รีวิวหนังสือ Bad Blood ตีแผ่กลลวงของสตาร์ทอัพชื่อดังแห่งซิลิคอน วัลเล่ย์

Nutmos
KBTG Life
Published in
2 min readDec 12, 2020

หลังจากช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นต้นมา การ Work from Home กลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อ Work From Home เราก็มักจะเลือกหากิจกรรมมาเพิ่มสีสันให้กับกิจวัตรแบบเดิมๆ สำหรับผมเองหนึ่งในกิจกรรมที่เลือกทำคือการอ่านหนังสือครับ และวันนี้ผมจะนำหนังสือที่น่าสนใจและอ่านจบแล้วมารีวิวให้ฟังกัน ชื่อว่า Bad Blood

ภาพจาก kellywritershouse (Flickr) CC BY 2.0

ที่มาของหนังสือ

Bad Blood หรือชื่อเต็มคือ Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการหลอกลวงของสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเล่ย์นามว่า Theranos

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดย John Carreyrou นักข่าวของ Wall Street Journal ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของ Theranos จากการสัมภาษณ์ของเขาเอง หลักฐานทางอีเมล และหลักฐานอื่นๆ จากบุคคลที่มีทั้งการเปิดเผยและไม่เปิดเผยตัวตน ตั้งแต่วันแรกๆ ของสตาร์ทอัพแห่งนี้จนถึงช่วงที่เขาสืบสวนและปล่อยบทความทาง Wall Street Journal

การปล่อยบทความของ Carreyrou นำไปสู่การสืบสวน Theranos จนถึงขั้นทำให้บริษัทต้องปิดตัวและซีอีโอ Elizabeth Holmes ถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ สั่งปรับข้อหาฉ้อโกงนักลงทุน

เรื่องราวในหนังสือ

คำเตือน: ตั้งแต่จุดนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางอย่างในหนังสือ

ในหนังสือ Bad Blood บอกเล่าเรื่องราวของ Theranos ที่ก่อกำเนิดจากซีอีโอหญิง Elizabeth Holmes เธอเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่าจะทำให้วงการการแพทย์เป็นเรื่องง่าย เลือดเพียงไม่กี่หยดสามารถตรวจโรคได้สารพัด

Elizabeth Holmes ภาพจาก Fortune Global Forum (Flickr) CC BY-NC-ND 2.0

Holmes ได้ออกแบบคาแรคเตอร์ของตัวเองจากการนำผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการไอทีหลายๆ คนมารวมกันเป็นคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นการดรอปเรียนจาก Stanford เพื่อมาทำธุรกิจ, ใส่เสื้อคอเต่าสีดำเหมือน Steve Jobs, มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนโลก ซึ่งคาแรคเตอร์ของ Holmes ตอนนั้นแทบจะมองว่าเป็น The Next Steve Jobs แห่งวงการแพทย์ จึงไม่แปลกใจที่ Theranos สามารถระดมทุนจากนักลงทุนใหญ่ๆ ได้เยอะมาก

ตัวหนังสือตีแผ่สิ่งที่น่าสนใจใน Theranos ว่าแม้จะเป็นเรื่องหลอกลวง แต่เหตุใด Theranos ยังคงอยู่มาได้นานมาก ก็เนื่องจากบริษัทใช้วิธีการเน้นให้พนักงานจงรักภักดีต่อ Holmes ถ้าใครทำไม่ได้ตามต้องการหรือทักท้วงจะถูกไล่ออกหรือบีบจนลาออกไปเอง

Theranos กำหนดให้พนักงานต้องใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทที่จะมีคนคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่าพนักงานทำอะไรบ้าง ถ้าเห็นว่าพนักงานตุกติกจะเอาข้อมูลบางอย่างของบริษัทออกไปก็จะข่มขู่ฟ้องร้องและให้เซ็น NDA (ข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล) ทุกครั้ง หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่เก็บไว้เป็นข้ออ้างไม่ให้หุ้นของบริษัทแก่พนักงานตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ก็จะเก็บไว้ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยที่แม้ว่าจะเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเยี่ยมที่บริษัทได้บ้าง แต่ต้องมีคนคอยติดตามตลอดเวลา ทำให้การจะเห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากลของ Theranos เป็นไปได้ยากมาก

นอกจากเรื่องการบริหารงานภายในบริษัทแล้ว Theranos ก็ใช้ช่องโหว่หลบเลี่ยงการตรวจสอบจนสามารถนำเครื่องตรวจเลือดที่ใช้เลือดเพียงไม่กี่หยด (แต่ได้ผลลัพธ์เพี้ยนมาก) ไปให้บริการที่ Chain ร้านขายยา Walgreens ในสหรัฐฯ ได้

มีผู้ให้ข้อสังเกตเรื่องผลตรวจเลือดจาก Theranos เช่น มีผู้ใช้งานจริงนำผลลัพธ์ไปตรวจเทียบกับในแล็บตรวจเลือดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน พบว่าแทบไม่ตรงกับผลตรวจเลือดจากเครื่องของ Theranos เลย

