มารู้จัก Cryptocurrency และ DeFi กันเถอะ

Kriengsak Ko
KBTG Life
Published in
5 min readMar 27, 2021
กราฟ Cryptocurrency ที่มีความผันผวนถึงที่สุด

ช่วงนี้ใครๆ ก็บอกว่าการลงทุนตลาด Cryptocurrency และ DeFi นั้นน่าสนใจ คนจำนวนมากพร้อมใจกันนำเงินมาลงทุน สิ่งเหล่านี้คืออะไร? ผลตอบแทนที่ได้จะเป็นอย่างไร? และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง? บทความนี้จะมาช่วยให้ทุกคนรู้จักสิ่งเหล่านี้มากขึ้นครับ

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 เหล่านักลงทุนจำเป็นต้องหาวิธีการให้สินทรัพย์ตัวเองงอกเงย ไม่ว่าจะลงเงินในตลาดหุ้น กองทุนรวม ฝากประจำที่ธนาคาร หรือเข้าไปในตลาด Forex ต่างก็มีความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจนตามไม่ทันทำให้เราได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลก รวมถึงในแวดวงการเงิน

บทความนี้ไม่ได้แนะนำเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่าง Cryptocurrency และ DeFi นะครับ

Cryptocurrency คืออะไร

การลงทุนส่วนใหญ่จะบริหารจัดการโดยธนาคารหรือตัวกลาง ดังนั้นจะมีการสอดส่องและตรวจสอบเสมอ ถ้าลองย้อนกลับไปสมัยที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต โลกมีอิสระในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากขึ้น แต่ส่วนของการเงินอาจจะยังไม่มากเท่า จนเมื่อปี 2009 สิ่งที่เรียกว่า Bitcoin ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีเบื้องหลังเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) จึงไม่ต้องมีตัวกลางอีกต่อไป หากจะมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในโลกของการเงิน (Internet of Money) ก็คงไม่เกินจริงนัก

สำหรับ Bitcoin นั้น ช่วงแรกคนยังไม่ค่อยเชื่อถือนักหรอก แต่หารู้ไม่ว่าในอนาคตความคิดดังกล่าวจะเปลี่ยนไป ราคาของ Bitcoin จะทะยานพุ่งสูง ทั้งยังได้รับการไว้วางใจจากนักลงทุนอีกด้วย

ราคา Bitcoin ณ วันที่ 20 ก.พ 2564 จาก Bitcoin price today, BTC marketcap, chart, and info | CoinMarketCap

บางคนอาจจะเคยเห็นข่าวที่มีคนซื้อพิซซ่า 2 ถาดด้วย Bitcoin จำนวน 10,000 BTC หากเทียบด้วยราคาปัจจุบัน 10,000 BTC คูณ 55,023.37 USD (ราคา ณ วันที่ 20 ก.พ 2564) จะเท่ากับ 550,233,700 USD หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 16,490,503,989.00 บาท การที่ราคา Bitcoin ขึ้นมาขนาดนี้และพุ่งไปสู่ All New High บ่อยๆ เกิดจากอะไร? ก็คือความเชื่อมั่นที่ทุกคนมีต่อ Bitcoin โดยนักลงทุนมองว่า Bitcoin เป็น Digital Gold ที่ราคาจะพุ่งไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีคนเชื่อในตัวมัน จากข่าวล่าสุดเจ้าพ่อ Tesla อย่าง อิลอน มัสก์ ก็ได้ออกมาประกาศว่าทาง Tesla ได้ซื้อ Bitcoin ไปแล้วกว่า 1.5 Billion USD อีกทั้งยังรองรับ Bitcoin สำหรับการซื้อรถ Tesla อีกด้วย การประกาศแบบนี้ทำให้ราคาของ Bitcoin พุ่งไปสู่ราคาสูงกว่า 50,000 USD เป็นการบอกว่าขนาดบริษัทใหญ่ๆ ยังเข้ามาลงทุนใน Bitcoin และยอมรับในการใช้ซื้อขายสินค้า ถ้าหากใครมี Bitcoin อยู่กับตัวก็สามารถนำไปซื้อได้นะครับ (ส่วนตัวผมนั้นไม่มีสัก BTC ครับ)

