10 ประโยคจาก “Psychology of Money” ที่คุณควรได้รู้ — Part II: Is Wealth… Enough?

บทความพาร์ทที่สอง กับ 10 ประโยคเด็ดจากหนังสือ Psychology of Money โดย Morgan Housel

Pongharit K.
KBTG Life
4 min readJul 4, 2023

--

เมื่อไหร่ที่คิดว่ารู้ทัน คิดอีกที

พาร์ทแรกได้พาทุกคนไปทอยลูกเต๋าเสี่ยงโชคบนรถ Lamborghini สุดหรูมาแล้ว ว่ากันด้วยเรื่อง โชค ดวง และวงวนแห่งมายาไปกับ “Luck & Risk” และ “Man in the Car Paradox

สำหรับ Part II นี้จัดให้เต็มๆ กับอีก 2 ประโยคจาก 2 บท ที่จะนำเสนอให้เห็น Pattern แห่งความหายนะที่คุณอาจทำ/กำลังทำอยู่โดยไม่รู้ตัว และมีเพียงแค่ Magic Word คำเดียวที่จะสามารถหยุด Pattern หายนะนี้ได้ สิ่งนั้นคืออะไร ไปหาคำตอบกันครับ

3. “When most people say they want to be a millionaire, What they might actually mean is “I’d like to spend a million dollar”

Chapter 9: Wealth is What You Don’t See

เคยสงสัยมั้ย? คำว่า Rich และ Wealth มันใช้ต่างกันยังไง ทำไม Marketing ของธนาคารส่วนใหญ่ถึงใช้ Wealth เป็น PR Word?

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก ผมมี Activity เล็กๆ มาฝากกัน อยากให้ทุกคนลอง “ไปกูเกิลแล้วเสิร์ชรูป โดยใช้ Keyword คือ Wealth และ Rich ดู”

Pongharit K. (2023,May). “It’s just a search result display on Google”
Pongharit K. (2023,May). “It’s just another search result display on Google”

สังเกตอะไรมั้ยครับ… ที่แน่ๆ คือ Mood and Tone ของผลเสิร์ชต่างกันอย่างสิ้นเชิง อันนึงดูมีหลักการ ดูมีความรู้ อีกอันนึงดู… อะไรก็ไม่รู้ มาครับจะเล่าให้ฟัง

Short Story

ไลล่า: อายุ 30 เป็นพนักงานออฟฟิศระดับ Junior Manager ชอบท่องเที่ยว เป็น MC ในงานอีเว้นต์สำคัญๆ ของบริษัท มี Follower ใน IG >100K คน รูปล่าสุดที่ลงคือตอนไปเที่ยวที่เมือง Cappadocia ประเทศ Turkey ช็อตนั่งบนเสื่อลายอาหรับและฉากหลังเป็นบอลลูนลอยเหนือหุบเขา (คลาสสิก! ทุกคนต้องถ่ายรูปนี้สินะ) ทุกวันไลล่าจะเดินทางมาออฟฟิศด้วย BMW 220i Gran Coupé M Sport

ดิน: อายุ 29 เป็นพนักงานออฟฟิศระดับ Senior เป็น Nobody มีแค่ทีมที่ทำงานด้วยรู้จัก ชอบถ่ายรูปด้วยกล้องฟิลม์ เวลาว่างชอบเที่ยว Backpack เข้าป่าเข้าเขา มี Follower ใน IG <200 คน รูปล่าสุดคือรูปที่ถ่ายคู่กับลิงในป่า ลงเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ทุกวันดินจะเดินทางมาออฟฟิศด้วย Mazda 3

เอาล่ะ ใครดูรวยกว่า?

กว่า 90% ผมเชื่อว่าให้คะแนนไปที่ไลล่า ส่วนอีก 10% จริงๆ ก็อยากตอบไลล่า แต่กลัวไม่เท่

นั่นคือข้อมูลชุดแรกของดินและไลล่าที่ผมให้คุณรับรู้ ทีนี้มาดูข้อมูลอีกชุดกัน

ไลล่า: เงินเดือน 90,000 บาท

ผ่อนส่ง BMW 220i Gran Coupé M Sport ต่อเดือน อยู่ที่ 31,000 บาท ขาดส่งมาแล้ว 1 เดือน ค่าเช่าคอนโดใจกลางย่านธุรกิจ 20,000 บาท บิลค่าบัตรเครดิตจากการรูดไปทริป Turkey แบ่งจ่ายชำระ 6 งวด งวดล่ะ 15,000 บาท ค่าน้ำมันเดินทางไปทำงาน 6,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟค่าเที่ยว 15,000 บาท สรุปต่อเดือนไลล่าซัดไปแล้ว 87,000 บาทตายตัว ไลล่าเหลือติดบัญชีพอออมได้บ้าง 3,000 ในแต่ละเดือน

