1 ปีที่ยาวนาน กว่าจะย้ายสายงานมาเป็น ‘UX Writer’ ได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
เคยพยายามทำอะไรอยู่คนเดียวแล้วไม่กล้าบอกใคร
เพราะกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จกันมั้ย?
หากใครเคยหรือกำลังรู้สึกแบบนั้น
ขอให้รู้ไว้ว่าจะมีตัวเราในปี 2022 ที่เคยผ่านช่วงเวลานี้เป็นเพื่อนคุณ
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวกันเล็กน้อย เราชื่อแหวน นามสกุลวงศ์ใหญ่ เลยเป็นที่มาของชื่อ Vanwongyai (แหวนวงศ์ใหญ่) นอกจากจะเป็นนามปากกาในฐานะ Content Creator บน Facebook, Instagram และ Twitter ก็ขอฝากสาขา Medium ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจกันด้วยนะคะ
หลังจากทำงานมาแล้วครึ่งปี วันนี้เราจะมาแชร์ประสบการณ์การย้ายสายงานจาก Content Creator และ Marketing Communication มาเป็น Content Designer (UX writer) ในทีม Beacon Interface (BCIF หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บีคอน) ภายใต้เครือ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group) โพสต์นี้ขอเล่าในส่วนการเตรียมตัวในปีที่ผ่านมา (2022) ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 Part 4 ตั้ง ดังนี้
- Part 1: ตั้งหลัก (Jan-Feb)
วางแผนชีวิตใหม่ มันต้องได้สิวะอิหญิง - Part 2: ตั้งใจ (Feb-June)
วันหยุดที่หายไปกับการเรียน UX/UI Design และ UX Research เพิ่มเติม - Part 3: ตั้งสติไว้ (Mid June-September)
เทศกาลปั่นพอร์ต และมรสุมการสมัครงาน - Part 4: ตั้งแต่วันแรกที่ได้งาน (October-Present)
ชีวิตเปิดเทอมใหม่ ย้ายสายงานไปแล้วเป็นยังไงบ้าง
ยินดีต้อนรับกลับสู่ปี 2022
ช่วงเวลาของการเริ่มต้นใหม่บนเส้นทางที่ไม่คุ้นชิน
Part 1: ตั้งหลัก (Jan-Feb)
ย้อนกลับไปก่อนจะถึงปี 2022 เราตัดสินใจลาออกจากงานประจำในตำแหน่งที่ดูแลเกี่ยวกับ Marketing Communication ที่บริษัทประกันแห่งหนึ่ง เหมือนชีวิตมี Calling ของมันอยู่ เพราะจู่ๆ เพื่อนก็ชวนไปรับงานฟรีแลนซ์ด้วยกันพอดี ทำให้เรายังมีรายได้ยาวไปจนถึงสิ้นปี 2021 ช่วงเวลานั้นเราได้พักเยียวยาจิตใจจากการสูญเสียคุณยายไปเมื่อตอนกลางปีจนเริ่มดีขึ้นทีละนิด ก่อนที่จะเริ่มกลับมาวางแผนชีวิตในปีต่อมา
พอมาถึงปี 2022 ในจุดที่รู้สึกว่าได้รับการพักผ่อนเพียงพอทั้งทางกายและใจ การวางแผนสมัครงานใหม่ก็เริ่มขึ้น โดยมีโจทย์ว่า อยากทำงานที่ต่อยอดจากทักษะที่เรามีอยู่เป็นทุนเดิม
จากที่เคยออกแบบเนื้อหาในอีเวนต์ต่างๆ มาตั้งแต่ตอนเรียนมหาลัย รวมถึงออกแบบ Marketing Campaign, Content Pillar และ Social Media Content ให้กับเอเจนซี่และแบรนด์ต่างๆ รวมถึงออกแบบการเล่าเรื่องผ่านผลงานตัวเองในฐานะ Content Creator จุดร่วมของสิ่งเหล่านี้คือ การออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) เพื่อสื่อสารให้ผู้รับสารเข้าใจหรือลงมือทำสิ่งต่างๆ ผ่านข้อความและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการเลือก UX (User Experience หรือการออกแบบประสบการณ์เพื่อผู้ใช้งาน) นั่นเอง
