เราปลอดภัยจากโควิดแล้ว“แค่ในสัปดาห์นี้”

Tassapol A.
KBTG Life
Published in
2 min readJun 24, 2020

มกราคม 2563

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563 คนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศมีการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน ด้วยวันตรุษจีนถือเป็นวันมงคล วันแห่งความสุขของทุกครอบครัวเชื้อสายจีนทั่วโลก ในประเทศไทยก็มีเฉลิมฉลองกันยิ่งใหญ่บนถนนเยาวราชเช่นเดียวกัน

ภาพบรรยากาศวันตรุษจีน เยาวราช พ.ศ. 2563 (Credit: painaidii.com)

วันที่ 25 ม.ค. พ.ศ. 2563 ระหว่างที่คนในครอบครัวกินข้าวฉลองตรุษจีนกัน ผมนั่งกังวลใจเรื่องโควิด-19

ตัวผมในวันนั้นไม่ได้ไปงานที่เยาวราช แต่ไปทานข้าวกับครอบครัวใหญ่ตามธรรมเนียมจีนที่ให้ความสำคัญกับความใกล้ชิดแน่นแฟ้นในเครือญาติ ระหว่างที่ครอบครัวของผมกินข้าวฉลองกัน มีเรื่องที่ทำให้ผมกังวลใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือการยกเลิกการเฉลิมฉลองตรุษจีน (หรือการฉลองที่ใหญ่ที่สุดของทุกตระกูล) ทั่วประเทศจีน​ เพราะที่เมืองอู่ฮั่น ได้เกิดไวรัสชนิดใหม่ที่อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนแข็งแรงสามารถเป็นปอดบวม ในขณะที่คนอายุมากหรือมีโรคแทรกซ้อนนั้นอาจเสียชีวิตได้ ตอนนั้นในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครห่วงเรื่องไวรัสนี้มากนัก ทุกคนยังใช้ชีวิตตามปกติ มีการเฉลิมฉลองกันตามปกติ

ผมกังวลว่าถ้าโรคนี้แพร่ระบาดในประเทศไทย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อการใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เดินทาง ทานอาหาร ไปจนถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร

ผมติดตามการดูแลนักท่องเที่ยวจีนที่ติดโวรัสโคโรนา (ตามชื่อเวลานั้น) ในช่วงแรกๆ และเก็บความกังวลของผมไว้ในใจ ว่าไวรัสคงไม่สามารถแพร่กระจายไปในวงกว้างได้…

ข่าว coronavirus จาก South China Morning Post (วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563)

มีนาคม 2563

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม สิ่งที่ผมเป็นกังวลก็เป็นจริงขึ้นมา ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วประเทศ โดยไม่ทราบต้นตอว่าใครติดเชื้อ หรือใครแพร่ให้ใคร

เดือนมีนาคม สิ่งที่ผมกังวลก็เป็นความจริง ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศใช้พรก.​ ฉุกเฉิน กำหนดเคอร์ฟิว งดเว้นการเดินทางข้ามจังหวัด ปิดกิจการต่างๆ มีการขอความร่วมมือนโยบายปฏิบัติตน 5 ข้อจากประชาชน (ภายหลังเพิ่มการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะเป็นข้อที่ 6) และให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานที่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ โดยในเดือนเมษายนได้มีการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ ท่ามกลางการลุ้นของประชาชนว่าจำนวนผู้ป่วยจะพุ่งทะยานเกินกว่าที่โรงพยาบาลของประเทศไทยจะสามารถรับได้หรือไม่

มิถุนายน 2563

มาถึงวันที่ 14 มิถุนายน ในที่สุดประเทศไทยก็สามารถปลดล็อก Phase 4 ให้กิจการส่วนใหญ่กลับมาให้บริการตามปกติได้ และเข้าสู่ภาวะ ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ในการดำเนินชีวิตหลังโควิด

New Normal

ในความเห็นของผม สิ่งที่ต้องระวังที่สุดในช่วง New Normal คือ การกลับมาของไวรัสโควิด-19 หรือ Pandemic Wave 2

