ตามไปฟัง Erin Meyer ผู้เขียนหนังสือดัง ‘No Rules Rules & The Culture Map’ ในงาน Techsauce ปีล่าสุด!

Sascha May
KBTG Life
Published in
4 min readSep 21, 2022

ถ้าพูดถึงงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตอนนี้ ทุกคนคิดว่างานนั้นจะจัดที่ประเทศไหนคะ… เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์? แต่คำตอบคืองาน Techsauce Global Summit 2022 ที่จัดขึ้นวันที่ 26–27 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ประเทศไทย นั่นเอง

ก่อนอื่นอาจจะต้องแนะนำกันซักเล็กน้อย สำหรับใครที่อาจจะยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับงานนี้ Techsauce Global Summit 2022 คืองานประชุมด้านเทคโนโลยีที่โดยปกติแล้วจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงทำให้ต้องงดไปเต็ม ๆ ถึง 2 ปี! การกลับมาในปี 2022 จึงเป็นการกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ แถมงานปีนี้ยังมี Sponser ใหญ่ระดับ Gold เป็น KBTG อีกด้วย!

งานปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Opportunities Made Possible” หรือการสร้างโอกาสให้เป็นจริง โดยเนรมิตพื้นที่ ICONSIAM ชั้น 7 เกือบทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่ในการสร้างโอกาส ที่ประกอบด้วยบูธจากบริษัทเทคชั้นนำ Startup รวมไปถึงอุตสหกรรมอื่นๆ อย่างเนืองแน่น ให้ผู้ร่วมงานได้มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนไอเดียตลอดทั้งวัน เรียกได้ว่าใครมีนวัตกรรมหรือ Product เจ๋งๆ อะไร ก็สามารถมา ‘ปล่อยของ’ ประชันกันอย่างเต็มที่ในพื้นที่แห่งนี้

ภาพบรรยกาศการออกบูธจากหลากหลายองค์กรชั้นนำภายในงาน

นอกจากนี้ยังมีการจัด Workshop ที่น่าสนใจให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกเป็นกลุ่มเล็กๆ ถามคำถามกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละรอบจำเป็นต้องทำการจองที่นั่งมาล่วงหน้าเพราะเต็มไวมาก!

ถ้า Workshop ที่สนใจเต็มก็ไม่ต้องเศร้าไป เพราะภายในงานยังมีไฮไลท์อย่างเวทีสัมมนา ทั้งเวทีหลักอย่าง Main Stage ที่เปลี่ยนโรงภาพยนตร์ IMAX ของ ICONSIAM ทั้งโรงให้กลายมาเป็นเวทีสัมมนาขนาดใหญ่ และเวทีย่อยกว่า 10 เวทีที่มี Speakers มากหน้าหลายตากว่า 300 ท่านจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องทั้ง 2 วัน

โรงภาพยนตร์ทั้งหมด ณ ชั้น 8 ของ ICON SIAM ถูกดัดแปลงให้เป็นทั้งเวทีหลัก และ เวทีย่อยของงาน

โดยในครั้งนี้ Speaker ที่ขึ้นมาพูดบน Main Stage ทั้งสองวันก็น่าสนใจมากๆ หนึ่งในนั้นประกอบไปด้วย Erin Meyer นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention (New York Times best seller in October 2020) ร่วมกับ Reed Hastings ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Netflix ในขณะนั้น

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ Speaker ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ (ภาพจาก techsauce.co)

แต่ในครั้งนี้ Erin Meyer ได้มาพูดถึงในอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ นั่นคือ The Culture Map: Breaking Through the Invisible Boundaries of Global Business ที่เล่าว่าผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม มาทำงานร่วมกันนั้นจะส่งผลยังไงต่อธุรกิจ

หลังจากที่เราได้เห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์และหัวข้อที่คุณ Erin จะมาพูดในงานครั้งนี้ ก็รู้สึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะปัจจุบันโลกถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างง่ายดาย เราสามารถทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเจอตัวจริงกันด้วยซ้ำ ยิ่งโลกยุคหลังโควิด ยิ่งทำให้การทำงานเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ หรือถ้าหากเป็นชาว KBTG ก็อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Work From Anywhere

