16 ชั่วโมงในงาน Techsauce Global Summit 2022 (วันที่ 1)

Kanitta M.
KBTG Life
Published in
7 min readSep 16, 2022

10:30AM — บทนำ

Techsauce Global Summit 2022 งานสัมมนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากการจัดงานไปเกือบ 2 ปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 โดยการจัดงานครั้งล่าสุดในปี 2020 นั้นเป็นแบบ Hybrid และยังได้ขยายการจัดงาน Techsauce Summit ไปต่างประเทศที่ประเทศมาเลเซียเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน

งาน Techsauce Global Summit 2022 จึงเป็นงานใหญ่ของปีที่เหล่า Startup และคนที่รักในเทรนด์เทคโนโลยีให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และในงานนนี้ KBTG เป็น Gold Sponsor เลยครับ

ครั้งนี้กลับมาในธีม “Opportunities Made Possible” หรือ “การสร้างโอกาสให้เป็นจริง” โดยย้ายสถานที่จัดงานข้ามไปอีกฝั่งพระนคร ณ ชั้น 7–8 True ICON Hall @ ICONSIAM พร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถึงต้องเดินทางจากใจกลางเมืองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปอีกฟาก แต่การเดินทางก็สะดวกแม้ไม่มีรถส่วนตัว เนื่องจากสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS เปลี่ยนสายไป “รถไฟฟ้าสายสีทอง” หรือจะนั่งเรือข้ามฟากจากสะพานตากสิน มายังท่าเรือ ICONSIAM ส่วนตัวผู้เขียนเดินทางด้วยบริการ JustGrab ที่ Techsauce ได้มีการมอบโค้ดส่วนลด TSGS50 ให้ในการเดินทางไป-กลับ ICONSIAM อีกด้วย

งานนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่โรงภาพยนตร์ ICON CINECONIC ชั้น 8 ทั้งหมดให้เป็นสถานที่จัดงาน โดยตั้ง Main Stage ไว้ที่โรงภาพยนตร์ IMAX และมีเวทีอยู่ในโรงภาพยนตร์ (Theater) ย่อยออกไป นับเป็นประสบการณ์ที่ดีของผู้เข้าฟัง (Audience) ที่ได้รับฟังการบรรยายจาก Speaker ระดับ World Class ในโรงภาพยนตร์ระบบ Premium แบบนี้ เสียงและภาพในการบรรยายนั้นมีคุณภาพสูงมาก ผู้ฟังสามารถได้ยินสำเนียงภาษาอังกฤษของ Speaker ทุกคนอย่างชัดเจน และหาก Session ใดมี Presentation ทุกคนสามารถมองเห็นภาพและตัวอักษรได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าที่นั่งจะอยู่ตรงไหน เป็นประสบการณ์ร่วมที่ดีมากๆ ในการฟังคำบรรยาย ทำให้ผู้เขียนประทับใจในการจัดงานครั้งนี้มาก

บรรยากาศทางเข้า Main Stage ณ โรงภาพยนตร์ IMAX @ICON CINECONIC ชั้น 8

ระหว่างเปลี่ยน Session เราก็จะได้กลิ่นป๊อปคอร์นหอมๆ ยั่วน้ำลายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนวางตารางเข้าร่วม Session และเวิร์คช็อป (Workshop) ไว้อย่างแน่นขนัดทั้ง 2 วัน และหลาย Session จัดพร้อมกัน หรือเวลาคาบเกี่ยวกัน จนอยากแยกร่างได้จริงๆ หรือไม่ก็อยากยืมเครื่องย้อนเวลา (Time-Turner) จากเฮอร์ไมโอนี่มาใช้ซัก 2 วัน

บรรยากาศในโรงภาพยนตร์ IMAX

ตัวผู้เขียนเองได้ทำการบ้านโดยเลือกหัวข้อที่ตัวเองสนใจ ทำเป็นตาราง แล้ววางแผนการเปลี่ยน Session โดยการเช็ค Agenda ตั้งแต่วันก่อนเริ่มงาน และตั้งใจไว้ว่าจะไม่ปักหลักอยู่เฉพาะเวที Fintech/DeFi หรือ NFT/Digital Assets ซึ่งเกี่ยวข้องกับสายงานของตัวเองเท่านั้น

