Be Core Banking, B(A) Strong บทเรียนที่ได้จากการเป็น Business Analyst

KBTG_Coregirl
KBTG Life
Published in
2 min readSep 21, 2021

“จากวันที่เดบิวต์เป็น Business Analyst แบบเต็มตัวในทีม Core Banking เพียงแค่ไม่กี่ปี ตอนนี้กล้าพูดเลยว่าเราได้สัมผัสและเป็นส่วนหนึ่งของเกือบทุกบริการธนาคารแล้ว”

หลังจากที่ทำงานสาย Technical ใน Banking Business มาหลายปี วันนึงก็ได้มีโอกาส Reskill เปลี่ยนสายมาโหมด BA แบบเต็มตัว ความท้าทายในใจตอนนั้นไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไป แต่กลับเป็นระบบที่ต้องเข้าไปดูแลเพราะ Core Banking นั้นช่างลึกลับ เข้าถึงได้ยาก และไม่คุ้นชินเสียเลย

Core Banking แค่อธิบายออกมาเป็นรูปธรรมให้คนทั่วไปเข้าใจก็ยากแล้ว ขนาดตัวเองที่ทำงานในสายธนาคารมานานยังต้องเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจกันใหม่ เริ่มจากคำถามง่ายๆ …

Core Banking คืออะไร

  • Core Banking คือระบบหลักของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับบริการพื้นฐานของธนาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฝาก ถอน โอน สินเชื่อ บัตรเดบิตและเครดิต การลงทุน เงินตราต่างประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย
  • Core Banking คือระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อและรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ของทั้งธนาคาร เช่น สาขา, แอป K+, ATM, K-Cyber, Kasikorn Call Center เป็นต้น
  • Core Banking คือระบบที่รองรับและสนับสนุนบริการจากหลากหลายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น Line BK, Grab Pay Wallet, Facebook, Counter Service และ Corporate ต่างๆ

ความรู้สึกแรกที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็น BA ดูระบบนี้คือกลัว เพราะไม่รู้ว่างานนี้เหมาะกับเราจริงๆ รึเปล่า แต่พอได้เรียนรู้และลองทำ ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่ยิ่งอ่านก็ยิ่งชอบ และชวนให้เปิดอ่านหน้าถัดไป อีกทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองให้กับเราในหลายๆ ด้าน

สอนให้เรารู้ลึก รู้จริง ในสิ่งที่ทำ

จากการทำงานนี้มาหลายปี พบว่าประสบการณ์นี้ช่วยฝึกให้เราเป็นคนละเอียดรอบคอบ สามารถนำเหตุการณ์ต่างๆ มาเก็บเป็นไบเบิลให้เรารู้จักวางแผนในการทำงาน เมื่อได้ Requirement จากทาง Business Owner สิ่งที่ต้องคิดอันดับแรกคือเราจะนำระบบมาประยุกต์ใช้อย่างไรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการทางด้านธุรกิจและลูกค้ามากที่สุด จากนั้นประเมินถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งระบบที่เรารับผิดชอบและระบบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่ควบคุมโดยรัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมสรรพากร การเข้าใจสิ่งที่ทำอย่างลึกซึ้งช่วยเพิ่มความมั่นใจและความกล้าในการเสนอไอเดียต่างๆ กับทางลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เปิดโอกาสให้พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ทันต่อธุรกิจและเทคโนโลยีในยุค Digital Transformation

เรากล้าพูดได้ว่าเกือบทุกผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่วางจำหน่ายหรือเกือบทุกโครงการต้องมีส่วนที่เชื่อมโยงกับระบบ Core Banking อย่างแน่นอน เนื่องจากฐานบัญชีลูกค้าเงินฝากทั้งหมดจะอยู่ที่ Core Banking ดังนั้นเมื่อมีโปรเจคใหม่ๆ เช่น LINE BK, Blackpink, Payment Hub, Wallet, ขุนทอง ทุกโครงการจะต้องมาปรึกษาและให้เราเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ เราจึงได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อแนวโน้มทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราได้คิดว่าจะสามารถนำฟีเจอร์และฟังก์ชันของ Core Banking มาตอบโจทย์ธุรกิจใหม่อย่างไรบ้าง

