ประสบการณ์ตรงจากงาน LINE HACK 2020 (ฉบับ Designer) แบบ New Normal

TimothyOfficial
KBTG Life
Published in
4 min readFeb 4, 2021

Remark: บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อบันทึกเรื่องราวการเข้าร่วมการแข่งขัน LINE HACK ปี 2020 โดยจะไม่ได้เป็นการลงรายละเอียดตัวโปรเจค แต่เป็นการเล่าประสบการณ์การทำงานและร่วมงานในครั้งนี้ของผมครับ

LINE HACK

ในทุกๆ ปี ทาง LINE ประเทศไทยจะมีการจัดงานแข่ง Hackathon ที่ชื่อว่า LINE HACK เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวม Developer ให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้ LINE Platform อย่าง Messaging API, LIFF, LINE Things, LINE Beacon, LINE Notify และเทคโนโลยีจาก Google ไม่ว่าจะเป็น Firebase, Tensorflow และ MAP API เป็นต้น

ปี 2020 ที่ผ่านมาถือว่าพิเศษมากเพราะมีการเปิดให้ Hack from Home เป็นปีแรก (เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19) โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบแรกให้ส่งเอกสารและนำเสนอไอเดียเบื้องต้นก่อน จากนั้นเมื่อประกาศผล 10 ทีมสุดท้ายที่ได้เข้ารอบแล้ว ก็จะเข้าสู่การ Hackathon มีเวลาให้แต่ละทีมได้ Implement และเตรียมการสำหรับ Pitching รวมๆ เกือบ 2 อาทิตย์เลยทีเดียว

โจทย์การแข่งขัน: Tomorrow’s New Normal

สำหรับการแข่งขันประเภทบุคคล (General Public) มาในหัวข้อการค้นหา Solution ที่จะตอบโจทย์คนในยุค New Normal เพราะเป็นยุคที่หลายๆ อย่างจะเปลี่ยนไป วิถีการใช้ชีวิตของคนจะต้องอยู่กับการเว้นระยะห่าง หรือการป้องกันตัวเองจากโรคระบาด

เริ่มตีโจทย์

หลังจากฟอร์มทีมกับทางพี่ต้น พี่เสือ พี่ชาญ และพี่โบ้ทเป็นที่เรียบร้อย เราเริ่ม Brainstorm ตัวโจทย์ New Normal โดยลองสำรวจแง่มุมการใช้ชีวิตต่างๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร การเดินทาง การช้อปปิ้ง ซึ่งสุดท้ายเราเล็งเห็นว่ายังมีคนกลุ่มใหญ่ๆ อีกกลุ่มนึงที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคโควิดที่แพร่ระบาด นั่นคือเด็กหรือผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าวัยกลางคน ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

จาก Insight ดังกล่าว ทางพี่ต้นก็ได้เสนอไอเดียในส่วนของการติดตามรถโรงเรียนที่เด็กๆ นั่งโดยสารไปโรงเรียนกัน โดยสร้างระบบ QR Code ติดตามตำแหน่งและสถานะของรถได้ ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อติดตามการเดินทางแล้ว ทีมของเรายังได้แตกเป็นไอเดียอื่นๆ ที่สามารถต่อยอดได้อีกมากมาย แต่ในแง่ของการแข่งขัน Hackathon เราต้องพยายามคุมสโคปงานและเลือกเพียงบางส่วนขึ้นมาทำก่อน

การทำงานในยุค New Normal

สภาพโต๊ะทำงานในวันที่ทุกคน Work from Home

พอไอเดียเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็มีการแบ่งหน้าที่การทำงาน ของผมจะรับหน้าที่ดูแลงานดีไซน์ทั้งหมด เริ่มจาก Key Visual ของตัวโปรเจค ตั้งแต่โทนสี โลโก้ ไปจนถึงฟอนต์ และ Graphical Elements ต่างๆ ที่จะใช้เป็น Material สำหรับการเสนอ Proposal ในรอบแรก

ขึ้น Key Visual แบบเร็วๆ

ผ่านไปประมาณ 5 วัน ทีมของผมได้รับแจ้งทางหน้าเว็บว่าติด 1 ใน 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย! ตอนนั้นรู้สึกดีใจปนอึ้งไปเล็กน้อย 5555

พอรู้ว่าผ่านเข้ารอบสุดท้าย เราก็ไม่รอช้า เริ่มเข้าสู่กระบวนการวาง Flow ต่างๆ โดยทำเป็นแบบ Low Fidelity Wireframe ก่อนเพื่อให้ทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน และสามารถเข้าใจถึงเนื้องาน รวมถึงสโคปสำหรับการบริหารเวลา