แต่ถึงเราจะเข้าใจแนวคิดของการออกแบบ สิ่งที่เรายังขาดคือประสบการณ์การใช้ Tools อย่าง Figma, Miro, Maze หรือการทำงานตาม UX Process, การทำ UI ไปจนถึงการลองทำ Research ด้วยตัวเอง
(ซึ่งจากการทำงานจริงก็ค้นพบว่าการมีสิ่งที่ถนัดยืนพื้นนับเป็นเรื่องดี แต่การเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นๆ ทำจะช่วยให้เราซัพพอร์ตกันได้ดีขึ้น)
หลังจากปรึกษาเพื่อนๆ ที่อยู่ในสายงานนี้มาก่อน เลยตัดสินใจลงคอร์สออนไลน์ระยะยาวเพื่อเรียนวิธีการใช้ให้คล่องก่อน เพราะรู้จักตัวเองดีพอว่าถ้าเรียนเองจาก Youtube น่าจะหลุดตั้งแต่คาบแรก 555 โดยเลือกลงเรียนกับพี่แพง UX-Skill เป็นคอร์สยาวประมาณ 4 เดือนที่เรียนทุกเช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ จังหวะนั้นมีคอร์สเปิดอยู่พอดีเลยสมัครไป จากนั้นก็ลงตารางงานฟรีแลนซ์ให้อยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะเรียนและทำงานไปพร้อมกันอย่างราบรื่นที่สุด
Part 2: ตั้งใจ (Feb-June)
- เรียนออนไลน์ในคลาส
- อ่านเพิ่มเติมใน UXcel
- ทำการบ้านจากในคลาส
- รับผิดชอบชีวิตและงานที่ทำอยู่
โอ้โห นี่มัน Back to School ชัดๆ
จุดนี้นับถือใจคนที่เริ่มเรียนและค้นคว้าด้วยตัวเองแบบ 100% มากๆ โดยเฉพาะชาววัยทำงาน เพราะค้นพบว่าการตื่นมานั่งเรียนตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ Session ละ 3–6 ชั่วโมง และทำการบ้านในเย็นวันธรรมดาหลังเลิกงานนั้นใช้พลังใจไม่น้อยเลยล่ะ เหมือนเรียนกับทำงานไปแล้ว 6 วันต่อสัปดาห์ ที่สำคัญจะต้องทำชิ้น UX Research และ Redesign เพื่อไปนำเสนอหลังจบคลาสด้วย ถือว่ามีอะไรให้เรียนรู้ทุกวัน
ล… แล้วต้องวางแผนทำ Portfolio ของตัวเองในช่วง Q3 ให้เสร็จด้วย (ฮือ ร้องไห้)
นอกเหนือจากการเรียนออนไลน์ เรามักจะหาช่อง Youtube, Podcast หรือแวะมาอ่านโพสต์ใน UX Community บน Facebook ทั้งกลุ่มไทยและต่างประเทศ (เริ่มจากลองเสิร์ชคำว่า UX ใน Facebook ไปเลย) เพื่อให้เราคุ้นชินกับเนื้อหาที่กำลังเรียนอยู่ให้ได้มากที่สุด
ตลอดช่วงที่เรียน UX เรามักจะมีโมเมนต์ที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าทั้งหมดที่ทำไปมันไม่สำเร็จวันนั้น มันจะเป็นยังไง มันจะแย่มากมั้ย เลยมีแค่คนรอบตัวบางคนที่เราวางใจเท่านั้นที่รู้ว่าเรากำลังพยายามทำอะไรอยู่
ถึงบางความกังวลจะมีคนให้แบ่งเบา
แต่จะไปถึงตรงนั้นรึเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของเราเป็นหลักอยู่ดี
Part 3: ตั้งสติไว้ (Mid June-September)
ไม่ว่าจะนอนดึกตีไหน พอร์ตก็ไม่เสร็จซักที
แล้วถ้าไม่ได้งานภายในครึ่งปีหลังนี้ จะทำยังไงกับชีวิตดีล่ะ?