ดิน: เงินเดือน 65,000 บาท

ผ่อนส่ง Mazda 3 เดือนละ 14,000 บาท อยู่คอนโดแถวอ่อนนุช 7,500 บาท บิลค่าบัตรเครดิตรูดกินเที่ยวซื้อของ 5,000 บาท จ่ายค่าน้ำค่าไฟซื้อของเข้าห้อง 4,000 บาท เงินกินใช้แต่ละเดือน 10,000 ค่าน้ำมันเดินทางไปออฟฟิศ 4,000 บาท สรุปต่อเดือนดินซัดไป 44,500 บาท เหลือต่อเดือน 20,500 บาท

ขออีกที ใครดูมั่งคั่งกว่า?

12 เดือนต่อจากนี้ ไลล่าจะหัวหมุนกับการโยกย้ายเงิน บัตร สินทรัพย์ โดยที่ห้ามป่วย ห้ามโดนลดเงินเดือน ห้ามออกจากงาน หรือมีเหตุต้องใช้เงินก้อนเด็ดขาด แต่ยังคงลง IG กินหรูปาร์ตี้ทุกศุกร์และท่องเที่ยวได้เรื่อยๆ ในทางกลับกัน ดินจะมีเงินออม 20,500 x 12 = 246,000 บาท ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เผื่อเปลี่ยนงานหรือลงทุน โดยที่ยังขับ Mazda 3 เข้าป่า และยังเป็น Nobody ที่มี IG Follower <200 เหมือนเดิม

Key Takeaway: มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตเรียบง่ายที่ตัดสินแค่จากสิ่งที่เรามองเห็น เรามองเห็นทริป Turkey และ 220i Gran Coupé แต่เราไม่เห็นยอดเงินออม บิลไฟแนนซ์ และตัวแดงที่บอกว่าบัตรใกล้เต็มวงเงิน เรามองเห็น Mazda 3 และคอนโดย่านอ่อนนุช แต่เราไม่เห็นยอดกองทุนรวม เงินออม และแผนรับมือฉุกเฉิน

ทำไม Scam ออนไลน์และวงการแชร์ลูกโซ่ที่มี Downline ถึงชอบโพสถ่ายรูปคู่กับบ้าน รถ เงินสดเป็นกองๆ ที่ไม่รู้ที่มา เพราะนั่นคือสิ่งที่เรามองเห็นและทำให้ถูกหลอกได้ง่าย เอาจริงๆ มันง่ายมากเลยนะที่จะหลอกใครซักคนว่าเรารวย! แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลอกว่าเรามั่งคั่ง หลายครั้งที่เราหลงเชื่อเรื่องโกหกจากของที่เค้าใช้ ชีวิตที่เค้ามี จนเอามาเป็น Role Model ถ้าคุณได้รับเพียงข้อมูลชุดแรก เราทุกคนคงอยากเป็นเหมือนไลล่า แต่พอได้ข้อมูลชุดที่สอง ผมเชื่อว่าหลายคนคงเปลี่ยนใจอยากเป็นดิน

“รวย (Richness)” เป็นเรื่องฉาบฉวย ส่วน “มั่งคั่ง (Wealth)” เป็นเรื่องหนักแน่นเอาจริงเอาจัง ความจริงคือเราอยากใช้จ่ายได้แบบไลล่า แต่ไม่ได้อยากมีชีวิตแบบไลล่า เราไม่ได้อยากดูเหมือนดิน แต่จริงๆ เราอยากมีสิ่งที่ดินมี

เพราะฉะนั้นเวลาที่บอกว่าอยากเป็นคนรวย ส่วนใหญ่กำลังหมายถึงไลล่าบน 220i Gran Coupé ในคืนวันศุกร์ ไม่ใช่ดินที่กำลงนั่งทำบัญชีในเช้าวันอาทิตย์

ทีนี้พอจะเข้าใจว่ารวยกับมั่งคั่งต่างกันอย่างไรแล้วนะ ต่อไปจะพาไปสำรวจ Pattern แห่งความหายนะที่มีเพียงแค่คาถาวิเศษคำเดียวที่จะช่วยเราทุกคนได้

4. “To make money they didn’t have and they didn’t need, they risked what they did have and did need, and that’s foolish, that’s plain foolish.”

