ขั้นตอนการเตรียมตัวและชีวิตนักเรียนทุน KBTG ในอเมริกา
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวกันก่อน ผมชื่อตั๋งครับ เรียนจบป.ตรี วิศวกรรมปิโตรเลียมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบ ผมได้มีโอกาสเปลี่ยนสายงานมาเป็น Data Scientist ที่กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG นั่นเอง โดยหน้าที่หลักๆ ของผมคือการสร้างและพัฒนาโมเดล Machine Learning (ML) เพื่อสนับสนุนการทำงานของ KBank ระหว่างทำงานผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง และอยากที่จะพัฒนาตัวเองทางด้านนี้อย่างจริงจัง เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งถือว่าโชคดีมากเพราะตอนนั้นทางบริษัท KBTG ได้เริ่มมีการเปิดรับสมัครนักเรียนทุน KBTG Scholarship 2019 เป็นครั้งแรกพอดี
Part 1: การเตรียมตัวสำหรับทุน KBTG และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
การเตรียมตัวสำหรับสมัครทุน KBTG ก็ไม่ได้ซับซ้อนมาก โดยเอกสารในการสมัครทุนประกอบไปด้วย 5 อย่างเท่านั้น ได้แก่ ใบสมัครทุน, Resume, Transcript, คะแนน TOEFL (ไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน) และคะแนน GRE (ไม่ต่ำกว่า 312 คะแนน)
หลังจากยื่นใบสมัครไปสักระยะนึง ก็ได้มีอีเมลส่งมาเรียกให้ไปสอบรอบแรก โดยการสอบจะแบ่งเป็นทั้งหมด 3 รอบ ดังนี้
- ข้อสอบเชิงวิชาการทั่วไป ไม่ซับซ้อนมาก โดยข้อสอบจะให้ตอบบรรยายเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
- สัมภาษณ์กับ Managing Director โดยจะมี Managing Director (MD) 1–2 คน และหัวหน้าทีม ส่วนใหญ่จะถามเกี่ยวกับ Behavioral Skills และมี Technical Skills บ้างเล็กน้อย เช่น มองตัวเองยังไงใน 5 ปีข้างหน้า, ML Algorithm อะไรที่คุณคิดว่าเจ๋งที่สุด, ทำไมต้องไปเรียนต่อด้วย, คิดว่าการเรียนต่อจะช่วยพัฒนาอะไรในตัวคุณ เป็นต้น ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที
- สัมภาษณ์กับพี่กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล (Group Chairman ของ KBTG) พร้อมด้วย MD 4–6 คน และ HR จากทางฝั่ง KBank คำถามส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กับคำถามรอบที่ผ่านมา แต่จะมีการโฟกัสเรื่องของ Vision และ Leadership มากขึ้น เช่น ถ้าต้องกลับมาเป็นหัวหน้าทีมจะสร้างทีมในรูปแบบไหน, มอง KBTG ยังไงในอีก 5 ปีข้างหน้า
หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับทุน ผมก็ได้เริ่มเตรียมตัวสำหรับการไปเรียนต่อ สำหรับผมนี่ถือเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากมากที่สุด ต้องเตรียมตัวหนักมากเนื่องจากทางทุนนั้นได้กำหนดว่าต้องไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ 10 อันดับแรกของโลกในกลุ่ม Technology ผมต้องเริ่มสอบ TOEFL และ GRE ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ได้คะแนนสูงขึ้น แต่ต้องขอบคุณทุน KBTG ที่ช่วยจ่ายทั้งค่าเรียนรวมถึงค่าสอบ นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากพี่กระทิงและหัวหน้าทีมในการเขียน Recommendations ให้อีกด้วย
Part 2: ชีวิตของเด็กมหาวิทยาลัยในอเมริกา
หลังจากการรอคอยอย่างเนิ่นนาน ในที่สุดผมก็ได้ผลตอบรับจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University (CMU) สาขา Master of Science in Machine Learning ภายใต้ School of Computer Science ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หลังจากที่ยื่นใบสมัครไปในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่ง CMU ถือว่าเป็น Top Rank University ในด้าน Technology และตัวมหาลัยตั้งอยู่ที่เมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania
ขอเล่าในด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยก่อนว่าดียังไง ผมชอบที่วิชาที่จัดสอนมีความเฉพาะเจาะจงในด้าน Machine Learning (ML) ยกตัวอย่างเช่น Advanced Deep Learning, Deep Reinforcement Learning & Control และ Advanced Natural Language Processing เป็นต้น โดยการวัดผลจะไม่ได้วัดจากการสอบอย่างเดียว แต่จะเน้นการบ้านและโปรเจคกลุ่มมากกว่า เทอมนึงจะเรียนประมาณ 3–4 วิชา (เหมือนจะน้อย แต่ที่จริงการบ้านของแต่ละวิชาค่อนข้างยากและเยอะ ใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร ทำให้ในแต่ละอาทิตย์ผมใช้เวลามากถึง 80% ของเวลาว่างมาทำการบ้าน)
ส่วนทางด้านอาจารย์ผู้สอนก็ถือว่าน่าประทับใจอย่างมาก เป็นบุคคลที่อยู่ระดับแนวหน้าในวงการ ML เช่น Tianqi Chen ผู้คิดค้น ML Algorithm ยอดนิยมอย่าง XGBoost และ Ruslan Salakhutdinov ผู้คิดค้น Dropout Regularization สำหรับ Deep Learning
นอกเหนือจากการเรียนการสอนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้น เช่น Conference จาก Guest Speakers, ไปเที่ยวสวนสนุก และดู American Football
Part 3: การใช้ชีวิตในเมือง Pittsburgh
พอไปถึงอเมริกาก็มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวในการใช้ชีวิตและการเรียนหนังสือที่นั่น ที่พักในเมือง Pittsburgh ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นห้องเปล่าๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ เราต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างเข้ามาในที่พักและทำการประกอบเองทั้งหมด รวมทั้งต้องทำเรื่องติดต่อการไฟฟ้าและติดตั้ง WiFi เองอีกด้วย
แต่ด้วยความสังคมที่นั่นดีมากๆ ทุกคนพร้อมคอยช่วยเหลือและสนับสนุนกันในทุกๆ เรื่อง มีพี่ๆ น้องๆ คอยพาไปซื้อของเข้าบ้านและยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ ทำให้การใช้ชีวิตที่นั่นไม่ยากลำบากเท่าที่คิด แถมยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานอีกด้วย
อีกเรื่องนึงที่ต้องปรับตัวคือเรื่องสภาพอากาศที่ Pittsburgh เนื่องจากที่นี่อากาศแปรปรวนเป็นอย่างมาก อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกะทันหันตลอดเวลา บางวันมีทั้งฝนตก หิมะตก และแดดออก ทั้งยังมีพายุหิมะบ่อย เคยเจอหนาวสุดอุณหภูมิติดลบมากกว่า 20 องศา การมีอุปกรณ์กันหนาวที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้มีชีวิตรอดในการอยู่ที่นี่
ในส่วนของเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นไม่ต้องกังวลเลย เพราะทุน KBTG ครอบคลุมทุกอย่างให้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเตรียมตัวก่อนไปเรียน ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเทอม ฯลฯ
ขอบอกเลยว่า การไปเรียน CMU ถือเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งต้องขอขอบคุณ KBTG ที่จัดตั้งโครงการทุนนี้ขึ้นเพื่อให้โอกาสเด็กไทยไปเรียนต่อที่ต่างประเทศในสถาบันระดับโลก
สุดท้ายนี้ผมก็มีความตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา KBTG ต่อไป และสำหรับใครก็ตามที่สนใจจะพัฒนาตัวเองและไปเรียนต่อมหาลัยชั้นนำ สามารถติดตามประกาศรับสมัครทุนการศึกษาของ KBTG ผ่านช่องทางต่างๆ ขององค์กรกันได้เรื่อยๆ เลยครับ
อัพเดต 2023: ตอนนี้ KBTG กำลังมีการเปิดรับสมัคร KBTG Young Tech Scholarship ให้กับน้องๆ นักศึกษาปี 4 ที่กำลังมองหาทุนเรียนต่อปริญญาโทในสายเทคโนโลยี กระบวนการจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ KBTG Scholarship ที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นเลยครับ หากสนใจ สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://forms.office.com/r/t3aV3d7uNQ
สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวดีๆ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ จากชาว KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech