จากงาน AI Roundtable และ KBTG Techtopia สู่การปรับตัวตามเทรนด์ AI ให้ทัน

Nuttawat
KBTG Life
Published in
5 min readAug 10, 2024

เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้เข้าร่วม 2 งานเทคที่น่าสนใจมากๆ อย่างงาน AI Roundtable และงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future ที่ทำให้ผมได้เจอกับเทรนด์และเกร็ดความรู้ด้าน AI มากมาย เลยขอมาสรุปเนื้อหาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

5 เทรนด์ AI ล่าสุดที่น่าจับตามองจากงาน AI Roundtable

AI Roundtable เป็นงานที่พี่กระทิงและพี่ๆ ผู้บริหารจาก KBTG จัดขึ้นเพื่อแชร์ความรู้เรื่อง AI ให้กับสื่อมวลชน โดยนอกจากจะเป็นการอัพเดตโปรเจค AI ใหม่ๆ ไปจนถึง Case Study การทำ AI Transformation ภายในองค์กรแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์หลักคือการสรุป 5 เทรนด์ AI ที่ KBTG และทั้งโลกกำลังจับตามอง ดังนี้

1. LVM AI: Transformer-based Large Vision Models for Image processing Large Vision Models

การเข้ามาของโมเดล AI ประเภทใหม่อย่าง LVM หรือ Large Vision Model โมเดลการมองเห็นขนาดใหญ่ที่ช่วยพัฒนา AI ในการประมวลผลให้สามารถจดจำ เข้าใจ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงภาพต่างๆ ทั้งรูปภาพนิ่งหรือวิดีโอได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยสิ่งนี้จะช่วยให้การพัฒนาโมเดลเชิงอุตสาหกรรมหรือโมเดลเชิงลึกทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาโมเดล AI ในการประมวลภาพ

2. Multi-Modal AI: AI that works with multiple data formats

โมเดล AI ที่ฝึกด้วยการใช้ข้อมูลหลายประเภท เช่น ตัวอักษร เสียง รูปภาพ ความลึก ความตื้น หรือโมเมนตัมมาควบรวมอยู่ในโมเดลเดียวกัน ทำให้ AI ประมวลผลข้อมูลได้หลายประเภทพร้อมกัน เช่น เมื่อเรา Input ใส่รูปภาพนกพิราบและเสียงของรถมอเตอร์ไซค์เข้าไป AI จะสร้าง Output ออกมาเป็นรูปภาพนกพิราบที่มีรถมอเตอร์ไซต์วิ่งผ่านอยู่ในรูปนั้นด้วย ดังรูปด้านล่าง

แต่โมเดลนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือขนาดความใหญ่ของโมเดลและต้นทุนที่สูง

3. Multi-Agent AI: Multiple AI models working together

เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคอยสื่อสารและสั่งงานกับ AI อีกต่อไป เราสามารถสร้างระบบที่กำหนดให้โมเดล AI สามารถมอบหมายงานให้กันเอง ทำงานต่อกันได้ หรือปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหา เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และระบบที่ว่านี้คือ Multi-Agent AI เช่น กำหนดให้ AI ตัวหนึ่งเป็น Analyst และกำหนดให้ AI อีกตัวเป็น Tech Support โดยเราสั่งให้ AI Analyst ไปคุยกับ AI Tech Support ลองโค้ดลงโปรแกรมและ Plot กราฟให้ จากนั้นพวกมันก็จะไปสื่อสารระหว่างกันเอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ ดังรูปด้านล่าง

4. Rational AI: AI with Human-level reasoning

เมื่อ AI เริ่มมีความใกล้เคียงเหมือนกับคนมากยิ่งขึ้น เริ่มสื่อสารเหมือนกับคนมากยิ่งขึ้น จึงมีการพัฒนาสร้างโมเดล AI ที่สามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และอธิบายที่มาที่ไปของคำตอบได้อย่างสมเหตุสมผลเหมือนคน เพราะบางครั้งเมื่อเราให้โจทย์หรือ Context ที่ซับซ้อนเกินไป ถึง AI ตอบมาถูกก็จริง แต่เหตุผลไม่ได้ถูกตามไปด้วย

