แชร์ประสบการณ์สอบ Certificate ที่บ้านแบบออนไลน์กับ Pearson VUE

Tinnapat Chaipanich
KBTG Life
Published in
4 min readMar 31, 2022

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นมาจนถึงตอนนี้ เวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ปัญหาหนึ่งที่คนสายสอบ Cert น่าจะพบเจอกันคือเรื่องของการเดินทาง ปกติเราจะลงทะเบียนจองวันที่ศูนย์สอบกันใช่ไหมครับ แต่พอมีโควิด ศูนย์สอบก็ปิดไปบ้าง หรือลดรอบสอบบ้าง ทำให้กว่าจะหาวันที่สะดวกไปสอบก็ยากแสนยาก โชคดีว่าเดี๋ยวนี้เค้ามีให้สอบ Cert แบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งพวกเราน่าจะเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่อาจจะไม่ค่อยแน่ใจว่าการสอบออนไลน์มันสะดวกจริงไหม ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง เรื่องมากไหม เผลอ ๆ ไปสอบที่ศูนย์อาจจะง่ายกว่าหรือเปล่า ไปแต่ตัว (กับ ID Card) ไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย (แต่ต้องจองวันศูนย์สอบให้ได้ก่อนเท่านั้นเอง)

พอดีว่าช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปสอบ Cert มาตัวนึง เป็นตัว Azure Fundamental ซึ่งได้ฟรีมาจากการไปร่วม Online Event ของ Microsoft โดย Certificate ตัวนี้ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบของ Pearson VUE ตอนแรกผมตั้งใจจะไปสอบที่ศูนย์สอบเหมือนเดิมแหละครับ ปรากฏว่าหาวันยากมาก ศูนย์สอบที่ผมสามารถเดินทางไปได้สะดวกก็ไม่มีรอบให้ลงทะเบียนสอบเลย ต้องเลือกล่วงหน้าหลายเดือนกว่าจะมีรอบว่าง สุดท้ายก็เลยตัดสินใจลงทะเบียนสอบแบบออนไลน์ครับ เพราะลองกดดูรอบแล้ว สามารถเลือกวันล่วงหน้าได้แค่ไม่กี่วัน แถมการเลือกเวลาก็ค่อนข้าง Flexible ด้วย จะเป็นเช้าตรู่หรือกลางดึกก็สามารถเลือกได้ วันนี้ผมจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังครับ ว่าการลงทะเบียนสอบแบบออนไลน์กับทาง Pearson VUE ซึ่งมีชื่อเรียกว่า OnVue นั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

อุปกรณ์ที่ต้องมี

สำหรับรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการสอบและความต้องการทั้งหมด สามารถดูได้ที่นี่ ซึ่งผมขอสรุปส่วนที่สำคัญให้ดังนี้ครับ

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ OS ต้องเป็น Windows 11 & 10 (64-bit) หรือ macOS High Sierra (10.13) ขึ้นไป
  • ห้ามต่อหลายจอ ถ้าใช้เครื่อง Notebook แล้วต่อจอแยก ต้องปิดฝาเครื่องไว้ แล้วใช้ Monitor, Keyboard และ Webcam ภายนอกทั้งหมด
  • ห้ามใช้จอแบบ Touchscreen
  • Webcam ต้องมีความละเอียดขั้นต่ำ 640x480 @ 10 fps
  • ต้องมีลำโพงและไมโครโฟน ไว้สื่อสารกับผู้คุมสอบ
  • โทรศัพท์มือถือที่ใช้ OS Android (7+, Chrome) หรือ IOS (12+, Safari) และมีกล้อง ส่วนนี้เป็น Optional แต่แนะนำว่าควรต้องมี เพื่อความสะดวกในขั้นตอนเช็คอินก่อนสอบ ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังในตอนหลังครับ
  • ID Card สำหรับยืนยันตัวตน ใช้บัตรประชาชนหรือใบขับขี่ที่มีรูปภาพของเรา มีข้อความภาษาอังกฤษ ยังไม่หมดอายุ และชื่อนามสกุล ภาษาอังกฤษ ต้องสะกดเหมือนกับชื่อที่เราลงทะเบียนสอบ