นอกจาก Bitcoin ยังมี Cryptocurrency อีกมากกว่า 1,000 สกุลเงิน ถ้าให้เอามาเล่าให้ฟังในบทความนี้ก็คงจะยาวมากๆ และไม่มีที่สิ้นสุดแน่นอน เพราะเหรียญใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ครับ ทั้งนี้ยังมีอีกสกุลเงินหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Ethereum ซึ่งมี Market Cap ในปัจจุบันเป็นอันดับ 2 รองลงมา จุดเด่นและความน่าสนใจของสกุลเงินนี้คือความสามารถในการสร้าง Smart Contract ที่พัฒนาได้ง่าย จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการสร้างธุรกิจต่างๆ บนแพลตฟอร์ม

ราคา Ethereum ณ วันที่ 20 ก.พ 2564 จาก Ethereum price today, ETH marketcap, chart, and info | CoinMarketCap

DeFi คืออะไร

DeFi ย่อมาจาก Decentralized Finance คือรูปแบบการเงินที่ไร้ตัวกลางนั่นเอง มีคุณสมบัติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บมูลค่า (Store of Value) หรือการทำงานร่วมกันกับ DeFi อื่นๆ (Composability) เหมือนกับการต่อเลโก้ นอกจากนี้การที่ DeFi ถูกสร้างบนบล็อกเชน ทำให้มีคุณสมบัติทั้งหมดของบล็อกเชนติดตัวมาด้วย

จนถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะสงสัยว่า Cryptocurrency กับ DeFi จริงๆ แล้วก็เป็นเหรียญ (Token) เหมือนกัน แล้วความแตกต่างอยู่ตรงไหน?

Cryptocurrency เปรียบเหมือนกับเงินตรา โดยธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาคือธุรกิจการเงิน (Finance) และเช่นกันเมื่อ Cryptocurrency ถูกนำไปใช้ในการสร้างธุรกิจการเงินต่างๆ ก็จะถูกเรียกว่า DeFi นั่นเอง ซึ่ง DeFi อาจจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทั้งตัวเหรียญเอง (ราคาสูงขึ้น) หรือนำเหรียญนั้นๆ ไปเพิ่มมูลค่าต่อ นำมาซึ่งผลกำไรอีกทางหนึ่ง

แล้ว DeFi ต่างจากการเงินแบบปกติอย่างไร?

จากเดิมที่ต้องทำทุกอย่างผ่านตัวกลาง เช่น การโอนเงินที่ต้องผ่านธนาคาร เราสามารถโอนเงินผ่านระบบ โดยมีคนมากมายช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรมของเรา ทุกอย่างควบคุมด้วยซอฟต์แวร์หรือ Smart Contract สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด จึงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เพราะไม่สามารถปลอมแปลงได้

มูลค่า USD ที่ถูก Lock ไว้ใน Platform DeFi ณ วันที่ 20 ก.พ 2564 จาก DeFi — The Decentralized Finance Leaderboard at DeFi Pulse

Ethereum นั้นเกี่ยวกับ DeFi อย่างไร

จากภาพจะเห็นได้ว่า DeFi เหล่านี้มีเบื้องหลังเป็น Ethereum Blockchain โดยที่ Total Value Locked ในหน่วย USD ของ Top 3 นั้นจะอยู่ราวๆ 5–7 Billion USD นับว่ามูลค่าตลาดค่อนข้างสูงมากเลยทีเดียว

DeFi นั้นเอาไปทำอะไรได้บ้าง

ในรูปจะเห็นหลากหลายหมวด ไม่ว่าจะเป็น Lending, DEXes, Derivatives, Payments ซึ่งผมจะเพิ่มเติม Yield Farming, Staking เนื่องจากค่อนข้างเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่ละหมวดทำอะไรบ้างนั้น มาติดตามกันครับ