ตารางการเข้าฟังบรรยาวันแรกที่วางแผนไว้

ภายในงานจะมีเวทีหลัก (Main Stage) และเวทีสัมมนาย่อย (Vertical Stage) ที่ประกอบไปด้วยหัวข้อต่างๆ กัน

  • Fintech/DeFi
  • Culture Transformation/Corporate Innovation
  • Deep Tech
  • Metaverse
  • Climate Tech

ด้วยความที่แต่ละเวทีจัดอยู่บริเวณที่ห่างกันออกไป ทำให้ต้องเผื่อเวลาในการเดินประมาณ 5–10 นาทีสำหรับแต่ละ Session ดังนั้นวันแรกต้องศึกษาแผนที่ให้ดี ว่าแต่ละเวทีจัดที่โรงภาพยนตร์หรือห้องประชุมใดและอยู่ตรงบริเวณไหน ต้องขอบคุณน้องๆ Techsauce Staff และอาสาสมัครเสื้อสีส้มที่กระจายอยู่ทั่วงาน คอยช่วยบอกทางและตอบคำถามตลอด

หลังจากลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ Badge ประจำตัวมาแล้ว ก็มาเริ่มกันที่ Session แรกกันเลย

ป้ายชื่อที่ต้องแสกน QR Code ทุกครั้งก่อนเข้าร่วม Session สติ๊กเกอร์วงกลมแสดงถึงสิทธิในการเข้าร่วมเวิร์คช็อป

หมายเหตุ: เนื่องจากทุก Session ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผู้เขียนไม่ได้ใช้การถอดสคริปต์เป็นภาษาไทยคำต่อคำ แต่สรุปใจความสำคัญนำมาเล่าต่อ

10:55AM — From Startup to Success, Story of Perseverance

Room: Vertical 3, Stage: Fintech/DeFi

Speakers:

  • Suppakrit Boonsat — Founder, Bitcast (Moderator)
  • Piyachart Ratanaprasartporn — CEO, 2C2P Thailand (Speaker)

คนไทยหลายคนคงคุ้นชื่อ 2C2P แต่อาจจะนึกไม่ออกว่าเคยเห็นจากที่ไหน… 2C2P เป็นผู้ใช้บริการ Payment Gateway รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล PCI DSS Level 1 (Payment Card Industry Data Security Standard)

คุณปิยชาติ รัตน์ประสาทพร (ด้านขวา)

คุณปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ผู้เป็นลูกค้าคนแรกของ 2C2P (ในนาม Bank of Asia หรือ UOB ในปัจจุบัน) จนในที่สุดกลายมาเป็นกรรมการผู้จัดการของ 2C2P ประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ได้มาเล่าเรื่องราวการเดินทาง ปัญหาและอุปสรรคของ 2C2P สตาร์ทอัพทางการเงินรายเล็กๆ จนมาเป็นผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการบุกตลาดยุโรปเป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในอนาคต

เนื่องจากเนื้อหาใน Session มีหลายจุดที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอแยกหัวข้อนี้ออกมาเป็นบทความเฉพาะ โดยสามารถติดตามได้ในบทความ “เรื่องราวความสำเร็จของ 2C2P จาก Session: From Startup to Success, Story of Perseverance ณ งาน Techsauce Global Summit 2022 “

11:30AM — The Present and Future of WealthTech

Room: Vertical 3, Stage: Fintech/DeFi

Speakers:

  • Win Phromphaet — CFA — Executive Vice President, High Net-Worth Division, Bank of Ayudhya Pcl.
  • Pornthip Kongchun — Co-Founder & COO, Jitta
  • Jessada Sookdhis, CFA — Co-Founder & CEO, FINNOMENA
  • Darshan Mehta — Founder & CEO, iResearch, Inc. (Moderator)