การลงทะเบียนสอบ

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลำดับแรกเลยคือตัววิชาที่เรากำลังจะสอบสามารถสอบแบบออนไลน์ได้หรือเปล่า แม้จะสอบผ่าน PearsonVUE เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกวิชาที่สามารถสอบแบบออนไลน์ได้นะครับ ถ้าวิชานั้นสามารถสอบแบบออนไลน์ได้ ส่วนที่ให้เลือกว่า Where do you want to take your exam? ในหน้าลงทะเบียนสอบ นอกจากจะมีที่เขียนว่า At a test center คือการไปสอบที่ศูนย์สอบตามปกติ ก็จะมีตัวเลือก Online at my home or office เพิ่มขึ้นมา คือการสอบออนไลน์ สามารถเลือกอันนี้ได้เลยครับ

จากนั้นจะเป็นการเลือกเวลาสอบครับ จะเห็นว่ามีเวลาให้เลือกได้ตลอดวัน เป็น Slot ละ 15 นาที แต่ใช่ว่าจะมีเวลาให้เลือกทุก Slot นะครับ เพราะทางศูนย์สอบก็ต้องมีคนมาคุมเราสอบด้วย ต้องลองเลือกวันดูว่าในแต่ละวันมีเวลา Slot ไหนให้เลือกบ้าง

อยากจะสอบตอน 4 ทุ่ม หรือ ตี 4 ก็เลือกได้เลย ถ้ามี Slot ว่างตามที่ต้องการ

หลังจากที่เราลงทะเบียนเรียบร้อย จะได้รับอีเมล์ยืนยันการลงทะเบียนสอบ โดยในอีเมล์จะมีลิงก์ที่สำคัญอยู่สองอัน คือ

  • Test your system เป็นการทดสอบระบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราจะใช้ในการสอบ ว่าสามารถเข้าใช้งานระบบสอบได้หรีอไม่
  • Check in to start exam สำหรับเช็คอินเพื่อเริ่มสอบจริงครับ

สำหรับรายชื่อของผู้ออกข้อสอบที่มีให้สอบผ่านระบบ OnVue สามารถดูได้ ที่นี่ ครับ

การทดสอบระบบ (System Test)

ก่อนที่เราจะได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ เราต้องทำการทดสอบระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ สามารถใช้งานระบบสอบได้จริง ในการทดสอบระบบเราต้องดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บของ PearsonVUE มารันครับ โดยมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ

  1. กดลิงก์ที่เขียนว่า Test your system ในอีเมล์ที่เราได้มาตอนลงทะเบียนสอบ
  2. ถ้าหากว่าใครยังไม่ได้มีแผนที่จะลงทะเบียนสอบ แต่อยากตรวจสอบก่อนว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราสามารถใช้ในการสอบได้มั้ย สามารถทำ System Test จากเว็บของ PearsonVUE ได้โดยตรง แต่การจะเข้าไปหน้านี้ได้ เราต้องเข้าไปหน้าเฉพาะสำหรับบริษัทที่ออกข้อสอบก่อน เช่น ผมสอบของ Microsoft จะมีหน้าเว็บสำหรับเริ่มต้นการทำ System Check คือหน้า https://home.pearsonvue.com/microsoft/onvue ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว จะมีปุ่มที่เขียนว่า Run system test ให้เริ่มต้นครับ
หน้าจอสำหรับให้ Run System Test กรณีที่เรายังไม่ได้ลงทะเบียน แต่อยากทดสอบดูก่อน