Chapter 3: Never Enough

การจะได้มาซึ่งเงินที่ไม่มีและความต้องการในสิ่งที่ไม่จำเป็น พวกเขาเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินที่มี สิ่งที่จำเป็น และนั่นเป็นเรื่องที่โง่ โง่มากกก

ประโยคนี้ คนที่น่าจะเข้าใจลึกซึ้งมากที่สุดมีสองประเภท

  1. Trader (นักเล่นหุ้น)
  2. Gambler (นักพนัน)

คน 2 ประเภทนี้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ “ไปต่อหรือพอแค่นี้” ตลอดเวลา การจะอยู่รอดและชนะในวงการนี้ได้ พวกเค้าต้องพึ่งคาถาวิเศษที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ…

“Enough / พอ”

ส่วนสำหรับ Type เราชาวสามัญชนคนธรรมดา ผมจะขอขยายความให้ฟังตามนี้ครับ

Short Story

Morgan Housel ผู้เขียนเล่าว่า John C. Bogle (ผู้ก่อตั้ง Vanguard Group สถาบันลงทุนที่ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้น Apple Inc. รายใหญ่ประเภทสถาบันลงทุน)* เคยเล่าว่า ณ งานกาล่าดินเนอร์แห่งนึงบนเกาะสุดหรูที่เต็มไปด้วยบรรดาเศรษฐีชื่อดังและผู้จัดการกองทุนตัวท็อปในวงการ มีน้องใหม่ที่มาร่วมงานยืนคุยกัน

Kurt กล่าว “เห้ย นายรู้ป่าว ว่าเจ้าของงานนี้อ่ะ เป็นผู้จัดการกองทุนระดับท็อป ทำเงินวันเดียวได้มากกว่ายอดขายหนังสือทุกปีที่ตีพิมพ์ของนายรวมกันเลยนะ”

Heller ตอบกลับว่า “ใช่ แต่ผมมีบางอย่างที่เค้าไม่มีวันมี… ผมพอแล้ว

กำลังอ่านๆ อยู่ เจอประโยคนี้เข้าไป ผมคิดในใจ “เห้ย! ทำไมมันทรงพลังจังวะ”

แค่นี้เหรอ… แค่นี้จริงๆ เหรอ ที่ใช้หยุดความเสี่ยง ความต้องการสิ่งที่ไม่จำเป็น การแข่งขันที่ไม่มีวันชนะ ความทุกข์ภายในใจตอนไถโซเชียลมีเดีย การทำสิ่งไร้เหตุผลเพื่อให้ได้สิ่งที่ไร้เหตุผลกว่า… บ้า! ทำไมแค่แนวคิดจากคำสั้นๆ คำเดียว มันกลับแก้ปัญหาชีวิตกว่า 80% ของเราในระบบทุนนิยมปัจจุบันที่เราอยู่ได้

ใช่ ชีวิตเป็นของเรา แต่เราส่วนใหญ่เป็นทาสทุนนิยมอีกที เมื่อไหร่ที่เข้าใจคำว่า “พอ” อย่างถูกต้อง วันนั้นแหละที่จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ที่จะสามารถเพิกเฉยต่อคำสั่งของทุนนิยม

“พอ” ไม่ใช่ความขี้เกียจ ไม่ใช่ความสิ้นหวัง ไม่ใช่การก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ไม่ใช่ความจน ไม่ใช่ความสมถะ ไม่ใช่การอดเที่ยว ไม่ใช่การอดกิน ไม่ใช่การต้องหักห้ามใจซื้อของแพงๆ และที่แน่ๆ ไม่ใช่การออกไปอยู่ชานเมืองปลูกผักทำไร่เลี้ยงไก่แน่ๆ ถ้าใครมีภาพแบบนี้ติดหัวอยู่ มาทำความเข้าใจใหม่

“พอ” คือแนวคิดที่ทำให้คุณเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความสุขในแบบของตัวเอง ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยไม่โดนครอบงำชักจูงจากคนอื่น กระแส สังคมสภาพแวดล้อม หรือทุนนิยม

“พอ” คือแนวคิดที่เรียบง่าย ให้เรามีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่การแขวนความสุขไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยหวังว่าเราจะมีความสุขต่อเมื่อมันสำเร็จ

“พอ” คือจุดนึงที่คุณตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองว่า “ไม่มีเหตุผลไหนหรืออะไร ที่จะได้มาซึ่งอะไรอีกต่อไปแล้ว”

