Domino Town Unplugged Game

Nice Vichuta
sparkeducation.co
Published in
3 min readFeb 10, 2023

👋สวัสดีทุกคน! วันนี้เราจะมาแนะนำเกม “Domino Town” ที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง😆

เกมนี้เหมาะสำหรับคนที่สนใจในการทำสื่อการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณคอมพิวเตอร์ หรือ ใครที่กำลังมองหาบอร์ดเกมใหม่ๆมาเล่น เราขอแนะนำเกม “Domino Town” เป็น Unplugged game ที่ไม่เหมือนใครแน่นอน!

Unplugged Game คืออะไร?

พูดง่ายๆเลย Unplugged Game ก็คือ บอร์ดเกมชนิดหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ในการเล่น แต่จะเน้นให้ผู้เล่นได้ฝึกทักษะการคิดแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในหลักการพื้นฐานของวิทยาการคำนวณมากขึ้น

Domino Town คือ เกมอะไร?

เป็นเกมที่ต้องต่อ domino เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงไปหาสถานที่ต่างๆ บนบอร์ดผังเมืองตามการ์ดบอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ซึ่งมีอุปกรณ์ในการเล่น 3 อย่าง คือ

  1. Domino (ปกติ 1 กล่องจะมี 28 ชิ้น) ใช้ต่อเป็นเส้นทาง
  2. บอร์ดผังเมือง เป็นพื้นที่ในการวาง domino
  3. การ์ดบอกเส้นทาง จะเป็นตัวกำหนดโจทย์ในการวาง domino เป็นเส้นทางโยงไปยังสถานที่ต่างๆ ที่กำหนดไว้ โดยจะมีความยาก-ง่ายอยู่ 3 ระดับ
    - Easy : มี 2 สถานที่ให้สร้างเส้นทางเชื่อมต่อกัน
    - Normal : มี 4 สถานที่ให้สร้างเส้นทางเชื่อมต่อกัน
    - Hard : มี 6 สถานที่ให้สร้างเส้นทางเชื่อมต่อกัน
domino ที่ใช้เล่นในเกม
บอร์ดผังเมืองของเกม
ตัวอย่าง การ์ดบอกเส้นทางของเกม

วิธีการเล่น Domino Town เล่นยังไง?

กฎการวาง domino

  1. ต้องต่อ domino ด้านที่เหมือนกันเท่านั้น
  2. domino ที่ไม่มีจุด สามารถใช้ต่อกับ domino อะไรก็ได้ (เป็น item พิเศษ)
  3. ข้อห้ามของการต่อ domino
    - ห้ามมีทางตัน (ห้ามมีติ่งของ domino โผล่ออกมา)
    - ห้ามต่อด้านยาวชนกัน
    - ห้ามวางมุมชนมุม เพราะจะถือว่าไม่เป็นเส้นทาง
    - ห้ามวาง domino ปิดทางเข้าออกของสถานที่ข้างๆ ที่การ์ดบอกเส้นทางไม่ได้กำหนดไว้
กฎการต่อ domino ของเกม

ขั้นตอนการเล่นทั่วไป

  1. สุ่ม domino 14 ชิ้นก่อนเริ่มเกม
  2. เมื่อเริ่มเกม ให้สุ่มการ์ดบอกเส้นทาง 1 ใบ ต่อ 1 เกม
  3. ใช้ domino ที่มีอยู่ต่อตามการ์ดบอกเส้นทางที่สุ่มได้
  4. เมื่อต่อเสร็จ จึงจะสุ่มการ์ดใบใหม่ได้

👉ข้อแนะนำในการเล่น👈
Easy > เหมาะกับการเล่น 1–2 คน
Normal, Hard > แนะนำให้เล่น 2 คนขึ้นไป

🏁โหมดการแข่งขัน 🏁 — แนะนำให้เล่น 4–8 คน แบ่งเป็นทีม ทีมละ 2–4 คน
- ใช้ผังเมืองอย่างน้อย 2 แผ่น
- ใช้ domino ทีมละ 28 ชิ้น
- แนะนำ Normal หรือ Hard เพื่อเพิ่มความท้าทายในการเล่น

💯กฎการให้คะแนน💯
- ต่อ domino ตามการ์ดบอกเส้นทางได้ +1 คะแนน
- ทีมไหน ต่อ domino เสร็จก่อน +1 คะแนน
- ทีมไหน ใช้ domino ไม่มีจุดต่อปกติ (ไม่ใช้คุณสมบัติของ item พิเศษ) +1 คะแนน
- ทีมไหน มีคะแนนรวมมากที่สุด ชนะ!

ประโยชน์ของเกมนี้ สอนเรื่องอะไรบ้าง?

Domino Town เป็นเกมที่จะช่วยให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และได้ฝึกกระบวนการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น

  1. การแบ่งย่อยปัญหา (Decomposition) — การแบ่งย่อยสถานที่ในการ์ดบอกเส้นทาง เพื่อให้รู้จุดหมายปลายทางที่ไปก่อนว่า จะไปที่ไหนบ้าง?
  2. การคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) — การใช้ domino เท่าที่จำเป็น จะช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นหลักที่จะไปได้ หรือ หาเส้นทางที่สั้นที่สุดได้
  3. การเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition) — รูปแบบการต่อ domino จะมี patten ที่เหมือนๆกัน ให้ใช้ปรับเปลี่ยนเส้นทางที่ต้องการได้
  4. การออกแบบขั้นตอน (Algorithm Design) — แต่ก็มีการออกแบบลำดับขั้นตอนของการแก้ปัญหาอยู่ ก็คือ ขั้นตอนแรกของการเล่น ควรจะวาง domino ไว้ตรงทางเข้าออกของสถานที่แต่ละที่ก่อน ตามการ์ดบอกเส้นทางกำหนดไว้ แล้วค่อยๆต่อ domino สร้างเส้นทางเชื่อมแต่ละสถานที่เข้าหากัน