เมื่อเห็นชื่อ Speaker ที่มีนามสกุล CFA ต่อท้ายมาร่วม Session นี้ถึงสองคน แถมยังมีผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta มาร่วมด้วย เราอาจจะนึกว่านี่เป็น Session เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน แต่จริงๆ แล้ว Session นี้เป็นการร่วมแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับ WealthTech ในปัจจุบันและอนาคต

คุณวิน พรหมแพทย์ (คนที่สองจากซ้ายมือ) คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน (คนที่สามจากซ้ายมือ) และ คุณเจษฎา สุขทิศ (ขวามือ)

เมื่อพูดถึง WealthTech หลายคนอาจจะนึกถึงแพลตฟอร์ม Robo Adviser หรือ AI ที่ใช้ทักษะของที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน มาช่วยลูกค้าในการจัดการพอร์ต ปรับจัดส่วนและจัดสมดุลของพอร์ต ปัจจุบัน Wealth Management Firm แทบทุกเจ้ามีการให้บริการ Robo Advisory แก่ลูกค้า แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านหนึ่งในผู้ให้บริการ Online Wealth Management เจ้าใหญ่ของโลกอย่าง Betterment.com กลับประกาศว่าจะนำ Robo Adviser ออกจากการให้บริการ สวนทางกับ Wealth เจ้าอื่นๆ เหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ WealthTech หรือ “AI will work with human workers or replace?”

คุณวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เล่าว่า…

“ในช่วงโควิด 19 ลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธยอมรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพิ่มจากหนึ่งในสามเป็นสองในสาม แต่หลังจากสถานะการโควิด 19 ดีขึ้น ลูกค้าก็ยังต้องการมาที่สาขาเพื่อพูดคุยปรึกษากับ RM (Relationship Manager หรือที่ปรึกษาทางการเงิน) โดยเฉพาะในปีนี้ที่สถานะการตลาดย่ำแย่ ลูกค้ายิ่งมีความต้องการที่จะปรึกษากับ RM ของตัวเองแบบตัวต่อตัว แทนที่จะทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน

ถึงอย่างนั้นเทคโนโลยีก็ยังมีบทบาทอย่างมากในการทำงานเบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น การสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่แม่นยำและทันเหตุการณ์ เพื่อให้ RM เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาให้คำปรึกษาลูกค้าต่อไป”

คุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน ผู้ร่วมก่อตั้งและ COO (Chief Operation Officer) ของ Jitta แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้นเพื่อการลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ Value Investing (VI) เสริมว่า…

“เทคโนโลยีช่วยให้ต้นทุนในการซัพพอร์ตลูกค้าลดลง ในปัจจุบัน Jitta ใช้ Customer Service เพียง 10 คนในการรองรับลูกค้ามากกว่าหนึ่งแสนบัญชี และการเปิดบัญชีลงทุนก็ทำได้ง่ายมากขึ้นผ่านทางแอปมือถือ”

เมื่อถามว่าอนาคตของ WealthTech จะเป็นอย่างไร คุณเจษฎา สุขทิศ CEO แห่งสตาร์ทอัพ FINNOMENA กล่าวว่า

“เทคโนโลยีอย่าง WealthTech ทำให้คนที่มีเงินทุนน้อยสามารถลงทุนได้ จากที่แต่เดิมคนที่จะสามารถลงทุนในทรัพย์สินมูลค่าสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ อาจจะต้องมีเงินถึงหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การใช้ WealthTech แบ่งสัดส่วนทรัพย์สินออกมา ทำให้ผู้ที่อยากร่วมเป็นเจ้าของใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 20 หรือ 30 ดอลลาร์สหรัฐ”

พร้อมชี้ให้เห็นว่า

“คนไทยยังคงลงทุนน้อยอยู่ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนคนไทยที่มีรายได้อยู่สามสิบห้าล้านคน มีเพียงสองล้านคนที่ลงทุนในกองทุน (Matual Fund) แต่กลับมีผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่งวดละประมาณครึ่งหนึ่ง หรือสิบล้านคน “

