อย่าทำแบบนี้ เมื่อมีสัมภาษณ์ (Software Engineer Interview Anti-Patterns)

jo@sabotender
KBTG Life
Published in
3 min readDec 7, 2022

ผมมีความคิดมาสักพักหนึ่ง ความคิดที่จะเขียนบทความออริจินอลเกี่ยวกับการที่ตัวเองได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในกรรมการสัมภาษณ์ผู้ที่สมัครงานเข้ามาในตำแหน่ง Software Engineer ของ KBTG มาเป็นเวลายาวนานพอที่จะทำให้เบื่อหน้าที่นี้ได้ ^^

Image by pikisuperstar on Freepik

มากกว่าสามปีที่ผมได้ทำหน้าที่นี้ ร่วมกับกรรมการสัมภาษณ์ท่านอื่น ๆ รวมไปถึงทีมงานคัดเลือกผู้เยี่ยมยุทธ์ (Talent Acquisition) ของ KBTG และล่าสุดกับทีมงานน้องใหม่ของ KBTG Vietnam ก่อนหน้านี้ผมพยายามจะหาแง่มุมในการเขียนบทความที่ไม่สุ่มเสี่ยงจนเกินไปและยังสามารถสื่อสารในสิ่งที่ผมต้องการได้ จนกระทั่งผมไปเห็นภาพแบคกราวน์ของน้องที่ประชุมออนไลน์ร่วมกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นภาพของสตีฟกับคำคมของเขา (สตีฟ จ็อบส์ นะครับ ไม่ใช่ ก้นแห่งอเมริกา สตีฟ โรเจอร์ส)

“Deciding what not to do is as important as deciding what to do” — Steve Jobs

ถึงแม้ผมจะไม่รู้ว่าสตีฟเคยพูดแบบนี้จริงไหม ผมก็เลือกที่จะเรียบเรียงเนื้อหาออกมาในลักษณะของ Anti-Patterns เช่นเดียวกับผลงานแปลก่อนหน้านี้ของผมที่ชื่อ “อย่าทำแบบนี้ เมื่อรีวิวโค้ด (Code Review Anti-Patterns)” แต่รอบนี้เป็นบทความออริจินอลจากประสบการณ์และแนวคิดส่วนตัวของผมเอง

ก่อนอื่นเราต้องตระหนักก่อนว่ากระบวนการสัมภาษณ์ของแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกัน รวมไปถึงจุดประสงค์ของการสัมภาษณ์ การเลือกเฟ้นบุคลากร และคุณลักษณะของผู้สมัครที่กรรมการสัมภาษณ์แต่ละคนมองหา บทความนี้ผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นสูตรสำเร็จในการสัมภาษณ์ ไม่ได้ตั้งใจจะมาการันตีว่าทำตามแล้วจะผ่าน 100% แต่หากเขียนขึ้นด้วยความหวังจะให้เกิดประโยชน์ทั้งฝั่งบริษัทและผู้สมัครที่จะได้เห็นและแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาอย่างเต็มที่ในเวลาช่วงสั้นๆ ที่มาร่วมพูดคุยกัน หลังจากนั้นก็ปล่อยเป็นเรื่องของพรหมลิขิตครับ อย่างน้อยถ้าใครได้อ่านบทความนี้แล้วเจอผมในเวทีสัมภาษณ์ ก็ถือว่าคุณอ่านใจผมออกไปส่วนหนึ่งแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมทักทายกันนะครับ

สิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำ เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งานในตำแหน่ง Software Engineer

1. พร้อมแบบไม่พร้อม (OK, I am NOT ready?!)

สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ส่งผลมาถึงรูปแบบของการสัมภาษณ์ด้วย จากเดิมที่ผมและกรรมการสัมภาษณ์ท่านอื่นๆ จะต้องนั่งเรียงรายกันที่โต๊ะ พูดคุยกับผู้สมัครแบบสามมิติ ตอนนี้ผมเปลี่ยนมาวีดีโอคอลสัมภาษณ์ผ่านหน้าจอแบนๆ เช่นเดียวกับผู้สมัครที่จะได้เห็นผมแบบแบนๆ :D การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผมเคยสัมภาษณ์ผู้สมัครที่อยู่ในบรรยากาศแบบ Outdoor แบบที่เหมือนว่าจะเดินตลาดหรือเดินห้างอยู่ แล้วขอเวลาเดินหามุมเงียบสงบเพื่อที่จะคุยกับพวกผม หรือแบบที่อยู่ในบ้านแล้วมีคนในบ้านเดินผ่านไปมา บางคนเหมือนจะถูกคนในบ้านเรียกให้ไปทำอะไรสักอย่างขณะสัมภาษณ์ด้วย กระทั่งแบบที่อยู่บนรถที่ขับเคลื่อนไปบนถนน และรถที่จอดอยู่เฉยๆ กรณีสุดยอดที่จำได้ก็คือสัมภาษณ์ไปด้วยพร้อมกับทำงานที่บริษัทปัจจุบันไปด้วย โอว มาย ก็อด ดะ!

Kena: Bridge of Spirits เกมส์ที่ผมเล่นและมีการนั่งสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์

ผมว่าสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญในการสนทนา โดยเฉพาะการตอบคำถามสัมภาษณ์ เพราะทำให้เราสามารถโฟกัสและนึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อเรียบเรียงและนำมาใช้ในการตอบคำถามหรือเล่าเรื่องได้อย่างดี นึกถึงเวลาเราประชุมออนไลน์อยู่ แล้วมีไอเดียดีๆ เกิดขึ้น แต่ยังไม่ทันได้พูด ทันใดนั้นแม่ตะโกนถามว่า “เที่ยงนี้กินไร” พอเราหันไปตอบแม่ปุ๊ป ไอเดียเราก็ไปพร้อมกับอาหารเที่ยงทันที

ความพร้อมเป็นสิ่งที่เราสามารถจัดเตรียมขึ้นไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งผมหมายถึง

  • สภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
  • สถานที่ ไม่มีเสียงรบกวน หรือไม่มีผู้อื่นหรือปัจจัยภายนอกมารบกวน
  • อุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ สัญญาณเน็ตเวิร์ค กล้อง ไมโครโฟน หูฟังยังใช้งานได้ดี ตลอดจนการติดตั้งและลองใช้งานโปรแกรมที่ใช้ในการสัมภาษณ์ให้มั่นใจว่าจะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเมื่อถึงเวลาจริง
  • เคลียร์งานช่วงสัมภาษณ์ และเผื่อเวลาเกินจากที่นัดไว้เล็กน้อย ในกรณีที่สัมภาษณ์แล้วติดพัน เช่น เมื่อแต่ละคำถามใช้เวลานาน มีการอธิบายรายละเอียดในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมากเกินไป ผู้สัมภาษณ์ยังถามคำถามสำคัญไม่ครบถ้วน หรือผู้สัมภาษณ์อาจจะสนใจถามสิ่งใดเพิ่มเติม ในบางครั้งที่มีปัญหาทางเทคนิค สัญญาณไม่ดี เสียงหรือภาพมีปัญหา ก็อาจทำให้ช่วงเวลาสัมภาษณ์ยืดออกไปได้เช่นกัน
  • คำตอบสำหรับคำถามคลาสสิกต่างๆ เช่น เหตุผลที่อยากย้ายงาน จุดอ่อน/จุดแข็ง เตรียมแนะนำตัวเอง เตรียมคำถามที่อยากทราบเกี่ยวกับบริษัทหรือตำแหน่งงานที่สมัคร เป็นต้น
  • ทบทวนสิ่งที่เขียนอยู่ใน Resume ที่ส่งมาให้กับบริษัท ข้อนี้ผมเจอค่อนข้างบ่อย เมื่อผมถามสิ่งที่เขียนอยู่ในนั้น แล้วได้รับคำตอบแบบไร้ซึ่งเยื่อใยกลับมาประมาณว่า “จำไม่ได้แล้ว” ต้องบอกก่อนว่าผมจะสังเกตเสมอว่าคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตที่ได้ถามไปนั้นเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในปีไหน ถ้าผ่านมานานมากแล้ว ผมจะไม่ได้คาดหวังคำตอบแบบละเอียดยิบย่อย แต่ผมจะรู้สึกว่าถ้าเราผ่านอะไรมา แล้วเราจำอะไรไม่ได้เลยอย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์นั้นอาจจะไม่ได้มีคุณค่ามากเท่าไรนัก