สิ่งนี้เลยที่ทำให้เราคิดว่าปัจจุบันนี้การทำงานร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ไม่ยากอีกต่อไป บางครั้งในแต่ละประเทศอาจจะมีบริษัทที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน ทีมออกแบบอยู่ประเทศนึง ทีมพัฒนาอยู่อีกประเทศนึง ฐานการผลิตอยู่ประเทศนึงก็เป็นได้ หรือแม้แต่การที่ยุคนี้หลายคนเริ่มเปิดใจและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองในการออกไปทำงานในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดกันมากขึ้น

ดังนั้นเราจำเป็นต้องอาศัย “ความเข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์” เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้จะเป็นคนที่มี Background แตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม หัวข้อการบรรยายเกี่ยวกับหนังสือ The Culture Map คราวนี้จึงเป็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจและน่าจะมาแบ่งปันให้ผู้อ่านใน Medium ของเราได้รับชมเสมือนว่าได้ไปฟังในงาน Techsauce มาด้วยกัน!

แม้ว่าในครั้งนี้ Erin Meyer จะไม่ได้เดินทางมาพูดที่ประเทศไทยด้วยตัวเองแบบ Speaker ท่านอื่นๆ แต่เนื้อหาที่เตรียมมาพูดก็ยังอัดแน่นและเจาะลึก ถ่ายทอดผ่านวิธีการพูดที่น่าสนใจ ทำให้ฟังเพลินจนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้ Session อื่น (แม้ว่าในใจก่อนเข้าฟังยังแอบลุ้นให้ได้เจอคุณ Erin ตัวเป็นๆ ก็ตาม 😂)

คราวนี้เธอมาพูดในหัวข้อ “The Culture Map: Decoding How People Communicate, Lead, and Get Things Done Around The World” ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง คุณ Erin ได้เริ่มต้นจากการพูดถึงประเด็นสำคัญในการทำงานร่วมกัน นั่นคือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศและในแง่มุมต่างๆ ที่เธอรวบรวมและจัดหมวดหมู่ขึ้นมาจากการศึกษาของเธอ

คุณ Erin กำลังพูดถึงการสื่อสารของแต่ละประเทศ โดยทำให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยภาพกราฟิก

โดยในภาพที่เธอยกขึ้นมาเล่านั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมและการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป โดยเธอได้นำวงกลมที่มีตัวย่อของประเทศมาวางเป็นเส้นตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ที่เธอรวบรวมมาให้เราเข้าใจง่ายขึ้น เห็นได้ชัดว่าการสื่อสารในแต่ละประเทศมีความกระจัดกระจาย ทั้งสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งหรืออยู่ตรงกลางระหว่างขั้วทั้งสอง ซึ่งอาจจะ Grouping ได้จากชาติพันธุ์ตามภูมิประเทศ (สมชื่อหนังสือ The Culture ‘Map’) อาทิ ชาวเอเชียที่ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยกล้าแสดงออก หรือชาวยุโรปและอเมริกันที่มีความกล้าแสดงออกมากกว่า

คุณ Erin ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติมาทำงานร่วมกันที่เธอเคยเจอ โดยเริ่มเล่าจากการที่เพื่อนร่วมงานคนฝรั่งเศสมาเล่าให้เธอฟังว่า “เพื่อนร่วมงานชาวอินเดียมีนิสัยยังไง” โดยแกนของตัวอย่างที่เธอยกคือเรื่องของ “เวลา” ชาวฝรั่งเศสคนนี้บ่นว่าเพื่อนร่วมงานของเขาไม่ตรงต่อเวลา ไม่ค่อย Active เลย ซึ่งทำให้เขาไม่ค่อยสบอารมณ์นัก

ในขณะเดียวกันคุณ Erin ได้ลองถามเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันในประเด็นเดียวกับที่เพื่อนชาวฝรั่งเศสมาบ่น แต่ปรากฏว่าเขาพูดเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสเหมือนที่ชาวฝรั่งเศสว่าเพื่อนอินเดียเลย! เขาบอกว่าเพื่อนชาวฝรั่งเศสก็ไม่ตรงต่อเวลาเช่นกัน

