รู้หรือไม่?? 5 ฟังก์ชันนี้มีอยู่ใน “K PLUS”

ในยุคสมัยที่โลกกำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีต่างๆ ก็พัฒนาตามไปด้วย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Mobile Banking แห่งยุคดิจิทัลที่ชื่อว่า “K PLUS” แอปทำธุรกรรมการเงินที่มีความทันสมัย และตอบโจทย์ Lifestyle ของใครหลายๆ คนเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังมีฟังก์ชันอีกมากมายที่คิดว่าหลายคนเคยใช้งานกันมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การจ่ายบิล การเติมเงิน การถอนเงิน การซื้อ/ขาย/สับเปลี่ยนกองทุน เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้ว แอป K PLUS ยังมีฟังก์ชันอีกสารพัดที่คนอาจจะยังไม่รู้จักหรือเคยใช้งานมาก่อน บทความนี้เราจะมาเปิดโลก K PLUS ไฮไลท์ฟังก์ชันเหล่านั้นให้ดูกัน

1. Insurance (ประกันภัย)

ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหนหรือทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ แต่หลายคนก็ไม่ได้มีประกันไว้คุ้มครอง เพราะคิดว่าการสมัครนั้นยุ่งยากมากๆ ทางทีม K PLUS เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้พัฒนาฟังก์ชันให้ทุกคนสามารถสมัครประกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปธนาคาร

แล้วฟังก์ชันนี้ทำอะไรได้บ้าง และหน้าตาเป็นอย่างไร มาลุยกันเลย!!

การเข้าใช้งานฟังก์ชัน Insurance (ประกันภัย)

ในฟังก์ชันประกันภัยจะมีการสมัคร 3 รูปแบบ ในแถบเมนู “Apply” (สมัครประกัน) ดังนี้

  1. Personal Accident Insurance (ประกันภัยอุบัติเหตุ)
  2. Travel Insurance (ประกันเดินทาง)
  3. Life Insurance (ประกันชีวิต)

นอกจากนี้ยังสามารถดูรายละเอียดประกันต่างๆ ที่เคยสมัคร ในแถบเมนู “My Insurance” (ประกันของฉัน) อีกด้วย รวมถึงการ “เพิ่ม/ขอ กรมธรรม์” “ดูรายละเอียดความคุ้มครอง” และ “เพิ่มบัตรสมาชิกประกัน”

2. Withdraw History (ประวัติการถอนเงิน)

การถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรผ่านทาง K PLUS เป็นฟังก์ชันที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายคนคงจะเคยเจอปัญหาการลืมบัตรเดบิตไว้ที่บ้าน หรือกดเงินแล้วลืมบัตรไว้ที่ตู้เอทีเอ็มอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มิจฉาชีพได้โอกาสในการกดเงินจากบัตรที่เราลืมไว้ เมื่อมีฟังก์ชันนี้แล้ว แค่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถกดเงินได้แล้วอย่างง่ายดาย แหม…มันดีซะจริงๆ เลยเชียว

แต่ช้าก่อน… ในหัวข้อนี้ไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องการกดเงินแต่อย่างใด จริงๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งฟังก์ชันที่หลายคนไม่เคยใช้เลยด้วยซ้ำ นั่นคือเมื่อเรากดเงินเสร็จ เราสามารถที่จะดูประวัติการถอนเงินได้ตามนี้เลย

การเข้าใช้งานฟังก์ชัน Withdraw History (ประวัติการถอนเงิน)

การดูประวัติการถอนเงิน สามารถดูสถานะต่างๆ เกี่ยวกับการถอนเงินได้ เช่น สถานะถอนเงินสำเร็จ (สีเขียว) สถานะรอถอนเงิน (สีเหลือง) และสถานะการถอนเงินถูกยกเลิก (สีแดง) เป็นต้น เมื่อกดขยายในรายการถอนเงินสำเร็จก็จะสามารถดู e-Slip ของรายการถอนเงินนั้นได้ด้วย เป็นไงล่ะ…ล้ำลึกไปอีก