มีอีกข้อนึงที่ผมไม่ได้ซีเรียสแต่อยากเอามาเล่า คือการแต่งกาย ส่วนตัวผมเองให้ขอบเขตการแต่งกายไว้กว้างมาก แต่มีผู้สมัครคนนึงที่โดดเด่นในความทรงจำ เพราะเขาทะลุขอบเขตในหัวผมไปเลยด้วยการใส่เสื้อกล้ามมาอยู่หน้าจอ ใช่! เสื้อกล้ามพร้อมกล้ามแขนเป็นมัดๆ เอ่อ… ผมเกรงว่ากรรมการจะเสียสมาธิไปด้วยนะครับ

Key Takeaways

  • เตรียมตัวให้พร้อม ถ้าไม่พร้อมควรแจ้งเลื่อนการสัมภาษณ์ แต่ถ้าเตรียมตัวพร้อมแล้ว เกิดปัญหาเฉพาะหน้า เลื่อนได้ก็เลื่อน เลื่อนไม่ได้ก็ไม่ต้องซีเรียส ตั้งสติ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ทำโมเมนต์นั้นให้ดีที่สุด

2. ฟีเจอร์ ฟีเจอร์ ฟีเจอร์ (All Software, but Engineer)

ผมจะหงุดหงิดเล็กน้อยเวลาผู้สมัครใช้เวลาอันมีค่าเอาแต่บรรยายว่าระบบที่ตนเคยทำนั้นมีฟีเจอร์ฟังก์ชันอะไรบ้างอย่างละเอียด การอธิบายในลักษณะนี้จะมีประโยชน์มากในสองสถานการณ์ครับ อย่างแรกคือถ้าคุณเป็นเซลล์ขายซอฟต์แวร์ กับอย่างที่สองคือคุณสมัครงานในตำแหน่ง Business Analyst

แต่กับการสัมภาษณ์ในตำแหน่ง Software Engineer แล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการอธิบายเชื่อมโยงฟีเจอร์ฟังก์ชันของระบบเข้ากับหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวผู้สมัครเอง ในฐานะที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ ผมไม่ได้อยากรู้ฟีเจอร์ฟังก์ชันของระบบมากขนาดนั้น โดยเฉพาะระบบที่ใหญ่มากๆ เล่ากันเป็น 10 นาทีไม่จบ แล้วดันมีมากกว่าหนึ่งระบบด้วย! จนบางครั้งผมต้องยอมเสียมารยาทเพื่อเบรกสิ่งที่ผู้สมัครกำลังนำเสนอ

สิ่งที่ผมอยากรู้เป็นอันดับแรกคือผู้สมัครได้ทำอะไรหรือส่วนใดของซอฟต์แวร์นั้น ส่วนนั้นมันมีความยาก ความท้าทาย ความเจ๋งอย่างไร ทำไมคุณถึงได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนนั้น คุณทำมันได้สำเร็จตามที่ตั้งใจหรือไม่ และได้เรียนรู้อะไรจากงานนั้นบ้าง ด้วยเวลาที่มีจำกัด ผมไม่ได้คาดหวังให้ผู้สมัครเล่าทุกสิ่งอย่างที่เคยทำมาในอดีต แต่คาดหวังสิ่งที่เป็นไฮไลท์ที่อธิบายทักษะความสามารถของตัวผู้สมัครได้อย่างชัดเจน

