ครบรอบหนึ่งปี Office Syndrome — ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ไม่คิดว่าจะเป็น (เร็วขนาดนี้)

Sascha May
KBTG Life
Published in
3 min readApr 18, 2024

“เวลาหนึ่งปี หลังจากเหตุการณ์ที่ตื่นมาแล้วคอขยับไม่ได้ มันผ่านไปไวกว่าที่คิด และเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของเราไปเหมือนกันนะ”

นี่คือความคิดที่แวบเข้ามาในหัวครั้งแรก ก่อนจะตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา เผื่อใครที่มาอ่านบทความนี้กำลังพบเจอกับอะไรที่คล้าย ๆ กัน หรืออยากหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า

จะทำยังไง ถ้าเช้าวันหนึ่ง คุณทำสิ่งที่ง่ายที่สุดในชีวิตอย่างการ “หมุนคอ” ไม่ได้?

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันกับเราในเช้าวันวาเลนไทน์เมื่อปีก่อน ทุกอย่างในคืนก่อนหน้ามันช่างปกติ ใช้ชีวิต พูดคุย กินข้าว ทำงานได้อย่างปกติ ไม่มีความรู้สึกปวดเมื่อยแบบมีนัยสำคัญอะไรเท่าไหร่ แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้นหลังตื่นนอน กลับรู้สึกว่าเวลาขยับคอ มันเหมือนมีอะไรมารั้งไว้ให้เราหันไปได้ไม่สุด…

สิ่งที่ทุกคนทำก็คงจะพยายามยืด เอียงคอไปมาให้ได้ยินเสียง ‘กรึ๊บ’ ใช่มั้ยคะ? เราเองก็เช่นกัน แต่พอยิ่งทำ มันยิ่งเป็นมากขึ้นแฮะ

ยิ่งวันนั้นเป็นวันที่ต้องเข้าออฟฟิศเพื่อไปทำงาน ใครเรียกวันนั้นก็เหมือนคนหยิ่ง เพราะเชิ่ดคออยู่ตลอดเวลา เวลาหันต้องหันไปหาแบบทั้งตัว เพราะถ้าหันไว ๆ เมื่อไหร่ตรงบริเวณต้นคอไปถึงบ่าจะ ‘จี๊ด’ เหมือนเจ็บร้าวขึ้นมา

ซ้าย: ภาพตอนเที่ยง ยังพอทำกิจกรรมที่ตึกได้ปกติ | ขวา:ช่วงเย็นที่ปวดต้นคอ และเริ่มรู้ตัวว่าปล่อยไว้ไม่ได้ ต้องไปพบนักกายภาพเบื้องต้นก่อน

หมุนคอไม่ได้ แล้วต้องทำยังไงต่อ?

เอาละสิ ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ ต่อไปคืนนี้จะนอนหลับได้ยังไง เย็นวันนั้นเราเลยตัดสินใจไปหาคลินิกกายภาพบำบัดที่ใกล้ที่สุดก่อน เผื่อเขาจะแนะนำอะไรได้บ้าง ซึ่งนักกายภาพอธิบายให้ฟังเบื้องต้นว่ามันน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อที่บริเวณต้นคออักเสบ จึงแนะนำว่าให้ไปพบแพทย์เลยทีเดียวดีกว่า เพราะทางคลินิกทำได้เพียงบรรเทาเบื้องต้นด้วยการเป่าลมเย็น (เทียบเท่าการประคบเย็น) และให้เราไปซื้อยาคลายกล้ามเนื้อ (Orphenadrine — Norgesic) / ยาแก้อักเสบ เพื่อลดอาการปวดไปพลาง ๆ ก่อนไปปรึกษาแพทย์

Tips สำหรับชาว KBTG: หลังจากพบนักกายภาพเสร็จแล้ว สิ่งต่อไปที่เราต้องทำคือเตรียมไปพบแพทย์ แต่มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะถือเป็นข้อดี เพราะทาง KBTG มีทำประกันกลุ่มไว้กับเมืองไทยประกันชีวิต วิธีการค้นหาว่าจะไปโรงพยาบาลไหนจึงเริ่มจากการเปิดแอป MTL Click/ LINE OA เพื่อตรวจสอบว่าโรงพยาบาลอะไรใกล้เรามากที่สุด (คอไม่ไหวจะเดินทางไกลแล้วจ้า)