ทำไมคนไทยถึงชอบซื้อสลากกินแบ่งฯ มากกว่านำเงินมาลงทุน ทั้งๆ ที่ทราบว่าโอกาสได้ผลตอบแทนนั้นน้อยถึงน้อยมากๆ

“นั่นเป็นเพราะการซื้อสลากกินแบ่งฯ มีอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) เข้ามาร่วมด้วย มนุษย์เราชอบการเสี่ยงโชคและการมีความหวัง เหมือนการเล่นเกมส์ แม้จะสูญเสียเงินต้นไปแต่ก็ได้ความสนุกตอบแทนกลับมา ในขณะที่การเสียเงินลงทุนนั้นทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังและโมโห ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้การลงทุนสนุกมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องมีการศึกษา Fintertainment คือ Finance + Entertainment และนำมาปรับใช้กับการลงทุน”

คุณอ้อ กล่าวเสริมว่า

“ปัจจุบันนี้มีคนไทยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พร้อมจะเกษียณ ส่วนที่เหลือไม่สามารถเกษียณได้เนื่องจากภาระทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการขาดการวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ นี่เป็นเหตุผลที่เราควรส่งเสริมการศึกษาด้าน Financial Planning (การวางแผนทางการเงิน) ให้แก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้มีระเบียบวินัยทางการเงินและมีแนวคิดว่าจะทำให้เงินเติบโตได้อย่างไร? ผู้ลงทุนอาจไม่ต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์งบการเงิน แต่ควรมีไอเดียว่าจะลงทุนอย่างไร ในจุดนี้ WealthTech จะช่วยให้การลงทุนเรียบง่าย แต่มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น”

“Technology helps make investment simple, and with better return”

12:30PM — พักเบรคสั้นๆ

ไม่ใช่เรื่องปกตินักที่เราจะเห็นคนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อเครื่องดื่มจากร้าน Starbucks ตลอดทั้งวันแบบไม่มีว่างเว้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีโปรโมชั่นพิเศษ คิวยาวเหยียดนี้รวมถึงร้านอาหารบนชั้น 5–6 ที่ต้องต่อคิวรอนาน 15–30 นาที กว่าจะได้ที่นั่ง

บรรยากาศวันแรกก่อนเริ่มงาน

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็น Software Engineer ซึ่งเป็นอาชีพที่ขึ้นชื่อว่าใช้ชีวิตแบบ Caffeine-Driven ถึงจะมีเวลาพักนิดเดียว ถ้าให้เลือกระหว่างกาแฟหรือข้าว ก็จะเลือกอย่างแรกแบบไม่ลังเลเลย ดังนั้นเมื่อร้านกาแฟบนชั้น 5–7 คิวยาวมาก ผู้เขียนก็ต้องเดินทางลงไปหากาแฟที่ชั้น G โชคดีมีร้าน Pacamara Coffee Roasters ที่คิวไม่ยาวมาก แต่ถึงจะรีบกลับขึ้นมาแบบด่วนๆ เพื่อให้ทัน Session “How Can Government Support the Growth and International Ambitions of Fintechs? A UK Government and Department for International Trade Case Study” ตอนบ่ายโมงตรง กลับพลาดท่า เนื่องจากลิฟต์ Lobby B เกิดเสีย ทำให้ต้องต่อคิวขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาเกือบ 20 นาที

1:30PM — Synthetic Biological Innovation and Technology for the Sustainable Future of Thailand

Room: Vertical 2, Stage: Deep Tech

Speakers:

  • Kittiphong Limsuwannarot — CEO, BBGI Plc.
  • Kostas Vavitsas — Consortium Manager, SINERGY, National University of Singapore (Moderator)

ผู้เขียนมีความกังวลเล็กน้อยในการเข้าฟังหัวข้อที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่จะได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับ “SynBio” อีกด้วย