ทำไมผมต้องพูดถึง Wave 2 ในเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดูคลี่คลายแล้ว? ผมขอแบ่งเหตุผลออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆ คือ

เหตุผลข้อแรก: มีตัวอย่าง Wave 2 เกิดขึ้นในต่างประเทศตลอด

แทบจะทุกประเทศที่จัดการโควิดได้ดี มีการเกิดโควิด Wave 2 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

ภาพตำรวจปิดตลาด Xinfadi ในกรุงปักกิ่ง หลังพบผู้ป่วยโควิด Wave 2 (ภาพจาก AFP)
  • จีน ประเทศแรกที่เจอโควิด เกิด Wave 2 แล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกคือ อู่ฮั่น เมื่อปลายพ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโดยไม่มีอาการ รัฐบาลเมืองอู่ฮั่นทำการตรวจประชากรจำนวน 10 ล้านคน ภายใน 19 วัน เพื่อหาผู้ติดเชื้อ

ครั้งที่สองคือ ปักกิ่ง หลังจากไม่มีเคสใหม่เลยเป็นเวลา 2 เดือน ปักกิ่งพบผู้ป่วย ติดจากศูนย์กลางตลาด Xinfadi (ตลาดค้าพืชผล เนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง) โดยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ซึ่งปักกิ่งต้องสั่งปิดตลาดสดทุกแห่ง รวมถึงปิดที่พักรอบๆ ไม่ให้คนเข้าออก และโรงเรียนใกล้เคียง หลังจากมีข่าวพบไวรัสโควิดในปลาแซลมอนสดที่ขายในตลาดดังกล่าว

เหตุผลข้อที่สอง: ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง AEC และต้องค้าขายกับต่างประเทศ

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเน้นเรื่องการค้าขายภายในภูมิภาค และระหว่าง AEC กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ประชากรในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นในโลก

ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะปิดการเข้าออกประเทศไปตลอด แต่การเปิดการเข้าออกจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ควบคู่ไปกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เมื่อใดที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ แน่นอนว่า ความเสี่ยงของ Wave 2 จะมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเราสามารถบริหารความเสี่ยงได้จากการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

คงเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะปิดการเข้าออกประเทศไปตลอด

เราบริหารความเสี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

เราปลอดภัยจากโควิดแค่ในสัปดาห์นี้?

ใช่ครับ ในทุกประเทศที่เกิด Wave 2 สิ่งที่เหมือนกันคือประชาชนชะล่าใจหมดห่วง คิดว่าโควิดไม่กลับมาแล้ว จึงทำให้เกิด Wave 2 ขึ้นและแพร่กระจายในวงกว้าง ฉะนั้นเวลาเราพูดว่าปลอดภัย เราไม่มีทางรู้เลยว่าโควิดจะกลับมาในสัปดาห์หน้ารึเปล่า

แล้วทำยังไงดี?

ในเมื่อ Wave 2 มีโอกาสจะเกิดขึ้นทุกเมื่อ เราต้องบริหารความเสี่ยงครับ เราบริหารความเสี่ยงด้วย 2 หลักการคือ

  1. ลดโอกาสติดโควิด
  2. ถ้าติดแล้ว ให้ติดในกลุ่มเล็กที่สุด
6 มาตรการบริหารความเสี่ยงของ New Normal

ถ้าลงรายละเอียดไปอีกก็เหมือนที่ ศบค. กล่าวครับ “การ์ดอย่าตก” ให้ปฏิบัติตนตามหลักการ 6 ข้อ ถ้าทำได้เช่นนี้ ประเทศไทยจะสามารถเดินต่อไปได้ใน New Normal อย่างเข้มแข็ง ขอเพียงประชาชนช่วยเหลือกันครับ!

การ์ดอย่าตก ประเทศไทยจะสามารถเดินต่อไปได้ใน New Normal อย่างเข้มแข็ง ขอเพียงประชาชนช่วยเหลือกันครับ!

*บทความนี้เขียนโดยอิงจากสถานการณ์โควิด ณ​ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

--

--