ดูวิธีการค้นหาโรงพยาบาล จาก Location ที่ใกล้เราที่สุดได้ที่ โพส Facebook นี้ของทาง MTL

เรียกได้ว่าฟีเจอร์นี้ของ MTL เป็น ‘Life Saver’ ในชีวิตเราตอนนั้นเลย เพราะพื้นฐานเราเองก็ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลไหนบ้างที่สามารถใช้สิทธิ์ประกันกลุ่มที่ทาง KBTG ทำให้ได้บ้าง เมื่อกดค้นหา ก็จะมีรายชื่อโรงพยาบาลคู่สัญญาขึ้นมาให้เลือกทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกว่าต้องไปโรงพยาบาลให้ไวที่สุด และไม่ลังเลที่จะเลือกโรงพยาบาลเอกชน (แม้ว่าจะแอบกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลอยู่บ้างก็ตาม)

เมื่อเจอโรงพยาบาลเป้าหมายแล้ว ต่อไปคือพาร่างกายไปหาคุณหมอ

เหตุผลที่นักกายภาพบำบัดแนะนำว่าให้ไปพบแพทย์คือถ้าหากไม่ได้ตรวจอย่างละเอียด ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าการที่เราขยับคอไม่ได้เกิดจากอะไร เมื่อถึงโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่พร้อมกว่า คุณหมอจึงส่งไป X-ray เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งผลของการตรวจก็คือ

“คนไข้กล้ามเนื้อต้นคออักเสบ และผลการ X-ray พบว่ามีอาการกระดูกต้นคอเสื่อม”

พอฟังครั้งแรก ก็แอบตกใจนิดนึง เพราะถ้าคิด ๆ ดูแล้ว อายุของเราอาจจะยังถือว่าไม่มากที่จะมีปัญหาเรื่องกระดูกเสื่อมที่มักจะพบในผู้สูงอายุ (อายุ 25 ปี ณ วันที่ไปตรวจ) และ Office Syndrome ก็มักจะพบในผู้ที่ทำงานอย่างหักโหมเป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณหนึ่ง เลยถามคุณหมอต่อว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่นำมาสู่อาการแบบนี้ ลองมาไล่ดูกันค่ะว่าตอนนี้ทุกคนเจอกับสาเหตุประมาณนี้บ้างหรือเปล่า

ตัวอย่างท่าทางการนั่งทำงานที่อาจส่งผลต่อร่างกาย ลองสำรวจดูว่าปัจจุบันเรานั่งท่าประมาณนี้หรือเปล่า | อ้างอิง: lazboythailand.com
  1. การวางท่าทางในชีวิตประจำวันที่ไม่เป็นมิตรต่อร่างกาย เช่น การก้ม/แหงนคอทำงานทั้งวัน (โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้นะ) โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานสายไอทีแบบเราที่ต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด หน้าจออาจจะตั้งในตำแหน่งที่ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอทำงานหนัก
  2. บาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว เช่น บางครั้งกล้ามเนื้อต้นคอของเราตึงมาก ๆ ไม่ได้ถูกยืดเหยียด แล้วเราหันไว ๆ หรือกระทบกระเทือนจากการกระแทกเช่น ขับรถแล้วเบรกแรง ๆ ก็ทำให้บาดเจ็บได้
  3. ภาวะเครียด ซึ่งอาจเกิดโดยที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเช่นกัน ทำให้มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อต้นคอตามมา รวมไปถึงการพักผ่อนน้อยก็มีส่วน
  4. กระดูกต้นคอเสื่อม ข้อนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการที่เราใช้กระดูกคอมาก ๆ ที่ตามมาจากข้อแรก การวางท่าทางในชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม ซึ่งข้อนี้อาจจะนำไปสู่อาการอื่น ๆ เช่น กระดูกกดทับปลายประสาท ทำให้บางคนมีอาการชาร่วมด้วย (แต่เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้นนะ)