ในทางกลับกัน ยิ่งระบบมีฟีเจอร์ฟังก์ชันมากเท่าไร แล้วผู้สมัครไม่ได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับฟีเจอร์ฟังก์ชันที่กล่าวมานั้นเลย ยิ่งทำให้ผมรู้สึกไม่มั่นใจว่าแท้จริงแล้วผู้สมัครมีบทบาท มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานอะไรตรงไหนอย่างไร แล้วครั้นได้ซักถามลงในรายละเอียด บ่อยครั้งก็พบว่าผู้สมัครไม่ได้ทำทุกอย่างที่เล่ามา แต่มีสมาชิกในทีมอีกหลายคนหลากตำแหน่งช่วยกันปั้นออกมา ดังนั้นอย่าลืมว่าเราไม่ได้มาซื้อขายซอฟต์แวร์ แต่เรากำลังคุยกันถึงทักษะและประสบการณ์ตรงของตัวผู้สมัคร เพื่อที่กรรมการสัมภาษณ์จะได้พิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นตรงกับสิ่งที่บริษัทกำลังมองหาอยู่หรือไม่

การที่เราสื่อสารทักษะและประสบการณ์ของตนเองได้อย่างชัดเจน นอกจากจะทำให้เรามีโอกาสได้เข้าทำงานมากขึ้นแล้ว ยังทำให้บริษัทสามารถมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ให้กับผู้สมัครได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

Key Takeaways

  • เน้นอธิบายความสามารถและประสบการณ์ของตัวเราโดยเชื่อมโยงกับฟีเจอร์ของระบบ ไม่ใช่เน้นอธิบายแต่ฟีเจอร์ของระบบหรือซอฟต์แวร์จนใช้เวลามากเกินไป

3. ผู้ศรัทธา (Believer)

การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยทฤษฎีและปฏิบัติ เราเรียนทฤษฎีแล้วนำไปปฏิบัติ เราปฏิบัติจนชำนาญ แล้วนำมาสร้างหรือต่อยอดเป็นทฤษฎีใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผมมีความเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ไอทีเป็นแบบนั้น

ในขณะที่ผมได้ยินประโยคประมาณนี้ค่อนข้างบ่อยขณะสัมภาษณ์

“ผมเชื่อว่าผมสามารถเรียนรู้ได้”

“ถ้ามีเวลา ผมคิดว่าทำได้แน่นอน”

ผมไม่ปฎิเสธว่าความเชื่อ ความคิด หรือความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ปัญหาของผมคือ ถ้าคุณพูดเพียงเท่านี้ในขณะสัมภาษณ์ มันจะมีค่าเท่ากับการที่คุณไม่ได้พูดอะไรเลย เพราะผู้สมัครทุกคนพูดแบบนี้ครับ โดยเฉพาะผู้สมัครที่ย้ายสายงานมาจากสายงานหรืออาชีพอื่น

ใช่ครับ มันเป็นปัญหาของผมเลย (ตอนนี้อาจจะดูไม่ใช่ปัญหาของคุณสักเท่าไร) เมื่อบริษัทมีตำแหน่งว่าง 5 ที่ แต่มีผู้สมัคร 10 คนที่มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าเช่นเดียวกันหมด แล้วผมต้องให้ความเห็นว่าผู้ที่ควรได้รับ 5 ที่นั่งนั้นคือใครบ้าง

แต่ถ้าคุณเริ่มมองเห็นว่ามันเป็นปัญหาของคุณด้วย คุณจะช่วยให้งานผมง่ายขึ้น และคุณเองก็จะกลายเป็นผู้ได้เปรียบในสนามแข่งขันทันที ถ้าคุณมีมากกว่าความเชื่อมั่น ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำสิ่งใดได้ คุณไม่ควรรอให้บริษัทรับคุณเข้าทำงานเสียก่อนคุณถึงค่อยทำสิ่งนั้น คุณสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ ถ้าคุณยังไม่รู้ ลองไปเริ่มอ่านทฤษฎี เมื่อรู้ทฏษฎีแล้ว คุณไปเริ่มทดลองปฏิบัติง่ายๆ แล้วคำพูดของคุณในขณะสัมภาษณ์จะดูเท่ขึ้นมาก เผลอๆ คุณอาจจะกลายเป็นคนละคนกับคุณในตอนแรกเลยด้วยซ้ำ

