Acting in UX Writing: 5 บทเรียนจากหน้าฉาก ที่ปรับมาใช้บนหน้าจอ

Vanwongyai
KBTG Life
Published in
3 min readApr 23, 2024

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะเคยใช้เวลาพักผ่อนไปกับหนัง ซีรีส์ หรือละครเวที ซึ่ง ‘ศาสตร์การแสดง’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘แอคติ้ง’ นับเป็นส่วนสำคัญในการฝึกฝนให้นักแสดงสามารถเล่นตามบทบาทออกมาอย่างสมจริงและส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกให้ผู้ชมได้

แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นนักแสดงล่ะ? เราจะเรียนการแสดงกันไปทำไม?

เรียนให้ร้องไห้แบบสั่งได้? เรียนไปแคสต์งานเข้าวงการ?

“เรียนไปใช้ตอนทำงาน UX Writing”

คงไม่ใช่คำตอบที่หลายคน (รวมถึงตัวเราด้วย) คาดคิดไว้แน่นอน โดยในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ เราเป็น Content Designer อยู่ในทีม Beacon Interface ที่ดูแลโปรดักต์นุ่มฟูอย่าง MAKE by KBank ที่ใครหลาย ๆ คนเรียกว่า ‘น้องเมค’ อยู่นั่นเอง

ว่าแต่มันไปไงมาไง? ได้ใช้ยังไงบ้าง? เรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

ที่มาที่ไปของการเรียนการแสดงของเราเริ่มจากการเรียนคณะนิเทศที่มีการทำละครตลอดทั้งปี ทั้งละครคณะ ละครธีสิส ยันจัดเทศกาลละคร ทำให้เรามีโอกาสได้คลุกคลีกับการแสดงมาตั้งแต่ปี 1

ช่วงปี 3 มีโอกาสได้เรียน Musical Theatre ที่คณะ ลงคอร์สโรงเรียนการแสดง รวมถึงไปเล่นละครให้เพื่อน ๆ ภาคการแสดงบ้าง (แต่จริง ๆ แล้วเลือกเรียนภาคฟิล์มนะ)

พอถึงจุดที่ทำธีสิสแล้วต้องกำกับการแสดง เราเริ่มทำงานเก็บเงิน เพื่อไปเรียนด้านการแสดงโดยเฉพาะ เริ่มจากทำความเข้าใจความหมายของการแสดง เทคนิคการเล่น การเข้าสู่บทบาทและการตีความตัวละคร การรับส่งอารมณ์ รวมถึงการค้นพบขีดจำกัดทางอารมณ์ของตัวเองและคนอื่น

เนื่องจากการแสดงมีหลาย Approach เราขอสรุปแก่นของการเรียนที่ได้จาก Modern Acting ว่า

“การแสดงหมายถึงการทำความเข้าใจผู้คน รวมถึงตัวเราเอง แล้วเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดบทบาทนั้น ๆ ออกมาในแบบฉบับของเรา หรือตามแนวทางการกำกับอย่างเป็นธรรมชาติ”

หลายปีต่อมา เรากลับได้นำแก่นนั้นมาใช้ Empathize User และ Product ในฐานะ Content Designer (UX Writer) ไปโดยปริยาย

และนี่ก็คือ 5 บทเรียนจากหน้าฉากที่ปรับมาใช้บนหน้าจอของเราค่ะ

1. ตัวตนที่สร้าง ประกอบร่างที่เป็น

เราจะถ่ายทอดบทบาทนั้น ๆ ได้ เมื่อเข้าใจที่มาที่ไปในโลกของตัวละคร

ในช่วงแรกที่เราได้เข้ามาในทีม MAKE by KBank ภารกิจแรกที่เราได้รับคือการทำ Content Guideline ออกแบบโทนการสื่อสาร รวมถึงการช่วยปูคาแรกเตอร์ของ ‘น้องเมค’ หรือ ‘MAKE’ ผ่านการสื่อสารในหลาย ๆ ช่องทาง