ข้อแตกต่างระหว่าง 2 วิธีด้านบนคือหากเราใช้วิธีที่ 1 คลิกจากลิงก์ที่เราลงทะเบียนสอบ ระบบจะบันทึกว่าเรารัน System Test สำเร็จแล้ว ส่วนวิธีที่ 2 ระบบจะบันทึกไม่ได้ เพราะเรายังไม่ลงทะเบียนนั่นเอง ดังนั้นสุดท้ายแล้ว ทุกคนต้องรัน System Test ด้วยวิธีที่ 1 ก่อนที่จะได้เริ่มสอบจริงทุกครั้งครับ

หลังจากที่เรากดลิงก์เพื่อรัน System Test ไม่ว่าจะกดจากอีเมลในแบบที่ 1 หรือจากเว็บในแบบที่ 2 ตามข้างต้น จะเจอหน้าจอเดียวกันแบบนี้ครับ

อันดับแรก ให้เราคลิกที่ปุ่ม Copy Access Code เพื่อคัดลอกรหัส Access Code เอาไว้ก่อน จากนั้นคลิก Download เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมทดสอบครับ เซฟไฟล์ไว้ตรงไหนในเครื่องก็ได้ จากนั้นก็รันขึ้นมาเลยครับ จะพบหน้าจอแบบนี้

ให้เรานำ Access Code ที่เราคัดลอกไว้ในขั้นตอนแรกมาใส่ แล้วกด Next ครับ

หน้าจอนี้เป็นการทดสอบอุปกรณ์ในเครื่องของเรา ประกอบไปด้วย

  1. Microphone ให้เราลองพูดเข้าไมโครโฟนดู ถ้าเสียงเข้า จะมีแถบสีเขียวขึ้นมา
  2. Speakers หรือลำโพง ให้ลองฟังเสียงครับ
  3. Webcam ดูว่าเห็นภาพหรือเปล่า

ถัดมาจะเป็นการตรวจสอบเน็ตเวิร์คว่าเครื่องของเราสามารถเชื่อมต่อกับระบบสอบได้หรือไม่ ตอนผมใช้เครื่องบริษัทก็มาติดที่ขั้นตอนนี้ครับ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแทน

จากนั้นจะถึงขั้นตอนสุดท้าย โดยจะเป็นการทดสอบระบบสอบจริงครับ หลังจากกด Next จากหน้าจอนี้ไป โปรแกรมระบบสอบจะเปิดขึ้นมา ซึ่งเป็นโปรแกรมเหมือนกับที่เราจะได้ใช้ตอนสอบจริง พร้อมข้อสอบทดสอบให้ 1 ข้อครับ สำหรับหน้าโปรแกรมสอบนี้ผมไม่มีรูปหน้าจอมาให้ดูนะครับ เพราะไม่สามารถ Capture ได้เช่นเดียวกับโปรแกรมจริง

การเตรียมพื้นที่สอบ

สำหรับพิ้นที่ที่เราใช้ในการสอบมีข้อกำหนดดังนี้ครับ

  • เงียบ ไม่มีเสียงดังรบกวน
  • ต้องไม่มีใครหรืออะไรมาขัดจังหวะเราระหว่างสอบ และระหว่างสอบห้ามไปทำอย่างอื่น
  • ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ผู้คุมสอบสามารถเห็นตัวเราและสภาพแวดล้อมได้อย่างชัดเจน คือต้องไม่มีแสงจ้า หรือแสงเข้ากล้อง ทำให้คนคุมสอบเห็นเราไม่ชัดด้วยครับ
  • ต้องเป็นส่วนตัว ไม่มีใครอยู่ในห้องกับเรา ถ้าเกิดเหตุบังเอิญว่ามีใครเข้ามาโดยไม่ตั้งใจ อนุโลมให้พูดบอกคนที่เข้ามาให้ออกไปได้เท่านั้น ห้ามสื่อสารหรือพูดคุยอย่างอื่นกับคนที่เข้ามา
  • ต้องไม่มีใครสามารถเห็นหน้าจอของเราได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม
  • ห้ามมีกระดาษ ปากกา สมุด หรือหนังสืออยู่ในระยะที่เอื้อมถึง