เมื่อลองพิจารณาตามที่คุณหมอให้ข้อมูล ก็พบว่า “เออนะ เราเองก็ติ๊กถูกหลายข้อในนี้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ” โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่ดูจะแก้ไขอะไรได้ยาก เนื่องจากหากกระดูกคอเสื่อมแล้ว คุณหมอแนะนำแค่ว่าต้องประคับประคองไม่ให้มันเสื่อมมากกว่าเดิม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตตามข้อ 1–3 ที่พอจะปรับได้

แต่ส่วนตัวเราเป็นคนที่จบคณะสถาปัตย์ที่ใช้ร่างกายค่อนข้างหนักอยู่แล้วสมัยเรียน ซึ่งอาจจะเป็นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ทำให้ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะการทำงานทั้งหมด คงเป็นตามพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนด้วย เพราะคิด ๆ ดูแล้วหลังเรียนจบมาทำงาน เราก็ทำงานแบบไม่ได้หักโหมมากและยังแฮปปี้อยู่นะ

ภาพเปรียบเทียบกระดูกคอที่มีอาการเสื่อม จะไม่โค้งไปตามแนวที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดต้นคอได้

แล้วเป็นแบบนี้จะรักษายังไงดีคะหมอ?

เบื้องต้นหากใครที่พบอาการเดียวกันกับเรา คือรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อต้นคอ จนขยับคอหรือหันหน้าเอี้ยวคอไม่ได้ คุณหมอแนะนำเราให้มาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอาทิตย์ละครั้ง ติดต่อกันประมาณ 4 สัปดาห์ (แล้วแต่อาการของแต่ละคนด้วยนะ) ประกอบกับรับประทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อควบคู่

ซึ่งการทำกายภาพบำบัดก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด!

การกายภาพบำบัดครั้งนี้ของเราใช้เวลาไม่นานมาก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือการเข้าไปใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาบริเวณที่มีอาการอย่างตรงจุด และการที่นักกายภาพบำบัดจะมาสอนให้เราจัดท่าทางการนั่งทำงาน มอบหมายการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเบื้องต้นให้กลับไปทำที่บ้าน แบบที่ว่าแม้อาการจะหายแล้ว แต่ก็ควรจะทำจนเป็นนิสัยอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างยั่งยืน

ซ้าย: เครื่อง Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) | ขวา: เครื่องสำหรับการทำ Ultrasound Therapy

นักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือในภาพ (เริ่มจากภาพทางด้านซ้าย) ในการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปที่กล้ามเนื้อของเราบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ เพื่อกระตุ้นระบบประสาทด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รักษาอาการปวด ซึ่งตอนใช้เครื่องนี้เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่มากสำหรับเรา เพราะเมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้ามา กล้ามเนื้อจะขยับเองโดยที่สมองของเราไม่ได้สั่งการ หลังจากนั้นจะต่อด้วยการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในการปล่อยคลื่นสำหรับลดอาการปวดบวมและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงอาการตึงของกล้ามเนื้อ ก่อนจะปิดท้ายขั้นตอนด้วยการนอนบนแผ่นร้อน

ตามที่เกริ่นไปด้านบนว่าไม่เพียงแต่รักษาด้วยเครื่องมือเท่านั้น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกคือการที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต เช่น เรียนรู้ที่จะยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ บ้าง ไม่ปล่อยให้นั่งทำงานจนเกร็ง นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นต้องอธิบายและสอนให้เราลองนำท่าเหล่านี้ไปใช้ค่ะ (แม้ไม่ได้อัดวิดิโอตอนที่สอนไว้ แต่รูปแบบการทำจะเป็นประมาณคลิปที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ เผื่อใครสนใจลองทำ แม้ยังไม่ได้ปวดเมื่อยมากก็สามารถทำได้นะ)

วิธีการยืดกล้ามเนื้อด้วยตัวเองที่นักกายภาพบำบัดแนะนำให้กลับไปทำที่บ้านต่อ แม้ว่าจะทำกายภาพครบแล้ว