เรื่องนี้ยิ่งน่าสนุกยิ่งขึ้นเมื่อมีตัวละครเพิ่มขึ้นมาอย่างผู้มาจากประเทศญี่ปุ่น ถึงตรงนี้ทุกคนพอจะเดาได้ไหมคะว่าเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นจะพูดถึงเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันคนด้านบนว่าอย่างไร? เดาไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เพราะเขาก็พูดถึงชาวอเมริกันแบบเดียวกันกับที่ชาวอเมริกันพูดถึงฝรั่งเศส และชาวฝรั่งเศสพูดถึงเพื่อนชาวอินเดียของเขา

ซึ่งคุณ Erin ก็ได้สรุปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม คำว่า “ไม่ตรงต่อเวลา” ของคนแต่ละชาตินั้นก็มีความแตกต่างกันตามบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ สำหรับเราแล้วสิ่งนี้เป็นการ Hook เพื่อเข้าเรื่องได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะหัวข้อที่ตามมาหลังจากเรื่องเมื่อสักครู่นี้ จะมีแกนกลางในการพูดถึงเรื่อง “ความเข้าใจ/การรับรู้ ที่แตกต่างกัน” ในแต่ละชนชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้บางครั้งเราเกิดความไม่เข้าใจกัน เมื่อต้องทำงานกับคนที่เกิดและเติบโตในคนละสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม

ซึ่งภายใน Session นี้คุณ Erin ได้พูดถึงหัวข้อหลักๆ อยู่ประมาณ 3–4 เรื่อง เช่น บริบทของการสื่อสาร การให้ความเห็น (Feedback) ซึ่งกันและกัน และ ‘ความเงียบ’ ในแต่วัฒนธรรม

เธอจึงแนะนำ “กุญแจสู่ความเข้าใจและสื่อสารกับคนทุกชาติ” โดยใช้การถามและการพยายามทำความเข้าใจคู่สนทนาของเรา เพราะหลายครั้งที่เราอาจจะตีความหรือตัดสินเขาด้วย “ความเคยชิน” ของเราและวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคย เช่น…

บริบทของการสื่อสาร

ในหลายครั้งการสื่อสารของมนุษย์ไม่ได้มีแค่การพูดออกมาตรงๆ แต่ยังต้องประกอบไปด้วยบริบท (Context) ในการสื่อสารร่วมกัน โดย Erin ได้จัดกลุ่มคนที่มีการให้ความสำคัญกับบริบทในการสื่อสารตั้งแต่มากไปน้อย ทำให้เราเห็นว่าชาวเอเชียจะให้ความสำคัญในบริบทการพูดที่มากกว่า เพราะการสื่อสารของชาวเอเชียมีความซับซ้อน ไม่พูดสิ่งที่คิดออกมาตรงๆ ต้องใช้บริบทมาประกอบในการตีความการสื่อสารนั้นๆ ซึ่งแตกต่างกับฝั่งของชาวยุโรปหรือผู้ใช้ภาษากลุ่มแองโกล-แซกซัน (ที่หลายคนติดปากเรียกอย่างลำลองว่า ‘คนขาว’) ที่มักจะสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนและมีความหมายตายตัว

การให้ความเห็น (Feedback) ซึ่งกันและกัน

คุณ Erin ได้ยกตัวอย่างการให้ความเห็นที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับใครหลายๆ คน นั่นก็คือการให้ความเห็นในเชิงลบ (Negative Feedback) ว่าคนในแต่ละชาติจะมีวิธีการพูดในการให้ความเห็นผู้อื่นที่แตกต่างกันออกไป โดยเธอแบ่งการใช้ภาษาที่คนในแต่ละวัฒนธรรมนำมาเลือกใช้ออกเป็น 2 แบบ คือ Up-graders และ Down-graders Words