5. Domain-Specific AI: AI tuned for domain expertise

เมื่อโมเดลมีขนาดที่ใหญ่เกินไป ทำงานได้หลายอย่าง จนไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ดังนั้นจึงเริ่มมีการย่อขนาดโมเดล AI ให้สามารถตอบได้เจาะจง เฉพาะทาง และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น เช่น ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย หรือด้านการเงิน เป็นต้น

ทาง KBTG เองได้มีการพัฒนา Domain-Specific AI อย่าง THaLLE (Text Hyperlocally Augmented Large Language Extension) ขึ้นมา โดย THaLLE หรือ ทะเล เป็นโมเดล LLM ที่เชี่ยวชาญด้านการเงินตัวแรกของไทย สามารถสอบผ่านข้อสอบระดับ Chartered Financial Analyst (CFA) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูงในสายที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนา THaLLE ของ KBTG คือการยกระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงและใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7 เรื่อง AI & Tech น่ารู้จากงาน KBTG Techtopia

KBTG Techtopia: A Blast From the Future เป็นงาน Tech Conference ที่ KBTG จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยครั้งนี้เรามีการนำผู้เชี่ยวชาญจากหลายวงการและหลายประเทศมาพูดถึงบทบาทของ AI โอกาสและความท้าทาย รวมถึงกรณีศึกษาธุรกิจ และบทเรียนที่ได้จากคนที่ลงมือทำจริง ผ่าน 3 เวทีที่จัดเต็มเนื้อหาเกือบ 40 Session โดยผมสรุปรวมสาระน่ารู้ได้ 7 เรื่องด้วยกัน ดังนี้ครับ

1. (Gen) AI ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอและจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น

AI มีวิวัฒนาการที่เติบโตอยู่เรื่อยๆ โดยปัจจุบันถือว่าเป็น Peak of AI Transformation เพราะจากการเข้ามาของ ChatGPT ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI หรือ Gemini ที่ถูกพัฒนาโดย Google ทำให้ AI เริ่มมีบทบาทในชีวิตของผู้คนจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย AI เข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเขียนบทความ สร้างภาพ เสียง และวีดีโอต่างๆ ได้ตามความต้องการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม AI มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน งานหลายอย่างอาจจะใช้ AI ทำ Automation ได้ เช่น Educator & Workforce Training หรือ Business & Legal Professions ทั้งนี้จากสถิติพบว่าประมาณ 20–30% ของ Task ที่เราทำในปัจจุบันจะถูก Automate ด้วย AI และยังเหลืออีก 70–80% ที่มนุษย์ยังต้องรับผิดชอบต่อไป (Automate tasks, not jobs)

2. ปี 2030 AI จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจทั้งหมด

ตอนนี้ในภาคธุรกิจ AI สามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ เห็นได้จากบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Mitsui ที่ใช้เวลาไม่กี่เดือนในการตั้งบริษัทใหม่อย่าง Bearing AI ที่ใช้ AI มาช่วยให้ธุรกิจการขนส่งทางทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยตรงก็หันมาใช้ประโยชน์จาก AI เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • Coca-Cola, Unilever, Mercedes-Benz ใช้เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่
  • Volvo, Unity Gaming, Rockwell Automation ใช้เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ
  • PwC, KPMG, Heineken ใช้เพื่อเพิ่ม Productivity ให้พนักงาน
  • H&M, NBA, ASOS ใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า

และในอีก 6–10 ปีข้างหน้า บริษัทในหลายอุตสาหกรรมจะนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Domain-Specific AI ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น โดยในหลายอุตสาหกรรมต้องการระบบที่วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก มีความเฉพาะด้าน และประหยัดต้นทุน แต่ยังได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Domain-Specific AI สามารถตอบโจทย์ตามความต้องการเหล่านั้นได้