ค่าใช้จ่ายที่ออกมาสำหรับการทำกายภาพบำบัดจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท/ครั้ง ต้องทำทั้งหมดประมาณ 3–4 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาลด้วยนะ) โดยรวมก็มียอดอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งโชคดีที่ในส่วนนี้ยังครอบคลุมอยู่ในประกันกลุ่มที่ทางบริษัททำให้อยู่และเราไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าเลย ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายกับทางบริษัทประกันโดยตรง

ไม่นึกเลยว่าจากเดิมที่มองว่าสวัสดิการประกันกลุ่มเป็นสิ่งที่อาจไม่ได้สำคัญและคงไม่ได้ใช้มาก กลับกลายเป็นมีประโยชน์กว่าที่คาดและไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

Office Syndrome อาการที่มีคำว่า ‘ออฟฟิศ’ อยู่ในชื่อ แล้วแบบนี้บริษัทจะช่วยอะไรเราได้บ้าง?

นอกจากค่ารักษาพยาบาลที่มีสวัสดิการประกันกลุ่มจากเมืองไทยประกันชีวิตมาดูแล ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้ว หลังจากการรักษาตัว ก็ยังมีสิ่งที่เรายังควรดูแลตัวเองต่ออีกหลายอย่าง เพื่อไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น

การเปลี่ยนมาเล่นกีฬาที่ช่วยเรื่องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

หลังจากการเข้าโรงพยาบาลครั้งนั้น เราก็ตัดสินใจว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จากเดิมที่เวลาออกกำลังกาย จะนึกถึงแค่ Cardio กับ Weight Training และรู้สึกว่าการออกกำลังกายที่ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างโยคะหรือพิลาทิสเป็นเรื่องห่างไกลตัว ก็ต้องปรับมุมมองและเริ่มฝึกฝนจากพื้นฐานที่เริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น

โชคดีว่าตอนนั้นมีพี่ที่ในทีมบอกว่า “ลองไปสมัคร Jetts Fitness สิ สามารถสมัครแบบใช้ส่วนลดพนักงานได้นะ” เพราะพี่เขาไปนั่งฟัง Session ที่ทาง KBTG เล่าถึงสิทธิประโยชน์ที่บริษัทมีให้มา และหนึ่งในนั้นคือส่วนลดค่าสมาชิก Fitness Center

ภาพประกอบตอนเริ่มเข้าคลาสออกกำลังกายตั้งแต่กล้ามเนื้อยังแข็ง (ขนาดที่คุณครูประจำคลาสทัก) จนไปถึงวันที่ตัวเริ่มอ่อน จนทำท่าตามคุณครูได้มากขึ้น

การเริ่มฝึกโยคะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากสำหรับเรา เพราะจากเดิมที่มองว่าคนที่เล่นโยคะคงต้องเป็นคนที่รักสุขภาพ อยากดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดูเข้าถึงยาก มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็น “เขาก็อาจจะเริ่มจากการเป็นคนปวดหลังแบบเราก็ได้” เพราะจากวันแรกที่เริ่มฝึก แต่ละส่วนของร่างกายตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่าตึงมาก ๆ รู้สึกว่ายากลำบาก หลายท่าไม่สามารถทำตามครูฝึกได้ แต่หลังจากที่พยายามสอดแทรกมาเป็นกิจวัตรหลังเลิกงานในแต่ละสัปดาห์ อาการปวด ตึง กล้ามเนื้อก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มรู้สึกอยากไปนวดแผนไทยน้อยลงและสบายตัวมากขึ้น

เลยเข้าใจว่าที่ผ่านมาร่างกายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด แต่เราแทบไม่ได้ทำความรู้จักเขาเลย เวลาปวดเมื่อยทีนึง คิดว่าไปนวดเดี๋ยวก็จะสบายตัว แต่สักพักก็จะกลับมาปวดใหม่ เพราะเรายังทำพฤติกรรมแบบเดิม ๆ

ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการทำงาน อย่างเก้าอี้ทำงาน ให้เหมาะกับสรีระร่างกาย