  1. Lending คือการปล่อยกู้ โดยผู้ใช้งานสามารถนำ Cryptocurrency ที่มีอยู่ไปใช้ในการปล่อยกู้กินดอกเบี้ยได้ ผู้ที่มากู้จะต้องมีการค้ำประกัน (Collateralize) ด้วยเหรียญที่ระบบรองรับ โดยที่เหรียญจะถูกกู้ไปเพื่อนำเหรียญที่แลกเปลี่ยนไปซื้อขาย หรืออาจจะนำไปแลกเปลี่ยนข้ามแพลตฟอร์มเพื่อทำกำไร นอกจากนี้ผู้ที่ให้กู้ในบางแพลตฟอร์มก็อาจจะได้รับ Governance Token เป็นผลตอบแทน เพื่อนำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบ (ถูกนำไปใช้โหวตในเรื่องต่างๆ) และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น Maker, Aave, Compound
  2. DEX หรือ Decentralized Exchange คือตลาดแลกเปลี่ยนค่าเงินนั่นเอง โดยเราสามารถนำ Cryptocurrency สกุลหนึ่งไปแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลหนึ่งได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการขณะนั้นว่าจะเป็นมีมูลค่าเท่าไหร่ ส่วนใหญ่นักเทรดจะใช้สำหรับเก็งกำไรเหรียญต่างๆ ตัวอย่างเช่น Curve Finance, Uniswap, SushiSwap
  3. Derivatives หรือตลาดอนุพันธ์ เป็นชื่อเรียกของสัญญาทางการเงินชนิดหนึ่ง ที่เรารู้จักกันก็เช่น การซื้อขายสัญญา Futures, การซื้อขายสัญญา Option, การซื้อขาย Commodity (ทองคำ, เงิน, น้ำมัน เป็นต้น) บน DeFi เองก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยในบางแพลตฟอร์มจำเป็นที่จะต้องแลก Network Token เพื่อนำมาซื้อขายสัญญาแทนที่จะใช้ Stablecoin แบบปกติ นอกจากนี้ยังมีตลาด Perceptual Future ที่รองรับการใช้งาน Leverage อีกด้วย เช่น Synthetix, NEXUS Mutual
  4. Payments คือการนำ Cryptocurrency ไปใช้ซื้อขายในโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะใช้ในรูปแบบการสแกน QR Code โดยอาจจะเป็นในภาพ PromptPay จากเดิมใช้เงินบาท เปลี่ยนมาเป็น Stablecoin แทน ในปัจจุบันอาจจะยังรองรับไม่แพร่หลายนัก ทำให้ร้านค้าที่รับจะต้องนำ Cryptocurrency ที่มีไปแลกแล้วนำไปใช้เป็นเงิน Fiat ในการซื้อขายต่อไป ยกตัวอย่างเช่น Flexa, xDai
  5. Yield Farming หรือ Liquidity Mining คือการนำ Cryptocurrency ไปฝากในระบบ โดยอาจจะต้องนำไปฝากเป็นคู่ และเหรียญที่นำไปฝากนั้นจะถูกล็อกไว้ใน Liquidity Pool สิ่งที่จะได้ตอบแทนสำหรับผู้ฝากคือดอกเบี้ยการกู้ยืม ซึ่งสามารถดูได้จาก APR: Annual Percentage Rate แต่ผู้กู้อาจจะได้ไม่เต็มนะ เพราะว่าทางระบบเองจะหักส่วนหนึ่งก่อนที่จะแจกให้ และสำหรับในบางแพลตฟอร์มอาจจะได้เป็น Governance Token โดยชื่อเหรียญจะเป็นตัวบอกว่าเราใช้แพลตฟอร์มอะไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวแพลตฟอร์มว่ามีข้อกำหนดไว้อย่างไร แต่ต้องระวังในการฝากเหรียญที่มีราคาผันผวน เพราะอาจทำให้มูลค่าของเหรียญที่นำไปล็อกหายไปในบางช่วงเวลา ถ้าหากใช้ Stablecoin จะเสี่ยงน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น Yearn Finance, Alpha Homora, Badger DAO, Uniswap
  6. Staking คือการทำเหมือง (Mining) รูปแบบหนึ่ง เป็นการนำเหรียญไปฝากไว้ในระบบ (Mining Pool) เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบ Block โดย Miner จะได้ผลตอบแทนเมื่อ Block นั้นๆ ถูกสร้างสำเร็จ โดยจะถูกใช้ในการทำ Consensus แบบ PoS (Proof of Stake) เช่น Ethereum 2.0 นอกจากนี้บนบล็อกเชนอื่นๆ ที่เกิดใหม่มักจะมาพร้อมความสามารถในการ Staking เช่นกัน

จากที่ยกตัวอย่างด้านบน ใน DeFi บางตัวอาจจะมีความทับซ้อนกัน ผมได้แยกในส่วนของธุรกิจที่ชัดเจนที่สุดเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากตัวอย่างด้านบนแล้ว ยังมีการสร้างธุรกิจทำเงินแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น Tokenization, Margin Trading, Marketplace, Lottery Pool, Non Fungible Token เป็นต้น ซึ่งในอนาคตก็จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกแน่นอน ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

DeFi มีแค่บน Ethereum Blockchain หรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ครับ ในปัจจุบันมีบล็อกเชนที่นิยมอยู่มากมาย ตัวอย่างสำหรับบล็อกเชนที่นิยมระดับต้นๆ ในปัจจุบันจะมี Binance Smart Chain (BSC) ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Binance นั่นเอง