SynBio หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) เป็นการออกแบบและปรับแต่งองค์ประกอบทางชีวภาพ (Biological Components) โดยปรับแต่งไปถึงระดับดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อให้เซลล์เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA อย่าง Pfizer และ Moderna ก็เกิดจากการนำเทคโนโลยี SynBio มาตัดต่อเซลล์โปรตีนของไวรัสและนำฉีดกลับเข้าไปในร่างกาย ให้ร่างกายจดจำรหัสพันธุกรรมของไวรัสได้และสามารถกำจัดไวรัสได้ในที่สุด อีกผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน คือการนำ SynBio มาผลิตอาหารจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ หรือ Plant-based Food

คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ (ซ้าย)

คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้มาเล่าถึงความสำเร็จของ BBGI และการจัดตั้งบริษัท วิน อินกรีเดียนส์ จำกัด (WIN) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products หรือ HVP) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ เครื่องสำอาง Prebiotic น้ำมันชีวภาพ และเร็วๆ นี้จะมีผลิตภัณฑ์ทดแทนความหวานที่ไม่รสชาติไม่ต่างจากน้ำตาลทรายออกมาวางตลาดอีกด้วย

2:05PM — How Quantum Computing Could Optimize Global Economy

Vertical 2, Stage: Deep Tech

Speaker: Jirawat Tangpanitanon — CEO, Quantum Technology Foundation (Thailand)

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Quantum Technology Foundation Thailand (QTFT) เริ่มต้น Session นี้ด้วยการตั้งคำถามว่า ควอนตัมคืออะไร? มีคุณสมบัติอย่างไร? และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างไร?

ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Quantum Technology Foundation Thailand (QTFT)

ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังบรรยายของดร. จิรวัฒน์ ในหัวข้อ “Discover Your New Universe” จากงาน TEDxYouth@PathumWan ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก และทำให้ผู้เขียนหันมาสนใจศึกษาเทคโนโลยีควอนตัม จึงตั้งใจมาเข้าร่วม Session นี้อย่างมาก

ดร. จิรวัฒน์ ได้นำเสนอ Use Case ของการนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้งานในปัจจุบัน ทั้งด้าน FinTech, พลังงาน และโลจิสติกส์ (Logistics) ซึ่งหนึ่งในกรณีศึกษาคือนำการประมวลผลที่ต้องอาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัม (Quantum Computing) มาใช้กับการทำ “Loan Collection Optimization” โดยร่วมงานกับ KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) ในการใช้อัลกอริทึมควอนตัม (Quantum Algorithm) มาทำ Loan Loss Optimization เพื่อหาวิธีการติดตามหนี้ที่ดีที่สุด

เนื่องจากเนื้อหานี้เกี่ยวกับสายงานธนาคาร ทำให้ผู้เขียนเคยได้อ่านบทความวิชาการหัวข้อนี้มาก่อน “Hybrid Quantum-Classical Algorithms for Loan Collection Optimization with Loan Loss Provisions” โดย Tangpanitanon, Jirawat & Saiphet, Jirawat & Palittapongarmpim, Pantita & Chaiwongkhot, Poompong & Prugsanapan, Pinn & Raksasri, Nuntanut & Raksri, Yarnvith & Chotibut, Thiparat. (2021) ในอนาคตหากมีโอกาส ผู้เขียนอยากจะเขียนบทความถึงกรณีศึกษานี้ รวมถึงเรื่องราวของเทคโนโลยีควอนตัมโดยละเอียดอีกครั้ง

หลังจากจบ Session ผู้เข้าฟังจะรู้สึกว่าควอนตัมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีแค่ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น

3:15PMDAO: Are They the Next Big Trend? How Are They Related to Defi Ecosystem?