ในเมื่อเรามองโปรดักต์เป็นคนคนนึง ทางทีมเลยจัดเวิร์คช็อปขึ้น เพื่อต่อยอดจากการออกแบบ Tone of Voice และ Brand Personality ให้ลงลึกไปถึงระดับ ‘ทัศนคติ’ ให้เชื่อมโยงกับ Value Proposition เช่น เขาเชื่อในอะไร มองการจัดการเงินอย่างไร ถ้าเจอคนอื่นทำผิดจะพูดกับเขายังไง มีความฝันไหม ไปจนถึงถ้าน้องเมคมีชีวิตจริง น้องเมคจะทำหรือไม่ทำอะไร โดยมีแนวคิดว่า ตัวละครสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยไปได้เรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้น และมีระดับการสื่อสารที่ปรับไปตามบริบท

กระดานเวิร์คช็อปที่ทั้งทีม Designer, Visual, PM และ Marketing ช่วยกันออกไอเดียตอนคิดคาแรกเตอร์น้องเมค
  • การสื่อสาร In-app จะสื่อสารในฐานะแอป MAKE นึกภาพว่าเรากำลังเปิดกระเป๋าตังค์ออกมาใช้จ่าย สามารถสื่อสารแบบสบาย ๆ ได้เวลาแนะนำฟีเจอร์ใหม่ ๆ หรือแสดงความยินดีเวลา User ทำบางอย่างสำเร็จ แต่ยังคงความจริงจังเมื่อต้องสื่อสารเรื่องการทำธุรกรรม เพื่อคงความน่าเชื่อถือไว้
  • การสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ จะสื่อสารในฐานะ ‘น้องเมค’ มนุษย์เมฆนุ่มฟูที่วัยรุ่นเล่นด้วยได้และผู้ใหญ่ก็เอ็นดู

พอสร้างโลกของตัวละครที่แข็งแรง การต่อยอดไปใช้ในมุมต่าง ๆ ทั้งการคิดคอนเทนต์ออนไลน์ การคิดวิธีสื่อสารในฟีเจอร์ใหม่ ๆ ก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น

2. การเข้า-ออกบทบาท ตามโปรเจกต์ที่เปลี่ยนไป

การเป็นนักแสดงทำให้เราได้ลองใช้ชีวิตด้วยความเชื่อที่หลากหลาย
แม้ว่าเราจะไม่เคยได้สัมผัสมันในความเป็นจริงเลยก็ตาม

ในเมื่อแต่ละโปรดักต์มีคาแรกเตอร์ของตัวเอง สิ่งที่เราจะทำเมื่อเข้าไปดูแลโปรเจกต์คือการทำความรู้จักโปรดักต์นั้นใหม่ โดยถอดแนวทางการเขียนจากโปรเจกต์ก่อนหน้าออก เราจึงต้องสร้างความต่อเนื่องในชิ้นงาน เพื่อความเป็นระเบียบและรักษาคาแรกเตอร์ไว้ด้วย

สำหรับการคิดโทนการเขียน Improvisation หรือ การเล่นแบบด้นสด ก็ถูกหยิบมาใช้ในกระบวนการนี้ ในคลาสแอคติ้งเราจะได้โจทย์ที่ตัวละครต้องทำให้สำเร็จในฉากนั้น สิ่งที่เราปรับมาใช้คือการลอง Explore โทนการเขียนแบบไม่ต้องจำกัดตัวเอง ปล่อยให้เราคิดเต็มที่ก่อน จากนั้นก็ลองดูข้อความกับภาพรวมทั้งหมด

  • “โปรดระบุชื่อเล่น”
  • “กรุณากรอกชื่อเล่นของคุณ”
  • “อยากให้เราเรียกคุณว่าอะไร?
  • “ว่าไงคนเก่ง! เธอชื่ออะไรหรอ?”
  • “โมเอะ โมเอะ บีม~ ชื่อเล่นของพี่ หนูขอหน่อยนะ”
  • “อรุณสวัสดิ์ กระผมขอทราบชื่อคุณท่านหน่อยนะขอรับ”

