How to จัดการการเงิน ในยุค No More Normal

Bukku
KBTG Life
Published in
Sep 20, 2020

จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันของพวกเรา ทำให้ทุกคนเห็นว่าโลกของเราไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน เราเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่หมุนเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก หากโครงสร้างทางการเงินไม่แข็งแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานได้ จึงอยากจะชักชวนผู้อ่านให้ลองหันมาสนใจเงินในกระเป๋าของเรากันสักนิด เตรียมความพร้อมเผชิญกับยุค No More Normal เริ่มจาก…

1. การตั้งเป้าหมาย ถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร หรือกำลังจะเดินไปทางไหน เราก็คงทำได้แค่ครึ่งๆกลางๆ บางครั้งก็หลงทาง เพราะเราไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร การเก็บเงินวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ก็เหมือนกัน เช่น เวลาที่เราตั้งใจจะออมเงินเดือนละ XXX บาท แต่ระหว่างที่เก็บออมอยู่ก็ไปเจอป้าย Sale บ้าง เพื่อนชวนไปงานสังสรรค์บ้าง ทำให้เดือนนั้นๆ อาจเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาเริ่มตั้งเป้าหมายสำหรับ 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ไปด้วยกัน เช่น เดือนนี้ตั้งใจจะเก็บเงินโดยหักจากบัญชีเงินเดือนตั้งแต่วันที่เงินเข้าเลย อาจจะเริ่มต้นที่ 10% ของเงินเดือน และทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 15% และ 20% ตามลำดับ เพื่อไม่ให้เป็นการบังคับตัวเองจนเกินไปจนทำให้เรามีทัศนคติที่ไม่ดีกับการออม ทั้งนี้เป้าหมายที่เราตั้งควรวัดผลได้และมีระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายในการออมเพื่อเรียนต่อปริญญาโทในประเทศสหรัฐอเมริกาภายใน 3 ปี ต้องใช้เงิน 1 ล้านบาท ควรตั้งใจเริ่มเก็บเดือนละ 10,000 บาท เป็นต้น

การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ ทำให้เราโฟกัสในการดำเนินชีวิตและมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการอดเปรี้ยวไว้กินหวานโดยที่มองไม่เห็นว่าทำไปเพื่ออะไร

2. บันทึกรายรับ-รายจ่าย เหมือนเป็นการ Selfie การใช้จ่ายของเราในทุกๆ วัน ว่าในแต่ละวัน แต่ละเดือน เรามีรายรับมาจากทางไหนบ้าง ยังมีรายได้แค่ทางเดียวอยู่รึเปล่า ควรมองหาแหล่งรายได้ที่ 2, 3, 4 มั้ยในสภาวะเช่นนี้? ในส่วนของรายจ่าย รายจ่ายประจำมีอะไรบ้างที่เราตัดทิ้งไม่ได้เลย มีสัดส่วนเยอะเกินไปรึเปล่าเมื่อเทียบกับรายรับ โดยไม่ควรให้รายจ่ายประจำเกิน 30–40% ของรายรับ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินได้ไม่คล่องตัวนัก ส่วนรายจ่ายผันแปร หรือรายจ่ายที่ผกผันตามรสนิยม แบบว่าของมันต้องมี! สาย Social ต้องระมัดระวังในส่วนนี้ให้ดีเลย เพราะการจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าเราสามารถลดค่าใช้จ่ายผันแปรเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง ต้องแยกให้ออกระหว่าง “Need” กับ “Want” Need คือสิ่งของที่จำเป็นจริงๆ ไม่มีไม่ได้ ส่วน Want คือความอยากเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ต้องการตามกระแสสังคมเพียงเท่านั้น ผู้เขียนมี Trick เล็กๆ ที่ชอบใช้บ่อยๆ คือถ้าอยากได้ของชิ้นไหน ก็จะถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการของชิ้นนี้จริงมั้ย เอากลับไปคิดก่อน ถ้า 3 วันผ่านไป 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ยังไม่ลืมเรื่องนี้ แสดงว่าเราต้องการจริงๆ จึงค่อยวกกลับมาซื้อ หากเพื่อนๆ ลองนำวิธีนี้ไปใช้ เชื่อว่าจะประหยัดได้มากทีเดียว เพราะมีน้อยคนนักที่จะต้องการจริงๆ ในยุคที่มีโฆษณาหลั่งไหลเข้ามาหาเรามากมายในแต่ละวัน (ยุค Data ล้น) สักพักเราก็จะหันไปชอบอย่างอื่นแทน ซึ่งความต้องการของชิ้นใดชิ้นหนึ่งจะเป็นแค่อารมณ์เพียงชั่ววูบเท่านั้น ในปัจจุบันมีแอปบันทึกรายรับรายจ่ายอยู่มากมาย อยากให้เพื่อนๆ โหลดมาลองใช้กัน โดยส่วนตัวชอบแอป Money Lover ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้มากจริงๆ

3. ลงทุนให้งอกเงย จากตัวอย่างในข้อที่ 1 ว่าด้วยการตั้งเป้าหมาย หากเราต้องการเก็บเงิน 1 ล้านบาทภายใน 3 ปี แล้วตั้งหน้าตั้งตาเก็บเดือนละ 10,000 บาท โดยฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยสภาวะที่เราได้รับดอกเบี้ยอันน้อยนิดอย่างในตอนนี้ และคาดว่าสภาวะดอกเบี้ยต่ำจะยังอยู่กับเราไปอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย ทำให้เราต้องมองหาช่องทางการลงทุนที่มากกว่าการฝากเงินออมทรัพย์ทั่วไป ถึงกระนั้นการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่มากกว่ามักจะมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังคำกล่าวที่ว่า “High Risk, High Expected Return” เมื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ความเสี่ยงก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา มีหลายคนที่ไม่กล้าลงทุนเพราะความกลัว อันเกิดจากความไม่รู้ ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถขจัดความกลัวออกไปได้คือความรู้ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถติดตามข้อมูลความรู้ดีๆ ได้ทางช่องทาง Facebook Page: KAsset

4. เริ่มต้นลงทุน มาถึงตรงนี้ ใครไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ที่ KAsset และตอนนี้แอป K PLUS มีให้เลือกซื้อกองทุนได้ ทั้งกองทุน IPO กองทุนรวมทั่วไป กองทุน SSF และ RMF โดยสามารถโหลดแอป K PLUS และทำตามรูปด้านล่างนี้ได้เลย ทั้งนี้ก่อนลงทุน เพื่อนๆ ควรประเมินความเสี่ยงและดูว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เหมาะกับกองทุนประเภทไหนกันด้วยนะคะ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”

https://www.kasikornsecurities.com/ksec/page01.aspx
ขั้นตอนที่ 1 : เลือก Icon ลงทุน
ขั้นตอนที่ 1: เลือก Icon ลงทุน
ขั้นตอนที่ 2 : เลือก Icon ซื้อขาย สับเปลี่ยนกองทุน
ขั้นตอนที่ 2: เลือก Icon ซื้อ ขาย สับเปลี่ยน
ขั้นตอนที่ 3 : สามารถพิมพ์ชื่อกองทุนที่ต้องการค้นหาในช่องแว่นขยายได้เลย
ขั้นตอนที่ 3: สามารถพิมพ์ชื่อกองทุนที่ต้องการค้นหาในช่องแว่นขยายได้เลย

ขอให้เพื่อนๆ มีความสุขกับการใช้ชีวิตและการบริหารเงินในยุค No More Normal กันนะคะ

อย่าลืมว่าเริ่มต้นวันนี้ดีที่สุดค่ะ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆ แบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--