื่อสารไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนคำสั่ง การลำดับการทำงาน การตรวจสอบความผิดพลาดของโปรแกรม เป็นต้น

Unplugged Coding Game “เด็กหลงกับคนเมา”

ที่มาของเกม

เกมเด็กหลงกับคนเมาเป็นเกมที่คิดขึ้นมาจากโจทย์ที่ได้รับในที่ฝึกงาน โดยให้ออกแบบเกมสำหรับน้อง ๆ ป.4-ป.6 เล่นได้ 4-5 คน ใช้เวลาในการเล่นประมาณ 10 นาที หลังจากที่ได้รับโจทย์ เราได้ทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับ Unplugged Coding และดูตัวอย่างเกมที่มีการคิดไว้แล้ว พบว่าลักษณะของเกมที่พบได้บ่อยจะเป็นเกมตาราง จึงตั้งต้นที่เกมนี้ และคิดต่อว่าจะเอาอะไรมาผสมให้เกมนี้สนุกขึ้นดี จึงนึกถึงเกมที่เราชอบเล่นตอนอยู่กับเพื่อน ๆ นั่นก็คือเกม Spyfall ซึ่งเป็นเกมที่จะแจกการ์ดสถานที่ให้ทุกคนโดยจะมีคนหนึ่งที่ได้การ์ดคำว่า Spy ที่จะไม่รู้ว่าสถานที่นั้นคือที่ไหน หลังจากนั้นจะผลัดกันถามคำถามเพื่อหาให้รู้ว่าใครคือคนที่เป็น Spy เราได้นำทั้งสองเกมมาผสมเข้าด้วยกัน จนได้ออกมาเป็นเกม “เด็กหลงกับคนเมา” นั่นเอง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • การ์ดเกมที่ภายในจะประกอบไปด้วย แผนที่ และ Direction code เพื่อใช้บอกวิธีการเดินทางไปยังเป้าหมาย
ตัวอย่างการ์ดเกม (คนปกติ)
ตัวอย่างการ์ดเกม (เด็กหลง)
  • ปากกา

กติกาการเล่น

เกมนี้จะแบ่งการเล่นออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงถอดรหัส ช่วงจับผิดเด็กหลง และช่วงตามหาคนเมา

ช่วงถอดรหัส — หลังจากได้รับการ์ดเกมผู้เล่นจะต้องนำ Direction Code มาถอดรหัส โดย

  • L หมายถึงเลื่อนไปทางซ้าย 1 ช่อง
  • R หมายถึงเลื่อนไปทางขวา 1 ช่อง
  • U หมายถึงเลื่อนไปข้างบน 1 ช่อง
  • D หมายถึง เลื่อนไปข้างล่าง 1 ช่อง

ยกตัวอย่างจากภาพเกมการ์ดด้านบน เมื่อถอดรหัสออกมาแล้ว คนปกติจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ Beach และเด็กหลงจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ Zoo

ช่วงจับผิดเด็กหลง — เมื่อรู้สถานที่ปลายทางแล้ว ขั้นถัดไปเราจะมาจับผิดเด็กหลงกัน โดยจะให้เวียนกันถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ตนเองอยู่ เพื่อดูว่าเพื่อนรู้จริงหรือไม่ว่าตอนนี้ทุกคนอยู่ในสถานที่ใด หรือมีใครบ้างที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันกับเรา(คนนี้แหละเด็กหลง) ส่วนคนที่ได้รับบทเป็นเด็กหลงก็จะต้องตอบคำถามให้แนบเนียนเพื่อไม่ให้ใครจับได้ว่าเราเป็นเด็กหลง จะใช้เวลาในการจับผิดกันประมาณ 5–10 นาที เมื่อเวลาหมด จะทำการโหวตว่าใครที่น่าสงสัยที่สุด แต่ถ้าหากในระหว่างการจับผิดมีผู้เล่นคนไหนที่มันใจแล้วว่าใครเป็นเด็กหลงก็สามารถชี้ตัวได้เลยย

หากชี้ตัวเด็กหลงได้ถูกต้อง ผู้ชนะคือคนปกติ หากชี้ตัวเด็กหลงไม่ถูกต้อง เด็กหลงจะเป็นผู้ชนะ ผู้แพ้จะถูกทำโทษ !!

ช่วงตามหาคนเมา — ในตอนนี้เราก็รู้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าใครคือคนปกติ ใครคือเด็กหลง แต่เกมนี้จะเป็นเกม เด็กหลงกับคนเมา ไม่ได้เลย ถ้ายังขาด “คนเมา” อยู่ เพราะฉะนั้นเราจะมาตามหาคนเมากัน วิธีการคือ จะให้ทุกคนในกลุ่มช่วยกันตรวจสอบของเพื่อน ๆ แต่ละคนว่ามีใครที่ไม่ได้เดินตาม Direction Code ที่ได้รับหรือไม่ ใครที่เดินผิดทางไม่ตรงตาม Direction Code คนนั้นจะกลายเป็นคนเมาทันที และถูกทำโทษไปพร้อม ๆ กับผู้แพ้จากช่วงจับผิดเด็กหลงเลยย

ประโยชน์ที่ได้รับจากเกม “เด็กหลงกับคนเมา”

  • การคิดอย่างเป็นระบบ การลำดับการทำงาน -> จะต้องถอดรหัส Direction Code ไปทีละตัว ตามลำดับให้ถูกต้อง
  • ไหวพริบ -> จะต้องใช้ไหวพริบในการตอบคำถามเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกเพื่อน ๆ มองว่าเราน่าสงสัย
  • การสื่อสาร -> ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ มากยิ่งขึ้น
  • การตรวจสอบความผิดพลาดของโปรแกรม -> ในช่วงตามหาคนเมา ทุกคนช่วยกันตรวจสอบว่ามีใครที่ไม่เดินตาม Direction Code หรือไม่

--

--