ข้อปฏิบัติระหว่างสอบ

  • ต้องอยู่ในกล้อง Webcam ตลอดเวลา ห้ามเอาตัวออกจากกล้อง
  • ห้ามลุกเดิน
  • ต้องไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย
  • มีเครื่องดื่มได้ แต่ห้ามสูบบุหรี่หรือทานอาหาร
  • ห้ามขยับกล้องหลังจากเริ่มสอบแล้ว
  • ห้ามอ่านข้อสอบออกเสียง
  • ห้ามใช้หูฟัง (ยกเว้นเป็นวิชาสอบที่อนุญาตให้ใช้)

สำหรับรายละเอียดทั้งหมด สามารถดูได้จากลิงก์นี้ครับ

วันสอบจริง

สิ่งที่ต้องทำในวันสอบจริง เริ่มต้นจากการเช็คอินด้วยการกดลิงก์จากในอีเมลยืนยันการลงทะเบียนที่ได้รับมาครับ เราสามารถเช็คอินได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงก่อนเวลานัดสอบ จนถึง 15 นาทีหลังเวลานัดสอบ โดยการเช็คอินจะประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

  • ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการเช็คอินจริง ๆ ต้องเริ่มจากการรันโปรแกรม เช็คความพร้อมของระบบ ถ้าเราเคยรันเตรียมไว้ก่อนหน้าแล้วก็จะข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย
  • เสร็จแล้วจะเป็นขั้นตอนการเช็คอินจริง ๆ โดยจะมี QR Code ให้สแกนเพื่อทำการเช็คอินผ่านโทรศัพท์มือถือ
  • สเต็ปแรกจะให้เราถ่ายรูปเซลฟี่หน้าตรง เหมือนถ่ายรูปติดบัตร โดยรูปนี้จะปรากฏอยู่ใน Transcript ของเราด้วย
  • ถ่ายรูปด้านหน้าและด้านหลัง ID Card ของเรา
  • ถ่ายรูปพื้นที่ที่ใช้ในการทำข้อสอบ 4 รูป ซ้าย ขวา หน้า หลัง ของเรา
  • รอทางผู้คุมสอบตรวจสอบข้อมูลและรูปภาพที่เราส่งไป ถ้าทางผู้คุมสอบมีข้อสงสัยอะไรก็จะติดต่อเราผ่านทาง Chat Box ที่อยู่ในโปรแกรมสอบ หรืออาจจะโทรศัพท์มาหาเราก็ได้ ในขั้นตอนนี้ต้องตรวจสอบด้วยว่าบนหน้าจอเห็นภาพของตัวเรานะครับ เพราะจะเป็นภาพเดียวกับที่ผู้คุมสอบจะเห็นครับ

ในเคสของผม หลังจากที่ส่งข้อมูลทุกอย่างครบตามกระบวนการเช็คอินแล้ว รอไม่นานครับ ทางผู้คุมสอบก็ทักมาทาง Chat Box ของระบบสอบ บอกว่าขอสื่อสารกันทางนี้นะ ปรากฏว่าตอนที่ผมสอบ ผมมีหนังสือ 3–4 เล่ม กับกระป๋องใส่ปากกาวางอยู่ด้านหลังเยื้อง ๆ แบบถ้าจะหยิบอาจจะไม่ต้องลุก แต่ต้องหันหลังเอื้อมตัวไปหยิบ คุณผู้คุมสอบจึงขอให้ผมย้ายไปวางไว้ไกล ๆ ครับ ผมก็หยิบมาโชว์ให้ดูว่านี่นะ ยกไปวางไกล ๆ แล้วนะ จากนั้นผู้คุมสอบมีการขอดูรอบ ๆ เครื่องคอมด้วย น่าจะเพราะกล้องของเครื่อง Notebook จะมองเห็นแต่หน้าเรา เลยต้องยก Notebook ขึ้นมาแล้วจับคว่ำให้เห็นพื้นโต๊ะ รอบ ๆ จุดที่เราวางเครื่องอยู่ น่าจะเพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้จดอะไรไว้ตรงพื้นโต๊ะ เนื่องจากตอนถ่ายรูปรอบ ๆ โต๊ะส่งไปคงจะไม่เห็น

