ทำความรู้จักกับรูปแบบผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

Punthira C
KBTG Life
Published in
3 min readSep 23, 2021

สวัสดีค่ะทุกท่าน ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าถึงรูปแบบผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และคุณสมบัติที่จำเป็นในการขอใบอนุญาตแต่ละแบบกับสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่กำลังสนใจในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกโทเคนดิจิทัล รวมถึงผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเข้ามาสร้างระบบนิเวศน์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยร่วมกันค่ะ

ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความคล้ายคลึงกับตลาดทุน (Capital Market) ที่เราคุ้นเคยกันพอสมควร ตั้งแต่ส่วนของการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกในตลาดแรก (Primary Market) ซึ่งหนึ่งในวิธีการการเสนอขายหลักทรัพย์ที่เราน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีคือการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไป หรือที่เรียกว่า Initial Public Offerings (IPO) ไปจนถึงส่วนของการนำหลักทรัพย์ไปลิสต์ในตลาดรอง (Secondary Market) เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์กับนักลงทุนคนอื่นได้

ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ที่จะได้รับการออกขายเป็นครั้งแรกในตลาดแรกด้วยการทำ ICO หรือ Initial Coin Offering ผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคน (ICO Portal) ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วจึงถูกนำไปลิสต์ในตลาดรองต่อไป

ผู้เล่นที่เป็นผู้ให้บริการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความคล้ายคลึงกับโลกของตลาดทุน โดยมีตั้งแต่ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ (DA Broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ (DA Dealer) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Advisory Service) หรือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ (DA Fund Manager) แต่ก็จะมีธุรกิจรูปแบบที่เกิดขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรอบรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Custodial Wallet Provider)

ขอบเขตการกำกับดูแลผู้เล่นของ ก.ล.ต.

ณ เดือนกันยายน 2564 ก.ล.ต. ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล) มีการกำกับดูแลธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการให้ใบอนุญาต (License) ให้กับผู้เล่นที่เกี่ยวข้องใน 2 ส่วน คือการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ICO Portal และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. Digital Asset (DA) Exchange
  2. DA Broker
  3. DA Dealer
  4. DA Investment Advisor
  5. DA Fund Manager

นอกจากผู้เล่นที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกผู้เล่นหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นั่นคือ Digital Asset Custodial Wallet Provider ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้ทาง ก.ล.ต จะยังไม่ได้ออกหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการทำ Hearing ไปเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นกฎหมายและผู้เล่นในไทยที่ได้รับ License สำหรับธุรกิจนี้จริงๆ ในอีกไม่นานค่ะ

ส่วนแต่ละใบอนุญาตจะมีขอบเขตหน้าที่อะไรบ้าง และคนที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจข้างต้นจะต้องมีคุณสมบัติอะไรตามที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้นั้น วันนี้ทาง Kubix ได้สรุปรายละเอียดขั้นต้นมาให้ทางผู้อ่านได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางความรู้กันค่ะ

1. ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)

ICO Portal เป็นที่ปรึกษาในกระบวนการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชนให้กับ Issuer หรือบริษัทที่ต้องการออกขายโทเคนดิจิทัล (คล้ายกับ Financial Advisor (FA) ในการออก IPO) และเป็นผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้นๆ

หน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาของ ICO Portal จะเริ่มตั้งแต่การกลั่นกรองลักษณะของโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขายและคุณสมบัติของผู้ออกโทเคน (Issuer) ตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมกับทำหน้าที่ในการเป็นผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขาย ตั้งแต่การทำความรู้จักผู้ลงทุน การประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุน การเสนอขาย การจัดการค่าจองซื้อโทเคนดิจิทัลผ่านระบบ และการตรวจสอบชุดรหัส (Source Code) ของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ใช้ในการสร้างและแจกจ่ายโทเคนดิจิทัลให้กับนักลงทุนในกรณีที่ Issuer เป็นผู้เขียน Source Code ด้วยตัวเอง หรือทำหน้าที่เป็นผู้สร้าง Source Code แทน Issuer และรันโค้ดเพื่อสร้างและแจกจ่ายโทเคนดิจิทัลให้กับนักลงทุนเมื่อการระดมทุนสำเร็จ

คุณสมบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

  • เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • ทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
  • มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสม เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อน ธุรกิจอื่นนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็น ICO Portal และต้องไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็น ICO Portal

2. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)

Digital Asset Exchange เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายที่จัดขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ Digital Asset Exchange จะแยกประเภทตามลักษณะการถือสินทรัพย์ของผู้ลงทุนและความสามารถในการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุน ดังนี้

  1. ศูนย์ซื้อขายที่ไม่ถือสินทรัพย์ของนักลงทุน (Non-asset keeping exchange)
  2. ศูนย์ซื้อขายที่ถือสินทรัพย์ของนักลงทุน แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ของนักลงทุนหากไม่ได้รับการอนุญาตเป็นรายครั้ง (Asset-keeping exchange that has no ability to access or transfer customers’ assets without their approval on a one-time basis)
  3. ศูนย์ซื้อขายที่สามารถถือสินทรัพย์ของนักลงทุนและสามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้ง (Other exchange)