Low Fidelity Wireframe

เราได้กำหนด Protocol ที่จะมีการ Sync งานผ่านการ Con Call (Conference Call) กันทุกๆ 2 วัน ว่าใครทำอะไร ถึงไหน หรือติดตรงไหนอยู่บ้าง ซึ่งนอกจากการ Video Call เรายังหยิบใช้เครื่องมือ Task Management ที่คุ้นเคยกันดีอย่าง Trello มาช่วยดูว่ายังเหลืออะไรที่ต้องทำอีกบ้าง ส่วนงานดีไซน์ที่จำเป็นต้องขึ้นได้เร็วพอสมควร Figma ดูจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถ Collaborate กันได้หลายคนและเห็นได้อย่างเรียลไทม์

พอ Wireframe เรียบร้อย ก็จะเป็นการลงในส่วนของ User Interface ต่างๆ รวมถึงการทำ Design Component เพื่อง่ายต่อการแก้ไขและการ Implement

User Interface

Orientation Day (ที่ไม่ได้ไป)

หลังจากประกาศผลได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ทีมที่เข้ารอบทั้งหมดก็ได้รับเชิญให้ไปพบกับสตาฟของ LINE ซึ่งน่าเสียดายมากๆ ที่ผมไม่ได้ไปเนื่องจากไม่สบายครับ -_-”

บรรยากาศวัน Orientation จากพี่ๆสตาฟ LINE

Agenda หลักๆ ในวันนั้นจะเป็นการปฐมนิเทศ มีการจับฉลากลำดับของทีมที่จะ Pitching เข้าพบกับ Mentor ที่จะคอยให้คำแนะนำหรือคำปรึกษา และยืม Device ที่จะใช้ในการ Demo (LINE Beacon)

เตรียม Pitch Deck

วัน Pitch ขยับใกล้เข้ามาทุกทีๆ เป็นสัญญาณให้เราต้องหันเตรียม Material สำหรับการทำ Pitch Deck ส่วนนี้เองทำให้ผมค้นพบว่าการทำ Pitch Deck นั้นเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายซะทีเดียว เพราะมีหลายอย่างที่เราต้องพิจารณา ตั้งแต่ว่าจะเล่า Pain อย่างไรให้กรรมการเข้าใจและรับรู้ได้ภายในเวลาที่จำกัด ไล่ไปจนถึงการเตรียมวิดีโอเป็น Backup Plan ในกรณีที่ตัว Prototype ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งกลายเป็นว่าการตัดวิดีโอดังกล่าวใช้เวลามากพอสมควร ถ้าเป็นไปได้สำหรับงานหน้า อยากเตือนตัวเองว่าอย่าประมาทงานวิดีโอเป็นอันขาด!

Demo Day

รอบไฟนอลของ LINE HACK 2020 จัดขึ้นที่ตึก Glowfish สาทร ซึ่งก่อนจะถึงเวลา Pitch จริงนั้น ทีมได้มีโอกาสลองซ้อมก่อนในรอบแรก ผลปรากฏว่าการ Mirror หน้าจอจากมือถือ 3 เครื่องเข้าไปที่ Macbook ผ่าน AirServer ทำงานได้ช้ามากๆ และไม่เสถียรเลยหน้างาน เราจึงได้ลองค้นหาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ จนได้ Reflector 3 มาช่วยชีวิตเรา

เนื่องจากทีมของเราได้คิวขึ้นเวทีในช่วงเย็นหลังน้องๆ Student Track เราจึงขอออกมาพักทานขนมรองท้องด้านนอกระหว่างรอกันสักนิด

ตอน Pitching จริง สิ่งที่จำได้แม่นเลยคือแอร์หนาวมาก 555 คนที่ Pitch หลักๆ จะเป็นพี่ต้น ส่วนคนอื่นจะคอยซัพพอร์ตในการ Demo ซึ่งตอนแรกผมกังวลมากที่จะต้องทำ Live Demo เนื่องจากเป็น Flow ที่ต้องมีการพิมพ์โต้ตอบค่อนข้างยาว ทำให้อาจใช้เวลานานในการนำเสนอ แต่ด้วยความไวและสติการพรีเซ็นต์ ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหาอะไรครับ

ส่วนการตอบคำถามกรรมการนั้น พี่ต้นสามารถตอบได้อย่างดีเยี่ยม เพราะได้มีการเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งการคาดเดาคำถาม-คำตอบ รวมทั้งมีการเตรียมข้อมูลหลายๆ ส่วนเอาไว้แล้ว ทำให้ไม่มีตรงไหนต้องกังวล

ประกาศรางวัล

เมื่อทุกทีม Pitching เสร็จ ก็มาถึงการประกาศรางวัล โดยสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

ทีมของเราได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ครับ!!

สรุป

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพี่ๆ ในทีมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพี่ต้นที่ชวนมาแข่งด้วยกัน พี่ชาญ พี่โบ้ท และพี่เสือที่คอยช่วยซัพพอร์ตต่างๆ และให้โอกาสเข้าร่วมทีมแข่ง Hackathon เปิดหูเปิดตาให้ผมได้เจอคนใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ดีๆ ในครั้งนี้ครับ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆ แบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--