อันดับของ Crypto Exchange ณ วันที่ 20 ก.พ 2564 จาก Top Cryptocurrency Exchanges Ranked By Volume | CoinMarketCap

ก่อนอื่นเราจะเห็นจากราคาของเหรียญบนแพลตฟอร์ม คือ BNB (Binance Coin) ที่มีราคาพุ่งสูงจนน่าตกใจ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามา โดย BNB นั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมของการทำ Transaction อีกทั้งยังสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเพื่อทำกำไรได้อีกทางหนึ่ง

ราคา BNB ณ วันที่ 20 ก.พ 2564 จาก Binance Coin price today, BNB marketcap, chart, and info | CoinMarketCap

แล้วทำไม BSC จึงเป็นที่นิยมมากกว่า Ethereum? ก็เพราะว่า Ethereum Network มีค่าทำธุรกรรมหรือเราเรียกกันว่า Gas Price ที่มีราคาแพงตามราคา Ethereum ในปัจจุบัน เฉลี่ยราวๆ 201.5363 GWei (Giga Wei, 1 ETH = 1,000,000,000,000,000,000 Wei) และใช้เวลาในการทำ Transaction ถึง 13.15 วินาที ในขณะที่บน Binance Smart Chain มีค่าทำธุรกรรมที่ถูกกว่ามาก เฉลี่ยราวๆ 16.7539 GWei อีกทั้งยังใช้เวลาน้อยกว่า เพียงแค่ 3.07 วินาที อีกด้วย

ตารางเปรียบเทียบระหว่าง Ethereum และ Binance Smart Chain

และ BSC ยังมีผลิตภัณฑ์ DeFi ต่างๆ ที่คล้ายกับทางฝั่ง Ethereum ไม่ว่าจะเป็น PancakeSwap (DEX, Yield Farming), Binance DEX (DEX), Cream Finance (Lending), Venus (Money Market), Autofarm (Yield Farming) และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ มูลค่าตลาดในปัจจุบันอาจจะเทียบเท่าหรือมากกว่า Ethereum ในบางตัวก็เป็นได้ เช่นตัว PancakeSwap ฝั่ง BSC ที่ปัจจุบันมี Total Value Locked (TVL) อยู่ที่ 3.91 Billion USD เทียบกับฝั่ง Ethereum คือ SushiSwap ที่มี TVL อยู่ที่ 3.73 Billion USD (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ 2564)

นอกจาก Binance Smart Chain ยังมีบล็อกเชนตัวอื่นๆ ที่เหมาะกับการทำ DeFi และน่าสนใจอีกมั้ย? ตอบได้เลยว่ามีครับ เช่น Terra (LUNA), Polkadot (DOT), Cordano (ADA), Solana (SOL) เป็นต้น บล็อกเชนเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกไกล และอาจจะเป็นทางเลือกในการใช้งานในอนาคต

สิ่งที่ควรระวังในการลงทุน

Photo by Aleksi Räisä on Unsplash

สำหรับการลงทุนนั้น ถ้ามีได้ ก็มีเสีย ควรจะต้องศึกษาหาข้อมูลให้ชัดเจน หากจะเข้ามาลงทุน สิ่งที่ควรระวังมีดังนี้ครับ

  1. ความผันผวนดั่งรถไฟเหาะ ราคาของเหรียญที่ถือนั้นอาจจะพุ่งขึ้น 100% ใน 5 นาที แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีข่าวไม่ดี ราคาก็สามารถตกลงได้ถึง 100% ตัวอย่างที่น่าจะเห็นภาพคือการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นในระยะเวลา 10 ปี ถ้าลองเทียบดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะย่อลงมาในตลาด Crypto เพียง 1 วัน ทั้งยังเกิดได้ตลอดเวลา เพราะว่าตลาด Crypto เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน
  2. ความปลอดภัยของแพลตฟอร์มและช่องโหว่ในส่วนของ Smart Contract โดยส่วนที่ถูกพัฒนามานั้น ถ้าหากมีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ระบบสามารถถูกโจมตีได้ ส่งผลให้สูญเสียเงินไปอีกมหาศาล ตัวอย่างการโจมตีที่เห็นบ่อยๆ เช่น การทำ Flash Loan การขโมยเงินจาก Liquidity Pool หรือ การทำ Rug Pull เป็นต้น
  3. การไม่เข้าใจในการทำงานของ DeFi เป็นอีกสิ่งที่ควรระวัง เช่น ในบางแพลตฟอร์มอาจจะรองรับการทำ Leverage Lending คือการยืมเงินมาใช้ก่อน สามารถยืมได้มากกว่า X เท่าของที่เงินต้นที่วางไว้ เพื่อนำไปใช้ซื้อขาย โดยเรียกว่า Margin Trading ที่ต้องระวังคือดอกเบี้ยจะถูกคิดเป็นชั่วโมง และถ้าหากบริหารไม่ดีหรือตลาดผันผวนไปในคนละทิศทางกับที่คาดไว้ จะทำให้ผู้ยืมอาจจะเสียเงินต้นได้ นอกจากนี้ในบางกรณีเช่น การ Stake เหรียญโดยที่ไม่อ่านกฎ ถ้าต้องการขายเหรียญที่ Stake ไว้อาจจะทำให้ไม่สามารถขายได้ทันที ทำให้เสียโอกาสการทำกำไร
  4. การเก็บรักษา Wallet สำหรับผู้ที่เก็บ Token หรือ Cryptocurrency เป็นจำนวนมากไว้ในแพลตฟอร์มต่างๆ Exchange หรือ Software Wallet นั้น อยากให้ระวังเรื่องของความปลอดภัย เพราะผู้ที่ไม่หวังดีอาจโจมตี Wallet และนำเงินออกไปได้ เพื่อความปลอดภัยควรใช้ Exchange หรือ Software Wallet ที่น่าเชื่อถือ และควรจะหาซื้อตัว Hardware Wallet ที่ต้องซื้อจากบริษัทต้นสังกัดและต้องไม่ถูกเปิดมาก่อนเท่านั้น ก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
  5. ค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ควรระวังเช่นกัน หากต้องการโอนเหรียญที่มีอยู่ไปไว้ที่อื่น อาจจะโดนค่าธรรมเนียมที่สูง เช่น บน Ethereum ที่ค่าธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในการทำธุรกรรม ถ้าหากจำเป็น ควรคิดให้ดีก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ บนบล็อกเชน ซึ่งสามารถเสียเงินค่าทำธุรกรรมมากกว่าเงินที่อยู่ในการทำธุรกรรมนั้นๆ ล่าสุดมีข้อเสนอใหม่ EIP-1559 ที่คาดว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมแพงนี้ในอนาคต ถ้าสามารถแก้ไขได้ Ethereum อาจจะกลับมามีผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นไปอีก

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ควรไตร่ตรองก่อนที่จะลงทุน ถ้าหากได้ทดลองเข้าตลาดจริงจะต้องเจอมากกว่านี้ ซึ่งผู้เข้มแข็งและมีวางแผนมาดีเท่านั้นที่จะอยู่รอด เงินที่ได้มาจะคืนกลับไปที่ตลาดเหมือนเดิมหรือไม่ อยู่ที่ปลายนิ้วของเราครับ

สรุปสั้นๆ

นักลงทุนนั้นต้องการผลประกอบการหรือผลกำไรที่สูง อย่างที่เรารู้กันว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว ราคาทองลดต่ำลง พันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น และการมาของเทคโนโลยี รวมถึงโอกาสการทำเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ทำให้เงินทุนตกไปอยู่ในตลาด Cryptocurrency และ DeFi ซึ่งตลาดเหล่านี้ที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก สามารถทำกำไรได้ในเวลาอันรวดเร็วแต่ก็ต้องระวังในความเสี่ยงต่างๆที่ตามมา

ถ้าหากอยากจะอยู่รอดในตลาดนี้ ต้องมีวินัยและวางแผนมาก่อน รวมทั้งศึกษาในส่วนแพลตฟอร์มที่จะลงเงิน การลงทุนในสิ่งเหล่านี้คือการซื้ออนาคต ผลตอบแทนที่ผ่านมาอาจจะเปลี่ยนไปได้ในอนาคต เงินที่นำมาลงจะต้องเป็นเงินเย็นและต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียเงินต้นได้ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง ก็อย่างที่เคยได้ยินกันมาล่ะครับ High Risk, High Return

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนและ DeFi ได้ศึกษาและทดลองเข้าตลาด และได้เจอสิ่งต่างๆ จึงได้ลองนำสิ่งที่รู้มาเรียบเรียงออกมาเป็นบทความเพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก Cryptocurrency และ DeFi กันมากขึ้น ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ทุกคนสามารถเพิ่มความคิดเห็นเพื่อแนะนำสำหรับผู้ที่มาอ่านภายหลัง และถ้าหากชอบบทความแบบนี้ ฝากทุกคนติดตามสำหรับบทความต่อๆไปด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--