สวัสดีไตรมาสที่ 3 ตอนแรกเราวางแผนไว้ว่าจะเรียนและทำพอร์ตไปด้วยในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเรียนจบ ตั้งใจว่าจะสมัครในตำแหน่ง UX Writer และ UX Research เพราะเป็นคนชอบหาคำตอบและชอบวิเคราะห์ผลลัพธ์ ทำให้ระยะเวลาในการทำพอร์ตยืดไปอีกเพราะต้องละเอียดกับมันมากๆ และด้วยความที่ย้ายสายงานมา เราจะต้องทำชิ้นงานขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เกิดเป็นตารางแบบ Work-life Balance ที่สุดตั้งแต่เรียนจบป.ตรีมาก็ว่าได้
วันธรรมดา:
- 10:00–19:00 ทำงาน
- 20:00–01:00 ทำพอร์ต
วันหยุด:
- 10:00–01:00 ทำพอร์ต
เอาจริงอันนี้ Worst-Life Balance แล้วแหละ ไม่แนะนำให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ระหว่างช่วงที่ทำพอร์ต เราได้รับคำแนะนำดีๆ จากคนรอบตัวที่มีประสบการณ์การทำงานในสาย UX ทั้งพี่สอง ไบรอั้น เจนนี่ พี่ป๋อม และยังมีกองเชียร์เล็กๆ ที่คอยส่งกำลังใจให้เวลาเรานั่งปั่นพอร์ตดึกดื่น
มาถึงตอนนี้ที่เล่าอยู่ก็ยังรู้สึกเหลือเชื่อที่ทำทุกอย่างจบภายในระยะเวลาที่วางไว้ได้ สำหรับใครที่กำลังวางแผนทำพอร์ตก็ขอแนะนำให้ Flexible กับเวลาที่มีอยู่ จะได้ไม่ตึงจนเกินไป และอย่าลืมเผื่อเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จากใจคนนอนไม่ครบ 6 ชั่วโมงมาตลอดทั้งไตรมาส 555
มองหาที่ปรึกษา แวะมา ADP List
หลังจากปั่นมาอย่างดุดันไม่เกรงใจใคร Prototype ของเราก็พร้อมส่งไปยื่นสมัครงาน แต่เพื่อ Final Check ให้มั่นใจ เราเลยจอง Mentorship Session กับคุณ Tim Colica บน ADP List แพลตฟอร์ม Mentoring สำหรับสายงาน Tech ที่เราสามารถนัดปรึกษา Mentor ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เรียกได้ว่างานเก็บตก แถมยังได้เข้าใจในมุมของ Senior UX Designer ว่าต้องการคนแบบไหนในการสร้างทีมอีกด้วย
อย่าลืมอัพเดต Resume ให้ตรงกับสายงาน
หลายคนอาจจะมี Resume ที่เคยใช้ยื่นมาก่อนหน้า ขอแนะนำว่าในกรณีที่ย้ายสายงาน ควรทำการบ้านโดยการหาสิ่งที่สอดคล้องกับทักษะที่จะต้องมีในสายงานนั้นๆ แล้วเรียบเรียงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ให้เห็นภาพว่าเรามีศักยภาพที่ใกล้เคียงกับเนื้องานตาม Job Description ของแต่ละตำแหน่งอย่างไรบ้าง
เช่น ต้องการสมัครงานในสาย Content ที่ผ่านมาเราเคยทำโปรเจคที่จะต้องเกี่ยวข้องกับ Content หรือได้ใช้ Tools ที่เกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง เป็นต้น
ซักที่ก็ยังดี
หลังจากดีใจที่ทำพอร์ตเสร็จได้ไม่นาน ช่วงเวลาแห่งการอกหักซ้ำๆ จากการสมัครงานก็เริ่มขึ้น เชื่อว่าไม่มีใครชอบการถูกปฏิเสธ (ยกเว้นมิจฉาชีพล้มเลิกความพยายามในการหลอกเราต่อ อันนั้นไหว้ย่อ) สภาพจิตใจช่วงนั้นเหมือนนักกีฬาที่เก็บตัวมาทั้งปี พอลงสนามจริงกลับไม่ได้เหรียญซักรายการ แต่ไม่มีวันไหนที่คิดจะล้มเลิกความพยายาม เพราะเชื่อว่าทุกอย่างมีจังหวะของมันเสมอ
“Every Rejection, Every Disappointment Has Led You Here To This Moment.”
- Everything Everywhere All At Once
มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดหวังหรือเสียใจ แต่ทุกอย่างที่ผ่านมาจะทำให้เราเข้มแข็งพอที่จะไปอยู่ในจุดที่เป็นของเราจริงๆ
กันยายน 2022 ผ่านไปร่วมเดือน กล่อง Inbox ก็ยังคงเงียบฉี่ จนมีวันนึงที่แวะไปคุยกับเพื่อนแล้วค้นพบว่า KBTG กำลังหา Designer อยู่ เราสมัครแบบปล่อยวางอีกเช่นเคย เพราะพอรู้จัก KBTG ผ่านหน้าฟีดว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่และมีคนเก่งๆ รอบตัวอยู่ที่นั่นเยอะมาก
“สวัสดีครับคุณณัชชา ติดต่อจาก KBTG….”