บางคนอาจจะบอกว่า ผมไม่รู้จะศึกษาอะไรเพราะยังไม่รู้เลยว่าบริษัทจะให้ผมไปทำอะไร หรือบางคนบอกว่างานปัจจุบันผมยุ่งมากจนไม่มีเวลาไปศึกษาเพิ่มเติม (ผมเจอประโยคหลังบ่อยมาก) สำหรับกรณีแรกที่ไม่รู้จะศึกษาอะไร ผมตอบง่ายๆ เลยว่าอะไรก็ได้ครับ ถ้าคุณเรียนมันอย่างจริงจัง มันจะพาคุณไปในที่ที่คุณคิดไม่ถึงในที่สุด แต่สำหรับกรณีที่หาเวลาเรียนรู้ไม่ได้ อันนี้ยากและผมคงช่วยไม่ได้เท่าไหร่ แต่ผมไม่อยากให้คุณคิดว่าคุณจะหาเวลาเรียนรู้ได้ง่ายๆ ในบริษัทใหม่ เพราะ งานด่วน งานถึก งานยาก งานที่ท้าทาย มีอยู่ทุกที่ ขึ้นกับว่าคุณจะเจออันไหนก่อนกัน คุณต้องเริ่มออกแบบและจัดการตารางเวลาของคุณให้ดีขึ้นตั้งแต่วันนี้

ความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้

การสมัครงานก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแข่งขัน คนที่เคยเรียนรู้จริงมาก่อนมีภาษีดีกว่าคนที่มีแค่ความเชื่อมั่นว่าตนเองจะทำได้ คนที่ “เรียนเป็น” ต่อให้เขาไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่บริษัทใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ผมเชื่อว่าวิธีการและสิ่งที่เขาได้สะสมมานั้นจะเป็นตัวช่วยให้เขาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองของมนุษย์เก่งในการเชื่อมโยงครับ และนั่นทำให้ในบางครั้งมันเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อีกด้วย

ซึ่งผมว่ามันเท่แน่ๆ ถ้าเราจะพูดว่า

“ผมเชื่อว่าผมจะทำ YYY ได้ เพราะผมเคยเรียนรู้ XXX มาก่อน และผมคิดว่า XXX มันให้พื้นฐานเรื่อง ZZZ กับผม… ”

Key Takeaways

  • ความสามารถที่สำคัญในยุคสมัยนี้คือความสามารถในการเรียนรู้
  • บอกเล่าประสบการณ์ในการเรียนรู้ของตนเองมีคุณค่ามากกว่าแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว

4. ไม่รู้ตอบคำถามหรือเปล่า (Am I answering the Question?)

หลายครั้งที่การสนทนาระหว่างกรรมการสัมภาษณ์กับผู้สมัครเป็นไปอย่างกระอักกระอ่วน

ผู้สัมภาษณ์: “คุณคิดว่าการทำงานแบบ Agile ทำให้คุณสามารถส่งมอบ Software ได้รวดเร็วขึ้นใช่หรือไม่?”

ผู้สมัคร: “ในบริษัทปัจจุบันทีมผมทำงานกันแบบ Agile เรามี Sprint Planning แต่ละ Sprint ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ทุกวันตอนเช้าเราคุยกันเป็น Daily Meeting เอิ่ม… เรามี PO และผมทำหน้าที่วิเคราะห์และแบ่งงานให้น้องแต่ละคนไปทำงาน เราออกแบบร่วมกันก่อน เวลาน้องมีปัญหาก็จะกลับมาถามผม ตอนจบ Sprint เรามี Sprint Review และ Retrospective การทำงานแบบ Agile ทำให้เราคุยกันมากขึ้น มีอะไรเราอัพเดทกันได้ทันที ไม่แน่ใจผมตอบคำถามหรือเปล่า”

คุณผู้อ่านพอจะสังเกตเห็นอะไรในบทสนทนาที่ผมยกเป็นตัวอย่างด้านบนบ้างครับ ประเด็นที่ผมอยากสื่อไม่ได้อยู่ที่ผู้สมัครเขาทำงานแบบ Agile มาอย่างไร แต่เป็นรูปแบบของการตอบคำถามครับ ในการสัมภาษณ์ที่มีเวลาไม่มากนัก การตอบคำถามที่กระชับและเป็นเหตุเป็นผลกันจะช่วยให้เกิดประสิทธิผลมากอย่างที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง เหมือนนักมวยที่ออกหมัดน้อยแต่เป็นหมัดหนักและเข้าเป้าตลอดอย่างนั้นเลย