คุณสมบัติ

  • เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • ต้องไม่เป็น Digital Asset Dealer
  • เงื่อนไขด้านทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วขึ้นอยู่กับประเภทของ Exchange ข้างต้น
    - Exchange ประเภทที่ 1 ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
    - Exchange ประเภทที่ 2 ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
    - Exchange ประเภทที่ 3 ต้องไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
  • มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสม เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อน ธุรกิจอื่นนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็น Exchange และต้องไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็น Exchange

3. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)

นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโบรกเกอร์คือบุคคลที่ให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น DA Broker จะแยกประเภทตามลักษณะการถือสินทรัพย์ของผู้ลงทุนและความสามารถในการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุน ดังนี้

  1. นายหน้าซื้อขายที่ไม่ถือสินทรัพย์ของนักลงทุน (Non-asset keeping broker)
  2. นายหน้าซื้อขายที่ถือสินทรัพย์ของนักลงทุน แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ของนักลงทุนหากไม่ได้รับการอนุญาตเป็นรายครั้ง (Asset-keeping broker that has no ability to access or transfer customers’ assets without their approval on a one-time basis)
  3. นายหน้าซื้อขายที่สามารถถือสินทรัพย์ของนักลงทุนและสามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้ง (Other broker)

คุณสมบัติ

  • เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • เงื่อนไขด้านทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ขึ้นอยู่กับประเภทของโบรกเกอร์ข้างต้น
    - สำหรับโบรกเกอร์ประเภทที่ 1 ต้องไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
    - สำหรับโบรกเกอร์ประเภทที่ 2 ต้องไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
    - สำหรับโบรกเกอร์ประเภทที่ 3 ต้องไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท
  • มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสม เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อน ธุรกิจอื่นนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ และต้องไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็นโบรกเกอร์

4. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer)

ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลคือบุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

คุณสมบัติ

  • เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • ต้องไม่เป็น Digital Asset Exchange
  • ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

5. ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager)

ผู้จัดการเงินทุนคือบุคคลที่จัดการเงินทุนหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อแสวงหาประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล

คุณสมบัติ

  • เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • เงื่อนไขด้านทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วขึ้นอยู่กับประเภทของ Fund Manager
    - ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท สำหรับการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี่หรือผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัลที่ให้บริการผู้ลงทุนประเภทอื่นนอกจากผู้ลงทุนสถาบัน หรือมีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าไว้ในความครอบครอง
    - ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สำหรับการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี่หรือผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัลที่ให้บริการเฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบันและไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าไว้ในความครอบครอง
  • มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสม เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อน ธุรกิจอื่นนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็น DA Fund Manager และต้องไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็น DA Fund Manager

6. ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service)

ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลคือบุคคลที่ให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำอันเป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบการของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

คุณสมบัติ

  • เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  • ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
  • มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากรที่เหมาะสม เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หากประกอบธุรกิจอื่นอยู่ก่อน ธุรกิจอื่นนั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจเป็น DA Advisory Service และต้องไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการเป็น DA Advisory Service

7. ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider)

สำหรับธุรกิจประเภทสุดท้ายที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือ DA Custodial Wallet Provider หรือผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทใหม่ที่กำลังจะเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้แนะนำไปก่อนหน้านี้

DA Custodial Wallet Provider คือผู้ให้บริการเปิด Wallet ใช้ในการจัดเก็บ Private Key สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ลูกค้า โดยที่ผู้ให้บริการเปิด Wallet มีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือบางส่วนในการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า นั่นหมายความว่า DA Custodial Wallet Provider จะต้องให้บริการเปิด Wallet พร้อมกับเป็น Digital Asset Custodian รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไปด้วยในเวลาเดียวกัน

หากปัจจุบัน ก.ล.ต. ยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตและกำกับดูแล Custodial Wallet Provider แล้วธุรกิจอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้บริการนี้ทำอย่างไรกัน? คำตอบคือการพึ่งพาผู้ให้บริการในต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยและการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทยนั่นเองค่ะ

คุณสมบัติ

ตาม Hearing ล่าสุดของสำนักงาน ก.ล.ต. *ยังไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

  • ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ สถาบันการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบริษัทจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อขอรับใบอนุญาต DA Custodial Wallet Provider
  • ทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

จบกันไปแล้วนะคะ สำหรับการแนะนำตัวละครในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หากผู้อ่านท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติหน้าที่ รวมถึงขั้นตอนในการยื่นขอรับใบอนุญาต สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมในเว็ปไซต์ของทาง ก.ล.ต. ได้เลยค่ะ

และสำหรับคนที่สนใจจะลงทุนในโทเคนดิจิทัล อย่าลืมติดตาม Kubix กันได้ผ่านทางเว็บไซต์หลักของเรานะคะ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

Punthira C
KBTG Life

Product and Business Development @ Kubix Digital Asset