พอคุณผู้คุมสอบพอใจแล้ว ก็บอก Good Luck แล้วส่งผมเข้าไปสอบครับ หน้าจอระบบสอบเปลี่ยนไปโชว์ข้อสอบ ซึ่งการใช้งานเหมือนกับตอนไปสอบที่ศูนย์สอบแหละครับ แบบเดียวกันเลย พอสอบเสร็จ สามารถออกจากระบบได้เลย ไม่ต้องติดต่อกับผู้คุมสอบอีกแล้ว

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ อาจจะฟังดูยุ่งยากหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วไม่ยากครับ สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จากประสบการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ขอเอามาแชร์กันครับ

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับสอบควรเป็นเครื่องส่วนตัว เนื่องจากถ้าเป็นเครื่องขององค์กรที่มี Policy หรือโปรแกรมควบคุมความปลอดภัยต่าง ๆ อยู่บนเครื่อง หรือจำกัดการใช้งานอินเทอร์เน็ต อาจทำให้โปรแกรมสำหรับสอบทำงานไม่ได้ ตอนผมสอบ ก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไม่ได้เหมือนกัน ตอนรันโปรแกรม System Test มันจะบอกเลยครับว่าทำงานไม่ได้
  • พอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแล้ว ก่อนที่เราจะรันโปรแกรม System Test หรือตอนก่อนสอบจริง ให้ปิดโปรแกรมอื่น ๆ ที่เปิดอยู่ให้หมด ถึงแม้ว่าโปรแกรม Client สำหรับสอบจะพยายามปิดโปรแกรมอื่น ๆ ให้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะปิดได้สมบูรณ์และไม่กระทบกับ Performance ของโปรแกรมสอบหรือเปล่า ผมเคยลองรันโปรแกรม System Test ทีนึงตอนเปิดโปรแกรมอื่นอยู่หลายโปรแกรม ปรากฏว่าทำงานได้ก็จริง แต่โปรแกรม Client สำหรับสอบก็อืดไปเลยครับ อย่าเสี่ยงดีกว่า ถ้าโปรแกรม Client มีปัญหาระหว่างสอบจะแย่ครับ
  • โต๊ะสำหรับสอบ แนะนำให้หาโต๊ะว่าง ๆ แบบไม่มีอะไรเลยครับ เพราะจากข้อกำหนดที่ว่าต้องไม่มีของที่เค้าไม่อนุญาตอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ถ้าสมมุติเราจะใช้โต๊ะที่ทำงานประจำ แล้วโต๊ะรก ๆ หน่อยนี่ น่าจะเคลียร์ของยาก ถ้าจะทิ้งไว้ ก็ต้องชี้แจงกับผู้คุมสอบยกใหญ่แน่ ๆ ว่าอะไรเป็นอะไรกว่าจะได้สอบ และเผลอ ๆ เค้าน่าจะไม่ให้เราสอบด้วย

สุดท้ายนี้ อยากจะประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะกับเพื่อน ๆ สายสอบ Cert ว่าที่ KBTG มีสวัสดิการให้เพื่อน ๆ พนักงานสามารถสอบเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ฟรี (แต่ต้องสอบผ่านนะ) ใครที่สนใจมาร่วมงานกับเรา สามารถดูรายละเอียดตำแหน่งที่เปิดรับและสมัครได้ที่ https://www.kbtg.tech ครับ

--

--

Tinnapat Chaipanich
KBTG Life

DEVelopment eXcellence engineer — DEVX@KBTG / Console Gamer