คราวนี้เราไม่ได้แบ่งได้ง่าย ๆ ตามทวีปของผู้คนอีกต่อไป เพราะแม้แต่ในคนขาวด้วยกัน ก็มีการให้ความคิดเห็นที่แตกต่าง คุณ Erin ได้ยกตัวอย่างถึงสถานการณ์ “การให้ความคิดเห็นเพื่อแก้ไขสัญญา” ของคนสามชาติ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการให้ความเห็น หรือ Feedback ต่อการแก้ไขสัญญาที่ต่างกันออกไป สิ่งนี้ทำให้เราพอเข้าใจว่าบริบทของการสื่อสารของคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน แต่สื่อสารด้วยวิธีการที่ต่างกัน ก็อาจทำให้ผลลัพธ์ต่างกันออกไปได้

‘ความเงียบ’ ในแต่วัฒนธรรม

คุณ Erin เข้าสู่หัวข้อสุดท้ายที่เกี่ยวกับความเงียบ เธอพูดในเรื่องของ “ความสบายใจกับความเงียบ” (Comfort With Silence) ที่ต่างกันของคนในแต่ละชาติ เพราะหากมานึกย้อนดูแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเงียบก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการสื่อสารและการสนทนา

เธอสังเกตว่าชาวอเมริกันจะรู้สึกเริ่มไม่สบายใจหากคู่สนทนาของตนเงียบไปเพียงแค่ประมาณ 2 วินาที ซึ่งแตกต่างกับคนญี่ปุ่น ที่แม้คู่สนทนาของตนเงียบไปแล้วกว่า 12 วินาทีก็ยังรู้สึกสบายๆ

เธอจึงเปรียบเทียบการสนทนาของชาวอเมริกันเป็นเหมือน “การเล่นปิงปอง” เพราะเราต้องตีโต้กับคู่สนทนาอยู่เสมอ จึงทำให้หลายคน (แอบยกมือว่ารวมถึงเราเองด้วย) พอไปเที่ยวหรือไปอยู่ในแวดวงของชาวอเมริกันจะรู้สึกว่าพวกเขาคุยกันแทบไม่ได้หยุดพักเลย ทั้งที่สำหรับเขาอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หลังจากที่ได้ฟังที่คุณ Erin มาบรรยายในวันนั้นจนครบทั้งหมด เราพอจะเข้าใจหัวใจในการทำงานร่วมกันของคนที่มี “ความเข้าใจและการรับรู้ที่แตกต่างกันมากขึ้น” แม้ว่าเราจะมีความเข้าใจและการรับรู้ที่แตกต่างกันในหลายแง่มุม แต่เป้าหมายของการทำงานร่วมกันของทุกคนย่อมเป็นการที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น หาทางออกและวิธีที่จะเข้าใจได้ตรงกันให้มากที่สุด

การ Empathize ผู้อื่นหรือ Put Yourself in Someone Else’s Shoes ก็อาจจะเป็นคีย์ของเรื่องนี้ เพื่อให้เราไม่ด่วนตัดสินใครไปง่ายๆ เพียงแค่เขาไม่ตรงกับความเคยชินของเรา การปรับตัวเข้าหากันคนละครึ่งทางย่อมส่งผลดีต่อการทำงานและความสัมพันธ์แทบทุกรูปแบบ

ก่อนจากกัน ต้องขอขอบคุณ KBTG สำหรับบัตรเข้างาน Techsauce Global Summit 2022 ในครั้งนี้ด้วย แอบกระซิบว่าคราวนี้บูธของ KBTG มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะมาก ให้ลองเข้าไปเล่น เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แต่หากใครพลาดไปก็ไม่ต้องเสียดาย สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดและข่าวสารผ่านทาง KBTG Facebook Page อีกด้วย สามารถไปกด Like เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจแบบนี้กันได้เลย

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เรานำมาแบ่งปันทุกคนค่ะ หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ คราวหน้าจะเป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าหากสนใจก็อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันใหม่ค่ะ!

maysasi.com

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆ แบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

Sascha May
KBTG Life

UX Designer | Researcher - A former architectural student who believes that design can improve the quality of humans lives