สอนให้เรารู้จักคิดอย่างเป็นระบบและสอนให้รู้จักหาแนวทางในการแก้ปัญหา

Core Banking แค่ได้ยินชื่อก็รู้ว่าเป็นระบบที่เป็นหัวใจหลักของธนาคาร ในหลายๆ ครั้งมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่เราคาดการณ์ไม่ถึง ซึ่งไอทีทุกคนรู้จักกันดีในนามของคำว่า “Production Incident” ทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนสอนให้เราจัดลำดับความคิดอย่างเป็นระบบ มองปัญหาให้ออกว่า Root Cause ที่แท้จริงเกิดจากอะไร และมีโซลูชันและทางเลือกในการแก้แบ่งออกเป็นกี่แนวทาง ข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางคืออะไร ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและผลกระทบที่อาจเกิดกับลูกค้า

We Are One Team

ถ้าอยากเป็น BA ทีม Core Banking ควรเตรียมตัวอย่างไร

  1. ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงฟีเจอร์และฟังก์ชันหลักของระบบ รู้ขีดความสามารถและข้อจำกัดต่างๆ ในระยะแรกของการเริ่มเรียนรู้ ต้องเปิดใจและใส่ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ Configuration, System Diagram ตลอดจนความสัมพันธ์ของข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับเรานั้นคุ้มค่าและเป็นความรู้ที่ติดตัวอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับเงินฝากธนาคาร ผลิตภัณฑ์บริหารสภาพคล่อง (LMS) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (OD, ITD, END) ความรู้เกี่ยวกับการบัญชีและภาษี ความรู้เกี่ยวกับ Regulation ต่างๆ เป็นต้น
  2. ต้องเข้าใจการเชื่อมโยงของข้อมูลจาก Core Banking ไปยังระบบต่างๆ ของธนาคาร เพื่อให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของ Architecture ของธนาคาร เมื่อเราได้รับ Requirement จากทาง Business Owner มา เราก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าความต้องการดังกล่าวมีผลกระทบต่อลูกค้าในแง่มุมไหน และกระทบต่อระบบใดบ้าง
  3. ต้องไม่ปิดกั้นความรู้ด้าน System ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Performance ทุกครั้งที่ได้รับโจทย์ใหม่จากธนาคาร รวมถึง Performance ของระบบ คำถามที่ต้องถามคือปริมาณลูกค้าที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ลักษณะของ Transaction ที่เกิดขึ้นหรือ Growth ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตตามการคาดการณ์ของ Business Owner เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมให้กับลูกค้า

ส่วนตัวรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากกับการเริ่มต้นเส้นทาง BA ที่ Core Banking เรียกว่าเป็นทางลัดในการนำไปสู่โลกกว้างของธนาคารได้รวดเร็วที่สุด เพราะจะมีระบบไหนในธนาคารที่ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับบริการพื้นฐานของธนาคารได้เกือบทุกอัน รู้จักฝ่ายงานและ User มากมายหลายแผนก รู้จักทีมแอปพลิเคชันและระบบอื่นๆ ภายในธนาคารอย่างนับไม่ถ้วน จนเรียกได้ว่าความรู้และ Connections ที่ได้จากการมาอยู่ Core Banking เพียงไม่กี่ปีมีมากกว่าทั้งชีวิตการทำงานเสียอีก ถึงในปัจจุบันจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบอื่นที่ต้องดูแล แต่ความรู้และประสบการณ์จากการเป็น BA Core Banking ยังได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนใหญ่ของการทำงานในทุกบทบาทตลอดเวลาเลยค่ะ

สุดท้ายนี้เราอยากเชิญชวนน้องๆ BA ที่สนใจและอยากเพิ่มพูนประสบการณ์ ลองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Core Banking กันได้ที่ www.kbtg.tech/career แล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ได้ยากหรือน่ากลัวอย่างที่คุณคิดเลย แล้วพบกันนะคะ

--

--