ในหนังสือยกตัวอย่างว่าผู้จัดการกองทุนตัวท็อปรายได้ 1 ล้านต่อปี → เปรียบเทียบตัวเองกับ CEO บริษัทเทคฯ รายได้ 12 ล้านต่อปี → เปรียบเทียบตัวเองกับนักกีฬาเบสบอลรายได้สัญญา 4 ปีมูลค่า 50 ล้าน → เปรียบเทียบตัวเองกับผู้ก่อตั้งสโมสรรายได้ 100 ล้านต่อปี

คำถามคือมันจะไปจบลงตรงไหน? เมื่อไหร่ถึงจะชนะ? เมื่อไหร่ถึงจะพอ?

คำตอบคือเราจะชนะเกมส์นี้ได้ก็ต่อเมื่อ “เราไม่เล่น” เพราะเกมส์นี้ไม่มีเพดาน ไม่มีด่านสุดท้าย ถ้าเล่นจนชนะได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ก็จะยืนบนโพเดียมแห่งชัยชนะได้แค่แป๊บเดียว ก่อนที่จะรู้ตัวว่าคุณเพิ่งก้าวมาเป็นน้องใหม่ใน League ที่ใหญ่ขึ้น และต้องฟันฝ่าทำมันใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อที่จะชนะ และมันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ทำไมโทรศัพท์มือถือเปิดตัวรุ่นใหม่ทุกปี ทั้งๆ ที่ก็แค่สีใหม่กับ Spec เทคที่เป็นแค่ Minor Change? → เพราะว่ามีคนซื้อ → แล้วทำไมมีคนซื้อ? → เพราะคิดว่าโทรศัพท์เค้าตกรุ่นเป็นของเก่าแล้ว อยากได้ของใหม่ → โทรศัพท์ยังใช้ได้มั้ย? → ใช้ได้ ใช้มาสองปีแล้ว → แล้วทำไมถึงอยากได้ของใหม่? → เพราะโทรศัพท์เปิดตัวรุ่นใหม่…

เห็น Pattern มั้ยครับ Pattern ของทุนนิยม มาลองวิเคราะห์ดีๆ คุณคิดเองรึเปล่าว่าอยากได้โทรศัพท์ใหม่? No! เปล่าเลยยย ถ้าไม่มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ ความคิดอยากได้ของใหม่จะไม่เกิดขึ้น แล้วมันจำเป็นมั้ยที่ต้องซื้อรุ่นใหม่? No! ไม่มีอะไรจำเป็นเลย โทรศัพท์ยังใช้งานได้ดีปกติทุกอย่าง แต่เมล็ดพันธุ์ความคิดอยากได้ถูกหว่านแล้ว ความคิดถูกครอบงำโดยทุนนิยมที่ยัดเยียดความคิด “โทรศัพท์คุณเก่าแล้วนะดูดิ รุ่นใหม่มีอะไรตั้งเยอะ เปลี่ยนเหอะ”

Key Takeaway: เพราะฉะนั้นผมอยากเชิญชวนทุกท่านก้าวออกจากกับดักทุนนิยมนี้กันเถอะ เพียงแค่ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย เริ่ม “พอ” ในแต่ละอย่าง ในแต่ละวัน เริ่มสำรวจตัวเองว่าเรากำลังอยู่ในเกมส์รึเปล่า? เราสนใจการแขวนความสุขไว้กับการยืนบนโพเดียมมากกว่าที่จะถามตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่รึเปล่า เราแฮปปี้กับตอนนี้มั้ย? เราต้องมีแบบเค้า ต้องเป็นพวกเค้าจริงๆ เหรอ? เพื่ออะไร?

การเลือกที่จะ “พอ” เราแทบไม่เสี่ยงที่จะศูนย์เสียหรือพลาดอะไรไป แต่ในทางกลับกัน การไม่รู้จักพอ เราเสี่ยงสูญเสียทุกอย่าง

สุดท้ายนี้ขอลาไปด้วยคำแนะนำจาก Gambler มืออาชีพแห่ง Las Vegas ที่เคยกล่าวไว้ว่า…

วิธีที่ดีที่สุดที่จะชนะ Casino ใน Las Vegas ได้ คุณต้องกลับออกมาทันทีที่คุณก้าวเข้าไป

แล้วพบกันใหม่ในพาร์ทถัดไป ขอบคุณครับ

Reference

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--

Pongharit K.
KBTG Life

Tech, Philosophy, Knowledge, Reading, Movie, Automobile describe my personality.