John Carreyrou ภาพจาก kellywritershouse (Flickr) CC BY 2.0

การสืบสวนของ Carreyrou ได้รับความร่วมมือจากอดีตพนักงานของ Theranos โดยส่วนหนึ่งไม่กล้าเปิดเผยตัวตนเนื่องจากกลัวโดนฟ้อง เพราะในขณะนั้น Theranos เป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงมาก ระดับที่เคยทำให้ Holmes ที่ถือหุ้นสามัญของ Theranos อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งได้รับการประเมินจากนิตยสาร Forbes ว่ามีสินทรัพย์ราว 4,500 ล้านดอลลาร์ (แต่หลังจากข่าวฉาวออกแล้ว Forbes ประเมินใหม่ได้ 0 ดอลลาร์)

ข้อมูลที่ Carreyrou ได้จากอดีตพนักงานของ Theranos มาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่คำบอกเล่าไปจนถึงอีเมลที่ส่งภายในบริษัท เหตุผลหนึ่งที่พนักงานมักจะลาออก (รวมถึงถูกไล่ออก) คือรับไม่ได้ในทิศทางของ Holmes และ Balwani (อดีตประธานบริษัท) ที่มักจะเลือกปกปิดความจริง และพนักงานเหล่านั้นมักจะเก็บอีเมลที่ท้วงติงในเรื่องความถูกต้องไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนเองไม่ได้สมรู้ร่วมคิดหากบริษัทโดนฟ้องข้อหาฉ้อโกงในภายหลัง

ช่วงที่ Carreyrou และสำนักข่าวของเขาเริ่มสอบสวนเรื่องดังกล่าว Theranos เองก็เริ่มรับรู้และพยายามสกัดการสอบสวนอยู่เสมอ ก่อนบทความจะออก Holmes ถึงขั้นไปเข้าพบ Rupert Murdoch เจ้าพ่อวงการสื่ออยู่หลายครั้ง เนื่องจากเขาเป็นผู้ก่อตั้ง News Corp ที่ถือหุ้นใหญ่ Wall Street Journal ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่า Murdoch เองจะลงทุนใน Theranos ไม่น้อยและมีอำนาจในการหยุดบทความแฉได้ เขาเลือกที่จะปฏิเสธในการเข้าแทรกแซง

เมื่อความพยายามของ Holmes ไร้ผล บทความสืบสวนนี้จึงถูกตีพิมพ์บน Wall Street Journal ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2015 ทำให้ Theranos พยายามโต้กลับด้วยการปล่อยข้อมูลผ่านประชาสัมพันธ์ของบริษัท ส่วน Holmes เมื่อให้สัมภาษณ์และถูกถามถึงเรื่องนี้ เธอตอบว่า “เหตุการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ตอนแรกพวกเขาจะคิดว่าคุณบ้า พวกเขาจะต่อสู้กับคุณ จากนั้นคุณก็เปลี่ยนโลกได้” แต่เมื่อถามถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เธอกลับพยายามบ่ายเบี่ยงเสมอ

บทวิจารณ์และข้อสรุป

แม้ว่าการโม้เกินจริงและความล้มเหลวของวงการสตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเด็นสำคัญของ Theranos คือไม่ยอมรับความล้มเหลวของบริษัท เรื่องราวในช่วงหลังของบริษัทจึงกลายเป็นการปกปิดความจริงและสร้างเรื่องราวเพื่อหลอกเงินนักลงทุนแทน จุดจบของบริษัทจึงถูกหน่วยงานอย่าง ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ เข้ามาตรวจสอบและส่งฟ้องในข้อหาฉ้อโกง

ในบทความนี้อธิบายได้ถึงบางส่วนของหนังสือเท่านั้น แต่ตัวหนังสือจริงๆ ยังมีส่วนที่น่าสนใจเยอะมาก แม้ว่าในหนังสือจะมีศัพท์การแพทย์อยู่บ้าง เพราะ Theranos เป็นสตาร์ทอัพการแพทย์ แต่การอ่านโดยรวมก็ยังน่าสนุก โดยเฉพาะวิธีการหลายอย่างที่ Theranos พยายามทำเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ และได้รับความน่าเชื่อถือแม้ผลิตภัณฑ์จะยังใช้งานไม่ได้จริงก็ตามที

สรุปแล้ว หนังสือเล่มนี้น่าซื้อหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าตัวหนังสือจะตีพิมพ์มาสักระยะแล้ว แต่เนื้อหาที่สะท้อนรูปแบบการดำเนินกิจการของ Theranos ก็ยังคงน่าสนใจอยู่ และ Theranos นั้นอาจจะไม่ใช่กลโกงสุดท้ายของวงการสตาร์ทอัพก็เป็นได้

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆ แบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--