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอีกอย่างคือเก้าอี้ทำงาน ที่ต้องเปลี่ยนมาให้รับกับสรีระมากขึ้น เพราะวันๆ หนึ่งเราใช้เวลาอยู่กับเก้าอี้นานมากกว่า 6 ชั่วโมง ดังนั้นเก้าอี้ควรจะเป็นสิ่งที่ช่วยซัพพอร์ตให้ท่านั่งเราถูกต้อง และไม่รู้สึกปวดเมื่อยระหว่างวันด้วย

ดีที่ว่าเก้าอี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ Work From Home ที่ทาง KBTG มี Spending Account พร้อมงบให้ปีละ 6,000 บาท ที่เราสามารถใช้ซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น เก้าอี้ Ergonomic โต๊ะปรับระดับ รวมไปถึงอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ อย่างจอคอมพิวเตอร์ เมาส์ ลำโพง หมึกเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ดังนั้นเราก็ไม่พลาดที่จะได้ฤกษ์ถอยเก้าอี้ตัวใหม่ ที่ออกแบบมาให้มีที่รองคอ จะได้ไม่เผลอยื่นคอจ้องจอตอนทำงาน

เก้าอี้จากงบ Spending Account จากทาง KBTG ซื้อได้ค่อนข้างครอบคลุมทั้งเก้าอี้ โต๊ะปรับระดับ เมาส์ คีย์บอร์ด

ส่งท้าย ผ่านมาหนึ่งปีแล้ว เป็นยังไงบ้าง?

ปัจจุบันเราไม่ได้มีอาการที่ย้อนกลับมาเป็นซ้ำสักเท่าไหร่ เพิ่มเติมคือการใส่กิจกรรมเล่นโยคะหลังเลิกงาน เป็นงานอดิเรกใหม่ของชีวิตมาแล้ว 1 ปี เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เข้าใจร่างกายตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่รู้สึกปวดเมื่อยเมื่อไหร่ ก็จะนึกถึงการนวดแผนไทย คลายกล้ามเนื้อ แต่ตอนนี้เริ่มปรับเปลี่ยนความคิดก่อนที่เส้นมันจะตึง ลองพยายามค่อย ๆ ผ่อนมันก่อน เหมือนสายกีตาร์ถ้าเราปรับตึงเกินไป ดีดเบา ๆ ก็อาจจะขาดผึง

ดังนั้นถ้าตอนนี้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อเส้นสายของเราเริ่มส่งสัญญาว่า “เมื่อยเว้ย” ออกมา ก็ถือเป็นการ Communicate หนึ่งของร่างกายที่อยากให้เราปรับรูปแบบการนั่ง รูปแบบการใช้ชีวิต รวมไปถึงฝึกท่าทางต่าง ๆ ออกกำลังกาย เพื่อให้ความตึงมันผ่อนลง เหมือนได้ยืดวันละนิดแบบยั่งยืน ไม่ต้องไปกายภาพทีเดียวตอนที่มันเริ่มจะสายไป (แถมเริ่มเสพติดแล้วด้วยว่าถ้าสัปดาห์ไหนไม่ได้ลองยืดเหยียดร่างกาย ก็กลัวว่าอาการเดิม ๆ ที่แสนทรมานจะย้อนกลับมา)

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนรู้สึกเริ่มมีอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ กันบ้างหรือยัง ถ้ายังก็อาจจะแปลว่าคุณเป็นคนที่ดูแลสภาพร่างกายได้ดีมาก และมีท่าทางการนั่งการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง แต่ถ้าเริ่มเมื่อยแล้ว ก็อย่าลืมนำทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความนี้ไปลองประยุกต์ใช้ดู ก่อนที่จะบาดเจ็บจนต้องพบแพทย์นะคะ

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เรานำมาแบ่งปันทุกคนค่ะ หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ไม่มากก็น้อย คราวหน้าจะเป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าหากสนใจก็อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันใหม่ค่ะ!

maysasi.com

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--

Sascha May
KBTG Life

UX Designer | Researcher - A former architectural student who believes that design can improve the quality of humans lives