KBTG Apprentice กับการได้ตีพิมพ์งานวิจัยในฐานะ Research Engineer

ประสบการณ์ 8 เดือนที่ล้ำค่าที่เป็นจุดเริ่มต้นของสายงานนี้ . . .

ksupasate
KBTG Life
3 min readJun 22, 2024

--

เข้าร่วมงาน ICMR2024 กับพี่ ๆ ผู้ดูแลจาก KLabs

สวัสดีครับ ผม ศุภรเศรษฐ์ วรธรรมธร หรือ คม เป็นนักศึกษาในโครงการของ KBTG Kampus Apprentice ที่ได้รับโอกาสฝึกงานในตำแหน่ง Research Engineer ตลอดช่วงระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2024

ในช่วงวันที่ 10–13 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปนำเสนองานวิจัยที่ทำตอนเป็น Apprentice ที่ The 14th Annual ACM International Conference on Multimedia Retrieval (ICMR) งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปีที่มุ่งเน้นด้านการดึงข้อมูลสื่อประเภทต่าง ๆ (Multimedia Retrieval) เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ เสียง และข้อความ จากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ โดยอาศัยเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล โดยปีนี้ได้จัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานีลากูน่า จังหวัดภูเก็ต

วันนี้ผมจะมาแชร์ประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานในตำแหน่ง Research Engineer ไปจนถึงการได้รับการตีพิมพ์งานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับสากลอย่าง ICMR นี้ครับ

ขั้นตอนการทำงานในตำแหน่ง Research Engineer

หลายคนน่าจะสงสัยว่าตำแหน่ง Research Engineer ทำงานอะไรบ้าง โดยเฉพาะในองค์กรเอกชนที่ไม่ใช่แล็บวิจัยของหน่วยงานรัฐอย่าง KBTG Labs

ก่อนอื่นต้องบอกว่าลักษณะการทำงานของ Research Engineer ขององค์กรเอกชนนั้นเป็นการค้นคว้าหาวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ของธุรกิจได้ โดยเป็นการนำทักษะของ Engineer ในการแก้ไขปัญหา มารวมกับทักษะ Research ในการทดลองหาวิธีการใหม่ ๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกันนั่นเอง สามารถแยกเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้

  • สร้างสมมติฐานของปัญหาที่ได้จากภาคธุรกิจ ส่วนนี้จะเป็นการนำปัญหาที่พบเจอจากภาคธุรกิจมาตั้งสมมติฐานในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ แม้จะอยู่ในฐานะของเด็กฝึกงาน แต่พี่ ๆ ก็เปิดโอกาสให้เราช่วยตั้งสมมติฐานในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
  • ค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ในขั้นตอนนี้จะเป็นการศึกษาหางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีทั้งการค้นคว้าเปเปอร์และทำ Literature Review เปรียบเทียบว่าในปัจจุบันเขาใช้วิธีไหน และสามารถประยุกต์ขั้นตอนของเขามาสร้างเป็นวิธีการใหม่ของตนเองได้อย่างไร
  • คิดวิธีการแก้ไขปัญหาทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ หลังจากที่ได้รับโจทย์และหาขั้นตอนการแก้ไขปัญหาจากเปเปอร์ต่าง ๆ ขั้นตอนนี้จะเป็นการคิดวิธีการแก้ไขฉบับตนเอง เพื่อนำไปประยุกต์และทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยจะมีพี่ ๆ คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ
  • วัดผลวิธีการแก้ไขปัญหาและดูแนวโน้มในการเขียนเปเปอร์ จะเป็นการวัดผลหลักการที่คิดขึ้นด้วยเมทริกซ์หรือวิธีการวัดผลที่ใช้กันในงานนั้น ๆ ตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หากผลลัพธ์ออกมาดี รวมถึงขั้นตอนการแก้ไขปัญหามีความเป็นเฉพาะตัว ทางพี่ ๆ จะคอยดูแนวโน้มว่าสามารถนำไปเขียนเปเปอร์แล้วตีพิมพ์ได้หรือไม่
  • เขียนเปเปอร์และส่งงานวิจัยไปยังงานประชุมวิชาการ หลังจากที่มีแนวโน้มว่าสามารถเขียนเปเปอร์ได้แล้ว เราจะนำหลักการทั้งหมดมาลงมือเขียนเป็นเปเปอร์ ซึ่งจะมีพี่ ๆ คอยช่วยตรวจสอบคำและการเขียนเช่นเคย หากเรียบร้อยแล้ว ก็นำเปเปอร์ที่เขียนเสร็จส่งเข้างานประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ

โดยในระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานดังกล่าว แถมยังเป็นการเปิดประสบการณ์ในสายงาน Research Engineer เป็นอย่างมาก จนสุดท้ายสามารถตีพิมพ์งานวิจัยลงใน Workshop ที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน ICMR2024 สำเร็จ!!