Room: Vertical 3, Stage: Fintech / DeFi

Speaker: Tascha Punyaneramitdee — Co-Founder & CEO, Alpha Venture DAO

คุณทชา ปัญญาเนรมิตดี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Alpha Venture DAO โดยในอดีตเคยเป็นหัวหน้าทีมกลยุทธ์ของ Band Protocol ซึ่งเป็นโปรเจค DeFi โดยคนไทยทั้งคู่

คุณทชา ปัญญาเนรมิตดี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Alpha Venture DAO

คุณทชา ได้มาเล่าว่า DAO (Decentralized Autonomous Organizations) หรือ องค์กรอัตโนมัติคืออะไร? มีการทำงานอย่างไร? รวมถึง Use Case ของ DAO ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

3:40PM — DeFi for the Rest of Us

Room: Vertical 3, Stage: Fintech / Defi

Speakers:

  • Thanaarmates Arriyavat — Venture Director of KASIKORN X (KX) — KASIKORN Business-Technology Group
  • Rapeeporn (Por) Tanpratoomvong — B2B Lead, Web3.0 Business — Cleverse (Moderator)

ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังคุณพอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Venture Director ของ KASIKORN X หรือ KX เล่าถึงผลงานของบริษัทไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน KBTG Vision 2025 คุณพอลได้เล่าถึงความสำเร็จในการระดมทุน DESTINY TOKEN และการเปิดตัว Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace

ใน Session นี้ คุณพอลได้ให้ความหมายของ DeFi (Decentralized Financing) ไว้ว่า…

“Decentralized Financing is a recreation of product and service that we can trust in a code instead of a finance institution or an individual”

คุณพอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Venture Director ของ KASIKORN X

พร้อมเล่าว่า บริการทางการเงิน (Financial Service) ได้อยู่ร่วมกับมนุษย์มากว่า 100 ปี และเป็นบริการที่อยู่เบื้องหลังคอยซัพพอร์ตธุรกิจมากมาย การเกิดขึ้นของ DeFi จึงเป็นเหมือน Critical Path ของแพลตฟอร์มบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตามแม้ DeFi จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่ปี 2022 นี้ก็เป็นปีที่ DeFi หลายเจ้าล่มสลายหายไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้ว DeFi for the Rest of Us จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำตอบคือ… การสร้างผลิตภัณฑ์ DeFi ที่ยั่งยืน (Sustainable Product) และประสบผลสำเร็จนั้นต้องประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ให้แก่ผู้ใช้บริการ ความเชื่อมั่นในที่นี้หมายถึงความรู้ ความเข้าใจในวิธีการทำงานและคุณค่าที่แท้จริงของ DeFi นั้นๆ ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นด้วยการสื่อสารสู่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชุมชน (Community) ของผู้พัฒนาและผู้ใช้ขึ้นมา รวมถึงการทำให้แพลตฟอร์มใช้งานง่ายมากขึ้นด้วย

ส่วนที่สองเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ (Regulatory) ที่แต่ละประเทศกำหนดไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ดังนั้นนักพัฒนาและนักลงทุนควรทำความเข้าใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับระเบียบข้อบังคับเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นดังที่กล่าวไปในส่วนแรก

4:45PM — The Culture Map: Decoding How People Communicate, Lead, and Get Things Done Around the World

Room: Main Stage

Speaker: Erin Meyer

หนังสือ “No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention” โดยคุณ Reed Hastings และ Erin Meyer เป็นหนังสือติดอันดับขายดีและหนังสือแนะนำที่ผู้บริหารควรอ่านในปี 2020 ครั้งนี้คุณ Erin Meyer กลับมาอีกครั้งกับเรื่องราวในหนังสือ “The Culture Map: Breaking Through the Invisible Boundaries of Global Business” เล่าถึงความแตกต่างของวิธีการทำงานของคนแต่ละประเทศในด้านต่างๆ เช่น Communication, Evaluating, Leadership, Negative Feedback, Decision Making, Trust, Disagreeing และ Scheduling เป็นต้น