The Opportunities and Risks in AI

3. AI ควรถูกออกแบบเพื่อยกระดับความสามารถให้แก่มนุษย์ ไม่ใช่มาแทนที่

AI ในทุกวันนี้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถเหนือกว่าและมาแทนที่มนุษย์ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามอง AI เป็น IA (Intelligence Augmentation) ที่พัฒนามาเพื่อยกระดับความสามารถให้แก่มนุษย์ โดยคำนึงถึงมนุษย์มากขึ้นแทน ซึ่งในปัจจุบัน AI สามารถเสริมทักษะต่างๆ ให้เรา ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การตัดสินใจ (Decision-making) ความจำ (Memory) การสร้างแรงจูงใจ (Motivation) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior change) และการสื่อสาร (Communication) เป็นต้น

From AI to IA: Living with AI via Intelligence Augmentation

4. Wisdom, Wonder และ Well-being 3 สิ่งที่ AI ควรจะเป็นเพื่อสร้างความเจริญให้แก่มนุษย์

นอกจาก AI ควรจะเป็น IA ที่คอยช่วยยกระดับความสามารถให้แก่มนุษย์แล้ว AI ควรสร้างความเจริญให้แก่มนุษย์ด้วย (Human Flourishing) เป็นระบบที่ช่วยพัฒนามนุษย์ให้เติบโตได้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Wisdom (ปัญญา) ช่วยให้เราตัดสินใจอย่างชาญฉลาด โดยเสริมสร้างการคิดวิเคราะห์ของเรา ด้าน Wonder (ความมหัศจรรย์) ทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราและโลกของเราน่าสนใจและน่าตื่นเต้น และด้าน Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดี) ส่งเสริมสุขภาพจิตและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทำให้เรามีการเชื่อมต่อที่ดีกับตัวเราในอนาคต

Towards a New Discipline of Human+AI Interaction for Human Flourishing

5. การใช้ AI อย่างสม่ำเสมอ เป็นจุดเริ่มต้นในการ Transform ตัวเองให้อยู่รอดและเติบโตได้ในยุค AI

หลักการพื้นฐานในการเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดและเติบโตได้ในยุค AI คือการใช้ AI เป็นเครื่องมืออยู่เสมอ ใช้ AI เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด และอย่ายึดติดกับเครื่องมือ เพราะ AI ที่เราใช้ในวันนี้จะเป็น AI ที่ห่วยที่สุดที่เราเคยใช้ อันเนื่องจาก AI มีวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดอยู่เสมอ

นอกจากการใช้ AI อยู่เสมอแล้ว เราต้องโอบรับการเปลี่ยนแปลงและสนุกไปกับมัน มีความอยากรู้อยากเห็น แยก Signal กับ Noise ให้ออกว่าอะไรคือสัญญาณที่ควรรับรู้ และอะไรคือสัญญาณรบกวนใจที่ควรเอาออก มีความอดทน และโฟกัสกับเป้าหมายระยะยาว

Transform to Thrive in the Age of AI

6. การใช้ AI ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และมีความรับผิดชอบทุกครั้งในการใช้งาน

เพราะการใช้งานเครื่องมือ Generative AI นั้นมีความเสี่ยงและข้อควรระวังในการใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Similarity of Content การสร้างผลงานจากข้อมูลที่ได้มีอยู่แล้ว อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือลอกเลียนผลงานผู้อื่น Our Use of Content ข้อมูลที่ใช้ฝึกโมเดล AI อาจมีโอกาสรั่วไหลไปยังบริษัทอื่นๆ หรือบุคคลที่สามได้ และ Accuracy ข้อมูลที่สร้างโดย AI อาจไม่ถูกต้อง หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าอาการหลอน (Hallucination)

เพื่อให้ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ สามารถทำได้ตามหลัก 4 ข้อนี้

  1. Reliability ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ AI จากแหล่งที่มาก่อนนำไปใช้
  2. Honesty ใช้ AI อย่างโปร่งใส ไม่บิดเบือนข้อมูล และแจ้งให้ทราบเมื่อมีการใช้ AI
  3. Respect เคารพข้อมูลส่วนบุคคลและไม่ใช้ AI ในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
  4. Accountability รับผิดชอบต่อผลลัพธ์และผลกระทบจากการใช้ AI และตรวจสอบการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
Navigating Ethics and Governance in the Generative AI Landscape

7. ในอนาคต AI จะยกระดับการศึกษา จากการเรียนรู้ที่น่าเบื่อเป็นน่าเรียนมากยิ่งขึ้น

AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว โดยตอนนี้แบ่งได้เป็น 4 ระดับตามความต้องการของผู้เรียน คือ

  1. ใช้เพื่อหาคำตอบ (เช่น การถามคำถามใน ChatGPT หรือ Gemini)
  2. ใช้เพื่อยกตัวอย่าง ต่อยอดความรู้
  3. ใช้เหมือนเป็นติวเตอร์ส่วนตัว สอนโดยไม่ให้คำตอบโดยตรง
  4. ใช้เพื่อกระตุ้นการคิดวิเคราะห์

ในอนาคต AI จะยกระดับการศึกษาและพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถด้วยการเรียนรู้ที่เน้นการนำไปใช้งานจริงมากกว่าการท่องจำ เน้นการเรียนรู้แบบ Self Pace ผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนของตนเองได้ เลือกเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาและออกแบบหลักสูตรมากขึ้น

EDTECH: The Future Of Education

ปรับตัวตามเทรนด์ AI ให้ทัน กับ M.A.D Bootcamp

จากเทรนด์ AI ที่ผมได้สรุปมาข้างต้นนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าปัจจุบัน AI กำลังก้าวขึ้นมาเป็น General-purpose Technology หรือเทคโนโลยีอเนกประสงค์ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และยกระดับวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกจริงๆ สมกับคำพูดของ Andrew Ng เจ้าพ่อแห่งโลก AI ที่กล่าวบนเวที KBTG Techtopia ไว้ว่า

“AI is the New Electricity”

…100 ปีก่อนไฟฟ้าเปลี่ยนทุกอุตสาหกรรมฉันใด AI จะนำมาความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เท่ากันฉันนั้น

ดังนั้นแล้วเมื่อ AI มาเปลี่ยนแปลง เราควรต้องปรับตาม มอง AI เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับทักษะของตนเองให้เชี่ยวชาญทางด้าน AI มากยิ่งขึ้น

ตอนนี้ KBTG มีหลักสูตร M.A.D. Bootcamp ภายใต้โครงการ KBTG Kampus ClassNest ที่เปิดให้คนที่สนใจทำงานด้าน AI ปูตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการพัฒนา AI ด้วยตนเอง โดย M.A.D. ย่อมาจาก Machine Learning, AI และ Data เป็นหลักสูตรสุดเข้มข้นกว่า 4 เดือน ประกอบไปด้วยคอร์สเรียนออนไลน์ 9 สัปดาห์ และกิจกรรม Onsite อีก 2 วัน ออกแบบการเรียนและสอนโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน M.A.D ของ KBTG รวบรวมเนื้อหา 3 ด้าน ได้แก่ Predictive AI, Large Language Model (LLM) และ Human AI Interaction

  • เรียนออนไลน์ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ผ่าน TU NEXT Platform จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • จ่ายเพียง 11,900 บาท จากราคาเต็ม 61,900 บาท
  • เพิ่มทักษะและโอกาสสู่สายอาชีพใหม่ๆ ทั้ง Data Analyst, Data Scientist, AI Researcher และ AI Consultant
  • มาพร้อม M.A.D Hackathon สุดมันส์ ลองวิชาในสนามจริง พร้อมเกียรติบัตรและรางวัลมากมาย​

รับจำนวนจำกัดเพียงแค่ 200 คนเท่านั้น และกำลังจะปิดรับสมัครในไม่กี่วันนี้แล้ว สามารถดูรายละเอียดและสมัครเรียนได้ที่เว็บไซต์ KBTG Kampus ตั้งแต่วันนี้ — 13 Aug 2024 หรือจนกว่าจะคลาสจะเต็มครับ

AI ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกธุรกิจและชีวิตประจำวันของเราอย่างรวดเร็ว การเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้วิธีการใช้งานอย่างถูกต้องคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกอนาคต

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--