งานวิจัยที่ตีพิมพ์คืออะไร

งานวิจัยของผมที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นมีหัวข้อที่ชื่อว่า “Structured Instance Understanding with Boundary Box Relationships in Object Detection System (SIU)”

ภาพรวมของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์

โดยงานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับการทำ Post Processing กับผลลัพธ์ของ Object Detection Model ที่จะเป็นการสร้าง Framework หนึ่งไว้ใช้สำหรับตรวจสอบผลลัพธ์ของ Object Detection Model ว่ามีผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ดี หากผลลัพธ์ดี (มีการ Detect ตรงตาม Structure ที่ควรจะเป็น) จะถูกแยกออกไปอยู่ในโฟลเดอร์ที่สามารถนำผลลัพธ์นี้ไปใช้งานต่อได้ แต่หากไม่ดี จะถูกแยกออกไปอยู่โฟลเดอร์ที่ควรแก้ไข ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มค่าความแม่นยำภาพรวมของระบบแล้ว ยังสามารถช่วยตรวจสอบความผิดพลาดหรือข้อจำกัดที่โมเดลยังไม่สามารถทำได้อีกด้วย

Framework ดังกล่าวจะเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของโครงสร้างวัตถุว่าควรมีความเกี่ยวข้องกัน และหากโมเดลทำการ Detect ผลลัพธ์ที่ได้ก็ควรถูกต้องตาม Structure ยกตัวอย่างเช่น หาก Detect เจอกระจกข้างของรถทางด้านซ้าย ก็ควร Detect เจอประตูหน้าด้านซ้ายด้วย เป็นต้น โดยจะมีการนำหลักการในการสร้างฟีเจอร์ที่ทำให้โมเดลเรียนรู้ความสัมพันธ์ของโครงสร้างวัตถุและนำทั้งหมดที่ได้ไปเข้าสู่โมเดล Classification ในการแยกหรือตรวจสอบความถูกต้องของโครงสร้างวัตถุที่ได้จาก Object Detection Model ว่ามีการ Detect ถูกโครงสร้างหรือไม่

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Workshop ‘Artificial Intelligence for Signal, Image Processing and Multimedia (AI-SIPM 2024)’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ICMR2024 โดยผมได้มีโอกาสได้นำเสนองานวิจัยนี้และได้รับรางวัล Best Presentation อีกด้วย

ได้เข้าร่วมการนำเสนอใน AI-SIPM 2024 Workshop
ได้รับรางวัล Best Presentation Award กับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อีกทั้งผมยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยนำเสนอ Demo ของพี่ ๆ ที่ส่งเข้ามาในงาน ICMR2024 ซึ่งผลงานที่นำเสนอนั้นก็ได้รับรางวัล Best Demo เช่นกัน!

มีส่วนร่วมในการนำเสนอ Demo จนสุดท้ายได้รับรางวัล Best Demo Award

นอกจากจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเองแล้ว ทางพี่ ๆ จาก KBTG ก็ได้ดูแลทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การเดินทาง และอาหารให้เป็นอย่างดีมาก เรียกได้ว่าครบทั้งความรู้และความสนุกเลยทีเดียว

ภาพบรรยากาศหลังรับรางวัลและงานเลี้ยงฉลองของ Conference

ส่งท้าย

สุดท้ายนี้ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ในฐานะ Apprentice ในตำแหน่ง Research Engineer เป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิตของผมที่ล้ำค่ามาก สำหรับการได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ใฝ่ฝันและได้รับการดูแลสั่งสอนจากพี่ ๆ ในทีมเป็นอย่างดี จนสามารถตีพิมพ์งานวิจัยจนสำเร็จ

Research Engineer เหมือนเป็นการนำความรู้ทางด้าน Research ในการทดลองหาการแก้ไขปัญหาใหม่ มารวมกับความรู้ทางด้าน Engineer ในการแก้ไขปัญหาให้เป็นขั้นตอน

ผมเชื่อว่าโครงการฝึกงานนี้ นอกจากมอบความรู้ประสบการณ์ให้กับนักศึกษาแล้ว ยังเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยสร้างบุคลากรที่สำคัญให้กับประเทศ และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาองค์กรและประเทศสู่การแข่งขันในเวทีโลกอย่างแน่นอน

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--