3. Request to pay (บริการเรียกเก็บเงิน)

เคยไหม?? เวลาไปทานข้าวกับเพื่อน แล้วเพื่อนบอกให้จ่ายก่อน พอผ่านไปซักพัก เพื่อนดันลืมซะอย่างนั้น หรือไม่เราก็อาจจะเป็นคนที่ลืมไปเอง ถ้าถามถึงในตอนนี้คนก็คงหันไปใช้ KhunThong ในการเรียกเก็บเงินซะเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วในแอป K PLUS ก็มีฟังก์ชันที่คล้ายกับ KhunThong นั่นคือ “Request to Pay” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บเงิน โดยเราสามารถตั้งวันที่ที่ต้องการให้อีกฝ่ายจ่ายเงินได้ พร้อม Notification ในการแจ้งเตือนผู้จ่าย เราไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเพื่อนจะลืมแม้แต่อย่างใด

ซึ่งวิธีการในการทำรายการ “Request to Pay” ก็ง่ายซะเหลือเกิน เพียงแค่กดที่เมนู “Other Service” (บริการอื่น) ในหน้า “Home Banking” จากนั้นก็จะพบกับเมนู “Request to Pay” เพียงกดเข้าไปและกรอกหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนกับ K PLUS หรือเลือกเบอร์โทรศัพท์จากสมุดโทรศัพท์ของคนที่ต้องการเรียกเก็บเงิน จากนั้นใส่จำนวนเงินและระบุวันที่ต้องการให้จ่าย กดต่อไปเรื่อยๆ จนถึงหน้าจอทำรายการสำเร็จก็เป็นอันจบแล้ว เราแค่นั่งจิบกาแฟรอ หล่อๆ สวยๆ ไปได้เลย

การเข้าใช้งานฟังก์ชัน Request to Pay (บริการเรียกเก็บเงิน)

ยังไม่จบจ้า เชื่อว่าหลายคนมีคำถามอีกว่า…แล้วผู้จ่ายเขาจะรู้ได้ยังไงว่าเราได้ทำรายการเรียกเก็บเงินไป?

อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าทางฝั่งผู้จ่ายจะมี Notification เข้าไปแจ้งเตือนให้จ่ายเงิน ผู้จ่ายเพียงแค่กด Notification เข้าไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ก็จะสามารถจ่ายเงินได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้จ่ายจะลืมหรือว่าตัวเราเองจะลืมอีกด้วยเช่นกัน

4. Share To K PLUS (Share ไปยัง K PLUS)

ตัวอย่างการแชร์ QR Code จากแอปอื่นๆ ไปยัง K PLUS

ในปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของหลายๆ คนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook, Instagram, Twitter เป็นต้น ซึ่งแอป K PLUS ของเราสามารถแชร์ QR Code ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้เช่นกัน

ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แน่นอนว่าจะต้องมีการทำรายการต่างๆ ผ่าน Mobile Banking อย่างแน่นอน เช่น เวลาไปรับประทานอาหารกับเพื่อน แล้วตอนจ่ายเงิน เราอาจจะบอกเพื่อนว่า “ออกไปก่อน แล้วค่อยมาหารกัน” แล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน หลังจากนั้นเพื่อนก็ส่ง QR Code มาให้ทางไลน์ พร้อมยอดที่เราต้องจ่าย โดยปกติแล้วเราสามารถจ่ายเงินด้วย QR Code ผ่าน K PLUS ได้ดังนี้