นอกจากนี้ ในการ์ดบอกเส้นทาง 1 ใบ จะสามารถต่อเส้นทางได้หลายแบบ จึงทำให้เกมนี้ ไม่มีเส้นทางการต่อ domino ที่ตายตัว ทำให้ผู้เล่นจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อ domino สร้างเส้นทางเป็นของตัวเองได้

เบื้องหลังของการคิดเกม Domino Town

ที่มาของเกม Domino Town คิดได้ยังไง? กว่าจะออกมาเป็นเกมๆนี้

ก่อนอื่น ต้องขอเล่าก่อนว่า เราได้ไปฝึกงานกับบริษัท Marvelous Studio จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้ อย่าง “เรียนวิธีคิด ผ่านวิธีโค้ด by CodingThailand” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดเชิงคำนวณ (Computing Science) ผ่านทางเว็บไซต์ www.codingthailand.app

เราจึงได้มีโอกาสทำ Unplugged Game สำหรับน้องๆ ป.4–6
เป็นเกมที่ใช้เวลาเล่น 5–10 นาที โดยจุดประสงค์หลักของโจทย์นี้ ก็คือ ต้องการให้เราเข้าใจมุมมองของคนทำสื่อวิชาวิทยาการคำนวณคอมพิวเตอร์

ช่วงแรกการทำเกม จะเป็นช่วงของการหาข้อมูล หรือที่เราเรียกว่า “ขั้นตอน Reseach” โดยกลุ่มเป้าหมายของเรา คือ น้องๆ ป.4–6 แล้ว Unplugged game ที่ดีควรเป็นอย่างไร? เราได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า “Unplugged coding สนุกกับวิทยาการคำนวณ ยกกำลัง 2” เป็นหนังสือที่ได้รับการแนะนำจากสมาคมครูคอมพิวเตอร์ชั้นประถมศึกษาประเทศเกาหลี ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นตัวอย่างเกม Unplugged coding มีทั้งเกมการ์ดและตารางเกมให้เล่นหลายอย่างเยอะมากๆ แต่ที่สำคัญทุกเกมจะเน้นให้เด็กใช้สมองคิดก่อนเล่นเสมอ

หนังสือ Unplugged Coding สนุกกับวิทยาการคำนวณ ยกกำลัง 2

จากการ Research ของเรา พบว่า “Unpplugged game ที่เราจะสร้างนั้น จะต้องเป็นการ์ด หรือไม่ก็เกมกระดาน ที่เน้นใช้สมอง ใช้ความคิด แต่ก็สามารถเล่นสนุก และกติกาจะต้องเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป”

ช่วงที่ 2 ลองคิดรูปแบบเกม หรือ คิด concept ก่อนคร่าวๆ ซึ่งเราก็นึกถึงเกมนึง เป็นเกมตารางและต้องใช้สมองในการเล่นจริงๆ นั่นก็คือ เกม A-math แต่กว่าจะต่อเป็นสมการได้ อาจจะยากไปสำหรับเด็กประถม เราเลยมองหาของเล่นที่เป็นชิ้นๆ ที่สามารถต่อได้ง่ายๆอย่าง Domino มาใช้แทน ((จริงๆแล้ว ตอนนั้นเรานึกถึง Domino’s Pizza สงสัยเราคงหิวด้วยแหละ555🤣))

ส่วนสุดท้ายจะเป็นช่วงเราเริ่มพัฒนาเกม ด้วยการทดลองเล่นเกมที่ออกแบบไว้หลายๆครั้ง และคอยปรับเปลี่ยนกติกาการเล่นให้เกมมีความสมดุล สามารถเล่นเรื่อยๆ โดยไม่เจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ในระหว่างที่เล่น ที่สำคัญคือ การนำเกมไปให้คนอื่นลองเล่นดู เพื่อเก็บ feedback ไปปรุงปรับ/ต่อยอดให้เกมของเราดีขึ้นกว่าเดิมได้

เราได้อะไรจากการทำ Unplugged Game นี้บ้าง?

อย่างแรกเลยก็คือ เหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ด้วยความที่ตอนเด็กๆ เราชอบคิดเกมอะไรแบบนี้ หรือหามาเล่นกับน้องๆอยู่แล้วด้วย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ได้ปลดปล่อยจินตนาการของเราออกมาให้คนอื่นสามารถเล่นและสนุกไปมันได้จริงๆ

ได้เข้าใจคนทำสื่อการเรียนรู้วิชาวิทยกาคอมพิวเตอร์มากขึ้น เพราะกว่าจะได้ออกมาเป็นเกมที่ดีเกมนึง ต้องผ่านกระบวนการคิดอะไรหลายๆ อย่างมามากมาย เพื่อให้ได้เกมที่สอนเด็กได้ และเด็กก็สามารถสนุกกับเกมนั้นได้

อีกทั้งเราก็ได้เรียนรู้ว่า หลักการการสร้างเกมที่ดี คือ เกมต้องมีความสมดุลถึงจะเล่นสนุก และถ้าเกมนั้นสามารถสอนอะไรบางอย่างให้กับผู้เล่นได้ จะเป็นการสร้างคุณค่าและความหมายให้กับเกม

--

--