เราอาจจะทดได้หลายแบบ ถ้ามี Content Guideline อยู่ ก็จะกรองออกไปได้เยอะเลย

3. เล่นตามฉาก สื่อสารตามบริบท

การแสดงช่วยให้เราตีโจทย์ในแง่ของบริบทการสื่อสาร ว่าถ้าสมมติแอปพลิเคชันเป็นคนคนนึงที่ User ได้เจอประจำ เราว่า User กำลังทำอะไรอยู่ตอนเปิดมาเจอข้อความนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะมาด้วยอารมณ์แบบไหน

ใคร — ทำอะไร — ทำทำไม — อยู่ที่ flowไหน
ด้วยความรู้สึกประมาณไหน — ต้องได้อะไร

เราจะเพิ่มคำถามที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ ในคลาสเรียนก็คือ “เราอยากทำให้เขารู้สึกอย่างไร?” และ “หากต้องการให้เขารู้สึกแบบนี้ เราควรทำยังไง”

สมมติเราเจอเพื่อนที่กำลังอกหักร้องไห้อยู่ การบอกว่า “หยุดร้องไห้ แล้วลืมเขาได้แล้ว” ก็คงไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นเท่าไหร่ ถ้าเราทำความเข้าใจก่อนว่าการลืมใครซักคนมันไม่ได้จบที่การร้องไห้ 1 ครั้ง

การตีโจทย์ระหว่าง Product และ User ก็เช่นกัน

พอเราได้คำตอบข้อนี้ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตกลงแนวทางการสื่อสารกับ PM ที่ดูแลฟีเจอร์นั้น ๆ แล้วลงมือเขียน ทำให้การตีโจทย์ Requirement จะต้องคิดถึงในแง่การใช้งาน การสื่อสาร และบางครั้งก็มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ตัวอย่าง: ฟีเจอร์แผ่นออมเงิน

แผ่นออมเงินเป็นฟีเจอร์ที่ User เข้ามาออมเงินตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้วันละครั้งใน Cloud Pocket โดยมีทั้งเป้าหมายหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น และแผ่นออมเงินจะหายไปเมื่อเราปลดล็อก นึกภาพง่าย ๆ ก็คือกระปุกหมูที่ต้องทุบเท่านั้นถึงจะเอาเงินออกไปใช้ได้

ในเชิง Content Design โจทย์สำคัญคือการถอยกลับมาคิดก่อน ว่าทำไมคนถึงเข้ามาออมเงินกับเรา? จะได้อะไรที่ต่างจากการหยอดกระปุก? เราเลยลอง Research เกี่ยวกับพฤติกรรมการออมเงินของคนที่ใช้แผ่นออมเงินอยู่แล้ว ไปจนถึงคนที่เก็บเงินไม่อยู่แล้วอยากเริ่มออมเงิน

จนเราก็ได้โซลูชันออกมาว่าคนที่ขยันออมอยู่แล้ว เราอยากสร้างการเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) ให้เขามีแรงออมเงินต่อไป ส่วนคนที่ลองมาออมเงินครั้งแรก อยากลองเก็บเงินซักตั้ง เราอยากให้เขาได้รับกำลังใจที่ต่างจากการหยอดเงินลงกระปุกเงียบ ๆ เท่ากับความพยายามนี้ได้รับการมองเห็นนั่นเอง

สังเกตได้ว่าข้อความบน Pop-up จะยาวขึ้นมาหน่อย แต่ยังคง Key Message ที่ต้องการสื่อไว้เป็นประโยชน์ในเชิงการใช้งาน เพิ่มเติมคือกำลังใจที่อยากส่งต่อให้คนออมเงินครั้งแรกสำเร็จ