  1. Save QR ที่เพื่อนส่งมาให้
  2. เปิดแอป K PLUS
  3. กดเมนู สแกนจ่าย/รับ (Scan) ในหน้า Home
  4. เลือกรูปภาพในเครื่องของเรา
  5. กด “ต่อไป (Next)” ในหน้า สแกน QR Code (Scan QR Code)
  6. กรอกจำนวนเงินในหน้าธุรกรรม และกดปุ่ม “ต่อไป (Next)”
  7. กดปุ่ม “ต่อไป” ในหน้า ยืนยัน (Confirm) การทำธุรกรรม
  8. เจอหน้า สลิป (Slip) เป็นอันว่าทำรายการสำเร็จ

จะเห็นว่ากว่าเราจะทำรายการสำเร็จ เราจะต้องผ่านขั้นตอนเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าเราใช้ฟังก์ชัน Share To K PLUS เราจะเจอขั้นตอนเพียงแค่ข้อ 6-8 เท่านั้นเอง ลดขั้นตอนการกดของเราได้ถึง 5 ขั้นตอนเลยทีเดียว

แต่ไม่ได้มีเพียงแค่ QR Code อย่างเดียวที่จะแชร์ไป K PLUS ได้ ยังรวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่มี QR Code ที่สามารถทำรายการผ่าน K PLUS ได้ด้วยเช่นกัน เช่น สลิป K PLUS ที่มี QR Code ก็สามารถแชร์เพื่อทำรายการจ่ายเงินได้ สามารถดูขั้นตอนการใช้งานฟังก์ชัน Share to K PLUS

5. K PLUS App Shortcut

ตัวอย่างแสดง App Shortcut ทั้ง iOS และ Android

สำหรับฟังก์ชันนี้เชื่อว่าคนจำนวนมากอาจจะยังไม่รู้ว่ามีอยู่ ทั้งๆ ที่ในชีวิตประจำวันเรามีการทำรายการต่างๆ บน K PLUS เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร หรือแม้แต่การสแกน QR Code เพื่อจ่ายเงินหรือ Save QR Code ส่งให้เพื่อนก็ตาม

จริงๆ แล้วสิ่งที่อยากจะบอกคือว่าทาง KPlus มีฟังก์ชันพิเศษที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปทำรายการที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรองรับทั้ง iOS และ Android เพียงแค่กดที่ไอคอนแอปค้างไว้ แล้วเลือกฟังก์ชันที่ต้องการเข้าไปทำรายการต่างๆ ผ่าน K PLUS

ซึ่ง App Shortcut มีแค่ 4 ฟังก์ชันที่สามารถเข้าไปทำรายการได้ นั่นคือ โอนเงิน (Transfer) , ถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร (Withdraw), สแกน QR (Scan QR) และ QR ของฉัน(My QR)

เราจะขออธิบายขั้นตอนปกติในการถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร (Withdraw) ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างในการเข้าไปทำรายการ ดังนี้

  1. เปิดแอป K PLUS
  2. กดเมนู ธุรกรรม (Banking) ในหน้า Home
  3. กดเมนู ถอนเงิน (Withdraw) ในหน้า ธุรกรรม (Banking) จากนั้นก็ทำรายการถอนเงินที่ตามที่ต้องการ

แต่ถ้าทุกคนใช้ App Shortcut ก็จะสามารถเข้าไปยังหน้า ถอนเงิน (Withdraw) ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการกดเมนูต่างๆ เลย ทั้งสะดวกและรวดเร็วต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ

ก็เป็นอันจบไปเรียบร้อยกับ 5 ฟังก์ชันที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีอยู่ในแอป K PLUS ขอฝากให้ทุกคนที่หลงเข้ามาอ่านลองเข้าไปใช้งานฟังก์ชันที่ได้นำเสนอไปข้างบน รับรองว่าจะมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างแน่นอน และสามารถเชื่อมั่นได้ว่า Developer ทุกคนของทีม K PLUS กำลังมุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาฟังก์ชันอื่นๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของทุกคนอย่างเต็มที่อยู่เสมอ ส่วนในบทความต่อๆ ไป จะมีอะไรมาให้ได้อ่านอีก รอติดตามกันได้ทาง KBTG Life เลย

Reference

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--