เราต้องปล่อยหมัดหนักเข้าเป้าแบบเต็มๆ ขอขอบคุณ Street Fighter

การตอบคำถามได้ดีเป็นส่วนหนึ่งของ Communication Skill ที่สำคัญของ Software Engineer

จากตัวอย่างด้านบน ผมชี้เป้าให้เห็นว่ารูปแบบของคำถามของผม เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบแบบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แค่นั้นเองครับ แต่จากคำตอบที่ได้รับ ถ้าผมเป็นกรรมการสัมภาษณ์ สิ่งที่ผมต้องทำคือผมต้องตีความหรือสรุปคำตอบของคำถามจากคำตอบของผู้สมัครอีกทอดนึง ซึ่งนอกจากจะดูงุ่มง่ามแล้ว มันยังมีความเสี่ยงที่ผมจะตีความออกมาได้ผิดไปจากที่ผู้สมัครเข้าใจจริงๆ อีกด้วย ทุกทีที่ผมได้ยินประโยคปิดท้ายคำถามประมาณ “ไม่รู้ผมตอบคำถามคุณหรือเปล่า” จากการคุยกับใครก็ตาม ผมจะรู้สึกตลกปนเศร้านิดๆ ประมาณว่านี่เราจะเข้าใจกันได้จริงหรือเปล่านะ :P

คำแนะนำในการตอบคำถามใดๆ ของผมคือ ฟังคำถามให้เข้าใจ ไม่รีบร้อนจนเกินไป พยายามตอบประโยคแรกให้สั้นและกระชับ ด้วยใจความที่เป็นการสรุปความคิดหรือสรุปการตัดสินใจของเราออกมาก่อน จากนั้นค่อยอธิบายหรือให้รายละเอียดว่าทำไมเราจึงสรุปแบบนั้น

ดังนั้นโครงสร้างของคำตอบที่ดี ตามหลักการที่ผมแนะนำไป จะมีอยู่คร่าวๆ 3 รูปแบบ ประมาณนี้

  • ใช่ครับ เพราะ Agile นั้น… บลาบลาบลา
  • ไม่ครับ เพราะจากประสบการณ์ผม Agile นั้น… บลาบลาบลา
  • ไม่เสมอไปครับ ผมคิดว่า Agile จะช่วยให้ส่งมอบเร็วขึ้นในกรณี…. แต่ถ้าเป็นกรณี… Agile จะไม่ได้ทำให้ส่งมอบงานได้เร็วขึ้นเลยครับ

ในมุมของผู้ฟัง ผมจะรู้สึกว่าการสื่อสารมันชัดเจนและฟังง่ายขึ้นมากครับ จะบอกว่าเมื่อก่อนผมเป็นคนที่ตอบคำถามแบบในตัวอย่างด้านบนเลย แล้วผมไปได้ยินคำแนะนำนี้จากพี่สักท่านหนึ่งที่ผมจำไม่ได้ชัดๆ ว่าใคร (ต้องขออภัยพี่ท่านนั้นด้วยครับ และในขณะเดียวกันอยากจะขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ดีมากๆ นี้ด้วย) จากนั้นผมก็ฝึกฝนมาเรื่อยๆ เพราะคิดว่ามีประโยชน์มากๆ จนมาถึงจุดนี้ที่ผมอยากจะแชร์ให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน กระทั่งตอนนี้ผมก็ยังหลุดตอบคำถามแบบมึนๆ อยู่บ้าง ใครคิดว่ามีประโยชน์ก็มาฝึกไปด้วยกันครับ

Key Takeaways

  • ฟังและทำความเข้าใจคำถาม รวมถึงไปเจตนาของผู้ถามให้ดี ไม่รีบร้อนตอบคำถามจนเกินไป
  • ตอบคำถามให้ตรงจุด ด้วยการสรุปเป็นคำตอบที่สั้นและกระชับออกมาก่อน แล้วค่อยอธิบายในรายละเอียดหรือเหตุผลสนับสนุนคำตอบนั้น