4. ในโปรดักชัน ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว

จุดร่วมระหว่างการทำโปรดักต์และโปรดักชันละครคือ การทำงานเป็นทีม

ตอนทำละคร เราต้องเจอผู้กำกับ แบคสเตจ ทีมคอสตูม สิ่งที่นักแสดงต้องทำไม่ใช่แค่ Perform อย่างเดียว แต่ยังมีเบื้องหลังที่เราต้องทำงานกันอย่างถนอมน้ำใจกัน เช่น ถ้าเรามาซ้อมละครสาย คนอื่นที่เล่นฉากเดียวกันก็จะไม่ได้ซ้อมไปด้วย ถ้าเราแต่งตัวช้า ทีมเมคอัพก็จะมีเวลาแต่งหน้าเราน้อยลง

สำหรับทีมทำโปรดักต์ UX Writer ก็เป็นตำแหน่งยืนเดี่ยวที่ดูแลเรื่องข้อความโดยเฉพาะ และต้องคอยประสานงานกับ PO, BA, Dev อยู่ตลอด ได้คุยรอบทิศทุก Sprint เท่ากับว่าการส่งงานของเราเกี่ยวข้องกับคนอีกนับสิบ

การบริหารเวลาเพื่อส่งงานของแต่ละ Squad และความแม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้คำเพียง 1 ครั้ง เท่ากับพี่ ๆ BA, Dev และ Tester ก็ต้องมาร่วมกันทำสิ่งนี้

5. วันใหม่ เทคใหม่

กว่าจะมาเป็นฉากที่คนดูอิน มันอาจจะถูกรื้อมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ในวันที่เล่นแล้วไม่ผ่าน ไม่ได้หมายความว่านักแสดงคนนั้นไม่เหมาะที่จะรับบทบาทนี้

หลาย ๆ วันในการทำงาน UX Writing ก็เป็นแบบนั้น เนื่องจากเรื่องข้อความค่อนข้าง Subjective ทำให้หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่เราเขียนยังไม่ผ่านตากรรมการบ้าง

ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน แต่ใน 1 ฟีเจอร์เราต้องปรับข้อความหลายสิบประโยคทั้งไทยและอังกฤษ บางวันส่งไป 50 อาจจะผ่านจริงแค่ 10 แม้ว่าเราจะตั้งใจเต็มร้อยแล้วก็ตาม บางทีงานซ้อนกันหลายฟีเจอร์ วันไหนที่ไม่มีฟีเจอร์ไหนผ่านเลย ก็นับเป็นวันหม่น ๆ วันนึง

ถ้าอยู่ในห้องซ้อมละคร สิ่งที่เราต้องทำคือทำความเข้าใจบทใหม่ภายในเวลาอันสั้น แล้วกลับมาซ้อมต่อ เพราะในขณะที่เราเล่นไม่ผ่าน คนอื่นก็ยังซ้อมกันต่อไป จุดนั้นทำให้เราเรียนรู้ว่าเดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านไปในแบบที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนั้น

เวลาใน 1 Sprint ไม่ได้เพิ่มขึ้นให้เราได้ทดข้อความนานขึ้น แต่เราเชื่อว่าเราและ UX Writer อีกหลาย ๆ คนจะสามารถทำออกมาได้ในที่สุด

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคนสงสัยว่าแล้วตัวเราเองเรียนการแสดงได้รึเปล่า ต้องเป็นคนกล้าแสดงออกมั้ย? ขอตอบว่าการเรียนการแสดงช่วยเพิ่มความมั่นใจ ปรับบุคลิก และทำให้เราได้สำรวจภายในใจตัวเองมากขึ้นด้วย เช่น เราที่ไม่เคยโกรธใครจนถึงขีดสุด ก็จะได้เห็นตัวเองเวอร์ชันโกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา ใครที่อยากลองออกจาก Comfort Zone ก็แนะนำเลย

สำหรับวันนี้ ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้นะคะ

The show must go on, so does our work!

สำหรับใครที่ชื่นชอบบทความนี้ อย่าลืมกดติดตาม Medium: KBTG Life เรามีสาระความรู้และเรื่องราวดีๆ จากชาว KBTG พร้อมเสิร์ฟให้ที่นี่ที่แรก

--

--

Vanwongyai
KBTG Life

Bangkok-based Content Designer at KBTG and a content creator who believes in the power of storytelling