คุณ Erin Meyer กับการบรรยายผ่านทาง Video Conference

โดยคุณ Erin ได้ยกตัวอย่างความแตกต่างอย่างสุดขั้วของกลุ่มวัฒนธรรม Low-Context และ High Context ด้านการสื่อสาร (Communication) ไว้ว่ากลุ่มประเทศ Low-Context อย่างประเทศอเมริกาและออสเตรเลีย มักสื่อสารด้วยความโปร่งใส (Transparent) กระจ่าง (Clear) และ ชัดเจน (Explicit) เป็นการสื่อสารแบบตรงๆ ไม่มีความหมายใดแอบแฝง โดยการเขียนสรุปข้อตกลงและเนื้อหาสำคัญจากการพูดคุยเป็นเรื่องปกติและถือว่าไม่เป็นการเสียมารยาท (ในด้านความเชื่อใจ)

ในทางกลับกันกลุ่มประเทศ High Context อย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น และไทย เวลาสื่อสารผู้ฟังมักต้องพิจารณาถึงความหมายของคำหรือประโยค (Unspoken Meaning) ที่อาจจะไม่ได้หมายความตรงตัวอย่างที่พูด และต้องพิจารณาภาษาร่างกาย (Body Language) รวมถึงบรรยากาศ (Read the Air) ในขณะนั้นประกอบด้วย หากมีจุดไหนไม่ชัดเจน ควรถามคำถามให้กระจ่างอีกครั้ง

Session นี้ทั้งสนุก มีมุกตลก และยังได้เปิดมุมมองการทำงานกับคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม จนต้องกลับบ้านมาสั่งซื้อหนังสือเลยทีเดียว

5:30PM — เดินทางกลับ

เกือบลืมไปแล้วว่าตอนนี้เราอยู่ใน ICONSIAM ประเทศไทย หากไม่ออกมานอกห้องบรรยายแล้วพบกับวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและตึกมหานคร เนื่องจากตลอดทั้งวันผู้เขียนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย ทั้ง Speaker และ Moderator รวมถึงผู้ร่วมงาน มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวิชาชีพเป็นอย่างมาก ทำให้เรารู้สึกถึงบรรยากาศงานสัมมนาแบบ International จริงๆ

วิวแม่น้ำเจ้าพระยา และตึกมหานคร จากชั้น 7 ICONSIAM

ระหว่างเดินทางออกจากงาน ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยเล็กน้อยจากการเปลี่ยน Session หลายครั้ง และเนื้อหาที่อัดแน่นตลอดทั้งวัน แต่กลับรู้สึกถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก Speaker อย่างท่วมท้น ได้พบกับไอคอนในการทำงานหลายคน รวมถึงผู้บริหารบริษัทชั้นนำที่เคยได้แต่ติดตามบทสัมภาษณ์จากสื่อต่างๆ ผ่านรายการโทรทัศน์ Youtube หรือ Podcast

นี่เป็นเหตุผลว่าแม้ตอนเย็นหลังเลิกงานวันนั้นฝนตกหนักมาก ทำให้น้ำท่วมและรถติดหนักสุดๆ จนนับว่าเป็น The Worst Friday ของเดือน ถึงจะเลี่ยงรถติดด้วยการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ก็ยังพบปัญหารถไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ใช้เวลาเดินทางนานกว่าปกติเกือบ 2 เท่า แต่ผู้เขียนก็ยังมุ่งมั่นในการมาร่วมงานวันที่สองตั้งแต่เช้า… โปรดติดตามตอนต่อไปได้ใน “16 ชั่วโมงในงาน Techsauce Global Summit 2022 (วันที่ 2)”

สภาพอากาศหลังเลิกงาน

ส่งท้าย

ล่าสุดทางช่อง Youtube ของ Techsauce ได้อัพโหลดบรรยากาศในงานวันแรกแล้ว สามารถรับชมได้ที่ ประเดิมวันแรกกับงาน Techsauce Global Summit 2022 ที่ ICONSIAM และคาดว่าวีดิโอ Session ต่างๆ จะทยอดอัพโหลดตามมา รอติดตามกันได้ที่ Techsauce Thailand

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

Kanitta M.
KBTG Life

Hi! I’m Rainnie — Kanitta Moonlapong. Advanced Software Engineer at KBTG. You can check my profile here https://th.linkedin.com/in/kanitta-moonlapong-45b108173