5. เพื่อนสนิทฉันชื่อกูเกิล (Google is my best friend)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากูเกิลมีมนุษยสัมพันธ์อันดีเลิศ กูเกิลมีส่วนช่วยงานของ Software Engineers ทุกคนมายาวนาน รวมถึงตัวผมเองด้วย แต่ในขณะสัมภาษณ์งานอยู่นั้น การพกเพื่อนที่ชื่อกูเกิลมานั่งสัมภาษณ์งานด้วยนั้นดูไม่จืดเท่าไรนัก ผมเคยมีประสบการณ์สัมภาษณ์ผู้สมัครที่ค้นหาคำตอบจากข้างๆ จอวีดีโอคอล ซึ่งอาจจะเป็นอินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต กระดาษโน้ต หรือโปรแกรมแชทต่างๆ มาใช้ในการตอบคำถาม การที่ผมตั้งหัวข้อว่าเป็นกูเกิลดูจะไม่ค่อยแฟร์กับกูเกิลเท่าไหร่นัก เอาเป็นว่าไม่ได้หมายความว่าเป็นกูเกิลแบบกูเกิลจริงๆ แต่รวมถึง Resources อื่นๆ ด้วย

ในกระบวนการรับสมัครงานตำแหน่ง Software Engineer ของ KBTG ปัจจุบัน เราจะมีแบบทดสอบการเขียนโปรแกรมให้ผู้สมัครทำก่อนจะเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ โดยเราไม่ห้ามผู้สมัครใช้อินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูล รวมไปถึงหาคำตอบของปัญหาเหล่านั้น แต่สำหรับผมเองถ้าต้องเลือก ผมจะเลือกผู้สมัครที่ทำแบบทดสอบด้วยตนเองก่อนผู้สมัครที่เก่งในการค้นหา ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะผมรู้สึกว่าคนที่ทำอะไรได้ด้วยตนเองนั้นจะต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนอะไรบางอย่างมาอย่างแน่นอน เขาน่าจะเป็นคนที่มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และน่าจะทำอะไรยากๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้ ในขณะเดียวกันคนที่มีความสามารถในการค้นหา ผมจะไม่มั่นใจว่าเขาได้เรียนรู้อะไรมาก่อนบ้าง และถ้าไม่มีอะไรให้ค้นหรือไม่มีคนทำมาก่อน เขาจะยังสามารถทำงานนั้นได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามผมจินตนาการถึงวันที่ AI สามารถเขียนโปรแกรมแทนมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ วันนั้นรูปแบบของ Software Engineer และกระบวนการสัมภาษณ์คงเปลี่ยนไปเยอะมากแน่ๆ

Key Takeaways

  • สร้างคุณค่าและความแตกต่างด้วยความรู้และประสบการณ์ที่อยู่ในตัวคุณ

สุดท้าย ผมอยากจะฝากถึงกรณีที่เราไปสมัครงานแล้วไม่ได้งาน ซึ่งผมแนะนำน้องที่เข้ามาปรึกษาอยู่บ่อยครั้ง คือเวลาที่เราไม่ผ่านกระบวนการสมัครงาน นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งเสมอไปนะครับ บางครั้งมันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาและโควต้า บางครั้งเป็นเรื่องของทักษะที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร บางครั้งเงินเดือนของเราสูงเกินกว่าโครงสร้างขององค์กรไปแล้ว และในบางครั้งมันเป็นเรื่องของการที่ศักยภาพที่แท้จริงของเรามันไม่ได้เฉิดฉายออกมาให้กรรมการได้เห็นในการสัมภาษณ์ ดังนั้นอย่าด้อยค่าตัวเอง อย่าหยุดหาความรู้และพัฒนาตนเองครับ สำหรับ KBTG แล้ว ซีซั่นนี้คุณอาจจะพลาดไป แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมเป็นกำลังใจให้และเรายินดีต้อนรับคุณในซีซั่นหน้าเสมอครับ

Happy Interviewing!

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

jo@sabotender
KBTG Life

principal DEVelopment eXcellence engineer — DEVX@KBTG / Full-time Daddy / Console Gamer & Gunpla Collector