เราตอบรับนัดหมายสัมภาษณ์แบบไม่ทันได้จับใจความเลยด้วยซ้ำ
สัปดาห์แห่งการสัมภาษณ์งานและทำ Design Challenge ผ่านไปอย่างตุ๊มๆ ต่อมๆ ทางทีมส่งโจทย์ภาษาไทยและอังกฤษมาให้เราทำภายในเวลา 2 วัน ซึ่งนับว่าปั่นด้วยแบตขีดสุดท้าย แน่นอนว่าผ่านมาได้ด้วยดี วันที่เราทราบผลการสมัครงานเป็นวันที่เราได้ขอบคุณคนรอบตัวเยอะมากๆ ทั้งพี่ๆ ที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อนๆ กองเชียร์ และอีกหลายกำลังใจที่ได้รับตลอดปีที่ผ่านมา
Part 4: ตั้งแต่วันแรกที่ได้งาน (October-Present)
หลังจากตอบรับ Offer และผ่านขั้นตอนการเข้ามาเป็นพนักงานใหม่ เราก็ได้เริ่ม Onboard ในวันที่ 1 พ.ย. 65 โชคดีที่รอบนั้นเจอพี่ไนล์ Visual Designer ที่เป็นสมาชิกใหม่บ้าน Beacon Interface เหมือนกัน เลยมีเพื่อนตั้งแต่วันแรก นอกจากนี้ก็จะมี Buddy ที่จะช่วยซัพพอร์ตเราตลอดการทำงาน 6 เดือนแรก นั่นคือ ไม้ ผู้ก่อตั้ง UX Writing Community (TH) นั่นเอง พวกเราเป็น Content Designer ประจำบ้านบีคอนที่มีกันอยู่ 2 คน ดังนั้นเราจะแยกกันไปดูแลโปรเจคต่างๆ แต่ก็จะคอยนัดอัพเดตกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งโปรเจคแรกในความดูแลของเราก็คือ MAKE by KBank แอปจัดการเงินที่สามารถแบ่งเงินและทำรายการ Mobile Banking ได้ภายในที่เดียว
แต่ขึ้นชื่อว่า Content Designer ไม่ได้แปลว่าเราจะดูแลแค่เนื้อหาอย่างเดียว ความสนุกนึงของการทำงานที่บีคอนคือ Designer สามารถเปลี่ยน Role ที่ทำตามแต่ละโปรเจคได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและความสะดวกในช่วงนั้นๆ
แล้วเด็กย้ายสายใหม่จะจัดการข้อความบนแอปที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวยังไง นอกจาก Content Designer แล้วเจอภารกิจอะไรอีกบ้าง? ปรับตัวยากหรือง่าย ไว้เราจะมาแชร์ต่อในโพสต์ต่อไปนะคะ
ก่อนจบโพสต์นี้ ขอส่งต่อกำลังใจให้ใครหลายคนที่อาจจะกำลังย้ายสายงานอยู่ เราก็เป็นคนคนนึงที่มีวันที่ท้อบ้าง หมดกำลังใจบ้าง ไม่ต่างจากทุกคน และขอฝาก Lesson Learned ที่ได้รับจากปีที่ยาวนานไว้เพียงเท่านี้
- ชีวิตมีทางของมันอยู่ และทุกการตัดสินใจจะพาให้เราเติบโตขึ้นในแง่ใดแง่หนึ่ง
- ใจดีกับตัวเองมากๆ เช่นเดียวกับที่คนรอบข้างใจดีกับเรามาโดยตลอด
- ทุกคนมีจังหวะชีวิตต่างกัน ไม่ว่าใครจะบอกว่าอายุเท่าไหนต้องมีอะไรบ้าง สุดท้ายเราต่างหากที่กำหนดได้ว่าวันนี้ตอนนี้เราอยากมีอะไร
ขอบคุณที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ และขอให้มีวันที่ดีกันนะคะ
Vanwongyai
สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวดีๆ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ จากชาว KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech